เปิดไส้ในงบปี59 โพลาริส ก่อนตลท.มึน!สั่งแจงเหตุยื่นเงียบฟื้นฟูกิจการ-พิสูจน์น้ำยา กลต.
".. คณะกรรมการ และฝ่ายจัดการของบริษัทได้ดำเนินการหรือบริหารงานอย่างไร จนเป็นเหตุให้บริษัทมีลักษณะที่เข้าข่ายมีหนี้สินล้นพ้นตัวภายในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการเพิ่งมีมติอนุมัติงบการเงินประจำปี 2559 ซึ่งมีส่วนผู้ถือหุ้น 4,580 ล้านบาท และได้เปิดเผยงบการเงินดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 และต่อมาเพียง 1 วันได้ปรากฏว่ามีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 แต่บริษัทยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเพื่อเผยแพร่ให้ผู้ลงทุนได้ทราบ .."
วันที่ 7 มิ.ย.2560 นี้
คือ วันสุดท้ายที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กำหนดให้ บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จํากัด (มหาชน) (POLAR) ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมกรณีบริษัทฯ ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2560 ต่อศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากมีหนี้สินล้นพ้นตัว และศาลฯ นัด ไต่สวนคําร้องวันที่ 26 มิ.ย. 2560 ขณะที่งบการเงินประจําปี 2559 ซึ่งเป็นงบการเงินฉบับล่าสุดที่นำส่งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทระบุว่ามีสินทรัพย์รวม 5,045 ล้านบาท หนี้สินรวม 465 ล้านบาท และส่วนผู้ถือหุ้น 4,580 ล้านบาท
ใน 3 ประเด็นหลัก คือ
1. กรณีที่บริษัทฯ ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการ ขอให้อธิบายสาระสําคัญของคําร้องดังกล่าว เช่น วันที่ ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการ ที่มาและมูลหนี้ที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เป็นต้น รวมทั้งเหตุใดบริษัทจึงไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อ ตลท. เนื่องจากการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นเหตุการณ์ที่บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยทันที
2. คณะกรรมการ และฝ่ายจัดการของบริษัทได้ดำเนินการหรือบริหารงานอย่างไร จนเป็นเหตุให้บริษัทมีลักษณะที่เข้าข่ายมีหนี้สินล้นพ้นตัวภายในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการเพิ่งมีมติอนุมัติงบการเงินประจำปี 2559 ซึ่งมีส่วนผู้ถือหุ้น 4,580 ล้านบาท และได้เปิดเผยงบการเงินดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 และต่อมาเพียง 1 วันได้ปรากฏว่ามีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 แต่บริษัทยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเพื่อเผยแพร่ให้ผู้ลงทุนได้ทราบ
3. การที่บริษัทยื่นขอฟื้นฟูกิจการดังกล่าวนั้น คณะกรรมการบริษัทได้ดำเนินการด้วยความระมัดระวังและความรับผิดชอบเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้นอย่างไร พร้อมอธิบายข้อมูลที่คณะกรรมการบริษัทใช้ประกอบการพิจารณา
(อ่านประกอบ : สินทรัพย์5พันล.ยื่นเงียบฟื้นฟูกิจการ! ตลท.สั่งโพลาริสแจงเหตุผล)
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ขยายผลคำถามของ ตลท. ที่มีต่อ บริษัท โพลาริสฯ ในประเด็นงบการเงินประจําปี 2559 ที่บริษัทระบุว่ามีสินทรัพย์รวม 5,045 ล้านบาท หนี้สินรวม 465 ล้านบาท และส่วนผู้ถือหุ้น 4,580 ล้านบาท
พบข้อมูลดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง บริษัท โพลาริสฯ ปรากฎรายชื่อเป็นหนึ่งในเอกชนที่ถูกตลท. แจ้งติดตามให้นำส่งงบการเงินประจำปี 2559 มาตลอด นับตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 1 จนถึงขนาดต้องขึ้นเครื่องหมาย SP (ย่อมาจากคำว่า SUSPENSION ห้ามการซื้อขายหุ้นจดทะเบียนชั่วคราว) กรณีไม่ส่งงบการเงิน ซึ่งปัจจุบันการนำส่งงบการเงินประจำปี 2560 ก็มีปัญหาส่งงบล่าช้า และถูกตลท.ทวงถามอยู่เช่นกัน
