เขตปกครองพิเศษชายแดนใต้...รัฐบาลเพื่อไทยอย่ากล้าๆ กลัวๆ
มีคำถามค่อนข้างหนาหูว่า จนถึงวันนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเอาอย่างไรกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะใช้ทหารภายใต้โครงสร้าง กอ.รมน.เป็นหน่วยนำ หรือจะให้ ศอ.บต.เป็นพระเอก หรือจะเดินหน้าจัดตั้งเขตปกครองพิเศษด้วยแนวทางกระจายอำนาจ
เพราะเมื่อวันศุกร์ที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน. นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ กอ.รมน. โดยวาระสำคัญที่หารือกันคือปัญหาภาคใต้
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ จนป่านนี้นายกรัฐมนตรียังไม่ได้ลงนามในโครงสร้าง "องค์กรบริหารใหม่" ที่ กอ.รมน.เสนอรูปแบบ "บูรณาการ" หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ โดยในระดับนโยบาย ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ นชต. มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธาน (ซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นใครแน่) ส่วนในระดับพื้นที่ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กบชต. มีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธาน
โครงสร้างนี้ผ่านการเวิร์คชอปโดย กอ.รมน.เป็นเจ้าภาพตั้งแต่กลางเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว จากนั้นก็อยู่ในแฟ้มรอเซ็นจนถึงปัจจุบัน!
น่าคิดว่ารัฐบาลจะเลือกปฏิเสธโครงสร้างนี้ได้อย่างไร เพราะในการประชุมหน่วยงานความมั่นคงนัดแรกของรัฐบาลชุดนี้ เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2554 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบการจัดโครงสร้างองค์กรบริหารใหม่ โดยเน้นการบูรณาการ และให้ กอ.รมน.เป็นเจ้าภาพ
นั่นคือที่มาของการใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อยในการจัดเวิร์คชอป และสรุปร่างองค์กรบริหารใหม่รอให้นายกรัฐมนตรีลงนาม...
มีสุ้มเสียงชี้แจงภายหลังการประชุมบอร์ด กอ.รมน.เมื่อวันศุกร์ที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า โครงสร้างใหม่ถูกส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เพราะเกรงว่าจะขัดต่อกฎหมาย ศอ.บต.หรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ที่ตราขึ้นในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์
แม้ข้อกังวลเรื่องขัดต่อกฎหมายจะฟังดูมีน้ำหนัก แต่การปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยมานานถึง 4-5 เดือน ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีประเด็นซับซ้อนอะไรเลย ถือเป็นความละเลยหรือไม่
ขณะที่สถานการณ์ที่ชายแดนใต้ก็เลวร้ายลงเป็นลำดับ โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุการณ์ทหารพรานยิงชาวบ้าน 4 ศพที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลอดเดือน ก.พ.มีสถิติเหตุรุนแรงพุ่งสูง และสร้างความสูญเสียทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตมากถึง 118 ราย สูงสุดในรอบ 4 เดือน
ประเด็นที่น่าพิจารณาก็คือ ความล่าช้าอาจเกิดจากความลังเลด้วยเหตุผลทางการเมือง เพราะโครงสร้างใหม่ที่เสนอโดย กอ.รมน. ทำให้ "ทหาร" เป็น "พระเอก" ในภารกิจดับไฟใต้ โดยที่ กอ.รมน. มีกองทัพบกเป็นหน่วยนำ มี "ผบ.ทบ." เป็นรอง ผอ.รมน.โดยตำแหน่ง ประเด็นนี้หรือเปล่าที่ทำให้รัฐบาลต้องคิดหนัก
เพราะท่าทีของรัฐบาลค่อนข้างชัดว่าต้องการลดบทบาทของทหารในหมวก "กอ.รมน." ลงไป สังเกตได้จากการเดินทางเยือนประเทศมาเลเซียของ นางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา มีข่าวกระเส็นกระสายว่ารัฐบาลโดยการดำเนินการของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประสานงานผ่านทางการมาเลเซียให้เชิญ "ผู้นำ" บางรายที่น่าจะเกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาพูดคุยกึ่งเจรจา แต่เป็นการนัดหมายที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ผู้รับผิดชอบปัญหาโดยตรงในปัจจุบันไม่ได้มีส่วนล่วงรู้
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง หากรัฐบาลยอมให้ใช้โครงสร้างเดิมต่อไป ซึ่งหมายถึงการให้ ศอ.บต.เป็น "พระเอก" ก็อาจถูกพรรคประชาธิปัตย์อ้างเป็นผลงานได้ เพราะกฎหมาย ศอ.บต.ฉบับใหม่ตราขึ้นและบังคับใช้ในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์
ต้องไม่ลืมว่าเก้าอี้ ส.ส.ในสามจังหวัดใต้ 9 จาก 11 เก้าอี้ เป็นของประชาธิปัตย์ โดยที่พรรคเพื่อไทยไม่มีที่นั่ง ส.ส.เลยแม้แต่ที่นั่งเดียว...
