- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ล้วงเหตุผล ตลก.ศาลปค.2เสียงข้างน้อย ทำไมควรทุเลาอายัดทรัพย์สิน ‘ยิ่งลักษณ์’?
ล้วงเหตุผล ตลก.ศาลปค.2เสียงข้างน้อย ทำไมควรทุเลาอายัดทรัพย์สิน ‘ยิ่งลักษณ์’?
“…กรณีมีเหตุที่มีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง เพราะอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองด้วยความมีอคติลำเอียง ทำให้มีข้อเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับความเป็นกลางในการพิจารณาทางปกครองเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี จึงมีปัญหาความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย…”
เป็นประเด็นร้อนสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2560 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ฟ้องคดี พิพาทกับนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) และพวกรวม 4 ราย ขอให้ทุเลาการอายัดทรัพย์สิน กรณีถูกกระทรวงการคลังเรียกเก็บค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท
โดยเหตุผลสำคัญคือ กรมบังคับคดีที่มีหน้าที่ในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน แม้จะล่วงเลยเวลาดำเนินการมาแล้ว ดังนั้นจึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลปกครองกลางจะต้องมีคำสั่งทุเลาการยึดหรือายัดทรัพย์สินดังกล่าว
องค์คณะพิเศษในคดีนี้จึงมีมติเสียงข้างมาก เห็นควรให้ยกคำร้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์
(อ่านประกอบ : ตามรอย‘ภูมิ-บุญทรง’!ศาลปค.ยกคำร้อง ‘ปู’ขอทุเลาอายัดทรัพย์คดีจำนำข้าว)
แต่ยังมีตุลาการศาลปกครองอีก 2 ราย ที่มีความเห็นต่างออกไป
เห็นแย้งว่า ควรทุเลาการอายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะการเรียกความเสียหายยังไม่ได้ข้อยุติ ที่สำคัญคือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เกี่ยวกับกรณีนี้ จึงอาจไม่เป็นกลาง และการเรียกเก็บค่าเสียหายดังกล่าว อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ?
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำความเห็นแย้งของ 2 ตุลาการศาลปกครองมาเผยแพร่ สรุปได้ ดังนี้
นายภานุพันธ์ ชัยรัต รองอธิบดีศาลปกครองกลาง
เห็นว่า กรณีคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากประเด็นความเป็นกลางในการพิจารณาทางปกครองเพื่อออกคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (พล.อ.ประยุทธ์) ในฐานะหัวหน้า คสช. นำกำลังเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้มาตามประชามติของประชาชนชาวไทย โดยนำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาบังคับใช้แทน และบัญญัติในมาตรา 44 ให้อำนาจของหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นการให้อำนาจแก่บุคคลเดียวใช้อำนาจสูงสุดของรัฐโดยไม่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ต่อมาเมื่อนำกำลังเข้ายึดอำนาจการปกครองแล้ว ในการพิจารณาทางปกครองได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 56/2559 คุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามคำสั่งหัวหน้า คสช. และในฐานะนายกรัฐมนตรีซึ่งไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่งตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้ใช้อำนาจหรือมอบอำนาจเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี
ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุที่มีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง เพราะอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองด้วยความมีอคติลำเอียง ทำให้มีข้อเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับความเป็นกลางในการพิจารณาทางปกครองเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี จึงมีปัญหาความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนประเด็นมูลค่าความเสียหายจำนวน 35,717,273,028 บาท (ราว 3.5 หมื่นล้านบาท) ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชอบนั้น ข้อเท็จจริงยังไม่ยุติเป็นที่สุด นอกจากนี้หากนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาเป็นนโยบายสาธารณะแล้ว ตามหลักทฤษฎีนโยบายสาธารณะ จุดมุ่งหมายและเป้าหมายไม่ได้อยู่ที่กำไรเป็นมูลค่าเงิน แต่เพื่อทำให้ได้มาซึ่งความอยู่ดีมีสุขของคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมซึ่งนับเป็นมูลค่าเงินไม่ได้ หากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเป็นนโยบายสาธารณะแล้ว ต้องนำประโยชน์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นมาประกอบการพิจารณาด้วย
และหากโครงการรับจำนำข้าวทำความเสียหายต่อรัฐตามคำกล่าวอ้าง ค่าเสียหายที่สั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ก็ไม่อาจพิจารณาจากผลกำไรขาดทุนทางบัญชีจากการซื้อ และขายข้าวตามข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเพียงปัจจัยเดียว เพราะเป็นการตีราคาตามมาตรฐานการบัญชี
จะเห็นว่า ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวยังมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาเพื่อกำหนดค่าเสียหายที่ยุติเป็นที่สุด รวมทั้งหากนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวไม่ชอบ และทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ยังมีประเด็นการเรียกเงินคืนจากผู้ที่ได้รับไปจากนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ชอบในฐานะลาภมิควรได้ ดังนั้นเมื่อยังมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยการกำหนดค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวที่แน่นอน ซึ่งผลการวินิจฉัยอาจส่งผลเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงของค่าเสียหายที่จะสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชอบชดใช้
ดังนั้นข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดียังไม่ยุติเป็นที่สุด จึงมีปัญหาความน่าจะไม่ชอบของคำสั่งทางปกครองดังกล่าว ส่วนการจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่เพียงใดนั้น เป็นประเด็นเนื้อหาแห่งคดีที่ศาลปกครองจะต้องวินิจฉัยต่อไป