สำหรับเหตุผลการนำส่งงบการเงินล่าช้า ที่บริษัทฯ ชี้แจงต่อ ตลท.มีหลายประการ ทั้งความวุ่นวายในการจัดประชุมผู้ถือหุ้น ทำให้ผู้สอบบัญชีของบริษัทยังไม่ได้รับการแต่งตั้ง รวมถึงปัญหาการจัดส่งเอกสารของผู้รวมลงทุนในตปท. เป็นต้น
ประการที่สอง ในงบการเงินประจำปี 2559 บริษัทฯ ระบุข้อมูลเกี่ยวกับ สินทรัพย์ หนี้สิน และ รายได้ ดังต่อไปนี้
สินทรัพย์ ระบุว่า มีสินทรัพย์รวม 5,044 ล้านบาท แบ่งเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน 281,988,127 บาท สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน 4,762,971,207 บาท (ดูรายละเอียดในตาราง)
ส่วนหนี้สิน ระบุว่า มีหนี้สินรวม 464,953,297 บาท และส่วนผู้ถือหุ้น 4,580 ล้านบาท (ดูรายละเอียดในตาราง)
ส่วนรายได้ แจ้งว่า มีรายได้รวม 290.44 ล้านบาท ขาดทุน 754 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากพิจารณารายละเอียดงบการเงินประจำปี 2559 ของบริษัทฯ ที่นำส่งให้ตลท.รับทราบ จะพบว่า มีเงื่อนปมสำคัญอยู่ที่ หนี้สินในส่วนของผู้ถือหุ้น ที่ระบุตัวเลขไว้จำนวน 4,580 ล้านบาท เมื่อนำไปรวมกับหนี้สินในส่วนของบริษัทฯ อีก 465 ล้านบาท ตัวเลขที่ออกมาจะมีสัดส่วนเท่ากับสินทรัพย์รวมของบริษัทฯ ซึ่งอยู่ที่ตัวเลข 5,045 ล้านบาท
และนั้นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ตลท.ต้องสั่งการให้คณะกรรมการ และฝ่ายจัดการของบริษัทฯ ชี้แจงว่า ได้ดำเนินการหรือบริหารงานอย่างไรจนเป็นเหตุให้บริษัทมีลักษณะที่เข้าข่ายมีหนี้สินล้นพ้นตัวภายในระยะเวลาอันสั้น แบบนี้
เพราะเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2560 คณะกรรมการเพิ่งมีมติอนุมัติงบการเงินประจำปี 2559 ซึ่งมีส่วนผู้ถือหุ้น 4,580 ล้านบาท และได้เปิดเผยงบการเงินดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 8 พ.ค. 2560 และต่อมาเพียง 1 วันได้ปรากฏว่ามีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2560
ที่สำคัญที่สุด ขั้นตอนการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ดังกล่าว ยังมีลักษณะเข้าข่ายไม่เปิดเผยข้อมูลต่อตลท.ด้วย
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลในหมายเหตุงบการเงิน ของบริษัทฯ แจ้งผลการดำเนินงานไว้ว่า กลุ่มบริษัทประสบผลขาดทุนจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี โดยงบการเงินรวมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และ 2558 ของกลุ่มบริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานเป็นจำนวน 697.45 ล้านบาท และจำนวน 470.65 ล้านบาท ตามลำดับ (งบเฉพาะกิจการ : จำนวน 645.94 ล้านบาท และจำนวน 374.80 ล้านบาท ตามลำดับ) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 และ 2558 กลุ่มบริษัทมีผลขาดทุนสะสมในงบการเงินรวมเป็นจำนวนเงิน 2,122.08 ล้านบาทและจำนวน 1,367.58 ล้านบาท ตามลำดับ (งบเฉพาะกิจการ : จำนวน 2,006.01 ล้านบาท และจำนวน 1,252.76 ล้านบาท ตามลำดับ)
อย่างไรก็ตาม ณ วันที่เดียวกัน บริษัทมีทุนจดทะเบียนและชำระแล้วจำนวน 6,724.05 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้บริษัท มีส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินรวมจำนวน 4,580.00 ล้านบาท และจำนวน 5,277.45 ล้านบาทตามลำดับ (งบเฉพาะกิจการ : จำนวน 4,734.20 ล้านบาท และจำนวน 5,380.15 ล้านบาท ตามลำดับ)
จากปัญหาการดำเนินงานที่ประสบผลขาดทุนอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ปีย้อนหลัง และเกิดเป็นขาดทุนสะสมในงบการเงินตามที่กล่าวไว้ข้างต้นส่งผลให้กลุ่มบริษัทมีข้อจำกัดในการขอการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันการเงินเพื่อจะใช้ในการพัฒนาโครงการต่างๆ ของบริษัท นอกจากนี้ตามที่กล่าวไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อที่ 40.6 บริษัทเข้าค้ำประกัน (ร่วมกับผู้ถือหุ้นท่านหนึ่งของบริษัทร่วม) การปฏิบัติตามสัญญาเช่าโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศอังกฤษ ระหว่างบริษัท กลอรี่ แอคเม่ จำกัด (บริษัทร่วม) กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ประเทศอังกฤษ) ในมูลค่า 107.19 ล้านปอนด์สเตอลิงค์ (จ่ายชำระไปแล้ว 10.72 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงค์) ซึ่งตามข้อตกลงของสัญญากำหนดให้บริษัทร่วมต้องส่งมอบเงินส่วนที่เหลือและรับโอนสิทธิการเช่าจำนวน 48 ยูนิต เป็นเวลา 145 ปี ภายใต้โครงการ“เดอะ เชอร์วูด ลอนดอน” จากสำนักงานทรัพย์สินฯ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2560 และมีการเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายสิทธิการเช่าให้แก่ลูกค้าแล้วจำนวน 13 ยูนิต จากลูกค้า 3 ราย ทั้งนี้เมื่อครบกำหนดการส่งมอบโครงการแล้ว หากบริษัทร่วมไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวได้ บริษัทจะต้องเป็นผู้รับมอบโครงการกับสำนักงานทรัพย์สินฯ และจ่ายชำระเงินส่วนที่เหลือตามสัญญาแทนบริษัทร่วมในฐานะผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 งบการเงินของบริษัทร่วมซึ่งผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีได้แสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข แต่มีวรรคเน้นเกี่ยวกับปัญหาการดำเนินงานต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากผลการดำเนินงานขาดทุนสะสมเป็นจำนวน 185.00 ล้านบาท
ปัจจุบัน ฝ่ายบริหารของกลุ่มบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมของพันธมิตรที่จะเข้าร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงการของกลุ่มบริษัท รวมทั้งอยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อขอการสนับสนุนเงินทุนจากสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-Banks) และจัดหาเงินทุนโดยการจำหน่ายที่ดินรอพัฒนาและโครงการที่เหลืออยู่บางส่วนของกลุ่มบริษัทเพื่อนำเงินทุนมาใช้ในการพัฒนาโครงการในอนาคตของกลุ่มบริษัทต่อไป สำหรับโครงการในประเทศอังกฤษ ฝ่ายบริหารของบริษัทร่วมอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอการสนับสนุนทางการเงินกับสถาบันการเงินของประเทศอังกฤษเพื่อรองรับการปฏิบัติตามสัญญากับสำนักงานทรัพย์สินฯ ปัจจุบันฝ่ายบริหารของบริษัทร่วมมีนโยบายเร่งรัดการขายห้องให้ได้ตามแผนที่กำหนดให้มียอดจองไม่น้อยกว่า 35 ยูนิต ภายในเดือนกันยายน 2560 โดยมีกลยุทธ์ในการเร่งยอดขายที่หลายหลาก เช่น การเข้าเจรจาเพื่อแต่งตั้งนายหน้าเพิ่ม การทำแผนโปรโมทโครงการโดยเน้นลูกค้าในแถบเอเชีย การปรับราคาขายให้สอดคล้องกับสภาวเศรษฐกิจของอังกฤษ เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 มีลูกค้าจองห้องเพิ่มมาอีก 1 ยูนิต มูลค่าสัญญารวม 2.20 ล้านปอนด์สเตอลิงค์ รวมเป็นยอดจองแล้วรวม 14 ยูนิต มูลค่าสัญญารวม 26.85 ล้านปอนด์สเตอลิงค์
ดังนั้น งบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ของกลุ่มบริษัทจึงจัดทำขึ้นตามเกณฑ์การดำเนินงานต่อเนื่อง บนข้อสมมติฐานที่ว่ากลุ่มบริษัทจะมีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาโครงการในอนาคต จากการได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสถาบันการเงินมิใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-Banks) การจำหน่ายที่ดินรอพัฒนาและโครงการที่เหลืออยู่บางส่วนของกลุ่มบริษัท รวมทั้งความสำเร็จในการเจรจากับพันธมิตรทางการค้าที่จะเข้ามาร่วมลงทุนกับกลุ่มบริษัท ความเหมาะสมของข้อสมมติฐานนี้ขึ้นอยู่กับการประสบความสำเร็จในการเจรจากับผู้สนับสนุนทางการเงินทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งฝ่ายบริหารของกลุ่มบริษัทมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากกลุ่มบริษัทยังมีที่อสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงที่จะสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินเพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงการหรือการจ่ายชำระภาระหนี้สินที่จำเป็นได้ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในหมายเหตุงบการเงินปี 2559 นี้ ไม่ได้มีการระบุถึง การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ด้วยแต่อย่างใด
