ก.พ.ร.รับลูก‘บิ๊กตู่’หาทางบรรจุ จนท.รัฐถูก ม.44 แต่สอบแล้วไม่ผิดเข้าทำงานใหม่
สำนักงาน ก.พ.ร. รับข้อเสนอ ‘บิ๊กตู่’ หาแนวทางบรรจุ จนท.รัฐ ถูก ม.44 แต่สอบแล้วไม่ผิด กลับเข้าทำงานตามเดิม เผยต้องตั้ง กก.ร่วม ก.พ.-ก.พ.ร.-หน่วยงานเกี่ยวข้อง พิจารณาหลักเกณฑ์ จับมือ ก.คลัง-มหาดไทย-สตง. ควบคุม จนท.รัฐ จัดเก็บรายได้ด้วย
จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาการกำหนดตำแหน่งเพื่อรองรับการดำเนินการในกรณีของบุคคลที่มีคำสั่งตามมาตรา 44 ให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ แล้วผลการตรวจสอบปรากฏว่า ไม่มีการกระทำความผิด ในการพิจารณาปรับย้ายข้าราชการดังกล่าวอาจจะต้องมีคณะกรรมการพิจารณาเป็นการเฉพาะนั้น
(อ่านประกอบ : ศอตช.รายงานผล ม.44 พักงาน จนท.รัฐ ฟันวินัย 42 ราย-ป.ป.ช.เชือดแล้ว 20 ราย)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า สำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาเรื่องนี้แล้ว มีความเห็นว่า หากผลการตรวจสอบปรากฏว่าไม่มีการกระทำผิด เพื่อเป็นการรักษาสิทธิประโยชน์ให้แก่ข้าราชการดังกล่าว ควรบรรจุบุคคลดำรงตำแหน่งให้เหมาะสมกับงาน (Put the right man on the right job) และกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์รองรับการดำเนินการดังกล่าวให้ชัดเจน โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการร่วมระหว่างสำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางและหลักเกณฑ์ รวมทั้งดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางและหลักเกณฑ์ดังกล่าวร่วมกัน
นอกจากนี้ที่มีข้อสั่งการให้สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับกระทรวงการคลังพิจารณากำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการควบคุมการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ในการจัดเก็บรายได้ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยใช้กลไกการประเมินส่วนราชการเป็นเครื่องมือในการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการนั้น หากจะให้ดำเนินการเรื่องนี้มีความครอบคลุมและเกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรกำหนดให้มีกลไกการดำเนินการร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้เข้ามามีส่วนร่วมเรื่องนีด้วย
ควรกำหนดให้มีตัวชี้วัดเพื่อใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานในลักษณะการพัฒนานวัตกรรมการให้บริการที่เกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อควบคุมการใช้ดุลยพินิจในทุกองค์กรภาครัฐ ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะทำให้การดำเนินงานเรื่องนี้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ รวมทั้งควรขยายผลการดำเนินการตามตัวชี้วัดการยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ (ITA) ให้มีขอบเขตการดำเนินงานที่ครอบคลุมถึงประเด็นนี้ด้วย เพื่อใช้เป็นกลไกการกำกับดูแล และกระตุ้นการดำเนินงาน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) รายงานผลการดำเนินการคำสั่งหัวหน้า คสช.) กรณีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 พักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ และข้าราชการที่อาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 102 ราย ต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยแล้วเสร็จ จำนวน 42 ราย อยู่ระหว่างการดำเนินการทางวินัยของต้นสังกัด จำนวน 66 ราย และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลแล้ว 20 ราย
อนึ่ง ก่อนหน้านี้สำนักข่าวอิศราเคยรวบรวมเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ ที่ถูกคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ในการพักงานเจ้าหน้าที่ และข้าราชการที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต หรือประพฤติมิชอบ ตั้งแต่ปี 2558-ส.ค. 2559 ตามคำสั่ง หัวหน้า คสช. ฉบับที่ 16/2558, 19/2558, 1/2559, 33/2559, 43/2559 และ 44/2559 รวมทั้งสิ้น 258 ราย โดยมีผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นมากกว่าครึ่งหนึ่ง
อ่านประกอบ :
สอบถึงไหน-เอาผิดใครได้ยัง? ข้อสังเกตคำสั่ง หน.คสช.พักงาน-ย้าย จนท.รัฐพันทุจริต
แยกหมวดหมู่ 258 จนท.รัฐ-ผู้บริหารท้องถิ่นถูกคำสั่ง หน.คสช. พักงาน-โยกย้าย