ฟัง ผบ.ทบ."ขอโทษ"กรณีคลิปสาวมุสลิม ปชป.ค้านสุดลิ่ม "ปกครองพิเศษ"
ผบ.ทบ.ขอโทษแทนกำลังพลกรณีคลิปฉาวอนาจารสาวมุสลิม สั่งลงโทษผู้บังคับบัญชาด้วยฐานไม่เข้มงวดกวดขัน ย้ำฝ่ายหญิงเสียหาย ผู้ชายต้องรับผิดชอบ ด้านตำรวจแจ้งข้อหา "ข่มขืน-อนาจาร" สองพลทหารต้นตอปัญหา ส่วนอดีตเลขาฯสมช.ค้านตั้งเขตปกครองตนเองชายแดนใต้เลียนแบบจีน เหตุที่ผ่านมาบริหารด้วยรูปแบบพิเศษผ่าน ศอ.บต.และ กอ.รมน.อยู่แล้ว ขณะที่ "อภิสิทธิ์" เตือนพรรคเพื่อไทยคิดให้รอบคอบ เพราะเคยชูประเด็นหาเสียง "นครปัตตานี" จนแพ้ราบคาบในสามจังหวัด "ยุทธศักดิ์" สั่ง สมช.ศึกษาแนวทาง ใต้ยังป่วนหนักบึ้่มทหารรายวันพลีชีพอีก 1 นาย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ตอบข้อถามของผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคารที่ 6 ก.พ.2555 ถึงกรณีมือมืดเผยแพร่คลิปวิดีโอพลทหารกระทำอนาจารหญิงมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า กองทัพมีมาตรการในการคัดเลือกบุคคลเพื่อลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ แต่ต้องเข้าใจว่าเมื่อเข้าไปอยู่ในพื้นที่แล้วมีความใกล้ชิด และสิ่งสำคัญต้องไปดูสาเหตุว่าเกิดจากอะไร จึงสั่งให้สอบสวนไปก่อน แต่สิ่งที่ผิดแน่นอนก็คือกำลังพลซึ่งไม่ควรไปยุ่ง
อย่างไรก็ดี ให้ตรวจสอบไปถึงผู้เสียหายด้วยว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ในส่วนของทหารนั้น ขณะนี้ได้ดำเนินการขั้นสูงสุด คือ จับขัง ตีตรวนไปแล้ว ต่อไปเป็นเรื่องของคดีอาญา ก็ถือเป็นบทเรียน แต่ขอว่าอย่านำเรื่องนี้ไปขยาย จนทำให้ใหญ่โตว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองเพศมีหลายเหตุผลด้วยกัน และเราต้องให้เกียรติฝ่ายหญิง จะพูดอะไรไม่ได้ เพราะจะทำให้ผู้หญิงเสียหาย ผู้ชายต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นคนไปยุ่งเกี่ยว และทำให้เรื่องเกิดขึ้นมา
"เรื่องที่เกิดขึ้นทุกเรื่องในภาคใต้ กองทัพบกไม่เคยนิ่งนอนใจ และนำบทเรียนต่างๆ มาแก้ไข ทั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดคดีความในเรื่องใด ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบ ซึ่งจะลงโทษผู้บังคับหน่วยว่าไม่ได้กวดขันเข้มงวดกำลังพลเท่าที่ควร แต่ต้องเห็นใจเพราะคนมีเยอะ กองพันหนึ่งมีคน 800 คน มาจากร้อยพ่อพันแม่ และไปทำภารกิจที่มีความเครียดและกดดัน เพราะฉะนั้นหน้าที่ของกองทัพคือขจัดคนไม่ดีแล้วแยกออกมา พร้อมทั้งลงโทษ"
"ก็อยากจะขอโทษแทนในส่วนของกองทัพบก และ กอ.รมน.(กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) อะไรที่เกิดขึ้นและบกพร่อง ผมในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติก็ต้องรับผิดชอบด้วยในเรื่องนี้ และต้องแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็ว" ผบ.ทบ.กล่าว
คดี 4 ศพหนองจิกคืบ 60% - พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเอาไว้ช่วยคนดี
ส่วนความคืบหน้ากรณีทหารพรานยิงรถต้องสงสัยที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนชาวบ้านเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 4 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ผลการสอบสวนคืบหน้าไป 60% แล้ว ไม่ว่าจะจะผิดหรือถูกอย่างไร ในฐานะเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบ เยียวยา และลงโทษ จะอ้างเรื่องพวกพ้องเพื่อช่วยเหลือกันไม่ได้
พร้อมกันนี้ ผบ.ทบ.ยังได้ขอร้องให้กลุ่มที่ต้องการให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และกลุ่มที่เสนอให้แก้ไข พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้เข้าใจถึงความจำเป็น และขอให้ทหารได้ทำงานต่อไป
"การต่อสู้กับผู้ก่อเหตุรุนแรงไม่ใช่โจรธรรมดา คนพวกนี้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตลอดเวลา ถ้าใช้กฎหมายปกติก็เป็นเรื่องที่ทำงานได้ยาก ทั้งการทำงานด้านการข่าวและการติดตามจับกุม ขณะนี้กฎหมายพิเศษที่เราใช้อยู่คือการเข้าไปจับกุมเพื่อสอบสวนและขยายผล ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับ (หมายถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก) เอาไว้ช่วยคนดี และป้องกันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีไว้เพื่อหาข่าว สอบสวนและหาข้อมูล รวมถึงการสาวไปถึงเครือข่ายที่โยงใย ซี่งที่ผ่านมาเราก็ได้มามากมายและพยายามจับกุมด้วยกฎหมายปกติ การมีกฎอัยการศึกสามารถจับกุมได้เลย ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯต้องขอหมายจากศาล"
