ลักหลับชาวบ้าน อุปนายก ส.รักษ์ทะเล ซัด ม.34 ในพ.ร.ก.ประมง ทำลายอาชีพรายย่อย
อุปนายกสมาคมรักษ์ทะเล ผิดหวังรัฐไม่ฟัง ลักหลับชาวบ้าน ออกม.34 ในพ.ร.ก.ประมงฉบับใหม่ ยังห้ามเรือเล็กออกเกิน 3ไมล์ แถมต้องรออธิบดีอนุญาตถึงมีสิทธิ ชี้ ทำลายอาชีพรายย่อย
สืบเนื่องจากประกาศราชกิจนุเบกษา เรื่อง พระราชกำหนดประมง ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. โดยมีสาระสำคัญในมาตรา 34 ระบุ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทําการประมงพื้นบ้าน ทําการประมงในเขตทะเล นอกชายฝั่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ในการอนุญาตดังกล่าว อธิบดีจะประกาศอนุญาตให้เป็นการทั่วไปก็ได้ โดยจะกําหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการทําการประมง ในเขตทะเลนอกชายฝั่งด้วยก็ได้
นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี อุปนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) ถึงประเด็นดังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้พระราชกำหนดฉบับเดิมของปี 2558 ระบุว่า ผู้ที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านต้องไปจดทะเบียน ซึ่งจุดนี้ทุกคนโอเค เดิมเรื่องนี้มีระบุอยู่เเล้ว โดยรู้จักในนามอาชญาบัตรเครื่องมือประมง ซึ่งประมงพื้นบ้านก็ทำตาม จ่ายค่าบำรุงปีละประมาณ300 บาท แต่ตัวพ.ร.ก.ปี 58 มีการกำหนดว่า ห้ามออกไปนอกเขตชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเล บางจุด1.5 ไมล์ทะเล ซึ่งหมายความว่า ชาวประมงขนาดเล็กก็ถูกขังอยู่ในบริเวณจำกัด หลายท้องที่เป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง การทำประมงขนาดเล็กไม่ได้หมายความว่า ต้องทำอยู่ในคลอง ออกไปหาปลาในจุดที่มีปลา กุ้งในจุดที่มีกุ้ง ไม่ใช่มาขังในเขตชายฝั่ง
“จากนั้นเราเสนอให้แก้ไขเรื่องนี้ เพราะว่าทุกประเทศทั่วโลกไม่มีการกำหนดแบบนี้ มีเพียงกำหนดว่า เขตชายฝั่งห้ามเรือใหญ่เข้ามา ส่วนเขตจากชายฝั่งออกไปก็มีการลดหลั่นว่าเรือเล็กแค่ไหน เรือใหญ่ได้แค่ไหน” นายวิโชคศักดิ์ กล่าว และว่า ของไทยเหมือนจะเจตนาดีแต่เป็นประสงค์ร้าย กลายเป็นว่า มาบังคับให้เกษตรกรรายย่อยมีที่ทำกินน้อยไปอีก จากเดิมที่โดนเอาเปรียบจากเครื่องมือประมงของรายใหญ่อยู่เเล้ว พื้นที่ทำกินกว้างใหญ่ ประมงพื้นบ้านออกไปไกลสุดได้ถึง 10-20 ไมล์ทะเล
อุปนายกสมาคมรักษ์ทะเล กล่าวว่า ตอนนั้นการแก้ไขประเด็นนี้มีมติเห็นชอบในหลักการและเหตุผลแล้ว นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง มีปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นประธาน และตั้งอนุกรรมการ มีประชาชน ชาวประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ อุตสาหกรรมประมง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กฤษฎีกา มีกรมเจ้าท่า มาประชุมตกลงกันในเหตุเรื่องยกเลิกกำหนดพื้นที่ทำกินในเขตชายฝั่ง ยกเลิกมาตรา34 เพราะพบว่า การบริหารจัดการทรัพยากรประมงไปได้ ไม่ได้ทำให้ประเทศเสียเปรียบแต่อย่างใด แต่พอเรื่องกลับเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) กลับมีการเล่นแร่แปรธาตุ เปลี่ยนมติข้อตกลงของคณะกรรมการฯ ปรากฏว่ายังห้ามประมงพื้นบ้านอกนอกชายฝั่งเหมือนเดิม ยกเว้นอธิบดีจะอนุญาต แล้วคนเป็นแสนๆ คนต้องรอให้อธิบดีอนุญาตถึงจะออกนอกชายฝั่งได้
“กลายเป็นให้อำนาจอธิบดีอนุญาต ปัญหายังคงอยู่ และจะหนักยิ่งขึ้นในอนาคต ที่สำคัญการออกพระราชกำหนดในครั้งนี้ ก็มีลักษณะลักหลับอีกเหมือนเดิม เมื่อมีมติคณะกรรมการฯตอนนั้น ที่ทำทีว่าเปิดให้มีการมีส่วนร่วม แต่แอบเข้าครม. แล้วประกาศออกมาโดยไม่มีใครรู้เลยในภาคประชาชน ฉบับเก่าก็ทำแบบนี้ครั้งหนึ่งเเล้ว มาฉบับใหม่ก็ทำเหมือนเดิม”
นายวิโชคศักดิ์ กล่าวอีกว่า ช่วงปี 58 ระหว่างที่รอแก้พระราชกำหนดฉบับเดิม ได้มีการใช้เทคนิคทางกฎหมายในการทุเลาชั่วคราว โดยไม่ให้ใบอนุญาตประมงพื้นบ้านชนิดใดทั้งสิ้น เพราะถ้าหากมีใบอนุญาตจะไม่สามารถออกนอกเขตชายฝั่งได้ เนื่องจากติดพระราชกำหนดฯม.34 เขาเลยวิธีการไม่เก็บภาษีประมงพื้นบ้าน ผ่านมาสองปีที่ประมงพื้นบ้านไม่ต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาล ซึ่งไม่ดีเช่นเดียวกัน เพราะชาวประมงพื้นบ้านยินดีจ่ายภาษีในส่วนนี้เพื่อให้รัฐเอาไปทะนุบำรุงกิจการประมง ดูแลทรัพยากรทะเลให้ดี แต่กลายเป็นว่า ประมงรายย่อยไม่ต้องจ่าย แปลความได้ว่า สิทธิในการทำประมงกำลังถูกลบเลือนหายไป เมื่อไม่จ่ายคุณก็ไม่มีสิทธิ ซึ่งตอนนี้ก็ยังใช้ประเด็นนี้
นายวิโชคศักดิ์ กล่าวด้วยว่า โดยหลักการการทำประมงไทยประเด็นนี้เกิดหลังจากมีปัญหา IUU ว่าผู้ทำประมงเพื่อการค้า ควรมีใบอนุญาต ซึ่งเอาเข้าจริงไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะในกำหนดเดิมก่อนมีประเด็น IUU ก็กำหนดลักษณะเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเรียกจาก อาชญาบัตรเครื่องมือประมง มาเป็นใบอนุญาตทำประมง ส่วนค่าธรรมเนียมก็เหมือนเดิม พอได้รับอนุญาต ก็สามารถทำประมงได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ในทางปฏิบัติผู้ที่ก่อปัญหาไม่ใช้ประมงขนาดเล็กแต่คือประมงขนาดใหญ่ ที่ใช้เครื่องมือทำลายล้าง ใช้แรงงานทาส แทนที่รัฐจะไปควบคุมจัดการเรื่องนั้นให้ดี กลายมาเป็นจัดการกับประมงขนาดเล็ก
“ขณะเดียวกันข้อห้ามประมงขนาดใหญ่ในการเข้ามาทำประมงในเขตชายฝั่งกลับลดลงเหลือ 1.5 ไมล์ทะเล คือสามารถรุกเข้ามาได้ใกล้ฝั่ง แทนที่จะกำหนดให้ห่างออกไปกลับรุกล้ำเข้ามาแย่งทรัพยากรจากประมงรายย่อยอีก แล้วขังคนเล็กคนน้อย ขณะที่สิทธิการประมงไทยเริ่มตั้งแต่ 0-200ไมล์ทะเล ให้สิทธิประมงพาณิชย์ซึ่งมีมือยาวทำได้ตั้งแต่ 1.5-200 ไมล์ทะเล แต่เกษตรรายย่อยโดนขัง ห้ามไปจับปลาแข่งกับประมงพาณิชย์” อุปนายกสมาคมรักษ์ทะเลฯ กล่าว
ขณะที่นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย โพสต์ในเฟชบุคส่วนตัว โดยตั้งข้อสังเกตจากการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลดังนี้
1.รัฐบาลจะใช้เงื่อนไขต่างๆเพื่อชะลอความผิดพลาดที่ตัวเองได้ตัดสินใจลงไป แต่เนื้อแท้ยังไม่ยอมรับฟังข้อท้วงติงใดๆจากฝ่ายอื่นๆยกเว้นจากระบบราชการและทีมกฎหมายของตัวเองเช่น
- กรณีตั้งกรรมการ 4 ฝ่ายขึ้นมาศึกษากรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ สุดท้ายข้อเสนอของกรรมการ 4 ฝ่ายก็ไม่เอาไปปฏิบัติ ปัญหาจึงจบลงด้วยการลุกกันขึ้นมาต่อสู้ด้วยตัวเองของภาคประชาชน
- กรณีพ.ร.บ.ทางทะเลที่จะใช้อำนาจในการจัดการกับชุมชนชายฝั่งและกิจกรรมต่างๆของชุมชนที่เขาใช้ชีวิตกันมาเป็นร้อยๆปี ด้วยวิธีการลวกๆนั่งเทียนเสนอวิธีแก้ไขปัญหา มีชุมชนประมงชายฝั่งเตรียมเคลื่อนไหวทั่วประเทศเพื่อต่อต้าน ก็จบลงด้วยออกมติครม.ให้ชะลอการบังคับใช้ไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
- กรณีพ.ร.ก.ประมง 2558 ก็ใช้วิธีเดียวกัน ตั้งกรรมการ จ้างนักวิชาการตระเวณจัดเวทีเสมือนรับฟังเพื่อปรับเปลี่ยนให้ดีแต่สุดท้ายก็โยนทิ้งและเอาตามทีมกฎหมายของรัฐบาลเป็นตัวตั้ง
2.รัฐบาลนี้กำลังสะสมความแค้นและทำลายความเชื่อมั่นในหมู่คนข้างล่างที่มีวิถีชีวิตสัมพันธ์อยู่กับฐานทรัพยากรให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะพวกเขาไม่มีความหวังว่า ท่านเข้ามาแล้วจะแก้ปัญหาอะไรบ้างที่เป็นรูปธรรม ยกเว้นคำพูดหรูๆ เช่น จะลดความเลื่อมล้ำ จะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง จัดพัฒนาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
อ่านประกาศฉบับเต็มที่:http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/067/1.PDF