ฉบับเต็ม! สตง.ชำแหละประปาหมู่บ้านยุคบิ๊กตู่8.9พันล. สูญเปล่าแล้ว43ล.ที่สุราษฎร์ธานี
"...การดำเนินโครงการฯ โดยไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการย่อมก่อให้เกิดความสูญเปล่าของงบประมาณ ซึ่งคิดจากวงเงินค่าก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านเป็นจำนวน 43,503,000.00 บาท รวมทั้งหน่วยงานเสียโอกาสในการนำเงินงบประมาณเพื่อการพัฒนาในพื้นที่ที่มีความพร้อมหรือการพัฒนาในด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายละเอียดรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานเงินอุดหนุนเฉพาะกิจสำหรับสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชน (ประปาหมู่บ้าน) ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประจำปีงบประมาณ 2558 ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งพบปัญหา 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การก่อสร้างล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน 2.การจัดจ้างไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และ 3. ระบบประปาหมู่บ้านบางแห่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์
โดยโครงการนี้ อยู่ภายใต้โครงการส่งเสริมสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ของ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในยุคการบริหารของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2558 ตามแผนงานส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เป็นจำนวนเงินกว่า 8,977 ล้านบาท กำหนดแผนงานการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 3,022 แห่งทั่วประเทศ (อ่านประกอบ : สูญเปล่าแล้ว43ล.ที่สุราษฎร์ธานี!สตง.แพร่ผลสอบชำแหละประปาหมู่บ้านยุคบิ๊กตู่8.9พันล.)
------------------------
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2558 ตามแผนงานส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เป็นจำนวนเงิน 8,977.22 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ และมีเป้าหมายเชิงปริมาณในปี 2558 คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จำนวน 3,022 แห่งทั่วประเทศ
สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจสำหรับสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชน (ประปาหมู่บ้าน) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เป็นจำนวนเงิน 117.54 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน จำนวนทั้งสิ้น 43 แห่ง จำแนกเป็นการก่อสร้างระบบประปาบาดาล จำนวน 15 แห่ง ระบบประปาผิวดิน จำนวน 26 แห่ง และหอถังสูง/โรงสูบน้ำ จำนวน 2 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค รวมทั้งทางด้านการเกษตร
จากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชน (ประปาหมู่บ้าน) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปีงบประมาณพ.ศ.2558 โดยการศึกษาและตรวจสอบเอกสารหลักฐาน การสัมภาษณ์และสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยสุ่มตรวจสอบและสังเกตการณ์ระบบก่อสร้างประปาหมู่บ้าน จำนวน 26 แห่ง จำแนกเป็นการก่อสร้างระบบประปาบาดาล จำนวน 9 แห่ง ระบบประปาผิวดิน จำนวน 16 แห่ง และโรงสูบน้ำ จำนวน 1 แห่ง และสุ่มตัวอย่างประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ แห่งละ 14-15 ราย เพื่อให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์และการบริหารกิจการประปาหมู่บ้าน
โดยพบประเด็นข้อตรวจพบและข้อสังเกต ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน
จากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการฯ จำนวน 26 แห่ง เพียงวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 พบว่า การก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ดำเนินการล่าช้าไม่แล้วเสร็จทันภายในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2558 หรือดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับจากได้รับแจ้งการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 18 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 69.23ของโครงการที่ตรวจสอบทั้งหมด และเมื่อพิจารณาการดำเนินการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญา จำนวน 10 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 40.00 ของโครงการที่ตรวจสอบทั้งหมดและก่อสร้างแล้วเสร็จล่าช้ากว่าที่กำหนดตามสัญญา จำนวน 11 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 42.31ของโครงการที่ตรวจสอบทั้งหมด โดยมีค่าปรับรวมทั้งสิ้น 1,495,347.10 บาท ส่งผลให้การดำเนินโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตามวัตถุประสงค์ที่โครงการกำหนดไว้ และการแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่เดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาได้อย่างเร่งด่วนตามที่โครงการกำหนดไว้