"แม้จะมีกฎหมายที่หลายฝ่ายมองว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่กฎหมายนั้นไม่ได้ทำให้คนบริสุทธ์เดือดร้อน แต่เป็นกฎหมายเพื่อป้องปรามคนที่ทำไม่ดี ก็ต้องขอความเป็นธรรมด้วย เพราะคนในพื้นที่ไม่ได้เดือดร้อน ก็มีอยู่ไม่กี่พวกเท่านั้นที่เดือดร้อน ซึ่งกฎหมายไม่ได้ผิด แต่ผิดที่ผู้นำไปใช้มากกว่า ถ้าใครใช้ไม่ถูกก็ต้องลงโทษไป แต่เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงแล้วจะไปแก้ไขกฎหมาย ผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง แต่สามารถปรับปรุงได้"
"วันนี้จะให้บอกว่าสถานการณ์ดีหรือเลวนั้น ต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ที่บาดเจ็บ เสียชีวิตไปมากด้วย ลูกเมียก็เดือดร้อน ส่วนที่มีการกล่าวหาว่านำทหารลงไปจำนวนมากไปรบกับโจรแล้วสู้เขาไม่ได้นั้น ขอให้ทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า ไม่ได้เอาทหารไปรบกับใคร แต่ป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ" ผบ.ทบ.กล่าว
แจ้งข้อหาพลทหารฉาว "ข่มขืน-อนาจาร"
วันเดียวกัน ที่ สภ.ยะรัง จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่ทหารได้คุมตัว พลทหารวินัย กลางวิชัย อายุ 21 ปี ผู้ที่กระทำอนาจารหญิงสาวมุสลิมวัย 16 ปี และ พลทหารสมยศ จันทรพุฒ ผู้ที่ถ่ายคลิบวิดีโอ เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน พร้อมเรียกสอบปากคำในเบื้องต้น ซึ่งทั้งสองยอมรับสารภาพ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งข้อหาร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา ร่วมกันพรากหญิงอายุกว่า 15 ปีแต่ไม่เกิน 18 ปีเพื่อการอนาจาร และร่วมกันพาหญิงอายุกว่า 15 ปีแต่ไม่เกิน 18 ปีไปจากบิดามารดา ก่อนจะส่งตัวไปฝากขังต่อยังเรือนจำค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
จากการสอบถามพนักงานสอบสวนถึงการแจ้งข้อหาหนักกับพลทหารทั้งสองนาย โดยเฉพาะข้อหาข่มขืนกระทำชำเรานั้น พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดี กล่าวว่า เป็นเพราะทางผู้เสียหายแจ้งความให้ดำเนินคดีในข้อหานี้ด้วย ส่วนจะมีความผิดจริงตามที่กล่าวหาหรือไม่ประการใด เป็นเรื่องที่ต้องสอบสวนและพิสูจน์ต่อไปตามกระบวนการยุติธรรม
รุมค้านยกสถานะชายแดนใต้"ปกครองตนเอง"
อีกด้านหนึ่ง หลายฝ่ายได้ออกมาคัดค้านการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ ในรูปแบบ "เขตปกครองตนเอง" ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ตามที่คณะอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความมั่นคง ในคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หรือ กปพ.ที่มี นายประสพ บุษราคัม อดีต ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปัตตานีมหานคร พ.ศ.... และร่างแก้ไข พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต.ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงพิจารณา
นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า แม้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ทั้งในเชิงวัฒนธรรม ภาษา ชาติพันธุ์ ประชากร จิตวิทยา และมีสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จึงจำเป็นต้องมีรูปแบบพิเศษในการดูแลที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป้าหมายต้องเป็น "เขตปกครองตนเอง" เหมือนอย่างเขตปกครองตนเอง "ซินเจียงอุยกูร์" ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ทั้งนี้ เพราะที่ผ่านมามีรูปแบบการปกครองและการบริหารจัดการเป็นพิเศษที่ดำเนินการอยู่แล้วในพื้นที่ เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งมีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เป็นกลไกขับเคลื่อนงาน หรือบทบาทของ กอ.รมน.ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี นายถวิล ย้ำว่า การบริหารจัดการในพื้นที่ต้องเน้นให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมที่แตกต่าง เช่น การใช้ภาษามลายูเพื่อเป็นประโยชน์ในการสื่อสารระหว่างภาครัฐกับประชาชน ให้เข้าถึง และเข้าใจความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง หรือการปรับกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ให้สอดรับกับหลักคำสอนทางศาสนา เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว