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีอำนาจตามกฎหมายหลายฉบับ และเป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานของรัฐเป็นจำนวนมาก จึงมีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานอื่น ๆ ตรวจสอบการทำธุรกรรมต่าง ๆ และการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ย้อนหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นหากศาลปกครองออกคำสั่งทุเลาการบังคับอายัดทรัพย์สิน จึงไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ
จึงเห็นสมควรที่ศาลปกครองจะสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
นายวชิระ ชอบแต่ง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง
คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ กว่า 3.5 หมื่นล้านบาท รวมถึงหัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 56/2559 มอบหมายให้กรมบังคับคดีเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองกรณีมีการออกคำสั่งให้ชดใช้เงินจากโครงการรับจำนำข้าว
อย่างไรก็ดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้โต้แย้งในชั้นไต่สวนสรุปได้ว่า ไม่ได้ปล่อยปละละเลยในการดูแลโครงการรับจำนำข้าว และเมื่อได้รับข้อท้วงติงและคำแนะนำจากหน่วยงานตรวจสอบ ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว รวมถึงแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการรับจำนำข้าวด้วย โดยคณะกรรมการฯชุดนี้ ได้จับกุม และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดรวม 276 คดี จึงมิได้เพิกเฉยหรือจงใจปล่อยปละละเลยแต่อย่างใด
เมื่อพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริง ประกอบกับข้อกฎหมาย และอำนาจหน้าที่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้ว เป็นกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้โต้แย้งถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการออกคำสั่งที่พิพาท ทั้งที่เป็นเรื่องการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ราย ขั้นตอน และวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ และดุลพินิจที่ใช้ในการออกคำสั่งที่พิพาทในหลายกรณี จึงเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ราย มีคำสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท จึงน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฏหมาย
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นในเรื่องที่อยู่อาศัย อันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องต่อการดำรงชีพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และครอบครัวอย่างปกติสุขดังกล่าวข้างต้นแล้ว เห็นได้ว่า ในเมื่อสถานภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เปลี่ยนแปลงไป แต่บรรดาค่าใช้จ่ายที่กล่าวอ้างยังคงเกิดขึ้นเช่นเดิม จึงถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข และหากนำค่าใช้จ่ายตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอ้างกับทรัพย์สินตามที่แจ้งต่อศาลและ ป.ป.ช. มาเปรียบเทียบกับจำนวนเงินที่ต้องชดใช้ เห็นได้ว่า หากมีการอายัดทรัพย์สิน น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยสิ้นเชิง ย่อมทำให้เกิดความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยทันที และไม่อาจใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขได้เลย
ทั้งหากรอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ราย และกรมบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปก่อน แล้วต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มีคำขอให้ทุเลาการอายัดทรัพย์สิน แม้ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลา ก็ไม่ได้ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดไปแล้วกลับคืนมา เพียงแต่ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ราย และกรมบังคับคดีไม่อาจมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินอื่น ๆ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต่อไปได้เท่านั้น หรือหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะแก้ไขความเดือดร้อนเนื่องจากเหตุดังกล่าวด้วยการฟ้องคดีใหม่ โดยการขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขในการฟ้องคดี ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร กรณีจึงเห็นได้ว่าหากให้คำสั่งที่พิพาทใช้บังคับต่อไป ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง
อย่างไรก็ดีเมื่อคำนึงถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐตามมา และพิจารณาถึงความเดือดร้อนเสียหายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ค่าใช้จ่ายที่สมควรลดลงตามควรแก่กรณี ความจำเป็นในการใช้ที่อยู่อาศัย และครอบครองเคหะสถานโดยปกติสุข เกียรติยศ ชื่อเสียง ความเป็นอยู่ส่วนตัว และพฤติการณ์แห่งคดี จึงเห็นสมควรมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท บางส่วน ด้วยการห้ามมิให้คำสั่งที่พิพาทดังกล่าวมีผลบังคับเฉพาะบ้านและที่ดินที่เป็นที่พักอาศัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และครอบครัว และบ้านพักคนงาน รวมถึงบรรดาสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในบ้านทั้ง 2 หลังดังกล่าว และบัญชีเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ทั้งหมดคือความเห็นแย้งของ 2 ตุลาการศาลปกครอง ที่เป็นเสียงข้างน้อย ก่อนที่ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งยกคำร้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดังกล่าว
อ่านประกอบ :
ค่าเยี่ยม ปชช.เดือนละ 4.5 แสน! เปิดคำชี้แจง‘ปู’หลังศาลยกคำร้องขอทุเลายึดทรัพย์คดีข้าว
ชั่วชีวิตใช้ไม่หมด! ‘ปู’ขอศาลคุ้มครองชั่วคราวปมอายัดทรัพย์คดีข้าว 3.5 หมื่นล.
โชว์ชัดค่าเสียหายจำนำข้าว 1.7 แสนล. 'ปู'จ่ายแค่ 20%-วิจารณ์ขรมคำนวณผิด?
ชาติเสียหาย5แสนล.! สตง.ชง บิ๊กตู่ ค้าน คลัง คิดค่าเสียหายจำนำข้าว 'ปู' แค่ 20 %
โชว์หนังสือ'ปู'ยื่นโนติสปลัดคลัง ถอนคำสั่งชดใช้คดีข้าว3.5หมื่นล.ภายใน7วัน
‘ปู’ร้องปลัดคลังเพิกถอนค่าเสียหายจำนำข้าว อ้าง‘บิ๊กตู่’สั่งสอบไม่สนความยุติธรรม