สาเหตุสำคัญ เกิดจากการจัดจ้างล่าช้าโดยมีการประกาศดำเนินการจัดจ้างหลายครั้ง เนื่องจากไม่มีผู้มาซื้อเอกสารการจัดจ้างหรือไม่มีผู้สนใจยื่นเอกสารเสนอราคา ทำให้ต้องมีการยกเลิกประกาศและมีการประกาศจัดจ้างใหม่หลายครั้ง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับจัดสรรงบประมาณตามโครงการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านพร้อมกันใน ขณะที่มีผู้รับจ้างก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านจำนวนน้อยรายแต่รับงานก่อสร้างหลายสัญญา และดำเนินการก่อสร้างในระยะเวลาใกล้เคียงกัน อีกทั้งผู้รับจ้างบางรายขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญา ตลอดจนผู้รับจ้างปฏิบัติงานล่าช้ากว่าสัญญาและการปฏิบัติงานไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งผู้รับจ้างส่วนใหญ่ไม่เข้าปฏิบัติงานทันทีหลังจากลงนามในสัญญาแล้ว สาเหตุหนึ่งเกิดจากการรอผลทดสอบความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกของดิน (Boring Test) และผู้รับจ้างบางรายเมื่อเข้าปฏิบัติงานแล้วยังปฏิบัติงานไม่สม่ำเสมอมีการหยุดงานติดต่อกันบ่อยครั้งจึงทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด
นอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานีขาดการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน มีเพียงการติดตามเพื่อเร่งรัดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จและเร่งรัดผลการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้ทันภายในเงื่อนเวลาที่กำหนดเท่านั้น จึงไม่ทราบปัญหาอุปสรรคจากการดำเนินงานที่แท้จริง
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. จัดทำบัญชีรายชื่อผู้รับจ้างที่อยู่ในจังหวัดหรือพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการจัดหาผู้รับจ้าง เนื่องจากการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านต้องใช้เทคนิควิธีการแตกต่างจากงานก่อสร้างทั่วไป พร้อมทั้งสั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์การจัดจ้างโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) อย่างเคร่งครัด
2. กำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งรัดให้ผู้รับจ้างเข้าทำงานตามระยะเวลาที่ระบุในสัญญา หากผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้หรือปล่อยระยะเวลาให้ล่วงเลยโดยไม่มีเหตุอันควร โดยไม่เข้าทำการก่อสร้างตามที่ระบุในข้อกำหนดตามสัญญา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีหนังสือเร่งรัดให้ผู้รับจ้างเข้าดำเนินการเป็นลายลักษณ์อักษร และแจ้งให้ผู้รับจ้างทราบว่าหากยังไม่เข้าดำเนินการอีกจะแจ้งเป็นผู้ทิ้งงานต่อไป
3. เร่งรัดติดตามประเมินผลการดำเนินงานก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดมิใช่เพียงเร่งรัดเฉพาะผลการเบิกจ่ายงบประมาณเท่านั้น ตลอดจนการติดตามสภาพปัญหาการดำเนินการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านที่ล่าช้าเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ทันกาล
ข้อตรวจพบที่ 2 การจัดจ้างไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
จากการตรวจสอบพบว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างระบบประปาหมู่บ้านขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งไม่มีประสิทธิภาพ ดังนี้
2.1 การเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการของโครงการ
จากการตรวจสอบ พบว่า การดำเนินการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านโดยส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการของโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณในครั้งแรก กล่าวคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยส่วนใหญ่ประมาณการราคาค่าก่อสร้างระบบประหมู่บ้านโดยใช้แบบแปลนมาตรฐานของกรมทรัพยากรน้ำ แต่เมื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างปรากฏว่าไม่มีผู้สนใจซื้อเอกสารหรือไม่มีผู้สนใจยื่นซองเสนอราคา ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งต้องมีการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงแบบแปลนของโครงการโดยเฉพาะหอถังสูงจากเดิม หอถังสูงแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) เปลี่ยนแปลงเป็น หอถังเหล็กรูปทรงแชมเปญ ซึ่งมีความแข็งแรงทนทานและอายุการใช้งานที่น้อยกว่า สำหรับหอถังสูง คสล. มีอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยประมาณ 25 ปี ส่วนหอถังเหล็กรูปทรงแชมเปญ มีอายุการใช้งานประมาณ 15 ปี ซึ่งมีอายุการใช้งานที่น้อยกว่าประมาณ 10 ปีขึ้นอยู่กับการดูแลบำรุงรักษาด้วย และเมื่อพิจารณาเฉพาะค่าก่อสร้างหอถังสูง(คสล.) เปรียบเทียบกับหอถังเหล็ก พบว่า การประมาณการค่าก่อสร้างเฉพาะหอถังเหล็กรูปทรงแชมเปญมีราคาต่ำกว่าค่าก่อสร้างหอถังสูง คสล. แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งได้เปลี่ยนแปลงหอถังเพิ่มเติมโดยการเพิ่มขนาดความจุของหอถังสูงเพื่อให้วงเงินค่าก่อสร้างเป็นไปตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรร
ทั้งนี้ การเพิ่มขนาดความจุของหอถังสูงนั้นอาจจะไม่เหมาะสมกับขนาดของครัวเรือนผู้ใช้น้ำและเกินความจำเป็น
2.2 กระบวนการจัดจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบฯ ที่กำหนด
จากการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดจ้างของโครงการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน จำนวน 25 แห่ง พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไปตามระเบียบฯ ที่กำหนด จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลท่าชีองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอุแท องค์การบริหารส่วนตำบลชลคราม และองค์การบริหารส่วนตำบลสมอทอง
ทั้งนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้แจ้งให้หน่วยงานดังกล่าวข้างต้นดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินกับผู้ที่รับผิดชอบหรือผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว
2.3 วัสดุอุปกรณ์ประจำการประปาไม่ครบถ้วนและไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการ
จากการตรวจสังเกตการณ์การก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน จำนวน 25 แห่ง โดยการสุ่มตรวจสอบเครื่องมือประจำการประปา เครื่องมือตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในน้ำ เครื่องตรวจวิเคราะห์ปริมาณเหล็กในน้ำ และเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ปริมาณคลอรีนคงเหลือ พบว่า วัสดุอุปกรณ์ประจำการประปาไม่ครบถ้วนและไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 27,400.00 บาท การดำเนินโครงการฯ ที่มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการของโครงการ กระบวนการจัดจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบฯ ที่กำหนด วัสดุอุปกรณ์ประจำการประปาไม่ครบถ้วนและไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการ ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดความไม่คุ้มค่า เกิดความไม่ประหยัด โดยคิดจากวงเงินงบประมาณค่าก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านเฉพาะที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบแปลนหอถังสูงและวัสดุอุปกรณ์ระบบประปาไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการที่กำหนด เป็นจำนวนเงิน 26,573,400.00 บาท รวมทั้งเสียโอกาสในการนำเงินงบประมาณรายจ่ายไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า อีกทั้ง การดำเนินการที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุฯ ตลอดจนประกาศ หนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการได้
สาเหตุสำคัญ เกิดจากผู้รับจ้างที่มีความชำนาญด้านการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านมีจำนวนน้อยรายและไม่สนใจเสนอราคาก่อสร้าง เนื่องจากแบบรูปรายการก่อสร้างที่ได้รับอนุมัติเป็นแบบรูปรายการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านแบบหอถังสูง คสล.ซึ่งทำการก่อสร้างยากกว่าหากเปรียบเทียบกับการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านแบบหอถังเหล็กรูปทรงถ้วยแชมเปญ และสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานีพิจารณาอนุมัติเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการของโครงการโดยไม่ได้ คำนึงถึงความคุ้มค่าของงบประมาณการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน ซึ่งมีความแข็งแรงทนทานและอายุการใช้งานที่น้อยกว่าแบบแปลนเดิม รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งมีบุคลากรไม่เพียงพอสำหรับที่จะแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการเพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างที่ไม่มีความรู้ ความชำนาญในงานก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน และการปฏิบัติหน้าที่ไม่เคร่งครัดตามระเบียบฯ
นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้จัดทำทะเบียนคุมรายละเอียดของวัสดุ อุปกรณ์ ที่ส่งมอบให้แก่คณะกรรมการบริหารกิจการและบำรุงรักษาระบบประปาหมู่บ้าน เพื่อป้องกันการสูญหายและสามารถนำมาใช้ในงานระบบประปาหมู่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
@ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
1. กำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ รวมทั้งระเบียบหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดโดยเคร่งครัด และกำชับให้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับระเบียบ กฎหมายตลอดจนหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ประสานงานกับผู้รับจ้างให้ดำเนินการติดตั้งหรือส่งมอบวัสดุอุปกรณ์ให้ถูกต้อง ครบถ้วนและประสานงานกับคณะกรรมการบริหารกิจการและบำรุงรักษาระบบประปาหมู่บ้านเพื่อตรวจสอบวัสดุ อุปกรณ์และแนะนำให้คณะกรรมการฯ จัดทำทะเบียนคุมและเก็บรักษาวัสดุ อุปกรณ์ไว้ในสถานที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันการสูญหายและสามารถนำมาใช้ในงานระบบประปาหมู่บ้านให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
@ ท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี
1. สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานีควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาเปลี่ยนแปลงแบบแปลนของโครงการโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าของงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านและคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ
2. กำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่งตั้งคณะกรรมการจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ เพื่อให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของงานจ้าง หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ควรขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ร่วมเป็นคณะกรรมการ ทั้งนี้ เพื่อให้งานก่อสร้างมีความถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามแบบรูปรายละเอียดที่กำหนดและเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ
3. เร่งรัดและติดตามผลการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้การดำเนินโครงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคให้แก่ประชาชน (ประปาหมู่บ้าน) ในโอกาสต่อไปเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อตรวจพบที่ 3 ระบบประปาหมู่บ้านบางแห่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์
การเสนอโครงการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ อุปโภค บริโภคแก่ประชาชน (ก่อสร้างประปาหมู่บ้าน) ในการดำเนินโครงการดังกล่าวจะต้องมีความพร้อมในด้านสถานที่ แหล่งน้ำ และระบบไฟฟ้า เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทันทีภายหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนได้อย่างเร่งด่วน
จากกการตรวจสอบเอกสารและการสังเกตการณ์การใช้ประโยชน์จากระบบประปาหมู่บ้าน จำนวน 25 แห่ง พบว่า ระบบประปาหมู่บ้านที่สามารถใช้ประโยชน์มีเพียง 9 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 36.00 ของโครงการที่ตรวจสอบทั้งหมด สำหรับระบบประปาหมู่บ้านที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์มีจำนวน 16 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 64.00 ของโครงการที่ตรวจสอบทั้งหมด โดยแยกเป็นก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 12 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 4 แห่ง รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 43,503,000.00 บาท
นอกจากนี้ พบว่า ประชาชนใช้น้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภคในระดับต่ำ เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอและคุณภาพน้ำไม่เหมาะสม จากการตรวจสอบโดยการสอบถามประชาชนในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตรวจสอบจำนวน 369 คน เพื่อทราบเกี่ยวกับการใช้น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชน พบว่า ประชาชนใช้น้ำสำหรับการอุปโภคในระดับน้อยถึงปานกลาง จำนวน 200 คน ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ใช้น้ำประปาหมู่บ้านสำหรับการบริโภค จำนวน 296 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 54.20 และ 80.22 ของประชาชนที่สอบถามทั้งหมด
และจากการสอบถามประชาชนเพื่อทราบเกี่ยวกับปัญหาจากการใช้น้ำประปาหมู่บ้าน พบว่า ประชาชนประสบปัญหาน้ำไหลไม่ต่อเนื่องมากที่สุด จำนวน 160 คน รองลงมาคือ ปัญหาน้ำไม่สะอาด จำนวน 130 คน และปัญหาน้ำไหลช้า จำนวน 114 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 43.36, 35.23 และ 30.89 ตามลำดับ ของประชาชนที่สอบถามทั้งหมด การดำเนินโครงการฯ โดยไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการย่อมก่อให้เกิดความสูญเปล่าของงบประมาณ ซึ่งคิดจากวงเงินค่าก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านเป็นจำนวน 43,503,000.00 บาท รวมทั้งหน่วยงานเสียโอกาสในการนำเงินงบประมาณเพื่อการพัฒนาในพื้นที่ที่มีความพร้อมหรือการพัฒนาในด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า
สาเหตุสำคัญ เกิดจากการขาดข้อมูลประกอบการพิจารณาคัดเลือกโครงการ กล่าวคือ การจัดทำเอกสารรายละเอียดโครงการฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามที่กำหนด ไม่สามารถให้ข้อมูลที่เพียงพอและน่าเชื่อถือสำหรับการพิจารณากลั่นกรองเพื่อคัดเลือกโครงการฯ รวมทั้งขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูล และขาดการเตรียมความพร้อมในด้านสถานที่โดยพบว่าพื้นที่ตั้งของระบบประปาหมู่บ้านบางแห่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือบางแห่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก) ไม่ได้ขออนุญาตการใช้ที่ดินตามระเบียบฯ และปัญหาขาดการเตรียมความพร้อมด้านแหล่งน้ำโดยพบว่าระบบประปาหมู่บ้านบางแห่งยังไม่มีการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาและแหล่งน้ำดิบมีคุณภาพไม่เหมาะสม และปัญหาขาดความพร้อมในด้านระบบไฟฟ้าเนื่องจากกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอสำหรับระบบประปาหมู่บ้านต้องดำเนินการขยายเขตไฟฟ้าเพิ่มเติม
นอกจากนี้ การคัดเลือกพื้นที่ตั้งระบบประปาหมู่บ้านขาดความระมัดระวังรอบคอบในการสำรวจและพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ในการก่อสร้างระบบประปาที่เหมาะสม รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนใหญ่ไม่มีการตรวจสอบปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำ ตลอดจนบางแห่งไม่มีปัญหาความเดือดร้อนด้านการขาดแคลนน้ำอย่างแท้จริง โดยมีวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างระบบประปาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้านที่มีอยู่เดิมเท่านั้น
