นักวิจัยชี้ "กทม.-พัทยา" สอบตกระนาว เกณฑ์ชี้วัดมาตรฐานบริการปชช.
ทีมนักวิจัยจุฬาฯ เผยผลวิจัยการจัดทำเกณฑ์ชี้วัดมาตรฐานบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบกทม. -พัทยา สอบตกเกณฑ์ชี้วัดมาตรฐานบริการประชาชน องค์กรปกครองท้องถิ่น 78% สอบผ่าน ส่วนรัฐบาลสอบตกเรื่องกระจายอำนาจ
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 60 ที่ห้องประชุมมาลัย หุวะนันท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ หัวหน้าโครงการวิจัยและคณะทำงาน โครงการจัดทำเกณฑ์ชี้วัดมาตรฐานบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดแถลงข่าว “ฤาท้องถิ่นจะสอบผ่าน รัฐบาลจะสอบตก”
รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวถึงการเก็บข้อมูลวิจัยตลอด 18 เดือน ของทีมวิจัย ผ่านหลักเกณฑ์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้เป็นตัวชี้วัดมาตรฐานบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 442 ข้อ ใช้กับกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 1,008 แห่ง แบ่งเป็นภารกิจต่างๆ จำนวน 8 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านผังเมือง ด้านสาธารณสุข บริการทางสังคม และคุณภาพชีวิต ด้านการศึกษา ด้านการจัดระเบียบชุมชนและการรักษาความสงบเรียบร้อย ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจ อาชีพ และการท่องเที่ยว ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และด้านศิลปวัฒนธรรม การดูเเลโบราณสถาน
รศ.ดร.วีระศักดิ์ เผยผลงานวิจัยว่า จากการประเมินผลการดำเนินงานของ อปท. ในปีงบประมาณ 2559 โดยภาพรวมสามารถปฏิบัติงานได้ตามเกณฑ์ชี้วัดเป็นส่วนใหญ่ หรือประมาณร้อยละ 78.6 (อบจ.) ถึงร้อยละ 97.5 (อบต.ขนาดกลาง) ซึ่งว่า สอบผ่านเกณฑ์ชี้วัดมาตรฐานการจัดบริการสาธารณะ
อย่างไรก็ดี กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา อยู่ในข่ายที่เรียกว่า “สอบตก” เพราะยังไม่สามารถปฏิบัติงานให้ผ่านเกณฑ์ชี้วัดมาตรฐานได้เป็นส่วนใหญ่ (ทำได้เพียงร้อยละ 27.4 ถึง 32.3 ของจำนวนของเกณฑ์ชี้วัดเท่านั้น)
“สาเหตที่กรุงเทพฯ และเมืองพัทยาไม่ผ่านเกณฑ์ เพราะมีปัจจัยที่ค่อนข้างซับซ้อน มีจำนวนเกณฑ์ชี้วัดที่ปฏิบัติงานได้จำกัด และอีกอย่างคือไม่ได้มีการดำเนินการหรือไม่มีระบบการบันทึกข้อมูลที่ดี และหากดูผลวิจัยพอเปรียบเทียบได้ว่า อปท.ก็เหมือนรถดีๆ ที่ต้องการคนขับดีๆ ส่วนกทม. และพัทยาถึงตอนนี้ไม่แน่ใจว่า รถยนต์อยู่ในสภาพดีหรือไม่”
รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ข้อมูลการวิจัยครั้งนี้ยังสะท้อนว่า รัฐบาลสอบตกในเรื่องกระจายอำนาจอย่างชัดเจน โดยมีหลักฐานสนับสนุน 3 ประการ
1) ขาดการสนับสนุนด้านอำนาจหน้าที่และระเบียบรองรับการปฏิบัติงานสำหรับ อปท. ทำให้ อปท. หลายแห่งไม่สามารถปฏิบัติงานได้ครบถ้วยผ่านเกณฑ์มาตรฐาน
2)ขาดการสนับสนุนงบประมาณให้ท้องถิ่นอย่างเพียงพอ การศึกษาครั้งพบว่า อย่างน้อยรัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณให้ อปท. อีกราว 3 หมื่นล้านบาท (จากปัจจุบันประมาณ 6.3 แสนล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นราว 5%) หรืออย่างมากรัฐต้องกระจายอำนาจให้อปท.และสนับสนุนให้ อปท.มีรายได้รวมกันราว 1.36 ล้านล้านบาทต่อปี หรือเทียบสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นต่อรายได้รัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 50:50
“งบประมาณมีความสำคัญ ซึ่งคำนวนแล้วว่าหากต้องการให้ อปท.ผ่านเกณฑ์เพิ่มอีกหนึ่งข้อ ต้องอุดหนุนเงินไป เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ต้องการอีก 61,000บาท เทศบาลอีก 6 แสนบาท องค์การบริการส่วนจังหวัด(อบจ.)10ล้านบาท เป็นต้น" รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวและว่า หลักฐานส่วนที่ 3 ที่สะท้อนว่า รัฐสอบตกเรื่องกระจายอำนาจ คือ การรวมอำนาจบริหารงานบุคคลท้องถิ่นตามคำสั่ง คสช. ที่ 8/2560 น่าจะเป็นแนวทางที่ผิดพลาด เพราะไม่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลในระดับท้องถิ่น จึงขาดการตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง และไม่มีหลักประกันว่าระบบอุปถัมภ์จะหมดไป
รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า จากงานวิจัยชิ้นนี้สิ่งที่อยากเสนอแนะรัฐบาลคือ รัฐบาลต้องเลือกว่าจะมีนโยบายอย่างไรต่อการกระจายอำนาจในระยะต่อไป ไม่ใช่ทำแบบลูบหน้าปะจมูกเช่นปัจจุบันโดยการกดท้องถิ่นไว้ไม่ให้โต เลี้ยงไข้เพื่อเอาไว้ใช้งาน แต่พอมีปัญหาอะไรที่ทำเองหรือแก้ไขไม่ได้ก็โยนบาปไปที่ อปท. ทุกครั้งแบบนี้ไม่เป็นธรรมและไม่เกิดประโยชน์โดยรวมต่อประชาชน
รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นโยบายยุบ/ควบรวม อปท. แบบเหมาโหลเป็นนโยบายที่ผิดพลาด ข้อมูลครั้งนี้สะท้อนชัดเจนว่ าการเป็นอปท. ขนาดเล็กไม่ได้ทำให้ปฏิบัติงานบริการประชาชนไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม อปท.ขนาดเล็กกลับทำหน้าที่ตามเกณฑ์ชี้วัดได้เป็นอย่างดีและเข้าถึงประชาชนได้ง่าย รัฐบาลจึงต้องไม่เดินพลาดยุบรวมของดีๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นขนาดเล็กเหล่านี้ไป และหากรัฐบาลมั่นใจว่า 3 ปีที่ผ่านมาสอบผ่านในการบริหารประเทศ ก็ต้องกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน และจะดีมากหากประชาชนได้ร่วมกำหนดตัวชี้วัดผลงานของรัฐบาล จากนั้นรัฐบาลก็ต้องประเมินผลงานให้ประชาชนเห็นแจ้งประจักษ์อย่าให้สอบตกอายท้องถิ่นได้