เหตุผล‘โพลาริส’ยื่นฟื้นฟูกิจการ ตลท. สั่งแจงใหม่-ลงทุน สนง.ทรัพย์สินฯอังกฤษทำคอนโดหรู?
“…ตลท. เห็นว่า เหตุใดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 สามารถนำมูลหนี้ที่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องในวันที่ 21 และ 30 พ.ค. 2560 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากบริษัทไปยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ (เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2560) มาใช้ในการพิจารณาว่าบริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัว และใช้เป็นข้อมูลในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการผ่านศาลได้…”
มรสุมทางธุรกิจยังคงถาโถมมายังบริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR อย่างต่อเนื่อง!
หลังจากถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตรวจสอบ กรณีเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2560 ยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย โดยอ้างว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งที่ตอนแจ้งงบการเงินต่อ ตลท. เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 ระบุว่า มีหนี้สินเพียง 465 ล้านบาท และมีสินทรัพย์เฉพาะในส่วนของผู้ถือหุ้นกว่า 4.5 พันล้านบาท
หรือพูดให้ง่ายคือคล้อยหลังเพียงวันเดียวที่แจ้งงบการเงิน POLAR ได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการแบบ ‘เงียบ ๆ’ ทันที โดยไม่แจ้งให้ ตลท. รับทราบแต่อย่างใด
ส่งผลให้ ตลท. ออกแอ็คชั่นให้ POLAR ชี้แจงกรณีดังกล่าวโดยเร่งด่วน เนื่องจากการกระทำอย่างนี้ ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมให้ตั้งผู้สอบบัญชีพิเศษ (Special Audit) เพื่อตรวจสอบงบการเงินของ POLAR ด้วย นอกจากนี้ ก.ล.ต. สั่งการให้ POLAR ชี้แจงอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา POLAR ชี้แจงข้อมูลต่อ ตลท. เกี่ยวกับกรณี ‘ยื่นเงียบ’ ฟื้นฟูกิจการแล้ว มีรายละเอียด สรุปได้ ดังนี้
@ศาลฎีกาพิพากษากลับเลิกแผนฟื้นฟูกิจการ-ถูกฟ้องแพ่ง 3 คดี
POLAR แจงว่า บริษัท นครหลวงเส้นใยสังเคราะห์ จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิมของ POLAR) เคยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2548 โดยคดีดังกล่าวศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัทฟื้นฟูกิจการ และตั้ง POLAR เป็นผู้ทำแทน และเห็นชอบด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อมาผู้บริหารแผน และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชี้แจงว่า ผู้บริหารแผนดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนครบถ้วนแล้ว ศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และยกคำร้องเจ้าหน้าที่รายที่ 20 (เดิมคือธนาคารนครหลวงไทย ปัจจุบันคือธนาคารธนชาติ) ที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องจักร
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2559 ศาลฎีกาพิจารณาและมีคำพิพากษากลับว่า ไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และให้จำหน่ายคดีของเจ้าหนี้รายที่ 20 ที่คัดค้านการเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของผู้บริหารแผน และให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนเครื่องจักร 54 เครื่องให้แก่เจ้าหนี้รายที่ 20
ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทให้ความเห็นว่า ผลของคำพิพากษาดังกล่าว เป็นผลให้บริษัทกลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนเข้าฟื้นฟูกิจการ POLAR จึงยังคงมีหนี้สินเดิมก่อนศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ เป็นต้นเงินจำนวนประมาณ 546 ล้านบาท เมื่อคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดและเบี้ยปรับตั้งแต่บริษัทเคยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตั้งแต่ปี 2548 รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 1,634 ล้านบาท
