กก.สภาฯยื่น รมว.ทส.สอบเพิ่ม 9 อาคาร มทร.ศรีวิชัย ตรัง รุกป่าหรือไม่
กก.สภาคณาจารย์ มทร.ศรีวิชัย ยื่นหนังสือ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ตรวจสอบอาคาร รร. 9 รายการ รีสอร์ท แฟลต บ้านพัก ขรก. หอพัก นศ. วิทยาเขตตรัง กรณีอาจบุกรุกป่าชายเลน
กรณีมีผู้ร้องเรียนว่าโครงการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง (มทร.ศรีวิชัย) ส่อไปในทางทุจริต โดยบุคลากรในมหาวิทยาลัยฯ จำนวนหนึ่งได้ร้องเรียนให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้ามาช่วยติดตามความคืบหน้าในการตรวจสอบปัญหาดังกล่าวในพื้นที่ ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง ซึ่งกรมกรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เข้าตรวจสอบแล้ว และแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ โดยให้ดำเนินคดีกับอดีตผู้บริหารกับพวก โครงการจึงได้หยุดการก่อสร้าง และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเอาผิดทางละเมิดกับผู้บริหารจำนวน 6 ราย เบิกเงินค่าก่อสร้าง 64.2 ล้านบาท จากวงเงินที่ทำสัญญาประมาณ 125.9 ล้านบาท และความเสียหายจากการที่พื้นที่ป่าไม้ถูกแผ้วถาง 2,591,131 บาท รวม 2 กรณีจำนวน 66.8 ล้านบาท เกิดเหตุตั้งแต่ปี 2552 แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งการชดใช้ค่าเสียหาย และกระบวนการตรวจสอบเอาคนผิดมารับโทษทางคดีอาญา (อ่านประกอบ : ร้อง มทร.ศรีวิชัย ตรัง สร้างโรงแรมบุกรุกป่า เสียหาย 66 ล. คดีไม่คืบหน้า)
ล่าสุด นายสุพร ฤทธิภักดี ประธานพิทักษ์ผลประโยชน์ กรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ได้ทำหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการการะทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้ตรวจสอบอาคารและสิ่งก่อสร้างของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เพิ่มเติม อาจจะมีการบุกรุกป่าชายเลนหรือไม่ ระบุสาระสำคัญว่า
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง มีการก่อสร้างอาคารออกไปจากพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้มีการใช้พื้นที่ และมีการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยผลจากการตรวจสอบตามหนังสือสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 22 (นครศรีธรรมราช) ลงวันที่ 7 พ.ค. 2553 พบว่ามีสิ่งก่อสร้างจำนวนหลายรายการที่ทำการก่อสร้างอยู่นอกเขตพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ พ.ศ.2535 และ พ.ศ.2537
“ฉะนั้น เพื่อความถูกต้อง และโปร่งใส ตลอดจนเป็นการใช้กฎหมายที่อยู่บนพื้นฐานเดียวกันกับในกรณีที่เอกชน หรือประชาชน หรือชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่าต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ หรือพนักงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินคดีอย่างรวดเร็ว และมีการออกข่าวเพื่อให้ประชาชนรับทราบ จึงขอความอนุเคราะห์มายัง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการตรวจสอบ และมีความผิดให้ดำเนินคดีอย่างรวดเร็วและให้ถึงที่สุดด้วย”
