นายกฯเยือนสหรัฐเตรียมช้อปอาวุธฟื้นสัมพันธ์?
ใกล้เวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.จะเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาตามคำเชิญของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
แต่แล้วจู่ๆ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็สั่งในการประชุมสภากลาโหม ให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพต่างๆ เร่งสรุปจำนวน ชนิดอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพที่มีอยู่ และความต้องการที่จำเป็น เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพ พร้อมขีดเส้นให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. โดยอ้างว่าเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
ทั้งยังมีการพูดถึงการปฏิรูปกองทัพ ทั้งโครงสร้างการจัดหน่วย ระบบบริหารจัดการ และพัฒนากำลังพล ตลอดจนยุทโธปกรณ์ให้มีความคล่องตัวและเหมาะสมกับปฏิบัติภารกิจที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
หลายคนสงสัยว่า 2-3 เรื่องนี้เกี่ยวโยงกันหรือไม่ โดยเฉพาะการสำรวจความต้องการยุทโธปกรณ์ก่อนที่นายกฯจะเดินทางเยือนสหรัฐ
เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาล คสช.ทุ่มเทงบประมาณจัดซื้อยุทโธปกรณ์จากจีนมาโดยตลอด เริ่มจากโครงการจัดซื้อรถถัง VT4 จากจีนล็อตแรกเมื่อปี 59 งบประมาณราวๆ 4,900 ล้านบาท ตามด้วยล็อต 2 ที่เพิ่งเข้า ครม.ไปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และล็อต 3 คงตามมาอีกไม่ช้า เพราะทั้งโครงการจะจัดซื้อ 3 ล็อต 49 คัน งบรวม 9,000 ล้านบาท
โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนลำแรก เข้าครม.ด้วย "เอกสารมุมแดง" เมื่อ เม.ย.60 งบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ทั้งโครงการมี 3 ลำ งบรวม 36,000 ล้านบาท ขณะที่เมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ครม.เพิ่งอนุมัติซื้อรถเกราะล้อยาง รุ่น วีเอ็น 1 จากจีนอีก 34 คัน งบประมาณ 2,300 ล้านบาท
หมดงบซื้ออาวุธเพื่อยืนยันมิตรภาพอันแนบแน่นราวๆ 5 หมื่นล้านบาท ยังไม่นับรวมการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 มอบ "สิทธิพิเศษสุด" ให้จีนจัดสร้างรถไฟความเร็วสูงสายแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา มูลค่ากว่าแสนล้านบาท แบบยกเว้นกฎกติกาทุกอย่างอีกด้วย
เหล่านี้ทำให้เกิดคำถามว่า การเดินทางเยือนสหรัฐซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเจ้าตัวให้ความสำคัญอย่างสูง เพราะส่งผลถึงการลบภาพลักษณ์การเป็น "รัฐบาลทหาร" นั้น รัฐบาลไทยเตรียมเอาอะไรไปแลก?
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง เขียนข้อสังเกตการเดินทางเยือนสหรัฐของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และการขยับตัวอย่างผิดปกติของรองนายกฯที่คุมงานความมั่นคง ดังนี้
1.การเชิญชวนให้ไปเยือนสหรัฐของประธานาธิบดีทรัมป์ เกิดจากปัญหาการทดลองอาวุธของเกาหลีเหนือ ไม่ใช่เกิดในภาวะปกติ หรือไทยมีฐานะพิเศษ
2.สหรัฐต้องการพันธมิตรในเอเชียเพื่อต่อต้านเกาหลีเหนือ แต่ผู้นำทหารไทยต้องการใช้การเยือนเป็นเครื่องมือการสร้างความชอบธรรม
3.ผู้นำทหารไทยต้องการซื้ออาวุธ และใช้การซื้อนี้เพื่อลดแรงกดดันของสหรัฐ
4.ผู้นำสหรัฐอาจลดแรงกดดันต่อรัฐบาลทหาร แต่ไทยอาจต้องมีการแลกทางการเมือง ซึ่งต้องตามดูในอนาคต
5.แผนงานที่รองนายกฯเสนอออกมา จะไปเชื่อมต่อกับสหรัฐเพื่อให้สหรัฐสนับสนุนทหารไทย แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเชื่อมอย่างไร
6.กองทัพไทยซื้ออาวุธจากจีนเป็นจำนวนมาก ไทยมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องซื้อจากอเมริกาเพิ่มเติมในขณะนี้
7.การซื้ออาวุธเป็นจำนวนมากจะเป็นภาระด้านงบประมาณ
8.ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ การซื้ออาวุธจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสาธารณชน
9.การซื้ออาวุธอย่างต่อเนื่องจะทำให้มีเสียงคัดค้านต่อบทบาททหารในการเมืองเพิ่มมากขึ้น
และ 10.น่าสนใจว่าจีนจะมองปัญหาที่ไทยพยายามหันกลับไปหาสหรัฐเช่นนี้อย่างไร และผู้นำทหารไทยจะตอบจีนอย่างไร
นับเป็นข้อสังเกตและคำถามที่แหลมคมซึ่งสมควรนำไปสู่การวิเคราะห์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อไป