ปริศนาไฉน ก.คลังเพิ่งตั้ง กก.สืบทรัพย์'ยิ่งลักษณ์'ชดใช้คดีข้าวช้า 8 เดือน?
“…หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามนี้ หมายความว่า กระทรวงการคลังใช้ระยะเวลาสืบทรัพย์เบื้องต้นภายหลังเคาะตัวเลขความเสียหายนานประมาณ 8 เดือน จึงมีการตั้งคณะกรรมการสืบทรัพย์อย่างเป็นทางการ ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามอีกว่า ทำไมต้องประวิงเวลารอนานกว่า 8 เดือนจึงมีการตั้งคณะกรรมการสืบทรัพย์ ? เพราะการตั้งคณะกรรมการสืบทรัพย์ล่าช้ากว่า 8 เดือน ในช่วงเวลาดังกล่าว อาจมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้หรือไม่ ?...”
กลายเป็นเรื่องราวที่ชวนฉงนเข้าไปทุกที!
ภายหลังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนถึงกระบวนการยึดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยในคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว วงเงินประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ยังไม่สามารถทำได้ ?
‘เนติบริกร’ อ้างว่า กรมบังคับคดียังไม่มีอะไรที่จะไปยึด เพราะยังไม่เจอว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีอะไร
ทำให้หลายฝ่ายออกมาโจมตีกรมบังคับคดีว่า ไม่ดำเนินการอะไร หรือบางรายโจมตีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ไม่ยอมส่งบัญชีทรัพย์สินให้กรมบังคับคดีดำเนินการ ?
นอกจากนี้นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ให้อำนาจกระทรวงการคลังดำเนินมาตรการเรียกความเสียหายทางแพ่งแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อมา เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 กระทรวงการคลัง เคาะความเสียหายที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชอบ ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท
ปัจจุบันผ่านมากว่า 8 เดือนแล้ว ยังไม่ดำเนินการอะไรให้เป็นรูปธรรมเลยใช่หรือไม่ ?
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ตั้งคณะทำงานสืบทรัพย์เพื่อติดตามสืบหาทรัพย์สิน น.ส. ยิ่งลักษณ์ อยู่ โดยทำหน้าติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมที่ดินเพื่อสืบหาว่ามีสินทรัพย์เท่าไร รวมถึงตรวจดูรายการที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หลังจากนั้นจะนำมาสรุปจำนวนทรัพย์สิน เพื่อส่งให้กรมบังคับคดีดำเนินการติดตามยึดทรัพย์ต่อไป (อ้างอิงจาก เดลินิวส์ออนไลน์)
จริงหรือ ?
รายงานข่าวแจ้งสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ภายหลังกระทรวงการคลังเคาะตัวเลขความเสียหายแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อเดือน ต.ค. 2559 หลังจากนั้นกระทรวงการคลังไม่ได้ดำเนินการอะไรที่เป็นรูปธรรมในการติดตามสืบทรัพย์ของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ เลย ทั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเปิดเผยต่อสาธารณะไว้อยู่แล้ว
กระทั่งกลายเป็นประเด็นขึ้นมาส่งผลให้นายสมชัย ปลัดกระทรวงการคลัง ต้องออกมาชี้แจงว่า ตั้งคณะกรรมการสืบทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้ว
แต่ข้อเท็จจริงคือตั้งภายหลังที่กระทรวงการคลังเคาะตัวเลขความเสียหายไปแล้วกว่า 8 เดือน
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ ได้ตั้งคณะกรรมการสืบทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงฯ ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนกรมบังคับคดี ผู้แทนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผู้แทนกรมสรรพากร ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นต้น ร่วมเป็นกรรมการ