นอกจากนี้ POLAR ยังมีเจ้าหนี้อื่นที่อยู่ระหว่างฟ้องดำเนินคดี อีก 3 ราย ได้แก่
1.คดีแพ่งที่บริษัท ซิมบา อินเตอร์ จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้องบริษัท แทนเจอร์รีน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่ 1 และ POLAR ที่ 2 เป็นจำเลย เรียกเงินจำนวน 503 ล้านบาท เป็นค่าเสียหายจากการวางแผนโครงการพังงาน เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2560 โดย POLAR ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2560
2.คดีแพ่งที่บริษัท ยูไนเต็ด เทรดดิ้ง กรุ๊ป จำกัด โจทก์ กับ POLAR ฟ้องเรียกเงินจำนวน 2,772,000,000 บาท เป็นค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์จากการยกเลิกการลงทุนในโครงการพังงา เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2560 และ POLAR ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2560
3.นายกำแหง หุ่นหิรัณย์สาย มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามเรียกให้ POLAR ชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง และฟ้องเป็นคดีแพ่ง POLAR เรียกเงินจำนวน 345 ล้านบาท เป็นค่าเสียหายจากการยกเลิกการจำหน่ายหุ้นของบริษัทย่อย (บริษัท แพลทตินั่ม ออโต้ เซอร์วิส จำกัด) เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2560 และ POLAR ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2560
POLAR จึงมีหนี้สินตามงบการเงินเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2559 และรวมหนี้ตามศาลฎีกาพิพากษากลับไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ กับภาระหนี้ที่อาจเกิดขึ้นข้างต้น คิดเป็นเงินจำนวน 5,718 ล้านบาท
ส่วนเหตุผลที่ POLAR ไม่เปิดเผยข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศ ระบุว่า ยังมีความไม่แน่นอนในกระบวนการฟื้นฟูกิจการว่า ศาลจะมีคำสั่งเป็นประการใด
@ร้องศาลขอฟื้นฟูกิจการ หวั่นบริษัทล้มละลาย
ทั้งนี้คณะกรรมการและฝ่ายจัดการของบริษัท ดำเนินการและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว โดยใช้ความระมัดระวัง และรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น โดยเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 คณะกรรมการบริษัทได้เชิญที่ปรึกษากฎหมาย และทนายความของบริษัทเข้าร่วมประชุมให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ตามคำสั่งศาลที่ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และการต่อสู้คดีกับบุคคลที่ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัท โดยทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย ให้ความเห็นและคำแนะนำแก่คณะกรรมการบริษัทว่า จะต้องบันทึกการสำรองหนี้ที่เป็นผลมาจากคำสั่งศาลที่ยกเลิกคำสั่งฟื้นฟูกิจการอย่างเต็มจำนวน นอกจากนี้การนำคดีขึ้นสู่ศาลจะช่วยให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท เพื่อแก้ไขเยียวยาปัญหาทั้งปวงที่สะสมมาก่อนแล้ว เห็นว่า ควรนำบริษัทเข้าสู้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งทนายความและที่ปรึกษากฎหมายได้เตรียมการดำเนินคดีไว้แล้ว และหากบริษัทเห็นชอบยื่นเรื่องต่อศาลได้ทันทีเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดว่า จะเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการใดหรือไม่
