ศ.ดร.สุรพล ค้านตั้ง ก.อุดมศึกษา ฉุด ‘มหาวิทยาลัย’กลับไปเป็นกรม
ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ วิพากษ์ร่าง กม.กระทรวงอุดมศึกษา ดึงมหาวิทยาลัยกลับไปเป็นกรม ให้อำนาจ รมว.-ปลัด สั่งได้ ชี้สถาบันการศึกษาควรเป็นอิสระ ขณะที่อธิการบดี มธ. ระบุหากไม่เขียน อาจต้องสูญเสียบางอย่าง ยกกรณี 'ภาษีรถยนต์' ได้รับยกเว้น ต้องเป็นกรมเท่านั้น
วันที่ 27 มิ.ย. 2560 ที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี 2559 และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “มายาคติในอุดมศึกษาไทย” ซึ่งจัดขึ้นโดยกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.ดร.สุรพล กล่าวตอนหนึ่งถึงกรณีกำลังมีการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอุดมศึกษา พ.ศ. .... และเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วนั้น เพราะผู้กำหนดนโยบายหรือผู้บริหารงานการศึกษาต้องการให้มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเป็นอิสระ เข้าเป็นหน่วยงานในกำกับของราชการ มีสถานะเป็นกรม ขึ้นตรงกับกระทรวงอุดมศึกษา ทั้งหมดเพื่อให้ปลัดกระทรวงฯ ออกคำสั่งได้ เนื่องจากที่ผ่านมา ออกคำสั่งกับมหาวิทยาลัยไม่ได้เลย
“กระทรวงอุดมศึกษากำลังจะนำมหาวิทยาลัยกลับมาเป็นกรม เหมือนกรมการปกครอง กรมที่ดิน ภายใต้สังกัดของกระทรวงมหาดไทย อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาและปลัดกระทรวงอุดมศึกษาในระบบราชการจะกลับมา”
ศ.ดร.สุรพล กล่าวต่อว่า ปัจจุบันนี้ยังมีบุคลากรรุ่นเก่าในมหาวิทยาลัย เข้าใจกันว่า มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของราชการ ทั้งที่แยกออกมาแล้ว จึงถือเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด อย่างไรก็ตาม ไม่เฉพาะมายาคติของผู้กำหนดนโยบายหรือผู้บริหารงานการศึกษาเท่านั้น แม้แต่คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในฐานะองค์กรสูงสุดเป็นคณะบุคคลบริหารอุดมศึกษา ยังเข้าใจผิดว่า กกอ.สั่งมหาวิทยาลัยไม่ได้
“มีโอกาสได้บอก กกอ.หลายท่านว่า หากพบว่ามหาวิทยาลัยใดมีหลักสูตรการศึกษาไม่ได้มาตรฐาน หรือมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ กกอ.ไม่ต้องสั่ง หรือทำอะไรเลย เพียงแค่ออกประกาศแจ้งเตือนว่า มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรใดไม่ได้มาตรฐาน พร้อมกับมีหนังสือไปถึงหน่วยงานภาครัฐทราบ คราวนี้จะไม่มีใครมาสมัครเรียน” อดีตอธิการบดี มธ. กล่าว
ศ.ดร.สุรพล กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยเป็นอิสระ มีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่กรอบความคิดการตั้งกระทรวงอุดมศึกษา กลับมีไปถึงขนาดจะเขียน พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ใหม่ โดยใส่ชื่อกระทรวงอุดมศึกษาเข้าไป และใส่ชื่อมหาวิทยาลัยที่ยังเป็นส่วนราชการ 50 แห่ง กลับไปเป็นกรม ทำให้คิดว่า ต่อไปอาจต้องใส่ชุดสีกากีทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ ซึ่งพื้นฐานง่าย ๆ สำหรับราชการ คือ ต่อไปต้องให้ปลัดกระทรวงอุดมศึกษาสั่งได้ เพราะเป็นปลัดกระทรวงแล้ว และมหาวิทยาลัยเป็นกรม อยู่ใน พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เหมือนกระทรวงมหาดไทยที่อธิบดีต้องปฏิบัติตามคำสั่ง
