นายกฯ - ผอ.สคร.ยันหอชมเมืองกรุงเทพฯรัฐไม่ลงทุน แค่ให้เช่าที่ดิน
ผอ.สคร. ยืนยันหอชมเมืองกรุงเทพฯ รัฐไม่ได้ลงทุน เป็นโครงการของเอกชน เช่าที่กรมธนารักษ์ แจงเหตุเข้ากระบวนการ PPP เพื่อสร้างความโปร่งใสในการพิจารณาเท่านั้น ส่วนจะเปิดประมูลหรือไม่เป็นเรื่องของเจ้าของโครงการ ด้านพล.อ.ประยุทธ์ ขอสื่อแจงให้ประชาชนเข้าใจ ระบุชัดไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่ภาคธุรกิจ
สืบเนื่องจากกรณีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท. 3275 โฉนดเลขที่ 3346 แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.60 เวลา 11.30 น. ณ บริเวณทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้สร้างหอชมเมืองกรุงเทพ ฯ ว่า ไม่ได้เป็นการใช้งบประมาณของรัฐบาล จึงขอให้สื่อมวลชนชี้แจงให้ประชาชนทราบและเข้าใจ เพราะสิ่งที่ทำเป็นโครงการที่เสนอขึ้นมามีการจัดตั้งคณะกรรมการ รวมถึงมีการพิจารณามานานแล้ว ซึ่งรัฐบาลมองเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในการเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ทำเป็นหอชมเมืองให้ประชาชนขึ้นไปชม โดยภายในเป็นพิพิธภัณฑ์จะมีทั้งประวัติศาสตร์ชาติไทย และสถาบัน พร้อมกล่าวยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจ
ขณะที่ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กล่าวถึงโครงการนี้ว่า โครงการของกรมธนารักษ์ที่เปิดให้เช่าที่ดินธรรมดา แต่ที่ต้องเข้า พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 หรือ กฎหมาย PPP นั้นเพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส ขณะที่ทางด้านตัวคณะกรรมการเห็นชอบในหลักการในการเชิดชูสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 กรมธนารักษ์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ก็ให้เช่าที่ตามปกติ
ดร.เอกนิติ กล่าวถึง กฎหมาย PPP ซึ่งในคณะกรรมการทั้งหมดมีองค์ประกอบทั้งหมด 7 ท่าน เเละยังมีผู้ทรงคุณวุฒิอีก 7 ท่าน ส่วนว่าจะมีการประมูลเอกชนที่จะเข้ามาก่อสร้างหรือไม่นั้น เป็นมติของคณะกรรมการคัดเลือก กระบวนการจัดประมูลหรือไม่ ไม่เกี่ยวข้องกับ คณะกรรมการ PPP ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการคัดเลือกก็มี เจ้าของโครงการคือทางกรมธนารักษ์ มีอัยการ มีผู้เเทนจากสคร. มีผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน
“ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โครงการหอชมเมืองเอกชนลงทุนทั้งหมด รัฐได้ค่าเช่า รัฐไม่ได้ออกเงิน รัฐลงทุนในเรื่องของที่ดิน แต่ต้องเข้ากฏหมาย PPP เพื่อความโปร่งใส” ดร.เอกนิติกล่าวและว่า หลักเกณฑ์การเข้าสู่กฎหมาย PPP คือถ้าโครงการนั้นมีเงินลงทุน 1,000-1,500 ล้านบาท ก็มีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา มีปลัดคลังเป็นประธาน และมีการให้คะแนนว่า โครงการนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นหรือไม่ ต้องเข้าพิจารณาแบบละเอียดหรือไม่ หรือเป็นโครงการที่ทำได้แบบง่าย
ดร.เอกนิติ กล่าวด้วยว่า หลักการที่จะดูว่าโครงการไหนสำคัญและต้องพิจารณาเข้มงวดอย่างไร 1.) ดูว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือไม่ เช่นรถไฟฟ้า สนามบิน เป็นต้น ซึ่งมักได้คะแนนต้องสูง ดังนั้นกระบวนการพิจารณาต้องทำแบบละเอียด แต่ถ้าคะแนนแบบโครงการเช่าที่ดิน คะแนนก็ต่ำ กระบวนการก็จะแตกต่างออกไป 2.) ดูว่าโครงการนั้นๆ รัฐต้องจ่ายเงินเท่าไหร่ ถ้ารัฐจ่ายสูงยิ่งต้องดูละเอียด แต่ถ้าไม่ได้ลงทุนก็จะอีกแบบ ซึ่งจริงๆ หอชมเมืองไม่ต้องเข้า PPPด้วยซ้ำ เพราะคือการเช่าที่ปกติ และรัฐยังได้ค่าเช่าที่ดิน ไม่ได้ลงทุนด้านการเงินใดๆ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 มีมติเห็นชอบ โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร นั้น สคร.เคยตอบข้อหารือถึงโครงการดังกล่าวว่า กิจการที่ต้องใช้ที่ราชพัสดุ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของหน่วยงานรัฐ เข้าข่าย "กิจการของรัฐ" ตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุน โดยหากมีการร่วมลงทุนกับเอกชน ไม่ว่าโดยวิธีใด หรือมอบให้เอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียวโดยวิธีอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใด ย่อมเข้าข่ายต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
อ่านประกอบ