6 คำถามเรื่อง 'ธรรมาภิบาล' กับการประมูลดาวเทียมTHEOS-2 มูลค่า 7.8 พันล้าน
"....ขณะนี้ การดำเนินโครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอโครงการ ในขั้นสุดท้าย โดยได้ประกาศผลผู้ที่มีคะแนนด้านเทคนิคมากกว่า 80% และเปิดซองราคา ไปแล้ว โดยการประกาศผลดังกล่าวมีขึ้นในวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ซึ่งสทอภ.ประกาศเพียงว่า มีเพียง 2 บริษัทคือ (1) Airbus Defence and Space SAS และ (2) Satrec Initiative Co.,LTD and POSCO Daewod Corporation ที่มีคะแนนทางเทคนิคสูงกว่า 80% โดยไม่ประกาศว่าผู้เสนอราคาแต่ละรายได้คะแนนเท่าไร และไม่อนุญาตให้อุทธรณ์จนกระทั่งประกาศชื่อผู้ชนะการประมูลแล้วนั้น..."
ตามที่ รัฐบาล ได้กำหนดนโยบายให้เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและความสามารถของประเทศ โดยเร่งดำเนินการโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยการดำเนินการในระยะยาว และให้การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล รวมถึงหลักการและแนวทางของข้อตกลงคุณธรรม อันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศที่เข้าร่วมในการดำเนินกิจการภาครัฐ ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและให้เกิดความไว้วางใจแก่ประชาชน นั้น
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า ขณะนี้ได้มีความไม่โปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 ในวงเงิน 7,800 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรศุลกากร) ระยะเวลาการดำเนินการ 5 ปี (ปีงบประมาณ 2560-2564) ที่มอบให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน): สทอภ. เป็นผู้รับผิดชอบโครงการตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสนอ ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. ข้อกำหนดและกระบวนการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคไม่โปร่งใส และอาจทำให้ประเทศเสียประโยชน์
ขณะนี้ การดำเนินโครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอโครงการ ในขั้นสุดท้าย โดยได้ประกาศผลผู้ที่มีคะแนนด้านเทคนิคมากกว่า 80% และเปิดซองราคา ไปแล้ว โดยการประกาศผลดังกล่าวมีขึ้นในวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ซึ่งสทอภ.ประกาศเพียงว่า มีเพียง 2 บริษัทคือ (1) Airbus Defence and Space SAS และ (2) Satrec Initiative Co.,LTD and POSCO Daewod Corporation ที่มีคะแนนทางเทคนิคสูงกว่า 80% โดยไม่ประกาศว่าผู้เสนอราคาแต่ละรายได้คะแนนเท่าไร และไม่อนุญาตให้อุทธรณ์จนกระทั่งประกาศชื่อผู้ชนะการประมูลแล้วนั้น
แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวนี้จะเป็นไปตาม ITB ข้อ 21 เรื่อง Process to be Confidential ก็ตาม แต่การที่มีข้อกำหนดเช่นนี้ นอกจากจะแสดงถึงความไม่โปร่งใสที่ไม่กล้าบอกคะแนนของการพิจารณาผลแล้ว อาจทำให้ประเทศเสียผลประโยชน์ กล่าวคือ หากมีการอุทธรณ์เรื่องคะแนนแล้วอุทธรณ์ผ่าน อาจจะทำให้มีรายชื่อของผู้ที่มีคะแนนทางเทคนิคสูงกว่า 80% จำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทเหล่านั้นอาจมีข้อเสนอด้านราคา และคะแนนโดยรวมที่ดีกว่า 2 บริษัทที่ผ่านการพิจารณา การที่อนุญาตให้อุทธรณ์หลังการประกาศรายชื่อผู้ชนะเท่านั้น จะทำให้ สทอภ.ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการพิจารณาได้ หรือถ้าสามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็จะส่งผลกระทบในเรื่องความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่มีต่อรัฐบาลไทย