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
@ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
1. ให้ดำเนินการขออนุญาตการใช้ที่ดินดำเนินการตามควรแก่กรณีให้ถูกต้อง ตามนัยระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพิจารณาอนุญาตการใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่นๆ ในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2536 ข้อ 4 ข้อ 5 และหนังสือสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ สฎ 0011/2165ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 เรื่อง หารือกรณีการนำที่ดิน ส.ป.ก. ไปยื่นขอรับใบอนุญาตเจาะบาดาล
2. ให้ทดสอบปริมาณและคุณภาพของแหล่งน้ำดิบก่อนทำการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านอย่างจริงจัง เพื่อให้มั่นใจว่าแหล่งน้ำดิบมีปริมาณเพียงพอที่จะใช้ผลิตน้ำประปาได้ตลอดทั้งปีเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ตามวัตถุประสงค์และต้องมีการทดสอบคุณภาพของแหล่งน้ำดิบให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้ความมั่นใจกับชุมชนว่าเป็นแหล่งน้ำดิบที่สะอาดมีคุณภาพดีและไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมีต่าง ๆ
3. ให้เร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระบบประปาหมู่บ้านที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
@ ท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์ธานี
1. กำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ใช้ความระมัดระวัง ละเอียดรอบคอบในการสำรวจและพิจารณาเลือกพื้นที่ตั้งของระบบประปาหมู่บ้านให้เหมาะสมและเป็นไปตามหลักวิชาการ รวมทั้งกำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรายงานข้อมูลความพร้อมของโครงการและให้มีการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องตรงตามข้อเท็จจริง
2. ให้ดำเนินการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้ดำเนินการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านแล้วเสร็จ แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เนื่องจากความไม่พร้อมของแหล่งน้ำ ระบบไฟฟ้า หรือสถานที่ เพื่อเป็นมาตรการควบคุมให้หน่วยงานที่จะจัดทำโครงการในอนาคตคำนึงถึงความคุ้มค่าของงบประมาณและประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
3. เร่งรัดและติดตามผลการดำเนินงานโครงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคให้แก่ประชาชน (ประปาหมู่บ้าน) อย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ ระบบประปาหมู่บ้านที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จให้ติดตามความก้าวหน้าและสอบถามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดของการดำเนินงาน พร้อมทั้งมีมาตรการเร่งรัดให้รีบดำเนินการให้แล้วเสร็จตามห้วงเวลาที่กำหนด กรณีระบบประปาหมู่บ้านที่ดำเนินการแล้วเสร็จแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อสังเกต การบริหารกิจการระบบประปาหมู่บ้านยังไม่มีประสิทธิภาพ
จากการตรวจสอบการบริหารกิจการระบบประปาหมู่บ้านขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 20 แห่ง พบว่า การบริหารกิจการระบบประปาหมู่บ้านไม่เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน กล่าวคือบริหารกิจการระบบประปาโดยคณะกรรมการฯ จำนวน 9 แห่ง บริหารกิจการระบบประปาโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 2 แห่งและบริหารกิจการระบบประปาโดยคณะกรรมการฯ เป็นบางหมู่บ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นบางหมู่บ้าน จำนวน 9 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 45.00, 10.00 และ 45.00 ตามลำดับ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตรวจสอบทั้งหมด และจากการสุ่มตรวจสอบการบริหารกิจการระบบประปาหมู่บ้าน พบว่า การจัดเก็บค่าน้ำประปามีอัตราค่าน้ำประปาแตกต่างกันอยู่ระหว่างหน่วยละ 5 - 9 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของกลุ่มผู้ใช้น้ำกำหนด
นอกจากนี้ พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งไม่เข้มงวดกับการตรวจสอบการเงินและบัญชีของกิจการประปาหมู่บ้าน ทั้งนี้ กิจการระบบประปาหมู่บ้านที่ขาดการมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการและการบำรุงรักษาระบบประปาหมู่บ้านจากประประชาชน ย่อมแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการบริหารกิจการประปาหมู่บ้าน
สาเหตุสำคัญ เกิดจากระบบการกำกับดูแลกิจการประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยไม่มีการติดตามประเมินผล และการตรวจสอบการเงินและบัญชีของกิจการประปา รวมทั้งขาดการควบคุมดูแลการบริการกิจการประปาให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการบริหารกิจการและการบำรุงรักษาระบบประปาหมู่บ้าน พ.ศ.2548ตลอดจนคณะกรรมการฯ ไม่ได้จัดทำรายงานผลการดำเนินงานแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานกิจการประปา