นักวิชาการ ชี้ "ปั้น เปลี่ยน ปลุก ปัง" สูตรสำเร็จการสื่อสารในยุคดิจิทัล 4.0
“ปั้น-เปลี่ยน-ปลุก-ปัง” การสื่อสารยุคดิจิทัล ทิศทางอนาคตนิเทศศาสตร์ 4.0 ยันสื่อต้องปรับตัว ปั้นเนื้อหาให้หลากหลายเข้าถึงคนทุกกลุ่ม
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) จัดงานเสวนา “ทิศทางอนาคตนิเทศศาสตร์ 4.0” เทรนด์การสื่อสารยุคดิจิทัลปี 2017 โดยมีนายจักรพงษ์ คงมาลัย ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Thumbsup, นายอพิชาต บวรบัญชารักษ์ ผู้บริหารกิจการร้านอาหารทะเล แหลมเกต (Laemgate), นางสาวชลธิดา ทีฆคีรีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาด บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) และ ผศ. สกุลศรี ศรีสารคาม หัวหน้าสาขาวิชาเอกวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนท์ พีไอเอ็ม เข้าร่วมเสวนา ณ หอประชุม AUDITORIUM อาคาร CP ALL ACADEMY สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ
นายจักรพงษ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันทุกคนสามารถเป็นสื่อได้เนื่องจากโซเชียลเน็ตเวิร์กเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และสามารถเข้าผู้คนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สื่อมวลชนนั้นได้รับความสนใจลดน้อยลง ดังนั้น สื่อจึงต้องปรับตัว และต้องกำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจน คนที่สามารถเอาสารจากแบรนด์มาบอกในสื่อต่อได้นั้นหมายความว่า ไมโครมีเดียที่คนๆ นั้นทำ สามารถเข้าถึงคนจำนวนมาก โดยมีต้นทุนต่ำ แต่รายได้เพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นสื่อจะต้องปรับตัวมากขึ้น เข้าถึงคนหลายๆ กลุ่มได้ รวมทั้งจุดยืนต้องชัดเจน มีเนื้อหาที่หลากหลาย และตรงกับกลุ่มลูกค้า
นางสาวชลธิดา กล่าวถึงการดำเนินงานของบริษัทเริ่มมีการปรับตัว จากเดิมที่ใช้นิตยสารในการประชาสัมพันธ์ โปรโมทสินค้า ปัจจุบันมีการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งผลตอบรับถือว่าดีมาก เนื่องจากคอนเท้นท์ของบริษัทสามารถเข้าถึงทุกคน
“คอนเทนท์ที่ดี ต้องน่าสนใจ และสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้รับสารได้ คือ เราสร้างคอนเทนท์ที่ตรงกับประสบการณ์ ตรงกับการดำเนินชีวิตของผู้คน และต้องเข้าใจเกี่ยวกับผู้คนทุกอย่าง ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยาก แต่ผลตอบรับถือว่าดี ถือว่าเกินคาด”
ส่วนนายอพิชาต กล่าวว่า คอนเทนท์ที่จำเป็นจะต้องมีจริยธรรม ไม่ส่งผลกระทบต่อคนอื่น และต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า ต้องการส่งถึงใคร และที่สำคัญคอนเทนท์ไม่จำเป็นต้องแรง เพื่อปลุก ปัง คอนเท้นท์ที่เป็นแง่บวก ก็สามารถปังได้
สุดท้าย ผศ.สกุลศรี กล่าวถึง สูตรสำเร็จการสื่อสารในยุคดิจิทัล 4.0 อย่างมีประสิทธิภาพ มีดังนี้
1. ปั้น-ปั้นคอนเทนท์ ออกแบบคอนเทนท์ หรือการวางแผนการสื่อสาร และการออกแบบคอนเทนต์ให้มีรูปแบบที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้รับสาร โดยครอบคลุมตั้งแต่ข้อความที่ดึงดูดความสนใจ ภาพนิ่ง อินโฟกราฟิก วิดีโอ และอื่นๆ อีกมากมาย
2. เปลี่ยน-เปลี่ยนวิธีการนำเสนอ การสร้างประสบการณ์ร่วมให้กับผู้รับฟังในขณะที่ถ่ายทอดสารพร้อมกัน โดยเป็นการหาตัวเชื่อมที่สำคัญระหว่างตัวสารที่ต้องการสื่อ กับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการรับฟัง เพื่อให้เกิดการติดตามสารนั้นๆ จนจบ
3. ปลุก-ปลุกจริยธรรม เน้นการสร้างสมดุลระหว่างการใช้เทคนิคการสร้างสารที่ดี เพื่อดึงดูดความสนใจเข้ากับหลักจริยธรรม ของการทำหน้าที่ตัวแทนการสื่อสาร ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่สื่อมวลชน และผู้ใช้โซเชียลมีเดียทุกคนโดยอาศัยความร่วมมือกันของบุคลากรในวงการ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำหน้าที่นำเสนอข้อมูล ขณะเดียวกัน ภาคการศึกษาก็ต้องปลูกฝังบุคลากรรุ่นใหม่เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาสังคม
4. ปัง-ขยายผลความปัง ต่อยอดความสำเร็จของคอนเทนท์ที่ได้สื่อสารออกไป ด้วยการกระจายผ่านช่องทาง และผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่างๆ เพื่อให้เกิดการขยายต่อไปในวงกว้าง และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น