“รังสรรค์พื้นที่สร้างสรรค์ในท้องถิ่น” เพื่อเยาวชนไทยเติบโตก้าวไกล
“พื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่สุขภาวะ พื้นที่น่าอยู่ คือการสร้างพื้นที่ที่ทำให้คนใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของชุมชน เป็นพื้นที่สำหรับคนทุกเพศวัยทุกกลุ่ม สามารถสร้างความรู้สึกร่วมและความผูกพันของชุมชน”
..............................
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงคำนิยามของความหมายของพื้นที่สร้างสรรค์ในงานเวทีฟื้นฟูพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทยเมื่อเร็วๆนี้ ในหัวข้อเรื่อง "แนวคิดว่าด้วยพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับการเรียนรู้ของเด็ก และเยาวชน กรณีศึกษาตัวอย่างต่างประเทศ"
ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส. บอกเล่าเพิ่มเติมถึงสาเหตุในการพัฒนาให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ในหลากหลายแห่งว่า
“เมื่อเราย้อนไปดูสถิติเราจะพบได้อย่างชัดเจนว่า เรื่องที่น่าเป็นห่วงมากในขณะนี้คือเรื่องสุขภาพกาย และสุขภาพใจ ซึ่งคนไทยกว่าร้อยละ 35 มีภาวะโรคอ้วน และอีกร้อยละ 25 อยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน และอีกว่าร้อยละ 60 ออกกำลังกายต่ำกว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะคนในเขตเมือง ซึ่งโรคเรื้อรังนี้กำลังทำร้ายคนไทย โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึงร้อยละ 65 และที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ การพัฒนาทางกาย และสุขภาพจิตค่อนข้างถอยลง ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ต้องเร่งหาทางออก
ซึ่งหนึ่งในการแก้ปัญหาที่ดีคือการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ เนื่องจากมีข้อค้นพบว่าหากเด็กหรือคนในชุมชนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ก็จะนำไปสู่การพัฒนาการที่ดีทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ”
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ ทำสำเร็จแล้วในหลายประเทศ ซึ่งประเทศไทยเองควรจะนำมาเป็นต้นแบบเพื่อก่อกำเนิด เช่น เมืองโบกาตา ประเทศโคลัมเบีย ที่อดีตเคยเป็นพื้นที่อันดับต้นๆ ของการเกิดอาชญากรรม แต่เมื่อนายกเทศมนตรีริเริ่มการปิดถนนสายหลัก และชักจูงให้คนในท้องถิ่นมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเต็มที่ เช่น ออกกำลังกาย สร้างสวนสาธารณะที่ไม่กีดกันชนชั้น ทำให้เมืองที่มีสุขภาวะต่ำ กลายเป็นเมืองที่มีการพัฒนาจนได้รับการยกย่องจากสหประชาชาติ
นอกจากนี้ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ที่อดีตเต็มไปด้วยพื้นที่ทางด่วน ถนน ซึ่งในความเป็นจริงยิ่งสร้างเท่าใดก็คงไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้เกิดแนวคิดเปลี่ยนสภาพกลายเป็นธรรมชาติ จนทำให้เกิดคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดปริมาณฝุ่นละออง ลดจำนวนรถยนต์ เพื่มความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และผลสุดท้ายคือ ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ ย่อมต้องอาศัยเวลา และสิ่งสำคัญที่สุดจะสำเร็จได้ คงต้องขึ้นอยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้นำในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย
“การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับการเรียนรู้ในประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการมองเรื่องการพัฒนาพื้นที่หรือเมือง ว่าไม่ใช่แค่ภาระของนักผังเมืองอย่างเดียว แต่จะเป็นภาระของทุกฝ่าย เช่น ฝ่ายสุขภาพ ฝ่ายขนส่ง ฝ่ายท้องถิ่น ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายครอบครัว ฝ่ายวัฒนธรรม ฯลฯ
เพราะการเกิดพื้นที่สร้างสรรค์ในประเทศไทยนับเป็นแนวโน้มที่ดี และเกิดขึ้นในหลายพื้นที่แล้ว โดยอาศัยหลักการใหญ่คือ เอาคนเป็นที่ตั้ง พร้อมกับศึกษาว่าคนต้องการอะไร คิดแบบบูรณาการโดยหลอมรวมผู้เชี่ยวชาญ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มาเปิดโต๊ะเจรจา ปรับทัศนคติ และใช้พื้นที่เป็นตัวสนับสนุนช่วยส่งเสริมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการส่งเสริม และเกิดการเปลี่ยนแปลง พร้อมกับพัฒนาไปในทางที่ดี เพื่อเกิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” รศ.ดร.วิลาสินีกล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ .