ตกค้างเป็นล้าน เอ็นจีโอ หวั่นนายจ้างเลือกจ่ายส่วย หลังรัฐไม่ขยายจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวใหม่
หวั่นตกอยู่ในวังวนเรียกส่วย เครือข่ายแรงงานหนุนกระทรวงแรงงานเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวอีกครั้ง ระบุชัดไล่กวาดล้าง-จับกุม นายจ้างเลือกไม่จ่ายค่าปรับที่สูง หันจ่ายส่วยเจ้าหน้าที่แทนเพื่อตัดตอน เล็งทำข้อเสนอถึงรัฐบาล หลังพบตกค้่างอีกเป็นล้านคน
กรณีมีการออกพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นการรวมกฎหมาย 2 ฉบับเข้าไว้ด้วยกันคือ พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 นั้น โดยรัฐบาลหวังจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบ และเป็นการป้องปรามเพื่อไม่ให้นายจ้างหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายและเห็นความสำคัญของการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย ลดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยเปิดให้นายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวมายื่นจดทะเบียน หากพ้นกำหนดจะเป็นการจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย มีโทษปรับสูงสุดถึงหนึ่งแสนบาท
ล่าสุด คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน ขอให้มีการเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศ ณ ศูนย์เบ็ดเสร็จด้านแรงงาน อีกครั้ง (อ่านประกอบ:กกร.ขอก.แรงงาน เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศอีกครั้ง) ขณะที่นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า กระทรวงแรงงานไม่มีนโยบายเปิดจดทะเบียนรอบใหม่ ซึ่งหากนายจ้างรายใดประสงค์จะใช้แรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะนำเข้าตามระบบ MOU เท่านั้น
นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงพ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฉบับใหม่บังคับใช้ส่งผลให้นายจ้างที่มีแรงงานเถื่อน หรือผิดกฎหมายจำนวนมากกระทบเต็มๆ โดยเฉพาะการมีแรงงานผิดกฎหมายมีโทษปรับที่สูงมาก วันนี้แรงงานที่ผิดกฎหมายบางคนก็ไม่อยากอยู่เมืองไทย อาจเดินทางกลับ แต่ก็เชื่อว่า มีไม่มาก ที่เหลือก็หลบซ่อนตัวอยู่ในประเทศไทย
"ปัจจุบันนี้มีตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายมากกว่า 1-2 ล้านคน ไม่ได้จดทะเบียน เมื่อปี 2557 มีการเปิดให้จดทะเบียนแรงงานครั้งหนึ่ง และมาปี 2559 ได้เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ในกิจการประมงทะเลใน 22 จังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเล ครั้งที่ 2 จากนั้นก็มีการขยายเวลาต่อไปอีก 6 เดือน แต่แรงงานต่างด้าวภาคอื่นๆ เช่น ทำงานโรงงาน แม่บ้านตามบ้านชุมชน ตลาดสด ลูกจ้างร้านค้าแผงลอยต่างๆ ไม่ได้เปิดจดทะเบียน ทำให้ตกหล่นอยู่จำนวนมาก"
นายสมพงษ์ กล่าวด้วยว่า ภาครัฐควรเปิดให้มีการจดทะเบียนรอบใหม่อีกครั้ง เพราะผลที่ตามมาจะเยอะมากหากมีการกวาดล้างหรือจับกุมแรงงานต่างด้าว บ้านเราจะตกอยู่วังวนของการเรียกส่วย เชื่อว่านายจ้างคงไม่จ่ายค่าปรับที่สูง หันมาจ่ายส่วยเจ้าหน้าที่แทน เพื่อตัดตอน
"หลังมีการรายงาน TIP Report ออกมาแล้ว จะมีการหารือ พร้อมมีข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่มีประสิทธิภาพ นำขึ้นมาบนดินดีกว่า ได้รู้จำนวนแรงงานต่างด้าวที่แท้จริง"