หวั่นนักธุรกิจไม่ลงทุน! ป.ป.ช.ชง ครม. แก้ดัชนีทุจริต-ให้ทุกหน่วยงานเปิดข้อมูลจัดจ้างทั้งระบบ
ป.ป.ช. ชงข้อเสนอ ครม.บิ๊กตู่ ให้ทุกหน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างทั้งระบบ ตั้งศูนย์ข้อมูลกลางเฉพาะไว้รวบรวม เปิดช่องให้ประชาชนร่วมตรวจสอบด้วย กำหนดให้องค์กรอิสระปรับปรุงการใช้กฎหมาย ตั้งกรอบเวลาทำงานอย่างเป็นรูปธรรม
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต แก้ไขปัญหาดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งนานาชาติ (Transparency International : TI) แล้ว
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีข้อเสนอแนะดังกล่าว เนื่องจากนักลงทุนหรือนักธุรกิจหลายประเทศใช้ CPI เพื่อประเมินความน่าสนใจลงทุนของแต่ละประเทศ โดยเห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เป็นต้นทุนหรือเป็นความเสี่ยงในการเข้ามาประกอบธุรกิจ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า สมควรมีข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตให้แก่รัฐบาลดำเนินการแก้ไข มีหลายประเด็น เช่น ข้อเสนอแนะด้านนโยบาย ข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจ ข้อเสนอแนะด้านกระบวนการยุติธรรม และข้อเสนอแนะด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน
ทั้งนี้เสนอให้รัฐบาลรวมทั้งองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐควรปรับปรุงการดำเนินการของหน่วยงานการบังคับใช้กฏหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดี กำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาอย่างเป็นรูปธรรม จัดให้มีการยกระดับกระบวนการยุติธรรมของประเทศ จำแนกประเภทคดี และจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีทุจริต
นอกจากนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบทุจริต เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ควรมีการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานและมีความชัดเจนกับการตรวจสอบประเด็นต่าง ๆ
รวมถึงเห็นควรส่งเสริมให้มีเวทีแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ หรือการจัดประชุมเสวนาในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น และให้ทุกหน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งระบบ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และให้มีศูนย์ข้อมูลราคากลางเฉพาะด้านเพื่อรวบรวมข้อมูลราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานแต่ละแห่งในด้านนั้น ๆ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ พร้อมกับเสนอกฎหมายในการส่งเสริมเสรีภาพของสื่อมวลชนในการติดตามเสนอข่าวสารประเด็นต่าง ๆ และการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