"อภิสิทธิ์"ติงเคยแพ้เลือกตั้งทำไมยังเดินหน้า
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากย้ำว่าพรรคเพื่อไทยเคยชูประเด็นนี้หาเสียงอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปรากฏว่าทั้งๆ ที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งท่วมท้นในระดับประเทศ แต่กลับไม่มีผู้แทนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงต้องทบทวนว่าเมื่อเสนอนโยบายนี้มาแล้ว คนในพื้นที่รับหรือไม่ เพราะถ้ารับคงเลือกพรรคเพื่อไทยไปแล้ว มันเหมาะสมหรือไม่ที่จะเดินหน้าเรื่องเหล่านี้ เพราะอาจจะส่งผลกระทบตามมา จึงไม่แน่ใจว่าพรรคเพื่อไทยได้พิจารณาด้วยความรอบคอบแล้วหรือยัง
"เราเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมมากขึ้น แต่รูปแบบจะเป็นอย่างไรต้องดูความเหมาะสม เข้าใจว่าถ้าทำตามนโยบายนี้ต้องยุบองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมถึงเทศบาลด้วย เพราะค่อนข้างชัดเจนว่าจะมีการบริหารลักษณะรวมศูนย์ทั้งสามจังหวัด ต้องไม่ลืมว่าทั้งสามจังหวัดไม่ใช่จังหวัดเล็กๆ ถ้ามีศูนย์อำนาจอยู่จุดเดียว คนท้องถิ่นก็ต้องวิ่งมาที่ปัตตานีจุดเดียว ทั้งๆ ที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ใกล้ๆ แล้วในปัจจุบัน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
"ยุทธศักดิ์"สั่งศึกษาเขตปกครองพิเศษ
ด้าน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะดูแลงานด้านความมั่นคง กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ สมช.ไปศึกษาหาแนวทางตั้งเขตปกครองพิเศษเพื่อนำมาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นเกี่ยวกับการใช้กฎหมายหรือรูปแบบตลอดจนขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องมีรายละเอียดมากมาย แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร
นอกจากนั้น ได้สั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงประเมินการลดพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลง โดยหากพื้นที่ใดสถานการณ์ดีขึ้น ก็จะนำ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาบังคับใช้
บึ้มกรงปินังทหารดับ 1 เจ็บ 1
ด้านสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 06.40 น.วันเดียวกัน คนร้ายลอบจุดชนวนระเบิดที่วางซุกไว้ในกองขยะริมถนนเพื่อดักสังหารทหารชุดลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยครู สังกัดหน่วยเฉพาะกิจยะลา 13 ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่บนถนนในหมู่บ้านกูวา หมู่ 1 ต.ห้วยกระทิง อ.กรงปินัง จ.ยะลา แรงระเบิดทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บ 2 นาย คือ จ.ส.อ.ปรีชา คงภักดี อายุ 52 ปี และ พลทหารธงชัย บุญช่วย อายุ 22 ปี แต่ จ.ส.อ.ปรีชา ทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตที่โรงพยาบาล เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ
เวลา 14.00 น. คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธปืนอาก้ายิง นายอับดุลหามิ สาแม็ง อายุ 42 ปี พนักงานขับรถขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปะโด อ.มายอ จ.ปัตตานี อยู่บ้านเลขที่ 28/4 บ้านมะหุด หมู่ 2 ต.ปะโด เสียชีวิตคาที่ เหตุเกิดขณะนายอับดุลหามิขี่รถจักรยานยนต์อยู่บนถนนในหมู่บ้านคลองช้าง หมู่ 3 ต.เกาะจัน อ.มายอ เพื่อมุ่งหน้ากลับบ้าน เบื้องต้นตำรวจยังไม่สรุปสาเหตุการสังหาร
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
2 เศษซากชิ้นส่วนระเบิดที่เจ้าหน้าที่เก็บรวบรวมได้หลังคนร้ายก่อเหตุบึ้มประทุษร้ายทหารชุดลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยครู ที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)
ขอบคุณ :
1 ศูนย์ภาพเนชั่น เอื้อเฟื้อภาพ พล.อ.ประยุทธ์
2 เนื้อหาข่าวบางส่วนจากสำนักข่าวเนชั่น และ คุณปาเรซ โลหะสัณห์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์คมชัดลึกประจำจังหวัดปัตตานี