เผยตัวเลขผู้ลี้ภัยในไทยกว่าแสนราย NGO วอนรัฐคุ้มครอง-ไม่ส่งตัวกลับ
เผยสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในไทยกว่าแสนราย ได้รับสถานะจาก UNHCR เพียง 4 พันราย ขณะที่กฎหมายไทยยังไม่รองรับ ด้านเอ็นจีโอแนะรัฐไทยคุ้มครองกลุ่มเด็ก สตรี จัดกระบวนการคัดกรอง ไม่ส่งตัวกลับ
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 60 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายของคนไร้รัฐและผู้ลี้ภัย ร่วมกับองค์กร Asylum Access Thailand และ Documentary Club Thailand จัดเสวนา “เปิดสถานการณ์ผู้ลี้ภัยกว่า 40 ชาติในประเทศไทย : สู่ความคุ้มครองและการจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย”
ด้านนายศิววงศ์ สุขทวี ผู้แทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 รวมทั้งไทยไม่มีกฎหมายและนโยบายในการบริหารจัดการผู้ลี้ภัย ประกอบกับการใช้พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เป็นกรอบการดำเนินในลักษณะปราบปรามมากกว่าคุ้มครอง ด้วยเหตุนี้บ่อยครั้งจึงเป็นเหตุให้ผู้ลี้ภัยถูกจับกุมและถูกกักขังโดยไม่มีกำหนดระยะเวลารวมถึงการถูกผลักดันกลับไปเผชิญอันตรายในประเทศบ้านเกิด
นายศิววงศ์ กล่าวอีกว่า ผู้ลี้ภัยในไทยไม่ได้มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเดียว แต่มีกว่า 40 ประเทศในการใช้ไทยเป็นที่แสวงหาการลี้ภัยกว่า 120,000 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มที่อยุ่ในค่ายพักพิงตามชายแดน1.1แสนคน ซึ่งเป็นลักษณะการดำเนินการให้ชั่วคราว เพื่อรอให้สถาณการณ์ในประเทศต้นทางสงบแล้วจึงผลักดันกลับ อีกกลุ่ม คือ กลุ่มที่พักอาศัยในเมืองราว 8,000-9,000คน กลุ่มใหญ่สุดมาจาก ปากีสถาน รองลงมาคือเวียดนาม โซมาเลีย อิรัก ปาเลสไตน์ ซีเรียเป็นต้น ซึ่งกลุ่มผู้ลี้ภัยในเมืองเหล่านี้เข้ามาในไทยสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ กลุ่มที่ใช้วีซ่าท่องเที่ยวไทยในการเบิกทาง เข้ามาเพื่อใช้ไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศที่สาม อีกกลุ่มคือพวกไม่มีเอกสาร ต้องใช้กระบวนการนอกกฎหมาย ซึ่งกลุ่มนี้เสี่ยงตกในกระบวนการค้ามนุษย์ได้ง่ายขึ้น โอกาสที่จะกลายเป็นสินค้า เรียกค่าไถ่มีสูงมาก โดยในขณะนี้กระบวนการนอกกฎหมาย กำลังขยายตัวจากความไม่มีทางเลือกของคนเหล่านี้
นายศิววงศ์ กล่าวอีกว่า ในจำนวนคน 8,000-9,000คนนั้น ก็ยังแบ่งออกไปสองประเภท คือมีผู้ลี้ภัยราว 4,100 คนที่อยู่ในบัญชีรับรองสถานะผู้ลี้ภัยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(UNHCR) ส่วนที่เหลือกำลังรอสถานะ ในแง่หนึ่งรัฐไทยยังสองกลุ่มมองเหมือนกัน เพราะยังไม่มีกฎหมายมารับรองสถานะทางกฎหมาย ส่งผลให้เขาไม่สามารถทำงานเลี้ยงชีพระหว่างรอเดินทางไปประเทศที่สาม เลยต้องเข้าไปเป็นแรงงานผิดกฎหมาย