โดยหัวข้อเรื่องคดีความ ที่ระบุอยู่ในงบการเงิน มีรายละเอียดเพียงแค่ ว่า
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 และ2558 กลุ่มบริษัทมีคดีความที่ยังอยู่ระหว่างการฟ้องร้องดังต่อไปนี้
1 บริษัทถูกฟ้องร้องในคดีเรียกร้องค่าความเสียหายจากการยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ตั้งแต่ปี 2552 โดยมูลค่าฟ้องร้องจำนวน 5.24 ล้านบาท บริษัทได้บันทึกไว้ในบัญชีเจ้าหนี้จากการยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดแล้วจำนวน 3.14 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 2.10 ล้านบาท อยู่ระหว่างสู้คดีในชั้นศาล
2. บริษัทย่อยแห่งหนึ่งได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง(ต้นทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์)ซึ่งได้รับโอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว จำนวน 170.13 ล้านบาท รวมทั้งโครงการที่จะเกิดในอนาคตไปจดจำนองกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ในวงเงินจำนอง จำนวน 600.00 ล้านบาท ตามสัญญาจำนอง ฉบับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 ต่อมาบริษัทย่อยดังกล่าวได้ถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยร่วมในข้อหาฐานความผิดละเมิดและเรียกค่าเสียหายจากการซื้อที่ดินดังกล่าวโดยมีทุนทรัพย์ในการฟ้องตามทุนจำนอง จำนวน 600.00 ล้านบาท ซึ่งเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2552 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 บริษัทถูกฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 7199/2552 เกี่ยวกับเรื่องที่ดินดังกล่าว โดยได้มีคำขอในส่วนแบ่งให้บริษัทย่อยโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์และศาลได้มีคำสั่งอายัดที่ดินแปลงดังกล่าวไว้ในระหว่างพิจารณาคดี
ต่อมาบริษัทย่อยจึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งอายัดที่ดินแปลงดังกล่าว เนื่องจากศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้โจทก์ตกเป็นบุคคลล้มละลายแล้วก่อนยื่นฟ้อง ดังนั้นคดีดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องบังคับในทางแพ่งให้บริษัทย่อยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้กับโจทก์ได้ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ศาลได้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในที่ดินแล้ว ทำให้บริษัทย่อยสามารถโอน ขาย จำหน่าย หรือทำนิติกรรมใด ๆ ในที่ดินดังกล่าวได้ ซึ่งบริษัทย่อยได้ขายที่ดินดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2554 และในส่วนของคดีอาญาศาลได้พิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 ให้ยกฟ้องโจทก์ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างศาลอุทธรณ์
3. ภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท (“แผนฯ”) ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 บริษัทได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของแผนฯครบถ้วน ศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัทในวันที่ 3 เมษายน 2551
อย่างไรก็ตาม มีเจ้าหนี้ 3 รายได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาในระหว่างกระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัท ต่อมาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลล้มละลายกลางได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ฉบับลงวันที่ 24 เมษายน 2558 ว่าไม่เห็นชอบด้วยแผนฯ และให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2551 เนื่องจากความไม่สมเหตุสมผลของราคาประเมินสินทรัพย์ที่ลูกหนี้ (บริษัท) นำมาชำระหนี้ พร้อมทั้งให้จำหน่ายคดีของเจ้าหนี้รายที่ 20 (ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันคือ ธนาคารธนชาติ จำกัด (มหาชน)) ที่คัดค้านการเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท และให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนเครื่องจักรจำนวน 54 เครื่อง ของเจ้าหนี้รายที่ 20 จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ที่มีต่อบริษัทในฐานะลูกหนี้กลับไปเป็นเช่นเดิมดังที่เป็นอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามแผนฟื้นฟูกิจการนี้ รายละเอีดยของหนี้และการจ่ายชำระหนี้ตามแผนฯ มีดังนี้
ในหมายเหตุงบการเงินยังระบุด้วยว่า ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารของบริษัทได้ประเมินภาระหนี้ที่บริษัทอาจต้องจ่ายชำระเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวน 144.59 ล้านบาท โดยหนี้ดังกล่าวพิจารณาจาก 1) ภาระหนี้ตามคำขอของผู้คัดค้านรายที่ 20 ที่ศาลฏีกามีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนเครื่องจักร เป็นผลให้การชำระหนี้ด้วยการโอนทรัพย์ชำระหนี้จำนวน 80.40 ล้านบาท ต้องถูกยกเลิกไปด้วย (เป็นมูลค่าภายหลังหักมูลค่าที่ดินที่นำมาชำระหนี้และเงินค่าเช่าเครื่องจักรรวม 2.40 ล้านบาท) และ 2) ภาระหนี้ที่เคยมีการตัดหนี้ (Hair Cut) ของเจ้าหนี้รายอื่นอีกจำนวน 64.19 ล้านบาท เนื่องจากตามดุลยพินิจของฝ่ายกฏหมายของบริษัทเห็นว่า ตามหลักกฏหมาย เจ้าหนี้ที่จะมีสิทธิกลับมาเรียกร้องสิทธิของความเป็นเจ้าหนี้จะต้องเป็นรายที่ถูกตัดหนี้ตามแผนฯ เนื่องจากหนี้ในส่วนที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามแผนฯ ไปแล้วให้ถือว่าการชำระหนี้ได้เสร็จสิ้นและจะขอรับชำระหนี้เพิ่มเติมได้เฉพาะส่วนที่ยังไม่ได้รับเท่านั้น ดังนั้น ฝ่ายบริหารจึงเชื่อว่าจำนวนเงินที่บริษัทบันทึกเป็นค่าความเสียหายจากคดีดังกล่าวนั้นเพียงพอและเหมาะสมแล้ว
ดังนั้น ในการชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นเรื่องขอฟื้นฟูกิจการ ต่อ ตลท. ภายในวันที่ 7 มิ.ย.2560 นี้ คงต้องจับตาดูว่าจะมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง?
โดยเฉพาะคำถามข้อสอง ที่ระบุว่า คณะกรรมการ และฝ่ายจัดการของบริษัทได้ดำเนินการหรือบริหารงานอย่างไร จนเป็นเหตุให้บริษัทมีลักษณะที่เข้าข่ายมีหนี้สินล้นพ้นตัวภายในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการเพิ่งมีมติอนุมัติงบการเงินประจำปี 2559 ซึ่งมีส่วนผู้ถือหุ้น 4,580 ล้านบาท และได้เปิดเผยงบการเงินดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 และต่อมาเพียง 1 วันได้ปรากฏว่ามีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 แต่บริษัทยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเพื่อเผยแพร่ให้ผู้ลงทุนได้ทราบ
แต่ไม่ว่าผลสรุปของเรื่องนี้ จะออกมาอย่างไร หน่วยงานสำคัญ ที่คงจะต้องถูกจับตามองอย่างมากในเรื่องนับจากนี้ไป คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ว่า จะออกมาแสดงท่าทีและบทบาทอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง หรือจะนั่งทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ให้เรื่องนี้ พัดผ่านเลยไปเหมือนกับสายลม
แล้วปล่อยให้ บริษัทเอกชนหลายแห่ง ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีตลอดว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม มีปัญหาทั้งในอดีตและปัจจุบัน คอยเที่ยววิ่งเล่น เสวยสุขอยู่ ในตลาดหลักทรัพย์ กันอย่างสนุกสนาน
เพราะไม่มีใครมีน้ำยาคิดเข้าไปจัดการหรือทำอะไรกันเลยแม้แต่น้อย!
อ่านประกอบ :
ตอนแรกกิจการน่าเชื่อถือ! 'โพลาร์'แจง ตลท.รอบสองปมเลิกซื้อ‘อะเดย์’
ก.ล.ต.ไล่บี้ คกก.บ.โพราลิส แจงปมยกเลิกซื้อ 'a-day' รายบุคคล ภายใน15 วัน
สรุปคำถาม 'อิศรา' หลัง 'โพลาริส' ยกเลิกซื้อ‘a-day’ปม'ส่วนต่างหุ้น-นอมินี' ยังไม่เคลียร์?