จากความเห็นและคำแนะนำของทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย ที่ประชุมคณะกรรมการจึงมีมติให้ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายจัดให้มีทนายความดำเนินการทางด้านคดี และยื่นศาลวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการหรือไม่ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทเพิ่มมากกว่าปัจจุบัน เนื่องจากผู้บริหารและคณะกรรมการเห็นว่า หากปล่อยปละละเลยให้คงเป็นเช่นเดิมต่อไป จะยังผลให้บริษัท ผู้ถือหุ้น ตลอดจนคณะกรรมการ ได้รับผลกระทบเชิงลบ ประกอบกับการดำเนินกิจการของบริษัทที่ผ่านมา มีผลกระกอบการขาดทุน จนทำให้ขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นทุกปีตามงบดุลครั้งสุดท้าย มีขาดทุนสะสมจำนวน 2,122 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการและผู้บริหารพยายามแก้ไขด้วยการหาผู้ร่วมทุนและการเพิ่มทุนมาตลอด แต่ไม่เป็นผลเพราะมีอุปสรรคหลายด้าน
นอกจากนี้ส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นจากการออกหุ้นขายต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้ (ราคาพาร์) ติดลบถึงประมาณ 248,867 ล้านบาท ลักษณะของส่วนทุนเช่นนี้ เป็นปัญหาและอุปสรรคระยะยาว ซึ่งไม่อาจแก้ไขได้โดยง่าย จึงต้องร้องขอต่อศาล เพื่อนำมาสู่การฟื้นฟูกิจการอันที่จะปรับสัดส่วนของทุนให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเข้าเจรจารับชำระหนี้ตามที่มีอยู่จริงและตามที่ศาลเห็นสมควร ไม่เช่นนั้นบริษัทอาจประสบภาวะล้มละลายจนไม่อาจเยียวยาได้ และหากบริษัทต้องแพ้คดีในส่วนแพ่งหรือล้มละลาย การบังคับขายทรัพย์สินอาจเกิดขึ้น มูลค่าทางการบัญชีต้องลดลง แนวโน้มไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าปัจจุบันหรือมากกว่านั้น
@ยันทำด้วยความระมัดระวังแล้ว
การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทดำเนินการด้วยความระมัดระวังและความรับผิดชอบเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้นแล้ว โดยว่าจ้างทนายความและที่ปรึกษากฎหมายที่มีความชำนาญในทางคดีเป็นผู้ดำเนินการและให้คำแนะนำแก่กรรมการและผู้บริหาร หากบริษัทไม่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการดังกล่าว อาจประสบภาวะล้มละลาย ทรัพย์สินที่มีอยู่ก็จะมีแต่ด้อยค่าและเสื่อมสภาพลง ส่งผลกระทบต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นจนไม่อาจเยียวยาแก้ไขได้ คณะกรรมการบริษัทจึงพิจารณานำบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางดังกล่าว เพื่อป้งอกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป (อ่านรายละเอียดฉบับเต็ม ที่นี่)
@ตลท.สั่ง POLAR แจงเพิ่ม เหตุไม่สอดคล้องข้อเท็จจริงที่เคยแจ้ง
อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2560 ตลท. ขอให้ POLAR ชี้แจงเพิ่มเติมกรณียื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายดังกล่าว เนื่องจากพบว่า การชี้แจงของ POLAR มีข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่เคยแจ้งต่อ ตลท. จึงขอให้ชี้แจงเพิ่มเติมภายในวันที่ 21 มิ.ย. 2560 (ปัจจุบัน POLAR ยังไม่ชี้แจงข้อมูลแต่อย่างใด)
โดย ตลท. เห็นว่า เหตุใดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 สามารถนำมูลหนี้ที่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องในวันที่ 21 และ 30 พ.ค. 2560 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากบริษัทไปยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ (เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2560) มาใช้ในการพิจารณาว่าบริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัว และใช้เป็นข้อมูลในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการผ่านศาลได้