2. การรับรู้ข้อมูลราคาล่วงหน้าอาจส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
สทอภ.ได้แบ่งการพิจารณาให้คะแนนข้อเสนอ ออกเป็น 2 ส่วน คือ ด้านเทคนิคกับด้านราคา โดย ใน ITB ข้อ 9.1 ได้กำหนดไว้ว่าการยื่นข้อเสนอต้องประกอบไปด้วยเอกสารข้อเสนอ 2 ซองที่ปิดผนึกไว้อย่างดี ซองที่หนึ่งคือ Technical Proposals และซองที่สองคือ Pricing Documents โดย สทอภ.จะพิจารณาเปิดซอง Pricing Documents ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านราคาเฉพาะของรายที่ได้รับคะแนนในข้อเสนอด้านเทคนิคสูงกว่า 80% เท่านั้น (Instruction To Bidders: ITB ข้อ 25.3) นั่นคือ ข้อมูลราคาที่เสนอควรจะถูกเปิดเผยหลังจากพิจารณาให้คะแนนด้านเทคนิคแล้วเพราะการรู้ข้อมูลด้านราคาก่อนอาจทำให้เกิด การพิจารณาที่ไม่เป็นธรรมได้
อย่างไรก็ตาม ใน ITB ได้กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอใส่เอกสาร Form of Bid (Annex 1) ซึ่งมีข้อมูลราคาที่เสนออยู่ด้วย ไว้ในซอง Technical Proposals นั้น ทำให้ สทอภ.อาจสามารถทราบราคาก่อนที่จะพิจารณาด้านเทคนิค จึงเป็นไปได้ว่าการพิจารณาให้คะแนนด้านเทคนิคที่ผ่านมาของ สทอภ. ไม่เป็นธรรม
3.การให้คะแนนไม่โปร่งใส ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และไม่เป็นธรรม
ข้อกำหนดในวิธีการให้คะแนน (Appendix 10: Evaluation and Criteria) ในแต่ละหัวข้อไม่เป็นสัดส่วนต่องบประมาณ กล่าวคือ สทอภ.กำหนดการให้คะแนนในส่วนของ Application (Appendix 3) ถึง 40 คะแนน ซึ่งมีวงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยประมาณ ในขณะที่กำหนดการให้คะแนนในส่วนของ ดาวเทียม (Appendix 4, 5, 7) ซึ่งมีวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยประมาณ เพียง 60 คะแนน นอกจากนี้ ในการให้คะแนน ของแต่ละหัวข้อ สทอภ ได้แตกลงเป็นข้อย่อย แต่ สทอภ.กลับมิได้กำหนดการจัดสรรและหลักเกณฑ์การให้คะแนนในแต่ละข้อย่อยต่างๆ วิธีการให้คะแนนที่เปิดกว้างอย่างไร้หลักเกณฑ์ดังกล่าว และไม่ยอมเปิดเผยคะแนน หรือเหตุผล ทำให้การให้คะแนนของ สทอภ.มีความยืดหยุ่นสูงที่จะให้คะแนนได้ตามอำเภอใจโดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์ใดๆ ไม่เป็นธรรมต่อผู้เสนอราคา
4.การพิจารณาข้อเสนอ ไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่เป็นธรรม และไม่โปร่งใส
บริษัท Satrec Initiative Co.,LTD and POSCO Daewod Corporation ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิคด้วยคะแนน แต่ไม่ได้ยื่นข้อเสนอตามข้อกำหนดในเรื่องการส่งดาวเทียมขนาดเล็กที่กำหนดว่าต้องมีวงโคจรเป็น Inclined orbit ในขณะที่บริษัทเสนอว่าจะส่งดาวเทียมดวงเล็กไปพร้อมๆกับดาวเทียมดวงใหญ่ซึ่งเป็น Polar Orbit และราคาที่เสนอก็อยู่บนพื้นฐานของข้อเสนอที่ว่านี้ โดยทางบริษัทเสนอว่ายินดีต่อรองหาก สทอภ.ต้องการแยกส่งดาวเทียมดวงเล็กที่มีวงโคจรเป็น Inclined orbit อยางแน่นอน