ไร้‘วงศ์ทนง’ไม่เป็นไปตามแผน! POLAR เลิกซื้อหุ้น‘อะ เดย์’ให้คืนเงินมัดจำ 120 ล.
"วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์" ประกาศลาออกจากบริษัทเดย์ โพเอทส์แล้ว
พลิกปูม POLAR ตัวละครเอกซื้อหุ้น a-day 308 ล.-ก่อน‘วงศ์ทนง’หาทางล้มดีล
ขมวดปม! โพลาริส ซื้อหุ้น 'a-day' 308 ล. ปริศนาส่วนต่างกำไร-นอมินีโผล่?
แกะสัมพันธ์เครือข่ายธุรกิจ'โพลาริสฯ-เจ้าของ 'a-day' กก.-ผู้ถือหุ้นโยงใยยุบยับ!
แกะพอร์ตธุรกิจ 19 บริษัท ‘เสี่ยป๊อป-สุรพงษ์’ จิ๊กซอว์ตัวจริง ซื้อ a day 308 ล.?
ลั่นล้มดีลขายหุ้นa-day! 'วงศ์ทนง' ประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วย -ชม 'อิศรา' เจาะข่าว
เจาะถุงเงิน'โพลาริส'ขาดทุนล่าสุด726ล.แต่ซื้อหุ้น a day-Momentum 308ล.!
เปิดหมดคำชี้แจง 'โพลาริส' ไขปริศนาซื้อหุ้นอะเดย์สูงกว่าราคาประเมิน 261ล.!
แกะรอย บไทยฟู้ดฯ โผล่ถือหุ้น a-day 2 เดือนเศษ ก่อนขายต่อฟันกำไร 124ล.
ที่แท้!เจ้าของใหม่ร้านA&W ผู้ถือหุ้น'a-day' 2 เดือนเศษ ก่อนขายต่อฟันกำไร 124 ล.
เผยโฉม 3 สุภาพสตรี กก.ไทยฟู้ดฯ ถือหุ้น'a-day' 2เดือนเศษ ขายต่อฟันกำไร 124 ล.
ใช้ที่อยู่เดียวบ.น้าเน็ก! ตามไปดู 'ไทยฟู้ดฯ' ผู้ขายหุ้น'a-day' ฟันกำไร 124 ล.
ยอมรับเจ้าของ a-day ถือหุ้นในบ.ด้วย! 'โพลาริส' แจง ตลท. เพิ่ม- ยันไม่ปลด'วงศ์ทนง'
ตึกแถว 2 ชั้น!เปิดที่อยู่หุ้นใหญ่ ‘บ.ไทยฟู้ดฯ’ ผู้ขายหุ้น'a-day' ฟันกำไร 124 ล.
เป็นแม่บ้าน-อยู่ตึกแถว!เปิดตัวกก.รายสอง 'ไทยฟู้ดฯ' ขายหุ้น'a-day' ฟันกำไร 124 ล.
ชื่อโผล่สัมมนา!หลักฐานมัดหุ้นใหญ่'ไทยฟู้ดฯ'คนบ.เครือ'ธนวรินทร์'เจ้าของ'a-day'
เปิดตัว บ.เจ้าของ KPN ให้ 'โพลาริส' กู้100ล. ซื้อหุ้นa-day!ผู้ถือหุ้นอยู่บริติชเวอร์จิ้น
ข้อมูลหุ้นใหญ่อันดับ2'ไทยฟู้ดฯ' ขายหุ้น a-day ฟันกำไร 124ล.-เสียชีวิตแล้วปี 51
ขมวดปม! โพลาริส ซื้อหุ้น 'a-day' 308 ล. ปริศนาส่วนต่างกำไร-นอมินีโผล่?
แกะสัมพันธ์เครือข่ายธุรกิจ'โพลาริสฯ-เจ้าของ 'a-day' กก.-ผู้ถือหุ้นโยงใยยุบยับ!
แกะพอร์ตธุรกิจ 19 บริษัท ‘เสี่ยป๊อป-สุรพงษ์’ จิ๊กซอว์ตัวจริง ซื้อ a day 308 ล.?