วิษณุ แจงขยายใช้ 4 มาตราในพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ออกไป 6 เดือน
"คำสั่ง ม.44 ประกาศเจตนารมณ์หัวเด็ดตีนขาด ถึงอย่างไรก็มีนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์ ไม่ลดลาวาศอก ส่วนเศรษฐกิจภายในประเทศ เราก็ห่วงความสงบเรียบร้อยของสังคมในประเทศ การพัฒนาประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องการช่วย โดยเฉพาะมาตราที่ลงโทษรุนแรง ให้ 4 มาตราในพ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าวฯ ยืดเวลาการใช้ออกไป 6 เดือน "
วันที่ 4 ก.ค.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการออกคำสั่งคสช.มาตรา 44 แก้ไขพ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้วมี 145 มาตรา
นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ถูกถามตั้งแต่วันแรก ทำไมรัฐบาลถึงลักไก่ไม่ออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อเข้าสู่สภา คำตอบ เพราะจะเป็นกฎหมายที่ยืดยาว สภาใช้เวลาพิจารณายาวนานอาจไม่ต่ำกว่า 6 เดือน กว่าประกาศใช้ ขณะที่สถานการณ์ค่อนข้างบีบรัดเข้ามาให้เราต้องออกกฎหมายฉบับนี้ในเวลาอันเร็ว
"ถ้าจะออกแล้วช้า ก็ไม่ต้องออกเสียดีกว่า ออกทั้งทีก็ให้เร็ว เพื่อบริหารจัดการอะไรได้หลายอย่าง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 72 ก็อนุญาตให้ออกเป็น พ.ร.ก."
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า มีคนถามว่า ทำไมไม่ออกเป็นคำสั่ง คสช.มาตรา 44 ไปเลยนั้น คสช.ไม่เคยออกมาตรา 44 ใช้กับอะไรที่ยาวๆ หรือกฎหมาย 145 มาตรา คำสั่งนั้นจะใช้กับอะไรที่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ชั่วคราว โดยทางสายกลางคือการออกเป็น พ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าว สาระของกฎหมายคือประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน เป็นจำนวนมาก โดยไม่มีตัวเลขที่แท้จริงว่าเท่าไหร่
1. เป็นแรงงานที่เข้ามาถูกกฎหมาย เข้ามามีพาสปอร์ต วีซ่า ใบอนุญาตทำงาน ซึ่งเป็นแรงงานระดับสูง ระดับซีอีโอ 2.แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาต เพียงแต่ได้รับใบอนุญาตและไม่ปฏิบัติตาม ไม่ตรงตามจังหวัด หรือบริษัทที่ระบุไว้ เป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 3.แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาผิดกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ไม่มีวีซ่า ไม่มีพาสปอร์ต ซึ่ง IUU ประเทศเพื่อนบ้านเรา จับตาดูอยู่
นายวิษณุ กล่าุวถึงเสียงเรียกร้องให้มีการเปิดรับจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในประเทศใหม่ หรือให้อำนวยความสะดวกแรงงานไม่ต้องออกนอกประเทศนั้น ทำไม่ได้ เพราะจะผิดข้อตกลงที่ประเทศไทยทำไว้กับต่างประเทศ เนื่องจากตามข้อตกลงเราต้องให้ประเทศเจ้าของบ้านตรวจสอบสถานภาพ พิสูจน์ประวัติอาชญากรรมก่อน อกเขาอกเรา จำเป็นที่ประเทศไทยต้องส่งแรงงานเหล่านี้กลับออกไปก่อนให้ไปพิสูจน์ที่ประเทศต้นทาง
"จู่ๆจะให้เปิดจดทะเบียนในประเทศ ทำงานได้เลย เป็นไปไม่ได้"