โดยหนังสือฉบับดังกล่าวระบุสิ่งก่อสร้างจำนวน 9 รายการที่ทำการก่อสร้างอาจอยู่นอกเขตพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ พ.ศ.2535 และ พ.ศ.2537 ดังนี้
1.บริเวณรีสอร์ทและแฟลต 5-6 ประกอบด้วย ถนนลาดยางและวงเวียน ระยะทางประมาณ 300 เมตร ,เรือนพักรีสอร์ทแบบ 2 ห้องนอน 8 หลัง ,บ้านพักรับรองแบบ 2 ชั้น 3 ห้องนอน 2 หลัง ,บ้านพักข้าราชการระดับ 7 จำนวน 1 หลัง และบ้านพักคนงานแบบ 3 ห้องพัก 1 ยูนิต
2.บริเวณป่าชายเลนด้านหลังกลุ่มอาคารโรงแรม ประกอบด้วย ถนนลาดยางระยะทางประมาณ 700 เมตร
3.บริเวณบ้านพักข้าราชการ (บ้านเดี่ยว) ประกอบด้วย บ้านพักข้าราชการระดับ 8 จำนวน 1 หลัง ,บ้านพพักข้าราชการระดับ 3-4 จำนวน 7 หลัง ,บ้านพพักข้าราชการระดับ 5-6 จำนวน 10 หลัง ฯลฯ
4.บริเวณแฟลตใหม่ 32 ยูนิต ประกอบด้วย แฟลต 5 ชั้น 32 ยูนิต 1 หลัง ,แฟลต 3 ชั้น สำหรับข้าราชการระดับ 1-2 จำนวน 1 หลัง ,ที่จอดรถ 2 หลัง และถนนทางเข้า
5.บริเวณด้านติดสวนปาล์ม ประกอบด้วย สถานีปั๊มน้ำมันสวัสดิการสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล 1 สถานี ,ถังอัดแรงดันขนาดใหญ่สำหรับระบบส่งน้ำประปา 2 ถัง ,ถังจ่ายน้ำประปา 3 ระบบ ,บ่อพักน้ำประปา 2 บ่อ และถนนลูกรัง
6.บริเวณด้านหอพักนักศึกษา ประกอบด้วย หอพัก นศ.หญิง 4 ชั้น รูปตัวแอล 1 หลัง และหอพัก นศ.หญิง 4 ชั้นอีก 1 หลัง ,โรงเผาขยะด้วยน้ำมัน และถนนลาดยางทางเข้า
7.บริเวณอาคารวิศวกรรมประมง ประกอบด้วย อาคารปฏิบัติการวิศวกรรมประมง ,โรงเก็บพัสดุ ,โรงเก็บรถ และลานล้างรถ
8.บริเวณสระเก็บน้ำจืดด้านหน้าวิทยาเขต ประกอบด้วย สนามฟุตบอล ,สระเก็บน้ำจืดเพื่อผลิตน้ำประปา 1 สระ ,สระเก็บน้ำฝนเพื่อสำรองน้ำใช้ 2 สระ และถนนลาดยางทางเข้า ระยะทางประมาณ 300 เมตร
9.ถนนสายหลัก ประกอบด้วย ถนนตั้งแต่ป้อมยามถึงหน้าอาคารวิทยบริการ ระยะทางประมาณ 1,500 เมตร ,ถนนสายตัดผ่านป่าชายเลน ระยะทางประมาณ 500 เมตร และสะพานคอนกรีตข้ามคลองเมง (ดูเอกสารประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำนักข่าวอิศรารายงานแล้วว่า สภาพปัจจุบันอาคารโรงแรมดังกล่าวมีลักษณะเป็นอาคารร้าง มีหญ้าขึ้นรก อุปกรณ์ต่าง ๆ ระบบไฟฟ้าถูกขโมยสูญหาย และอาคารโรงแรมไม่ได้เป็นของ มทร.ศรีวิชัย แล้ว แต่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ เพราะยึดไปแล้ว (อ่านประกอบ : ภาพซากโรงแรม มทร.ศรีวิชัย ตรัง จ่ายเงินแล้ว 66 ล. - เอาผิดใครไม่ได้)
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดที่ประชุม สปท.ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2560 มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน และ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป เป็นประธานอนุกรรมการ เห็นชอบส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรีรับทราบปัญหาและจัดการแก้ไข พร้อมเสนอแนะให้หน่วยงานที่ได้รับความเสียหายฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลต่อไป (อ่านประกอบ: ส่งนายกฯฟัน มทร.ศรีวิชัย ตรังสร้าง รร.รุกป่าเสียหาย 66 ล.-เล็งฟ้องศาลคอร์รัปชัน)