"มีความไม่เข้าใจทำไมรัฐมนตรีศึกษาฯ ถึงสั่งมหาวิทยาลัยไม่ได้ เราคาดหวังหรือไม่ให้รัฐมนตรีศึกษาฯ คนเดียวรับผิดชอบการศึกษาของไทย ตั้งแต่เด็กยากจน เด็กพิการ เด็กชาวเขา เด็กไร้สัญชาติ ไปจนการจัดการวิจัยระดับนานาชาติ เราคิดว่า คนๆ เดียวทำได้หรือ นี่คือเหตุผลในการแยกเรื่องออกมา และทุกๆเรื่องมีคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยคอยดูแล แนวคิดแบบนี้ของมหาวิทยาลัยถูกถามมากสำหรับผู้กำหนดนโยบายภาครัฐ ทำไมทำแบบนั้น ซึ่งการบริหารมหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องบริการประชาชนแบบการออกโฉนด รังวัดแบ่งแยกที่ดิน แต่นี่คือเรื่องการศึกษา
มายาคติที่เกิดในหมู่ผู้กำหนดนโยบายมีโดยทั่วไปเพราะไม่มีโครงสร้างใดเหมือนโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการเลย แท่งอุดมศึกษาต้องการความเป็นอิสระ ไม่ต้องมีใครสั่ง ความไม่เข้าใจเป็นอยู่โดยทั่วไป ทำใหเกิดการกำหนดนโยบายที่แปลกประหลาด คนไม่คุ้นเคยบ่นหมดทำไมมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสั่งกระทรวงศึกษาไม่ได้ ทำไมครม.กำหนดให้มหาวิทยาลัยทำโน้นทำนี่ไม่ได้ จริงๆ ทำได้แต่กำหนดให้ทำแบบราชการไม่ได้ เพราะมีกรรมการโดยเฉพาะ ในระดับนโยบายมีปัญหาที่ว่านี้ ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรกลางภาครัฐมีมายาคติเช่นนี้ เข้าใจมหาวิทยาลัยผิดพลาด บอกให้มหาวิทยาลัยทำเหมือนกรม ทั้งเรื่องบประมาณ อัตรากำลัง ไปถึงองค์กรตรวจสอบ ป.ป.ช. สตง. ศาลปกครอง ก็พลอยคิดไปด้วยมหาวิทยาลัยเป็นราชการ ทำไมจ่ายเบี้ยมากกว่าคนอื่น ให้ค่าสอนเกินกว่า 800 บาทไม่ได้ จ่ายเงินเดือนแพง ทำไมออกระเบียบจ่ายค่ากาแฟได้ 50 บาทต่อหัว ขณะที่ราชการได้ 35 บาท ทำจ่ายเงินเดือนให้คนมหาวิทยาลัยที่ไปเรียนต่างประเทศ จ่ายสูงกว่าอัตราของราชการอื่นๆ ไม่ค่อยมีคนเข้าใจ มหาวิทยาลัยเป็นแบบนี้ ได้สิ่งนี้มากว่า 10 ปี ยังมีความเข้าใจมหาวิทยาลัยคือราชการ เมื่อเป็นราชการก็ต้องทำแบบราชการโดยไม่ตระหนักถึงลักษณะพิเศษของมหาวิทยาลัย ไม่เห็นภาพ ไม่เข้าใจ "
ด้าน ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. ...ให้มหาวิทยาลัยส่วนราชการ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ มีฐานะเทียบเท่ากรม อาจจะมีผลเสียเหมือนอย่างที่ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ กล่าวไว้ เพราะถูกสั่งได้ แต่การไม่ให้มีฐานะเป็นกรมหรือเทียบเท่ากรมก็มีปัญหา เช่น รถยนต์ของมหาวิทยาลัยในกำกับถูกเก็บภาษี เพราะกฎหมายรถยนต์เขียนว่า บุคคลที่จะได้รับการยกเว้นภาษีต้องเป็นกรมเท่านั้น
“เราไม่อยากเป็นกรม แต่ถ้าไม่เป็นจะต้องสูญเสียบางอย่าง หากเป็นอาจถูกบังคับบางอย่าง ฉะนั้นจึงต้องเขียนให้ครบถ้วนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
อธิการบดี มธ. กล่าวต่อว่า ร่าง พ.ร.บ. การอุดมศึกษา พ.ศ. ... ระบุชัดเจนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา หรือปลัดกระทรวงอุดมศึกษา สามารถเข้าไปกำกับเรื่องอะไรได้บ้าง และในการออกคำสั่งกับสภามหาวิทยาลัย กรณีไม่ปฏิบัติตาม ปฏิบัติตามไม่ครบถ้วน หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาจะขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นกระบวนการที่ถูกบรรจุอยู่ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว .
อ่านประกอบ:สภาวิชาชีพ 11 องค์กร เสนอความเห็นค้าน ม.56 ในร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา