ผู้ประกอบการเเฉจ่ายสินบนหลักล้านแลกใบอนุญาตก่อสร้าง-ชง ครม.ลดขั้นตอน 30-50%
ผู้ประกอบการบ่นต้องจ่ายสูงหลักล้านแลกใบอนุญาตก่อสร้าง ขืนไม่จ่าย โดนประวิงเวลา ที่ปรึกษาฯ ก.พ.ร.เผยบังคับใช้ กม.การอำนวยความสะดวกฯ ช่วยให้กระบวนการโปร่งใสมากขึ้น แต่ยังไม่รวดเร็ว เสนอ ครม.ลดขั้นตอนอีก 30-50% ขณะที่ ‘ต่อตระกูล ยมนาค’ แนะศึกษาต้นแบบอาร์เจนติน่า มีปัญหาขอใบอนุญาตฯ แค่ 1%
วันที่ 22 มิ.ย. 2560 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย จัดเสวนา เรื่อง ใบอนุญาตก่อสร้าง:ความสะดวกที่ต้องจ่าย...จริงหรือ? ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ
นางอารีพันธ์ เจริญสุข ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐเป็นผู้สร้างกลไกความไม่สะดวกให้เกิดขึ้น จึงทำให้ภาคเอกชนต้องลงทุนซื้อความสะดวกที่ยอมรับได้ จนกลายเป็นต้นตอทุจริตและกัดกร่อนสังคมไทย ทั้งนี้ หากจะแก้ไขกฎหมายทีละฉบับเพื่อให้ง่ายต่อการประกอบธุรกิจ ขณะที่โลกหมุนไปเร็วมาก อาจจะไม่ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อม จึงบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ซึ่งกำหนดกรอบกติกาอย่างชัดเจน
ส่วนเมื่อบังคับใช้ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกฯ ที่ปรึกษาฯ ก.พ.ร. พบว่า กระบวนการขอใบอนุญาตก่อสร้างโปร่งใสมากขึ้น แต่ยังไม่รวดเร็ว เนื่องจากรัฐเข้าไปกำกับดูแลทุกขั้นตอน เช่น การก่อสร้างโกดัง 2 ชั้น ต้องใช้ถึง 17 ขั้นตอน 103 วัน และสุ่มตรวจ 7 ครั้ง ขณะที่ธนาคารโลก (World Bank) แนะนำให้ไทยศึกษาจากประเทศอื่น ๆ โดยให้นำระบบบริหารความเสี่ยงมาใช้กำกับดูแลแทนการกำกับทุกขั้นตอน และได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะต้องลดขั้นตอนลงให้ได้ร้อยละ 30-50 พร้อมลดสัดส่วนคณะกรรมการรับรองให้น้อยลง เพื่อความสะดวกรวดเร็ว เนื่องจากบ่อยครั้งที่นัดประชุมยาก
นางอารีพันธ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ธนาคารโลกยังเสนอให้ไทยพัฒนาระบบบริการภาครัฐไปสู่ดิจิทัล เพื่อไม่ให้มีการพบปะระหว่างผู้รับบริการกับผู้ให้บริการ ซึ่งจะช่วยลดอำนาจการต่อรอง และยังเสนอ ครม. ในอีก 3 ปี ไทยต้องก้าวเข้าสู่ระบบ Doing Business Total เพื่อให้เกิดความสะดวกมากขึ้นในการยื่นเอกสารในครั้งเดียว แต่สามารถเป็นข้อมูลให้แก่ทุกหน่วยงานได้
ด้านนายสรรค์ สุขุขาวดี ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การติดสินบนเจ้าหน้าที่ในปัจจุบันนี้ ใช้คำว่า แบ่งปันรายได้ เพราะถือว่าเป็นหุ้นส่วนที่ช่วยสนับสนุนโครงการให้สำเร็จลุล่วง แม้จะเป็นคำเรียกที่ฟังดูดี แต่สำหรับตนเองแล้วคิดว่า ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม การต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้ใบอนุญาตก่อสร้างมานั้น ความจริงแล้ว ไม่มีผู้ประกอบการคนใดประสงค์จ่าย เพราะเกี่ยวข้องกับต้นทุนและเป็นภาระต่อผู้บริโภค ซึ่งจะถูกบวกค่าใช้จ่ายเข้าไป
“จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การขอใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมีเนียม มีหลายบริษัท บอกเล่าให้ฟังว่า ยังไม่ทันยื่นเอกสารขอใบอนุญาตฯ เจ้าหน้าที่ก็เชิญเข้าไปพูดคุยเรื่อง ‘ผลประโยชน์’ แล้ว และหากคุณตัดสินใจไม่ได้ ต้องหาคนใหม่ที่ตัดสินใจได้มาพูดคุย”
ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท แอล.พี.เอ็น.ฯ จึงกล่าวว่า ไม่มีผู้ประกอบการคนใดอยากทำผิดกฎหมาย เพราะทุกคนล้วนได้รับการศึกษามาดี แต่ติดปัญหาถูก ‘ซื้อเวลา’ ฉะนั้นหากใบอนุญาตก่อสร้างไม่ได้รับอนุมัติ จะก่อสร้างอาคารไม่ได้ ทำให้กระทบต้นทุน และกลายเป็นเหตุผลต้องจ่าย นอกจากนี้ยังมองรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ( Environmental Impact Assessment :EIA) เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคด้วย แต่ไม่ปฏิเสธว่า เป็นเรื่องที่ดี
“ต้องติดต่อรัฐเพื่อแจ้งความประสงค์ก่อสร้างคอนโด ซึ่งต้องคำนวณปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่รัฐกลับบอก เช่น ขยะ เก็บเพื่อนำไปกำจัดไมได้ ทำให้ไม่ให้ผ่าน ทั้งที่ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ถูกต้องตามกฎหมาย ถามว่า การกำจัดขยะเป็นหน้าที่ใคร” นายสรรค์ กล่าว
ขณะที่ นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ปัญหาทุจริตในประเทศไทย มีสาเหตุจากนิสัยของคนไทย ซึ่งเป็นสังคมเจ้าขุนมูลนาย ประกอบกับกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ และขาดความรู้เกี่ยวกับวิชาสังคมและประวัติศาสตร์ ซึ่งจะช่วยปลูกฝังว่า บุคคลที่ทรงเกียรติของประเทศต้องทำงานเพื่อผู้อื่นอย่างไร และสังเกตจะพบนักปกครองที่ดี ล้วนแล้วแต่ชื่นชอบการอ่านหนังสือชีวประวัติของนักปกครองในอดีต แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ตัวเรา ซึ่งต้องสร้างจิตสำนึกให้เป็นคนดี เพราะต่อให้คิดระบบขึ้นมาแก้ไขปัญหามากเท่าไหร่ เชื่อว่าจะแก้ปัญหาไม่ได้มากนัก เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับคน
สุดท้าย รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า คนในแวดวงวิชาชีพถูกกดขี่มานาน จึงแนะนำให้รัฐไปศึกษาต้นแบบจากประเทศอาร์เจนติน่า แม้ประเทศนี้จะมีปัญหาเรื่องทุจริตในหลายด้าน แต่จากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่าด้านการขอใบอนุญาตก่อสร้าง กลับมีปัญหาเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในเวทีเสวนา ได้มีผู้ประกอบการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยต่างบอกเล่าถึงประสบการณ์ต้องจ่ายเงินเพื่อขอรับใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งต้องจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้านบาท แม้จะพยายามเลี่ยงไม่จ่าย แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ ในอนาคตหากแก้ไขปัญหาไม่ได้ จะส่งผลประทบต่อประชาชนทั่วไปที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างบ้านของตนเองถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ได้รับการอนุญาต เพราะไม่ได้จ่ายเงิน .