นอกจากนี้แม้ว่าการศึกษาไทยจะบอกว่าทุกคนสามารถเข้าเรียนโรงเรียนไทยได้ เเม้ว่าจะไม่มีสถานะ เเต่ด้วยความที่พ่อแม่ก็ไม่มีสถานะ เลยไม่กล้าส่งลูกไปเรียน นอกเหนือจากการทำงานเรื่องการศึกษา ปัญหาอย่างคือเรื่องสุขภาพ การเก็บตัว เงียบในห้อง ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ ยิ่งเมื่อไม่มีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ความเครียดยิ่งทับถมทั้งนี้กระบวนการขอสถานะเพื่อเดินทางไปยังประเทศที่สามใช้เวลาราวๆ 3 ปี แต่การตั้งรกรากในประเทศที่สาม ก็ใช้เวลานานกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการ
ด้าน ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวถึงการพักพิงตามชายแดนเป็นนโยบายที่ออกมาไม่มีทางเลือก เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ต้องทำ เพราะในตอนนั้นสงครามอินโดจีนรัฐไทยมีส่วนสนับสนุนสงครามก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งนี้ แต่มาปัจจุบันรัฐไม่มีได้ส่วนร่วมในปัญหาของเพื่อนบ้าน ปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ถูกมองว่าเป็นสงคราม ไม่ถือว่าความขัดแย้งในประเทศเพื่อนบ้านเป็นวาระสำคัญ ดังนั้นการเดินเข้ามาจะได้ที่ลี้ภัยก็ไม่ง่าย แต่ถึงที่สุดรัฐไทยก็ยังให้ที่พักพิง ตามชายแดนในฐานะมนุษยธรรม ดังนั้น แม้จะยังไม่มีการรับรองสถานะ แต่ยังคงให้ความช่วยเหลือ อย่างน้อยเห็นว่ามีความอลุ่มอล่วยบนพื้นฐานมนุษยธรรม
ดร.ศรีประภา กล่าวด้วยว่า นโยบายรัฐไทยไม่ได้ฉีกไปจากอื่นหลายประเทศก็ทำแบบนี้ เช่นออสเตรเลีย ป้องกันไม่ให้เดินทางเข้ามา ซึ่งมีทัศนคติว่าต้องควบคุมให้ได้มากที่สุด เมื่อเดินทาง มาเเล้วก็มีการป้องปราม ส่วนประเด็นการคัดกรองเรื่องนี้ คนที่ทำงานด้านนี้เราพยายามผลักดัน ว่าอย่างน้อยเราจะได้รู้ว่าเขามาสถานะอะไร ทำให้เขาได้สิทธิ์ตามสถานะที่เขาเป็น อย่างน้อยเราไม่ได้ร่วมอนุภาคี แต่ต้องไม่ลืมว่ารัฐไทย เป็นภาคีสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับ ซึ่งให้ความคุ้มครองกับทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานะอะไร ขณะเดียวกัน ก็มีพ.ร.บ.หลายอย่างที่ดีในไทย อย่างการคุ้มครองเด็กทุกคน ให้บริการดีในระดับหนึ่ง และดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้ แต่ในขณะที่แนวคิดหนึ่งในโลกตอนนี้ สงสัยว่าทำไมต้องทำคัดกรอง กับไม่คัดกรองเพราะว่าทุกคนเป็นมนุษย์ คนเหล่านั้นก็ต้องได้รับการคุ้มครอง ต้องไม่ผลักดันกลับ
ด้านนายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า กรณีที่ประเทศไทยเห็นชอบการจัดตั้งกลไกการคัดกรองผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมายังมีคำถามว่าจะสามารถแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาจะเห็นว่าก่อนออกมติครม.ดังกล่าว ไม่มีตัวแทนจากภาคประชาสังคม นักวิชาการ รวมไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูหรือร่วมแสดงความเห็นในกฎหมายนี้เลย
นายอดิศร กล่าวอีกว่า ในระหว่างการออกกฎหมายและแนวทางในการคัดกรองผู้ลี้ภัย ภาครัฐควรพิจารณาให้มีมาตรการและแนวปฏิบัติระยะสั้นที่จะไม่จับกุมคุมขังกลุ่มลี้ภัยเปราะบาง ประกอบด้วยเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วย และพิจารณาผ่อนผันให้ผู้ลี้ภัยซึ่งถือเอกสาร UNHCR พักอาศัยในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว.
อ่านประกอบ
แอมเนสตี้ชมไทยรองรับผู้ลี้ภัยกว่า10ปี วอนคุ้มครองทางกฎหมายเพิ่ม