แก้กม.บัตรทองได้อะไร ดร.วรากรณ์ ยันอย่าตระหนกไม่มีใครเสียสิทธิเลวร้ายกว่าเดิม
ประธานคณะกรรมการพิจารณา(ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(ฉบับที่...) พ.ศ. ... แจงเหตุต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ยั่งยืน ระบุชัดเมื่อจะแก้แล้ว ก็ต้องแก้ไขบางประเด็นเพิ่มเติม เช่น การให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการ การจัดซื้อยา ยันไม่มีประเด็นสอดไส้แน่นอน เชื่อมั่นไม่มีใครเสียสิทธิ การรักษาพยาบาลเหมือนเดิมทุกอย่าง
วันที่ 21 มิ.ย.กระทรวงสาธารณสุขจัดเสวนาสื่อมวลชน "แก้กฎหมายบัตรทองประชาชนได้อะไร" ณ ห้องประชุม BB 205 ชั้น 2 โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณา(ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(ฉบับที่...)พ.ศ. ... นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และนายแพทย์ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมเสวน ดำเนินรายการโดย นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
ดร.วรากรณ์ กล่าวว่า การออกกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งออกมาก็เหมาะกับยุคสมัยนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านมาจะพบว่า บางอย่างไม่ได้เขียนไว้ครอบคลุม วิวัฒนาการการรักษาพยาบาล บริการสาธารณสุขก็เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง 15 ปีที่ผ่านมาสปสช.ได้จ่ายเงินและดำเนินการให้บริการบางอย่างที่ไม่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายชัดเจน จึงไม่แน่ใจทำต่อไปจะเหมาะสมหรือไม่ ฉะนั้นเป็นที่มาของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือสตง.ให้ความเห็น ต่อมารัฐบาลคสช.ออกมาตรา 44 มาแก้ไขสิ่งที่สปสช.ทำให้สอดคล้องกับยุคสมัย จึงเห็นว่า ถึงเวลาแก้ไขกฎหมายนี้แล้ว
"อาศัยม.44 ต่อไปก็จะไม่ยั่งยืน ถือเป็นประกาศคณะปฏิวัติทางกฎหมายถือว่า ไม่ได้ฟังความเห็นประชาชน ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ไขเงื่อนไขทั้งหลายที่ระบุไว้ในม.44 ให้เป็นกฎหมายฉบับใหม่"
ดร.วรากรณ์ กล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายแล้ว จำเป็นต้องแก้ไขบางประเด็นเพิ่มเติมด้วย เช่น การให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการ ส่วนประเด็นสอดไส้นั้น มีการเผยแพร่เปรียบเทียบ อีกทั้งมีการทำประชาพิจารณ์ซึ่งไม่เพียงแต่ฟังคนพูดอย่างเดียว เรามีออนไลน์ เขียนใส่กระดาษ รับฟังให้พูด 3 นาที จะเห็นว่า มีการรับฟังถึง 4 ช่องทาง วันนี้มีความเห็นกว่า 739 ความเห็นที่เสนอเข้ามาแล้ว
สำหรับการจัดซื้อยาใช้ระบบจัดซื้อรวมเพื่อให้เกิดต้นทุนที่ต่ำลงนั้น ดร.วรากรณ์ กล่าวว่า ทำให้ประเทศประหยัดและเกิดประโยชน์ขึ้นมาได้ ยืนยันว่า การแก้ไขกฎหมายบัตรทองจะไม่มีใครเสียสิทธิเลวร้ายไปกว่าเดิม ใครรับการรักษาพยาบาล รับยาต่างๆ เหมือนเดิมทุกอย่าง มีแต่จะมากขึ้น ฉะนั้นอย่าตระหนก สิทธิบัตรทองยังเหมือนเดิม ได้สิทธิเหมือนเดิม ดีขึ้นด้วย เพราะเรารู้ดีบัตรทองเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน
ด้านนพ.โสภณ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมีปัญหาภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขที่มากขึ้นกว่า 4 เท่า แม้ประชาชนจะเข้าถึงบริการมากขึ้น แต่บุคลากรเราไม่ได้มากขึ้นตาม รวมถึงค่าตอบแทน ค่าสาธารณูปโภค ต้องนำเงินค่าหัวจากสปสช.มาดำเนินกิจการของโรงพยาบาล เมื่อ สตง.มาตรวจสอบและพบว่า ค่าน้ำค่าไฟใช้ไม่ได้กับงบประมาณก้อนนี้ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น ถามว่า มีแต่ยา มีหมอ พยาบาล ไม่มีน้ำไฟเดินหน้าได้หรือไม่ จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีเข้าใจปัญหาออกมาตรา 44 เข้ามาแก้เรื่องการบริหารจัดการ
"กรณีรถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุ บุคลากรสาธารณสุขบาดเจ็บ อาการโคม่า ไม่มีแม้แต่ค่าทำขวัญ หรือเยียวยา แม้แต่หมออนามัยไปเยี่ยมคนไข้ เกิดอุบัติเหตุลงเหวก็ไม่มีเงินไปช่วยเหลือเยียวยา สปสช.แม้จะเคยอนุมัติเงินช่วยเหลือคนให้บริการ แต่ตอนนี้บอก กฎหมายไม่ให้อำนาจทำไม่ได้ ถามว่า หากคนให้บริการไม่มีใจจะทำไหวไหม ผมเป็นหัวหน้าก็น้ำตาตกใน"ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว และว่า นี่คือสิ่งที่ต้องแก้ไขกฎหมาย รวมถึงทำไมต้องแยกเงินเดือนออกจากงประมาณรายหัว 3,100 บาท เพราะหากไม่แยก งบประมาณรายหัวที่สปสช.ให้นั้น แทบไม่เหลือไปรักษาคนไข้เลย
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวถึงการแก้ไขหรือไม่แก้ไขกฎหมายนั้น แต่เดิมเราออกแบบกฎหมายขึ้นมาเพื่อดูแลประชาชนเป็นตัวตั้ง โดยให้ผู้เกี่ยวข้องมาเป็นคณะกรรมการ สปสช. ซึ่ง 15 ปีที่ผ่านมามีการตีความหลายๆ ประเด็นเรื่องผู้ให้บริการ ที่ได้รับเงินค่าเยียวยาจากคำสั่ง ม.44 แต่ คตร.และสตง.ตีความแตกต่างจากคณะกรรมการ สปสช.มาโดยตลอด กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ
"คำสั่งคสช.ม.44 เกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่าย ทำให้เรื่องหลายๆ อย่าง สปสช.เดินหน้าได้ หน่วยบริการใช้เงินได้เต็มที่ แต่ก็พบว่า หากจะทำให้การบริหารจัดการยั่งยืน เราต้องออกเป็นกฎหมายมาให้ชัดเจน"
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวถึงวิธีการแก้ไขกฎหมาย เรื่องเงื่อนไขหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่าย เกือบ 100% มีความเห็นตรงกัน ส่วนข้อท้วงติงบางประการ เรื่องอำนาจการซื้อยาของสปสช.ว่า กฎหมายไม่ให้อำนาจดำเนินการ แต่หากทำแล้วมีประโยชน์ก็สามารถแก้ไขในกฎหมายได้ นี่คือการเปิดช่องอำนาจการซื้อยา
"ช่วงที่ผ่าน สปสช.สามารถประหยัดการซื้อยาได้ 4 หมื่นกว่าล้านบาท มีระบบโลจิสติกส์ ขจัดปัญหายาราคาแพงได้ วันนี้ใครจะมาดำเนินการก็ต้องทำได้เท่าเดิม หรือไม่ก็ต้องดีกว่าเดิม ใครจะมาดำเนินการไม่ขัดข้อง"เลขาธิการ สปสช. กล่าว และว่า ด้านประเด็นวิชาการการร่วมจ่าย หรือการแยกเงินเดือน มีกระบวนการทางวิชาการกำลังศึกษาหาคำตอบอยู่ ฉะน้นอะไรที่เห็นร่วมเดินหน้ากันได้ ซึ่งมีหลายประเด็น โดยประเด็นที่เห็นต่างที่ต้องจัดการแก้ไขอย่างไร วันนี้สังคมไม่ควรขัดแย้ง เห็นต่างกันได้แต่ไม่ได้ขัดแย้งจนเอาเป็นเอาตาย
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวด้วยว่า จากการรับฟังความเห็นการแก้ไขกฎหมายบัตรทองถือเป็นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เปิดกว้าง แต่ยังมีประเด็นที่เห็นต่างกันอยู่ มีภาพความขัดแย้งที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่ก็เชื่อว่าจะสามารถหาข้อยุติร่วมกันได้
สุดท้ายนพ.พลเดช กล่าวว่า กฎหมายบัตรทองหลายจุดถึงเวลาทบทวน หากไม่แก้ตอนนี้บางอย่างได้ แต่สิ่งที่จะเสียคือปัญหาคาราคาซังเสียโอกาส ซึ่งวันนี้ทำอย่างไรให้เกิดกระบวนการยอมรับ และรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง
"เท่าที่ดูจากเนื้อหาสาระร่างกฎหมายนั้น พบว่า ไม่มีอะไรเป็นสัญญาณไม่ดี การสร้างวาทกรรมของภาคประชาชนเข้าใจได้ แต่ควรพอประมาณ"