นัก กม.ชี้ช่องผู้ประกันตนฟ้องศาลปกครอง ให้ สปส,จ่ายเงินพร้อมโอนใช้สิทธิบัตรทอง
นักกฎหมายแนะ สปส.จ่ายเงินค่าโอนผู้ประกันตนไปใช้สิทธิ์บัตรทองตามกฤษฎีกาตีความ ชี้มัวช้าผู้ประกันตนฟ้องศาลปกครองได้ ด้านนายจ้างจี้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลตีความจ่ายสมทบขัดรัฐธรรมนูญ
ดร.ภูมิ มูลศิลป์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความการดำเนินการตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการโอนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม (สปส.) 9.4 ล้านคนไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) และระบุว่าการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรียกเก็บเงินค่าจัดบริการทางการแพทย์สำหรับให้บริการผู้ประกันตนจาก สปส. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 เรื่องความเสมอภาค
โดย ดร.ภูมิ กล่าวว่าเมื่อกฤษฎีกาตีความเช่นนี้ เป็นหน้าที่ของ สปส.และ สปสช.ที่จะต้องจัดให้มีการการเจรจาตกลงกระบวนการและจำนวนเงินที่จะโอนระหว่างกันต่อไป ส่วนเงินที่โอนเป็นค่าจัดบริการทางการแพทย์จะมาจากส่วนของนายจ้าง ลูกจ้าง หรือส่วนที่รัฐจ่ายสมทบเป็นเรื่องของกระบวนการภายในที่ สปส.ต้องไปจัดการ ทั้งนี้แม้ สปส.จะไม่ต้องการจ่ายเงินในส่วนนี้เพราะถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก แต่เมื่อกฎหมายระบุไว้เช่นนี้ก็ต้องปฏิบัติตาม หากต้องการให้รัฐเข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็จำเป็นต้องแก้กฎหมายให้เป็นเรื่องเป็นราวก่อนที่จะโอนผู้ประกันตนไปอยู่ภายใต้การดูแลของ สปสช.
ดร.ภูมิ กล่าวด้วยว่ากรณีที่ สปส. หรือ สปสช.เพิกเฉย ไม่มีการเจรจาตกลงกันตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ประกันตนสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ เพราะตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ระบุว่าศาลมีอำนาจพิจารณาคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
“การให้ศาลปกครองพิจารณาน่าจะดีกว่าใช้ช่องทางศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก็จะมีแค่ว่ากฎหมายมันขัดหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะที่ศาลปกครองมีอำนาจบังคับออกคำสั่งให้หน่วยงานต้องปฏิบัติตาม”ดร.ภูมิ กล่าว
ด้านนายประสิทธิ์ จงอัศญากุล ประธานสภานายจ้างผู้ค้าและบริการเรื่องอุปโภคบริโภค อดีตบอร์ด สปส. กล่าวว่าเตรียมทำหนังสือสอบถามไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินเร็วๆนี้ เพื่อขอให้มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกรณีที่ผู้ประกันตนเป็นคนกลุ่มเดียวที่ยังจ่ายเงินสมทบสำหรับการรักษาพยาบาล ส่วนผู้ใช้บัตรทองและข้าราชการได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐ เป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ส่งเรื่องให้ศาลพิจารณา สภานายจ้างจะได้ใช้สิทธิ์ยื่นเรื่องด้วยตัวเองต่อไป .
ที่มาภาพ : http://www.yutcareyou.com/business/index.php?option=com_content&view=article&id=1859:2011-05-12-02-13-24&catid=1:econ-news&Itemid=67