หมอกควันเชียงรายอันตราย หลาย จว.ห่วงท่องเที่ยวหด ไม่ประกาศภัยพิบัติ
หมอกควันเหนือทวีความรุนแรง คนป่วยเพิ่ม 5 เท่า เชียงรายเข้าขั้นอันตราย หลายจังหวัดห่วงภาพลักษณ์ท่องเที่ยว ไม่ยอมให้ประกาศเขตภัยพิบัติ
วันที่ 6 มี.ค.55 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงมาตรการรับมือกับสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน ว่านายกรัฐมนตรีได้กำชับให้แต่ละหน่วยงานลงพื้นที่ดูแลตามอย่างเต็มที่ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลเรื่องสุขภาพอนามัย กระทรวงมหาดไทยประสานงบประมาณท้องถิ่น ทั้งในส่วนองค์การบริหารส่งนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล และอาสมัครต่างๆ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้มงวดกับประชาชนที่เผาป่ามากขึ้น รวมถึงการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยสลายหมอกควัน แต่ทราบว่ายังไม่สามารถทำได้เต็มที่เนื่องจากมีความชื้นสัมพัทธ์ค่อนข้างสูง
นพ.สุรวิทย์ กล่าวอีกว่า ตอบได้ยากว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติเมื่อไร แต่ยังคงไม่สามารถประกาศให้ 8 จังหวัดภาคเหนือเป็นพื้นที่ประสบภัย เพราะส่วนใหญ่เกรงว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยว ทั้งนี้จากที่ตนได้ลงพื้นที่พบว่ามีเพียง จ.ลำพูน แห่งเดียวที่ยินดีให้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย ส่วนจังหวัดอื่นๆคงต้องติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่นายกรัฐมนตรีก็ได้ฝากไว้ว่าหากมีความจำเป็นก็สามารถประกาศได้ทันที เพื่อที่จะได้นำงบประมาณฉุกเฉินออกมาใช้แก้ปัญหา ส่วนศูนย์อพยพที่มีเตรียมการไว้ในหลายพื้นที่ โดยปรับใช้ห้องปรับอากาศ หรือศูนย์ประชุมต่างๆที่อยู่ในพื้นที่ไว้รองรับประชาชน แต่กลับพบว่าไม่มีประชาชนย้ายเข้าไปอยู่เลย ทั้งที่อยู่ไม่ห่างจากบ้านเรือนประชาชนมากนัก
รมช.สธ. ยังกล่าวว่าสำหรับรายงานกรมควบคุมมลพิษก็พบว่าค่ามลพิษในอากาศหรือค่า PM 10 เกินมาตรฐานที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรหลายจุด ที่หนักที่สุดคือที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่วัดได้เกิน 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือเป็นอันตรายมาก เพราะจากการศึกษาพบว่า หากค่ามลพิษเกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะมีผลกระทบกับเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หากเกิน 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็จะเป็นอันตรายกับคนธรรมดาด้วย หรือหากเกิน 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต้องเคลื่อนย้ายอพยพจากพื้นที่ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าค่ามลพิษ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรที่กำหนดไว้นั้นเป็นมาตรฐานสากล
นพ.สุรวิทย์ กล่าวอีกว่า ล่าสุดรายงานด้านสุขภาพของประชาชนพบว่า มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นถึง 5 เท่า แบ่งเป็นผู้ป่วยหอบหืดที่เพิ่มมากกว่า 14,000 ราย ผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอีกกว่า 13,000 คน และที่มีผลกระทบที่ตาและการมองเห็นราว 1,400 ราย โดยในส่วนนี้ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลอย่างทั่วถึงแล้ว .
ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1236925898&grpid=03