อย่างไรก็ดี บทบาทของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่รัฐบาลส่งลงไปนั่งเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.ภายใต้กฎหมายใหม่ของ ปชป. ตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมาถือว่า "สอบผ่าน" มีกระแสขานรับจากคนในพื้นที่มากพอสมควร
จุดนี้หรือไม่ที่ทำให้รัฐบาล "ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก" ไม่กล้าตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งให้ชัดเจน
ที่สำคัญในท่ามกลางความสับสน กลับมีการดำเนินการอย่างลับๆ ผ่าน คณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สภาผู้แทนราษฎร หรือ กปพ. ที่แต่งตั้งโดย นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย ยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับชายแดนใต้อีก 2 ฉบับ คือร่าง พ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร กับร่างแก้ไข พ.ร.บ.ศอ.บต.ที่ตราในยุคประชาธิปัตย์
เนื้อหาหลักๆ ก็เพื่อจัดรูปการปกครองท้องถิ่นแบบใหม่ในลักษณะ "เขตปกครองพิเศษ" ขึ้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา โดยให้ยุบเลิกผู้ว่าราชการจังหวัด 3 จังหวัด แล้วเลือกตั้ง "ผู้ว่าการนคร" เพียงหนึ่งเดียวขึ้นดูแลพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ จ.สงขลา 4 อำเภอแทน
เมื่อตั้ง "เขตปกครองพิเศษ" ขึ้นแล้ว ก็จำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.ศอ.บต.ให้สอดรับกันด้วย...
ร่างกฎหมาย 2 ฉบับนี้ถูกส่งไปให้ฝ่ายความมั่นคงพิจารณา แต่จากการสอบถาม นายประสพ บุษราคัม ประธาน กปพ. (ซึ่งเป็นสมาชิกและอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย) กลับบอกว่ายังไม่ได้ยกร่างกฎหมาย 2 ฉบับนี้ แต่มีแนวคิดให้สามจังหวัดใต้ "ปกครองตนเอง" จริง
แนวคิดนี้สอดรับกับการรณรงค์หาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมาที่ชูนโยบาย "นครปัตตานี" ซึ่งก็คือองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในหลักการเดียวกับ "ปัตตานีมหานคร" นั่นเอง แต่ก็ถูกพรรคประชาธิปัตย์คัดค้านอย่างแข็งขัน และ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็เคยชี้แจงในสภาเมื่อชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลแล้วว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีนโยบายจัดตั้ง "นครปัตตานี" หรือ "ปัตตานีมหานคร"
ตกลงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเอาอย่างไรกับยุทธศาสตร์ดับไฟใต้? เพราะหากต้องการสนับสนุนแนวทางการกระจายอำนาจ ก็สมควรเร่งประกาศออกมาให้ชัดเจน เพื่อที่ว่าฝ่ายต่างๆ จะได้ร่วมแสดงความเห็น วิเคราะห์วิจารณ์ถึงจุดดีจุดด้อยกันต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องใหญ่แบบนี้รัฐบาลสมควรทำ "ประชาพิจารณ์" อย่างโปร่งใสในพื้นที่ก่อนที่จะยกร่างกฎหมาย เพื่อพิจารณาว่าเสียงส่วนใหญ่คิดอย่างไร และต้องเคารพรับฟังความเห็นของเสียงส่วนน้อยด้วย
เอาแค่ชื่อ "ปัตตานีมหานคร" หรือ "นครปัตตานี" ก็ควรถามใจคนยะลากับคนนราธิวาสด้วยว่ารับได้หรือไม่ หรือการตัดเอาพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มาผนวกรวมกับ "นครปัตตานี" คนสงขลาอีก 12 อำเภอที่เหลือเขาจะยอมหรือเปล่า
แล้วโครงสร้าง ศอ.บต. ที่แตกลูกแตกหลานมีทั้งสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สปต. และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. จะเอากันอย่างไร
ยังไม่นับโครงสร้างการปกครองที่มีอยู่เดิม ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จะปรับเป็น "มุขมนตรี" ตามที่มีบางฝ่ายพยายามเสนอหรือไม่ ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบัน ทั้ง อบจ. อบต. และเทศบาล จะคงอยู่หรือยุบเลิกไป
ทั้งหมดนี้คือเรื่องใหญ่ที่ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันพิจารณา ไม่ใช่เขียนกฎหมายออกมาบังคับใช้โดยไม่ถามใครเลย...
ฉะนั้นรัฐบาลเพื่อไทยต้องไม่ทำแบบกล้าๆ กลัวๆ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ป้ายรณรงค์หาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการเลือกตั้งใหญ่ 3 ก.ค.2554