ศอ.บต.แจงสนามฟุตซอลชำรุด 20 แห่ง เหตุกีฬาในร่มแต่สร้างกลางแจ้ง!
เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ นำเสนอคำชี้แจงของเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เกี่ยวกับสนามฟุตซอลในโครงการ 1 ตำบล 1 สนามฟุตซอล ว่าพบปัญหาพื้นยางหลุดร่อนจริงตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าวประมาณ 20 สนาม สาเหตุเพราะสภาพอากาศทั้งแดดทั้งฝน เนื่องจากเป็นกีฬาในร่มแต่สร้างกลางแจ้ง
นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต. ระบุตอนหนึ่งว่า หลังจากมีการนำเสนอข่าวเรื่องสนามฟุตซอลชำรุดเสียหาย และหลายสนามถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่มีการใช้งาน ศอ.บต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจสนามทั้งหมด จนพบว่ามีสนามที่เสียหายจริงตามที่สื่อนำเสนอและประชาชนให้ข้อมูล จำนวน 20 สนาม เป็นการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง เพื่อจะได้มีการประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ซึ่งมีหน้าที่ในการบำรุงรักษา เพื่อหาทางแก้ไขให้สามารถใช้ประโยชน์ได้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่สื่อและคนส่วนหนึ่งที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว อาจจะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนคือ โครงการสร้างสนามฟุตซอลนี้ ศอ.บต.ไม่มีหน้าที่ในการหาผู้ก่อสร้าง ศอ.บต.มีหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งที่เป็นเทศบาล และ อบต.เท่านั้น โดย อบต.เป็นผู้หาผู้รับเหมาเอง ส่วนการเลือกพื้นที่ก่อสร้าง ได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬาของ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานพิจารณาคัดเลือก โดยกระบวนการการมีส่วนร่วมของนายอำเภอ และผู้บริหารท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเห็นว่าทุกชั้นตอน ศอ.บต.ได้ทำอย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ ศอ.บต.เองมีความเห็นห่วงในเรื่องของการก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐาน ด้วยการกำหนดสเปคงานก่อสร้างไว้ค่อนข้างละเอียด เช่น ปูนซีเมนต์ต้องใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ซึ่งได้มีการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แม้แต่ทรายก็ต้องเป็นทรายน้ำจืด มีการกำหนดความละเอียดของทราย หิน เหล็ก และวัสดุอื่นๆ ไว้ทั้งหมด และสิ่งที่ ศอ.บต.มีความหวังดี คือขอให้มีการซื้อวัสดุยางปูสนามที่ผลิตจากยางพารา เพื่อที่จะได้เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง และส่งเสริมให้มีการใช้วัสดุที่ผลิตจากยางพารา ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล
จากการสรุปผลเสียหายของ 20 สนาม ตรวจสอบพบว่าความเสียหายมีลักษณะที่คล้ายกันทั้งหมด คือ พื้นยางหลุดร่อน การปูพื้นที่มีรอยต่อ สีหลุดลอก ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าสาเหตุมาจากการที่สนามฟุตซอลเป็นสนามกีฬาในร่ม ซึ่งต้องมีส่วนประกอบที่เป็นหลังคา เมื่อไม่มีหลังคา สนามที่สร้างจึงถูกแดดถูกฝน ทำให้แผ่นยางหลุดร่อน โค้งงอ และสีที่ทาก็หลุดลอก ดังนั้นความเสียหายบางส่วนที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องของความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ แต่เป็นเรื่องของการขาดการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงจากส่วนงานที่รับผิดชอบ ซึ่งต้องมีการพูดคุยกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขต่อไป
ในตอนท้ายของการชี้แจง เลขาธิการ ศอ.บต.ยังฝากขอบคุณสื่อและประชาชนในพื้นที่ที่ช่วยกันตั้งข้อสังเกตการใช้งบประมาณของ ศอ.บต. และการแจ้งให้ทราบถึงปัญหาของสนามฟุตซอลที่ชำรุดและมีปัญหา เช่น ไปสร้างในจุดที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ ซึ่งก็พบว่ามีบ้าง แต่ไม่กี่แห่ง แต่ส่วนใหญ่สนามที่สร้างมีเยาวชนใช้ประโยชน์ในการเล่นกีฬาฟุตซอลอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ศอ.บต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกลับไปคิดในการก่อสร้างสนามต่อไป ต้องไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นอีก และสนามที่มีอยู่แล้วจะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง
สิ่งที่น่ายินดีคือ นอกจากสื่อและประชาชนในพื้นที่ได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา แจ้งข่าวความเสียหายให้ ศอ.บต.ได้รับทราบแล้ว ยังมีองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช.จังหวัดในพื้นที่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และขอรายละเอียดจาก ศอ.บต.ในโครงการต่างๆ รวมทั้งสนามฟุตซอล ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และ ศอ.บต.เองมีความพร้อมในการให้ความร่วมมือในการตรวจสอบทุกโครงการ เพราะจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าโครงการต่างๆ ของ ศอ.บต.มีความโปร่งใสหรือไม่
------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ นายศุภณัฐ จากเว็บไซต์ ศอ.บต.
อ่านประกอบ :
3 ปี 179 ล้าน...โครงการ 1 ตำบล 1 สนามฟุตซอล "พัง-ร้าง" อื้อ!