เปิดชื่อ กก.ปฏิรูปตำรวจ 21‘บิ๊ก ตร.’-พลเรือน 7 ราย พล.อ.บุญสร้าง ปธ.
เปิดโครงสร้าง-บุคคล นั่ง กก.ปฏิรูปตำรวจยุค ‘บิ๊กตู่’ พบระดับ ‘ตร. ชั้นผู้ใหญ่’ เป็น กก. 21 ราย พลเรือน 7 ราย อดีต ผบ.ทอ.-เลขา สมช. ร่วมด้วย พล.อ.บุญสร้าง ปธ. 3 ปลัดคลัง-มท.-ยธ.-เลขาธิการศาลยุติธรรม-อสส. นั่งเป็นโดยตำแหน่ง
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า วันนี้คณะรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยแต่งตั้งให้ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ปัจจุบันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานฯ มีข้าราชการตามตำแหน่ง 5 ราย มีกรรมการอีก 30 ราย แบ่งเป็นตำรวจ 15 ราย และไม่ใช่ตำรวจ 15 ราย รวมเป็น 36 ราย ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และสามารถแต่งตั้งเพิ่มเติมได้ หรือปรับเปลี่ยนได้ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ได้มอบนโยบาย และให้แนวทางไปแล้ว โดยเหลือเวลาทำงานประมาณ 8 เดือนเศษ ต้องทำให้สำเร็จ ขอร้องว่า ให้ใจเย็น ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไปในการแก้ปัญหา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การแต่งตั้งประธานกรรมการปฏิรูปตำรวจ เมื่อไม่ให้เป็นข้าราชการตำรวจ จึงแต่งตั้งนายทหาร คือ พล.อ.บุญสร้าง เพราะเป็นดอกเตอร์ จบจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกเวสต์ป๊อยท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ไว้ใจได้ และเป็นอาจารย์ของตน เชื่อมั่น และจะไม่ไปก้าวก่าย เพราะสั่งอาจารย์ตัวเองไม่ได้อยู่แล้ว แต่เชื่อว่า มีวิจารณญาณที่เหมาะสมในการทำงาน และสามารถรับฟังจากบุคคลภายนอก คณะที่ปรึกษาต่าง ๆ ได้ เพื่อหาข้อสรุปว่าจะปฏิรูปอย่างไร
“การเปลี่ยนแปลงอะไรที่เร็วค่อนข้างลำบาก ต้องระมัดระวัง วันนี้ความไม่สงบ ความรุนแรงเกิดขึ้น เราต้องทำให้ได้ ขณะเดียวกันต้องปฏิรูปไปด้วย ผมไม่ไปเอื้อประโยชน์ใครอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการให้บ้านเมืองสงบ ทุกคนได้รับความไว้วางใจจากประชาชน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการทำงานในพื้นที่ จะหาวิธีให้ตำรวจร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ทหาร ข้าราชการ และพลเรือนในการทำงานในพื้นที่ให้ได้เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เป็นการทำงานลักษณะการทำงานในเชิงยุทธการ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่แต่ละจังหวัด ให้เกิดความเชื่อมั่น โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ส่วนการเลื่อนยศ ปลด ย้าย ยังคงเป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ตามเดิม ดังนั้นการทำงานมีหลายสาย จึงได้แบ่งให้สายยุทธการการข่าวไปทำในพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะประชุมคณะกรรมการฯทั้งหมดที่รัฐบาลแต่งตั้ง ต้องไปทำงาน 3 อย่าง ทั้งเรื่ององค์กร กฎหมาย และบุคลากร รวมถึงการสอบสวน การทำงาน แต่จะให้เปลี่ยนแปลงแบบชาติตะวันตก หรือสหรัฐฯทันทีเลยคงไม่ได้ การปฏิรูปต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับประเทศไทย ไม่ใช่ทำอะไรแบบไทยแท้อย่างเดียวไม่ได้ ทุกอย่างต้องมีกติกา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามเอกสารสำนักรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เรื่องการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับตำรวจตามรัฐธรรมนูญปี 2560 (ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ) ถึง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม ระบุว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ ภารกิจ และการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ และให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งเพื่อดำเนินการ โดยต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ครบวันที่ 6 เม.ย. 2561)
นายวิษณุได้หารือรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง (พล.อ.ประวิตร) และ สตช. รวมถึงผู้เกี่ยวข้องโดยเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว เห็นว่า ในขั้นแรกควรเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) รวม 36 ราย ตามรายชื่อดังนี้
1.พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.สส. เป็นประธาน 2.ปลัดกระทรวงการคลัง 3.ปลัดกระทรวงมหาดไทย 4.ปลัดกระทรวงยุติธรรม 5.เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม 6.อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
สำหรับกรรมการฝ่ายตำรวจมีทั้งหมด 21 ราย ประกอบด้วย 7.ผบ.ตร. 8.พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ อดีตรอง ผบ.ตร. 9.พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รอง ผบ.ตร. 10.พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 11.พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม 12.พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 13.พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น จเรตำรวจแห่งชาติ 14.พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกสร อดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) 15.พล.ต.อ.บุญชัย ชื่นสุชน อดีต ผช.ผบ.ตร. 16.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตที่ปรึกษา (สบ.10) ปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 17.พล.ต.อ.สุพร พันธุ์เสือ อดีตรอง ผบ.ตร. 18.พล.ต.อ.สมศักดิ์ แชวงโสภา อดีตผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน 19.พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รอง ผบ.ตร. 20.พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ และ 21.พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว อดีต ผช.ผบ.ตร.
ส่วนกรรมการฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ (พลเรือน 7 ราย ทหาร 2 ราย) มีทั้งหมด 9 ราย ประกอบด้วย 22.นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) 23.นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 24.นายภาณุ อุทัยรัตน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. 25.นายมานิจ สุขสมจิตร ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ 26.นางเบญจวรรณ สร่างนิทร อดีตเลขาธิการ ก.พ. 27.นายศุภชัย ยาวะประภาษ อดีตคณบดีรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 28.นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิบการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) 29.นายศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 30.นายธานิศ เกศวพิทักษ์ อดีตรองประธานศาลฎีกา 31.นายเข็มชัย ชุติวงศ์ รองอัยการสูงสุด 32.นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตเลขาธิการสภาทนายความ 33.พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ 34.นายอมร วาณิชวิวัฒน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 35.พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ 36.นายวรรณชัย บุญบำรุง รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (ดูเอกสารประกอบ)