ขอเป็นคนดี...แม้รายอนี้ไม่มีพ่อ
วันอีฎิ้ลฟิตริ หรือฮารีรายอ หลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอนปีนี้ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 25 มิ.ย.60
จุฬาราชมนตรีประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์ ในวันเสาร์ที่ 24 มิ.ย.หลังพระอาทิตย์ตกดิน และปรากฏว่ามีผู้เห็นดวงจันทร์ จึงประกาศวันอีฎิ้ลฟิตริ ฮิจเราะห์ศักราช 1438 ท่ามกลางความตื่นเต้นยินดีของมุสลิมทุกคน
ที่ชายแดนใต้มีผู้คนหลั่งไหลไปที่หอดูดวงจันทร์ บนยอดเขาบูเก๊ะปาเระ อ.ยะหา จ.ยะลา อย่างคับคั่งเช่นเคย ลูกหลานที่ไปทำงานไกลบ้านทั้งในและต่างประเทศพากันกลับมาตุภูมิเพื่อร่วมรายอพร้อมหน้ากัน เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขปีละครั้งของพี่น้องมุสลิม
แต่ในพื้นที่ปลายด้ามขวานมีเด็กกำพร้าที่ขาดเสาหลักของชีวิตจำนวนมากด้วยสาเหตุต่างๆ รวมทั้งกำพร้าจากสถานการณ์ความไม่สงบ ฉะนั้นวันรายอของพวกเขาเหล่านั้นที่ควรพร้อมหน้าพร้อมตากันของสมาชิกครอบครัว ทั้งพ่อ แม่ ลูก จึงไม่มีอีกแล้ว...เช่น ครอบครัวของ รอฮิหม๊ะ สิเดะ ซึ่งสูญเสียสามีและลูกชายไปจากเหตุการณ์ระเบิดดับเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 24 พ.ค.57 คนร้ายลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้า และเสาล้มทับรถมอเตอร์ไซค์ที่สามีและลูกชายของเธอนั่งมา
ทุกวันนี้รอฮิหม๊ะแยกมาเช่าบ้านอยู่กับลูกๆ ในซอยปากน้ำซอย 2 ชุมชนบือติง ในเขตอำเภอเมืองปัตตานี จากที่ก่อนหน้าอาศัยอยู่ที่บ้านแม่ของเธอมาปีกว่าหลังสูญเสียสามี กระทั่งพี่น้องกลับมาอาศัยที่บ้านแม่มากขึ้น เธอและลูกๆ 3 คน คือ มูฮำหมัดอิสฮา ลูกชายวัย 18 ปี นูรอาฟีฟะ ลูกสาววัย 14 ปี และ มูฮาหมัดอิลฮัม ลูกชายคนเล็กวัย 12 ปี จึงย้ายมาอยู่ให้เป็นสัดส่วนในบ้านเช่าหลังน้อย
"เดือน ก.ย.ปีนี้ก็จะครบ 2 ปีที่อาแบ (สามี) เสียไป หลังจากถูกเสาไฟฟ้าโค่นลงมาทับอาแบและลูกชายขณะขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้านที่หนองจิก เมื่อเดือน พ.ค.57 ตอนนั้นลูกชายคนเล็กเสียชีวิต ส่วนอาแบบาดเจ็บสาหัส อยู่โรงพยาบาลเกือบเดือน แล้วออกมาอยู่บ้านที่หนองจิก แต่ทำงานแบบเดิมไม่ได้ คือรับส่งคนงานที่โรงงานปลากระป๋อง ผู้ใหญ่บ้านจึงให้ไปเป็น ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) ช่วงเช้าและบ่าย เวลาว่างเขาก็ไปขับวินมอเตอร์ไซค์ ฉันก็เอาเสื้อผ้าไปขายผ่อนกับแม่ค้าในโรงอาหาร ม.อ.ปัตตานี ชีวิตดำเนินไปด้วยดีมา 9 เดือน จนเขาไอเป็นเลือด ไปหาหมอ บอกว่าเป็นไอหอบ วันหนึ่งเขาก็จากไป หลังจากลูกชายคนเล็กเสียไป 1 ปี 3 เดือน" รอฮิหม๊ะ เล่าเรื่องราวชีวิตช่วง 3 ปีมานี้ที่มีแต่ความสูญเสีย
มูฮำหมัดอิสฮา ลูกชายคนโต กำลังเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งหนึ่งใน อ.เมืองปัตตานี เขาบอกเล่าความรู้สึกของลูกที่มีต่อพ่อว่า เมื่อพ่อจากไปก็ขาดความอบอุ่นที่เคยมีพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัวไปเกือบทั้งหมด