เป็นที่น่าประหลาดใจในกลุ่มผู้เสนอราคาว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่ตรงตาม ITB แต่ทำไมบริษัทนี้ถึงผ่านการพิจารณาขั้นตอน “Substantially Responsive” ได้ ในขณะที่ สทอภ.ได้ตัดสินให้ บริษัท Thales Alenia Space France SAS and e-GEOS SPA ไม่ผ่านตั้งแต่ขั้นตอน “Substantially Responsive” เพียงเพราะ Thales มิได้เสนอ Hardware สำหรับงาน Application ได้ชัดเจน (เพราะข้อมูลใน ITB ไม่ชัดเจนเพียงพอ) แม้ว่าคะแนนและงบประมาณในส่วนงานนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับเรื่องการสร้างและส่งดาวเทียมดวงเล็กให้มีวงโคจรเป็น Inclined orbit ก็ตาม นอกจากนี้แล้ว การแยกส่งดาวเทียมเป็นสองครั้งจะมีผลอย่างมากในเรื่องความแตกต่างของงบประมาณ จึงไม่เป็นธรรมต่อผู้เสนอรายอื่นๆที่เลือกที่จะเสนอให้ตรงตาม ITB ทั้งกลุ่มบริษัทที่มีคะแนนด้านเทคนิคสูงกว่าและต่ำกว่า 80%
อนึ่งการส่งดาวเทียม Remote Sensing ที่มีวงโคจรเป็น Inclined orbit นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ปรกติของวงการดาวเทียมประเภทนี้ เคยมีประเทศมาเลเซียเคยพยายามส่งไป 1 ครั้ง และไม่ส่งอีกเลย และไม่เคยปรากฏถึงของความสำเร็จและความคุ้มค่าของดาวเทียมสัญชาติมาเลเซียนี้ก็ตาม
5. ข้อกำหนดที่คลุมเครือ การดำเนินการที่รีบเร่ง กับคณะกรรมการบริหารที่กำลังจะครบวาระ
เป็นที่น่าสังเกตว่าการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการนี้เป็นไปอย่างรีบเร่ง ข้อมูลใน ITB ไม่ชัดเจน ในช่วงของการขายซอง มีผู้ตั้งคำถามเพื่อขอความชัดเจนใน ITB มากกว่า 200 คำถาม จวบจนถึงขณะนี้มีหลายคำถามยังไม่ได้รับคำชี้แจง ส่งผลให้หลายบริษัทชั้นนำไม่สามารถส่งข้อเสนอได้ หรือพิจาณาไม่นำเสนอในบางหัวข้อ หรือฝืนนำเสนอแบบไม่ตรงตาม ITB ทั้งนี้เพราะความไม่ชัดเจนของ ITB จึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ต้องรีบเร่งทำให้เสร็จ อาจเป็นเพราะคณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบัน ที่มี ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ เป็นประธาน กำลังจะครบวาระในปลายเดือน มิถุนายน 2560 นี้
6.กระบวนการต่อรองขั้นสุดท้าย ส่งผลให้เกิดการแข่งขันไม่เป็นธรรม
ใน ITB ข้อ 26 กล่าวว่า สทอภ.จะเจรจาต่อรองกับ The successful bidder ที่ได้คะแนนรวมสูงที่สุด โดยต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ที่ สทอภ.มีการแถลงการณ์เปิดซองราคา คณะกรรมการพิจารณาผลฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าการเจรจาต่อรองดังกล่าว ทำเพื่อขอความชัดเจนและคำยืนยันจากผู้เสนอราคาในกรณีที่ข้อเสนอยังมีความละเอียดไม่เพียงพอ ซึ่งวิธีการดังกล่าว แสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพของ สทอภ. จากการที่สามารถยอมรับข้อเสนอที่ไม่ชัดเจนจาก ITB ที่คลุมเครือ โดยเปิดโอกาสให้มีการเจรจาต่อรองภายหลัง การกระทำดังกล่าว ไม่เป็นธรรมกับผู้เสนอราคา รายอื่นๆ
จากประเด็นดังกล่าวเบื้องต้น จะให้เห็นว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) ซึ่งเป็น International Bid ของโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เงินจากภาษีประชาชน 7,800 ล้านบาท ที่ดำเนินการโดย สทอภ. (1) มีการดำเนินการที่เร่งรีบอย่างผิดปรกติ (2) ไม่มีความโปร่งใส (3) หลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ชัดเจน (4) เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งขณะนี้ได้ (5) ส่งผลต่อความเชื่อมั่น และความไว้วางใจของนักลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้อย่างมาก