มีอำนาจกำหนดแนวทาง มาตรการ ข้อเสนอแนะ เพื่อแสวงหาข้อมูลและการสืบหาทรัพย์สินทุกประเภท สิทธิเรียกร้องอื่นใดที่มีหรืออาจมีราย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ชดใช้ค่าความเสียหาย รวมทั้งของคู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตลอดจนทรัพย์สินซึ่งได้จำหน่าย จ่าย โอน ไปให้บุคคลอื่นระหว่างที่คำสั่งชดใช้ความเสียหายมีผลใช้บังคับ เพื่อให้มีการชดใช้ค่าความเสียหายดังกล่าว โดยคณะกรรมการสืบทรัพย์ชุดนี้ ได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ด้วย
แหล่งข่าว ระบุอีกว่า เมื่อเดือน พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการสืบทรัพย์แล้วนัดแรก เบื้องต้นมีแนวทางให้ตรวจสอบทรัพย์ที่มีทะเบียนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการเงินต่าง ๆ ที่ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังเคยทยอยทำหนังสือสอบถามไปแล้ว และกำลังรอผลการตรวจสอบ หากได้ข้อสรุป จะประชุมเพื่อดำเนินการต่อไป
อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ ตามคำสั่งมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. ให้กระทรวงการคลังดำเนินการสืบทรัพย์ก่อน ถ้าสืบทรัพย์เสร็จสิ้นแล้ว จึงส่งให้กรมบังคับคดีดำเนินการยึด หรืออายัดตามที่กระทรวงการคลังพบ ดังนั้นกระบวนการจึงอาจล่าช้าไปหน่อย สังคมจึงอาจเกิดความสับสนได้
“ยืนยันว่า ทุกอย่างดำเนินการตามกระบวนการ ไม่มีการละเลย เพิกเฉย และในชั้นนี้กรมบังคับคดียังไม่เกี่ยวข้องจนกว่าจะส่งข้อมูลรายการทรัพย์สินที่ขอให้ยึด อายัดไป ดังนั้นที่นายวิษณุพูดถึงขั้นตอนในชั้นกรมบังคับคดีจึงเหมือนนิ่ง ๆ ลอย ๆ” แหล่งข่าว ระบุ
หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามนี้ หมายความว่า กระทรวงการคลังใช้ระยะเวลาสืบทรัพย์เบื้องต้นภายหลังเคาะตัวเลขความเสียหายนานประมาณ 8 เดือน จึงมีการตั้งคณะกรรมการสืบทรัพย์อย่างเป็นทางการ
ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามอีกว่า ทำไมต้องประวิงเวลารอนานกว่า 8 เดือนจึงมีการตั้งคณะกรรมการสืบทรัพย์ ?
เพราะการตั้งคณะกรรมการสืบทรัพย์ล่าช้ากว่า 8 เดือน ในช่วงเวลาดังกล่าว อาจมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้หรือไม่ ?
หากท้ายสุดแล้ว ยังไม่สามารถอายัดทรัพย์สินอะไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ หรือได้เพียงเล็กน้อยไม่สมเหตุสมผล อาจโดนข้อครหาถึงความไร้ประสิทธิภาพของกระทรวงการคลัง จนอาจทำให้เกิดการร้องเรียนให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสืบทรัพย์ก็เป็นไปได้
ที่สำคัญทรัพย์สินที่ไม่สามารถเรียกคืนมาชดใช้ให้แผ่นดินได้ ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ !
อ่านประกอบ :
ชนักติดหลัง‘ยิ่งลักษณ์’ รวยผิดปกติ-สารพัดข้อหาใน ป.ป.ช.-ไม่จบแค่คดีข้าว?
ล้วงเหตุผล ตลก.ศาลปค.2เสียงข้างน้อย ทำไมควรทุเลาอายัดทรัพย์สิน ‘ยิ่งลักษณ์’?
ค่าเยี่ยม ปชช.เดือนละ 4.5 แสน! เปิดคำชี้แจง‘ปู’หลังศาลยกคำร้องขอทุเลายึดทรัพย์คดีข้าว
ชั่วชีวิตใช้ไม่หมด! ‘ปู’ขอศาลคุ้มครองชั่วคราวปมอายัดทรัพย์คดีข้าว 3.5 หมื่นล.
โชว์ชัดค่าเสียหายจำนำข้าว 1.7 แสนล. 'ปู'จ่ายแค่ 20%-วิจารณ์ขรมคำนวณผิด?
ชาติเสียหาย5แสนล.! สตง.ชง บิ๊กตู่ ค้าน คลัง คิดค่าเสียหายจำนำข้าว 'ปู' แค่ 20 %
โชว์หนังสือ'ปู'ยื่นโนติสปลัดคลัง ถอนคำสั่งชดใช้คดีข้าว3.5หมื่นล.ภายใน7วัน
‘ปู’ร้องปลัดคลังเพิกถอนค่าเสียหายจำนำข้าว อ้าง‘บิ๊กตู่’สั่งสอบไม่สนความยุติธรรม