"จากที่เคยมีอาบ๊ะ (พ่อ) เป็นเสาหลักทุกอย่างของครอบครัว ต้องกลายมาเป็นแม่รับผิดชอบทั้งหมด เคยอยู่พร้อมหน้ากัน 6 คนก็ขาดไป 2 คน ขาดความอบอุ่นจากพ่อ แต่แม่ก็เติมให้ แม่ต้องดูแลทุกอย่างแทนพ่อ ช่วยอะไรแม่ได้ก็จะช่วยทันที กลับมาจากขายของก็ช่วยแม่ขนของเข้าบ้าน ช่วยสอนตาดีกาในชุมชนทุกวันเสาร์ กลางคืนก็สอนอัลกุรอานเด็กๆ ไม่ทำให้แม่ต้องกังวลหรือไม่สบายใจ ที่โรงเรียนก็มีทุนอาหารกลางวันของเด็กกำพร้าให้เราสองคนพี่น้องได้ทาน"
มูฮำหมัดอิสฮาอยู่ในช่วงวัยรุ่นที่ต้องพบเจอสิ่งยั่วยุหลากหลาย แต่เขาตั้งมั่นและตั้งใจไม่นำเอาสิ่งไม่ดีมาสู่ชีวิต เขาเป็นสภานักเรียน ทำกิจกรรมในโรงเรียน ตั้งใจสอบเข้าคณะศึกษาศาสตร์ เอกประถมศึกษาของ ม.อ.ปัตตานี เพื่อจะได้เรียนใกล้บ้าน ได้ช่วยดูแลแม่และน้องๆ และตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าอยากเป็นครู
"การเรียนทั้งศาสนาและวิชาสามัญทำให้ได้เรียนรู้ทั้งสองด้าน เราทิ้งศาสนาไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งสำคัญในแนวทางการดำเนินชีวิต ยิ่งเรียนทำให้ยิ่งรู้มากขึ้น ส่วนวิชาสามัญทำให้ได้เข้าใจการอยู่ในสังคมปัจจุบัน สองอย่างนี้ต้องไปด้วยกันให้ได้ ช่วงเช้าจะเรียนศาสนา ส่วนช่วงบ่ายเรียนวิชาสามัญ ผมจะล้ากว่าคนที่เรียนสามัญอย่างเดียว แต่ต้องผ่านไปให้ได้ และพยายามเรียนใกล้บ้านมากที่สุด เมื่อมีปัญหาอะไรก็จะได้กลับมาบ้านได้ง่าย หากสอบได้ ม.อ.ปัตตานี และจัดสรรเวลาได้ก็จะทำงานพิเศษไปด้วย"
ส่วน นูรอาฟีฟะ น้องสาวของมูฮำหมัดอิสฮา ปีนี้เรียนชั้น ม.3 ส่วนปีหน้าอยากเรียนต่อสายวิทย์-คณิต ม.4 โรงเรียนเดิม และเธอฝันอยากเรียนพยาบาล
ทุกวันนี้ รอฮิหม๊ะ ทำงานเลี้ยงชีพทั้งตัวเธอและลูกๆ จากงบจ้างงานเร่งด่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เดือนละ 4,500 บาท โดยเธอเลือกทำงานที่มัสยิดใกล้บ้าน เพื่อจะได้มีศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยว พร้อมกับการนำเสื้อผ้าจากร้านไปขาย หากขายไม่หมดก็ส่งคืนได้ เพราะเจ้าของร้านไว้วางใจและอยากช่วยเหลือ ทำให้เธอได้พอมีรายได้เลี้ยงครอบครัว ส่วนลูกๆ ทั้งสามได้รับเงินเยียวยาช่วยเหลือเดือนละ 1,500 บาท และ 1,000 บาทตามลำดับชั้นการเรียน
ขณะที่ลูกชายคนเล็กที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ร้ายในวันนั้น รอฮีหม๊ะบอกว่า ยังคงคิดถึงพ่ออยู่ตลอดเวลา เธอเองก็รำพึงไม่ต่างอะไรจากลูกๆ ว่า "หากอาบ๊ะอยู่คงดีกว่านี้"
"ตอนนี้พวกเราปรับตัวปรับใจกันโดยอัตโนมัติ อยู่กันได้ตามความเป็นจริง เราไม่หลอกตัวเอง ทำทุกวันให้ดีที่สุด" เธอบอกด้วยนัยน์ตาที่เต็มไปด้วยน้ำตา ขณะที่ลูกชายและลูกสาวก้มหน้านิ่ง
รายอนี้...ที่ชายแดนใต้ยังมีอีกนับร้อยนับพันครอบครัวที่ขาดเสาหลักเช่นเดียวกับครอบครัวของรอฮิหม๊ะ ความสุขที่จะได้อยู่กันพร้อมหน้าไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว...แต่เวลาจะช่วยสมานแผลในหัวใจ ให้ยอมรับกับชะตากรรมอันโหดร้ายและความสูญเสีย เพราะชีวิตที่เหลือต้องเดินหน้าต่อไป ขอเพียงมุ่งมั่นในเส้นทางความดี
--------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง/ภาพ : เลขา เกลี้ยงเกลา
บรรยายภาพ :
1 ครอบครัวของ รอฮีหม๊ะ สิเดะ
2 บรรยากาศบริเวณทางขึ้นหอดูดวงจันทร์
3 มูฮำหมัดอิสฮา