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวพ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าวฯ กำหนดให้ส่งแรงงานต่างด้าวออกนอกประเทศทั้งนั้น ในระหว่างนี้นายจ้างคนใด จ้างลูกจ้างต่างด้าวผิดกฎหมาย มีความผิดถูกปรับอย่างน้อย 4-8 แสนบาทต่อคน ต้องการปรับนายจ้าง ส่วนลูกจ้างโทษเบาลงหน่อย เราต้องการเล่นงานนายจ้าง
"กฎหมายไม่ให้ปรับต่ำกว่า 4 แสนบาท กรณีแรงงานต่างด้าวจะบอกทารุณ โหดร้าย คนร่างกฎหมายไม่ละเอียด รอบคอบ ไร้มนุษยธรรมก็ไม่ใช่ เพราะพ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าวฯ เป็นกฎหมายชุดเดียวกับกฎหมายค้ามนุษย์ ซึ่งมี 4 ฉบับ 3 ฉบับก่อนหน้านี้ออกไปแล้ว คือ 1.กฎหมายประมง 2.กฎหมายแรงงานเด็ก 3.กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งก็มีโทษปรับ 4-8 แสนบาทเช่นเดียวกัน พ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าวฯ เป็นกฎหมายฉบับที่ 4 ปรับจุกจิกกว่าก็ไม่ได้ ใช้มาตรฐานเดียวกันคือค้ามนุษย์ รัฐบาลจึงไม่ได้ร่างกฎหมายส่งเดช หรือโหดร้าย ผิดมนุษยธรรม"
นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อพ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าวฯ สำแดงฤทธิ์ มีการไล่จับ ขณะที่แรงงานผิดกฎหมายหนีกลับประเทศตัวเอง ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ มีสุญญากาศแรงงาน ไม่รู้แรงงานจะกลับมาทำงานเมื่อไหร่ ซึ่งคำสั่ง คสช.มาตรา 44 ที่จะออกมามีหลักการดังต่อไปนี้
"ประกาศเจตนารมณ์หัวเด็ดตีนขาด กำหนดว่า ถึงอย่างไรก็มีนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์ ไม่ลดลาวาศอก ส่วนเศรษฐกิจภายในประเทศ เราก็ห่วงความสงบเรียบร้อยของสังคมในประเทศ การพัฒนาประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องการช่วย โดยเฉพาะมาตราที่ลงโทษรุนแรง ให้ 4 มาตราในพ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าวฯ ยืดเวลาการใช้ออกไป 6 เดือน " รองนายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า เพื่อให้แรงงานต่างด้าวกลับประเทศต้นทาง ทำเรื่องที่ประเทศตัวเองให้ถูกกฎหมาย คาดว่า แต่ละคนใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือน ทั้งนี้ หวังให้นายจ้างบริหารจัดการ ส่งแรงงานต่างด้าวออกไปเป็นชุดๆ ออกไปก่อน แล้วอีกชุดกลับมา เป็นต้น
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่า 4 มาตราในพ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าวฯ จะเริ่มใช้จริงๆ ต้นปีหน้า วันที่ 1 ม.ค.2561 เป็นต้นไป ขยายจนถึงปีใหม่ ให้กลับไปประเทศคุณ และกลับมาให้ทันปีใหม่ คำสั่งมาตรา 44 ออกมาเพื่อผ่อนคลาย ฉะนั้นช่วงเวลานี้จะไม่มีการจับกุม หรือปรับแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย พร้อมทั้งวางมาตรการผ่อนผันเรืองการเข้าเมือง ออกเมือง เหมือนเราผ่อนผันแรงงานต่างด้าวช่วงเทศกาล ไม่มีการจับ หรือขัง แต่อย่างใด
อ่านประกอบ:ตกค้างเป็นล้าน เอ็นจีโอ หวั่นนายจ้างเลือกจ่ายส่วย หลังรัฐไม่ขยายจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวใหม่
กกร.ขอก.แรงงาน เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศอีกครั้ง
กกร.ยื่น 4 ข้อคิดเห็น สนช.ทบทวน พ.ร.ก.ต่างด้าว-จี้เปิดจดทะเบียนเเรงงานผิด กม.อีกรอบ
เครือข่ายปชก.ข้ามชาติ จี้รัฐทบทวน พรก.จัดการแรงงานต่างด้าว หลังพบนายจ้างทิ้งลูกน้อง