ผลวิจัย นศ.นิเทศฯ3สถาบันชี้สื่อละเมิดจริยธรรมสนองคนหมู่มาก-ปัจจัยตลาดมาเกี่ยวข้อง
ผลวิจัย นศ.นิเทศศาสตร์ 3 สถาบัน ‘จับจ้องจริยธรรมสื่อ’ พบสำนักข่าวกระแสหลักออนไลน์ละเมิดเยอะกว่าสำนักข่าวเกิดใหม่ เหตุตอบสนองเป้าหมายคนหมู่มาก มีปัจจัยทางการตลาดมาเกี่ยวข้อง แนะถ้าเปลี่ยนเป็นแนวสอบสวนจะทำให้เกิดคุณภาพได้ เผยการกำกับกันเองที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะแต่ละคนมีภาระงาน จี้ กสทช. หนุนอย่างจริงใจ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2560 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดงานนำเสนอผลงานโครงการวิจัย ‘จับจ้องจริยธรรมสื่อ’ ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่คัดเลือกทีมนิสิตนักศึกษา และคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคที่มีการเรียนสอนด้านนิเทศศาสตร์ และการสื่อสารมวลชน จำนวน 3 ทีม ประกอบด้วย 1.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับหน้าที่จับจ้องสื่อประเภทออนไลน์ 2.มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รับหน้าที่จับจ้องหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง และ 3.มหาวิทยาลัยรังสิต รับหน้าที่จับจ้องหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายวัน
ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งถึงการนำเสนอข่าวบนแพลตฟอร์มออนไลน์ว่า สามารถแบ่งสำนักข่าวได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ สำนักข่าวกระแสหลัก และสำนักข่าวเกิดใหม่ จำพวก the matters หรือ 101word ซึ่งมีความต่างกัน เนื่องจากสำนักข่าวประเภทแรกเน้นการเข้าถึงมหาชน จึงต้องทำทุกข่าว ใช้กำลังคนมาก ซึ่งข่าวนั้น ๆ จำเป็นต่อสังคม และพยายามทำตามจรรยาบรรณ ในขณะที่สำนักข่าวเกิดใหม่ไม่ได้รายงานทุกเรื่อง และใช้คนเพียงไม่ถึงสิบคนเนื่องจากมีความเสี่ยงในเชิงธุรกิจ
“สำนักข่าวทั้งสองประเภท ต่างก็นำเสนอข่าวที่มีคุณภาพ แต่เมื่อตรวจสอบเรื่องจรรยาบรรณ กลับพบว่าเป็นสำนักข่าวกระแสหลักทำประเด็นข่าวที่หมิ่นเหม่ต่อการผิดจรรยาบรรณมากกว่าสำนักข่าวเกิดใหม่ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนในเมืองที่เลือกเสพข่าวที่มีมาตรฐาน” ผศ.พิจิตรา กล่าว
ผศ.พิจิตรา กล่าวอีกว่า จากการสำรวจ พบว่า กรณีหมิ่นเหม่จรรยาบรรณพบมากที่สุด ได้แก่ การเพิ่มอคติ การแฝงโฆษณา และการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สาเหตุหนึ่งมาจากการที่กลุ่มเป้าหมายของสำนักข่าวกระแสหลัก ยังเป็นคนหมู่มาก จึงยังต้องมีปัจจัยทางการตลาดมาเกี่ยวข้อง เพราะพบว่าข่าวที่มีการรายงานเรื่องลามกอนาจาร งมงาย อุจาดหวาดเสียว สร้างยอดปฏิสัมพันธ์ได้สูงเป็นอันดับต้น ๆ ทั้งนี้ก็ต้องระวัง เนื่องจาก ถ้าจะแข็งแล้วดึงจริยธรรมลง จะนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงเหมือนกัน แต่ถ้าแข็งแล้วไปเรื่องสืบสวนสอบสวน ก็จะเริ่มที่จะเห็นภาพแล้วว่า จะพาสำนักข่าวเข้าสู่ระดับคุณภาพ
สำหรับสำนักข่าวที่ทำการสำรวจต่างก็ยังเป็นศูนย์กลางของความน่าเชื่อถือ และยังอยู่บนฐานของจรรยาบรรณที่ดี ในที่นี้ ไม่ได้รวมเพจต่าง ๆ ที่สร้างข่าวปลอมเป็นส่วนหนึ่งในสำนักข่าวที่ทำการสำรวจแต่อย่างใด
ผศ.พิจิตรา กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเองเล่นบทบาทเป็นผู้จับตา หากเพิ่มบทบาทส่งเสริมคนที่ทำถูกจรรยาบรรณก็น่าจะเป็นตัวช่วยได้มาก เนื่องจากบางครั้งก็พบว่านักข่าวไม่ทราบว่าการรายงานของตนหมิ่นเหม่ต่อจรรยาบรรณเพราะพบได้ทั่วไปในบริบทสังคม ดังนั้นถ้าสภาการหนังสือพิมพ์มีการสนับสนุนเชิงบวก มีการแจ้งก็จะช่วยให้ทราบได้ มหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นจุดเดียวที่สอนแล้วผู้ศึกษาจะออกไปแล้วปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเลย อุตสาหกรรมต่างหากที่จะเป็นคนสอน อย่างไรก็ตามการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง ที่องค์กรวิชาชีพในไทยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเป็นเพราะใช้ระบบอาสาสมัคร โดยต่างคนต่างก็มีภาระงานของตน ทางภาครัฐโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องสนับสนุน อย่างจริงจังและจริงใจ