นอกจากนี้กรณี POLAR แจ้งว่า นายกำแหง หุ่นหิรัณย์สาย ฟ้องให้ชำระหนี้และค่าเสียหายจากการยกเลิกจำหน่ายหุ้นบริษัท แพลทตินั่ม ออโต้ เซอร์วิส จำกัด 345 ล้านบาท เป็นหนี้อีกจำนวนหนึ่งที่มีผลทำให้บริษัทพิจารณาว่า มีหนี้สินล้นพ้นตัว และยื่นฟื้นฟูกิจการผ่านศาลนั้น แต่ POLAR เคยแจ้งสารสนเทศต่อ ตลท. ว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2560 คณะกรรมการบริษัทมีมติขายหุ้นบริษัท แพลทตินั่มฯ ทั้งหมดให้นายกำแหง ในราคา 105 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2559 คณะกรรมการบริษัทมมีมติยกเลิกการจำหน่ายหุ้นดังกล่าว เนื่องจากผู้ซื้อ (นายกำแหง) ไม่มีความประสงค์ที่จะเข้าซื้อหุ้นอีกต่อไป ดังนั้นจึงขอให้บริษัทอธิบายว่า เหตุใดการที่นายกำแหงซึ่งเป็นผู้ขอยกเลิกการซื้อหุ้นเอง จึงฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกการจำหน่ายหุ้นดังกล่าว
รวมถึงคณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้นอย่างไร จึงพิจารณาหนี้ที่เกิดจากการเรียกร้องค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์เป็นภาระหนี้ทั้งจำนวนของบริษัท จนเป็นเหตุให้บริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัว และยื่นขอฟื้นฟูกิจการผ่านศาล และขอให้สรุปข้อมูลของแต่ละคดีที่โจทก์ทั้ง 3 รายดังกล่าวฟ้องร้อง คือรายละเอียดของโจทก์แต่ละราย เช่น วันที่จัดตั้งบริษัท ทุนจดทะเบียน ผู้ถือหุ้นและกรรมการ การประกอบธุรกิจ เป็นต้น ลักษณะการทำธุรกรรมระหว่างบริษัทและโจทก์โดยละเอียด พร้อมระบุวันที่เกิดรายการ และสถานะปัจจุบันของโครงการพังงา และให้สรุปคำฟ้องของโจทก์แต่ละรายด้วย (อ่านรายละเอียดฉบับเต็ม ที่นี่)
@ตั้ง บ.ร่วม ทำสัญญาเช่าสำนักงานทรัพย์สินฯอังกฤษ 107 ล.ปอนด์ เปิดตัวคอนโด ‘เชอร์วูด ลอนดอน’
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบงบการเงินของ POLAR ประจำปี 2559 (แจ้ง ตลท. เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560) ผู้สอบบัญชีระบุว่า บริษัทเข้าค้ำประกัน (ร่วมกับผู้ถือหุ้นท่านหนึ่งของบริษัทร่วม) ตามสัญญาเช่าโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศอังกฤษ ระหว่างบริษัท กลอรี่ แอคเม่ จำกัด (บริษัทร่วม) กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ประเทศอังกฤษ) มูลค่า 107.19 ล้านปอนด์ (ชำระแล้ว 10,72 ล้านปอนด์)
ตามข้อตกลงของสัญญากำหนดให้บริษัทร่วมต้องส่งมอบเงินส่วนที่เหลือและรับโอนสิทธิการเช่าจำนวน 48 ยูนิต เป็นเวลา 145 ปี ภายใต้โครงการ ‘เดอะ เชอร์วูด ลอนดอน’ จากสำนักงานทรัพย์สินฯ ปัจจุบันโครงการนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.ย. 2560 และมีการเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการเช่าให้แก่ลูกค้าแล้วจำนวน 13 ยูนิต จากลูกค้า 3 ราย เมื่อครบกำหนดการส่งมอบโครงการแล้ว หากบริษัทร่วมไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ ต้องเป็นผู้รับมอบโครงการจากสำนักงานทรัพย์สิน และจ่ายชำระเงินส่วนที่เหลือตามสัญญาแทนบริษัทร่วมในฐานะผู้ค้ำประกันด้วย
ทั้งหมดคือเบื้องหลังที่ POLAR ยื่นต่อศาลขอฟื้นฟูกิจการดังกล่าว ทว่า ตลท. ยังคงมีท่าที ‘ไม่เชื่อ’ และขอให้ POLAR ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
นอกเหนือจากกรณีที่ ก.ล.ต. กำลังสาวลึกตรวจสอบเส้นทางการเงินที่ POLAR ทำธุรกรรมเตรียมจะซื้อหุ้นบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด (เจ้าของนิตยสารเครือ a day และเว็บไซต์ the momentum) ที่มีการวางเงินมัดจำ 120 ล้านบาท อยู่ในขณะนี้!
อ่านประกอบ :
ก.ล.ต.สั่ง‘โพลาริส’ตั้งผู้สอบบัญชีพิเศษหลังยื่นเงียบฟื้นฟูกิจการ โชว์หนี้ 5.7 พันล.
คำร้องมีรายละเอียดมาก! โพลาริส ขอตลท.เลื่อนแจงเหตุยื่นเงียบฟื้นฟูกิจการ12 มิ.ย.นี้
สินทรัพย์5พันล.ยื่นเงียบฟื้นฟูกิจการ! ตลท.สั่งโพลาริสแจงเหตุผล
เปิดไส้ในงบปี59 โพลาริส ก่อนตลท.มึน!สั่งแจงเหตุยื่นเงียบฟื้นฟูกิจการ-พิสูจน์น้ำยา กลต.