นำร่องสร้างปะการังเทียม 4 ชุมชน 3 จว.ภาคใต้ ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ
กรมประมงจับมือภาคเอกชน นำร่องสร้างปะการังเทียมเพิ่มใน 4 ชุมชน 3 จังหวัดภาคใต้ หวังอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทะเล ควบคู่กับมาตรการปิดอ่าว เฝ้าระวัง ‘ปลาทู’ ลดจำนวน คาดแล้วเสร็จใน 1 ปี
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ห้องประชุมชั้น 31 อาคารเอไอเอ แคปปิตอล เซ็นเตอร์ กรมประมง ร่วมกับบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดลงนามในบันทึกความตกลงว่าด้วยแนวทางการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการจัดสร้างปะการังเทียมในพื้นที่จังหวัดชายทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำและสร้างรายได้แก่ชาวประมง
ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนภาคกิจกรรมสัมพันธ์และการศึกษา สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงบันทึกข้อตกลงฯ ที่ร่วมลงนามในครั้งนี้จะนำร่องสร้างปะการังเทียม เป็นแท่งคอนกรีตสี่เหลี่ยมลูกบาศก์เมตรขนาด 1.5x1.5x1.5 เมตร จำนวน 2,000 แท่ง ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล 4 แห่ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ 1. ชุมชนชายฝั่งทะเลตำบลบ่อตรู อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา 2. ชุมชนชายฝั่งทะเล ตำบลกระดังงา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา 3. ชุมชนชายฝั่งทะเลตำบลปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี และ 4. ชุมชนชายฝั่งทะเลตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการจัดสร้างและจัดวางปะการังเทียมให้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 ปี
ด้าน ดร.วิชาญ อิงศรี ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง กล่าวว่า รัฐได้หาแนวทางในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งการจัดการปะการังเทียมจะช่วยได้มากขึ้น จึงมีโครงการขยายเพิ่มเติม จากเดิมจัดสร้างไปแล้ว 584 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 2 พันตารางกิโลเมตร ในพื้นที่ 20 จังหวัด งบประมาณ 1.7 พันล้านบาท ทั้งหมดเพื่อมุ่งหวังยกระดับชุมชนในการประกอบอาชีพให้ดีขึ้น
ขณะที่ นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง กล่าวถึงสถานการณ์ความเสื่อมโทรมของท้องทะเลในขณะนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำของไทยมีปริมาณลดน้อยลงอย่างมาก จนบางชนิดอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมง ทำให้รายได้ไม่เพียงพอเลี้ยงครอบครัว ดังนั้น กรมประมงจึงดำเนินโครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงชายฝั่งทะเล และได้จัดสร้างปะการังเทียมอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปี 2521 เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เลี้ยงตัวอ่อน วางไข่ และหลบภัยของสัตว์น้ำ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการทำการประมงในเชิงทำลายทรัพยากร เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ท้องทะเล
นอกจากจัดสร้างปะการังเทียมแล้ว กรมประมงยังได้ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลาที่มีไข่ วางไข่ หรือตัวอ่อน เรียกกันว่า ปิดอ่าว ทั้งฝั่งอ่าวไทยตัว ก. อ่าวไทย และอันดามัน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมประมงกับชาวประมง ภายใต้การขับเคลื่อนของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เพื่อหวังเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาทู ซึ่งปัจจุบันได้วิวัฒนาการความร่วมมือ นอกจากปิดอ่าวตัว ก ฝั่งตะวันตกและเหนือแล้ว ยังมีการเฝ้าระวังไม่ให้มีการจับลูกปลาทูด้วย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า เมื่อผนวกกับโครงการจัดสร้างปะการังเทียม จะช่วยฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของท้องทะเลไทยได้
“การวางปะการังเทียมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเท่านั้น แต่หากการรักษาสิ่งแวดล้อมในท้องทะเลเจะยั่งยืนต้องช่วยกันดูแลจากคนในชุนชม เพื่อเป็นแรงช่วยในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลได้มากขึ้น” นางอุมาพร กล่าว .