กนอ.แจงปมยึดนิคมฯสหรัตนนครทำโดยชอบ-เอกชนยื่น‘บิ๊กตู่’ช่วยสอบ 4 ประเด็น
'ผู้ช่วยผู้ว่าฯ กนอ.' ชี้แจงปมยึด 'นิคมฯ สหรัตนนคร' ดำเนินการโดยชอบ บริษัทฯ ยื่นอุทธรณ์คดีอยู่ระหว่างศาลพิจารณา ด้านเอกชนส่งหนังสือร้องนายกฯ ตรวจสอบ 4 ประเด็นไม่เป็นธรรม วอนขอคืนสาธารณูปโภค-ทรัพย์สินส่วนกลาง
กรณีผู้อำนวยการ บริษัท สหรัตนนคร จำกัด ในฐานะผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา และพนักงานจำนวนหนึ่งร้องเรียนสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่าพบข้อมูลการใช้เงินสร้างเขื่อนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งไม่ให้เอกชนเข้าไปตรวจสอบ และไม่ให้บริษัทฯ เข้าไปดูแล แต่นำเงินบริษัทฯ ไปก่อสร้างเขื่อน และพยายามจะยึดสินไหมทดแทนความเสียหายของบริษัทฯ ไปก่อสร้างเขื่อนชั่วคราว เมื่อปี 2555 ส่วนการก่อสร้างเขื่อนถาวร สั่งชะลอในทุกขั้นตอน ทำให้ไม่ว่าบริษัทฯ จะพยายามดำเนินการอย่างไร ก็จะไม่มีทางก่อสร้างได้สำเร็จ รวมถึง ต้องการเข้าครอบครองสาธารณูปโภคทั้งหมดของบริษัทฯ โดยใช้ความเดือดร้อน ความวิตกกังวลของผู้ประกอบการ ดำเนินการในวิถีทางต่าง ๆ จนบริษัทฯ เข้าสู่สถานะผิดสัญญา และล้มละลาย (อ่านประกอบ : บิ๊กสหรัตนนครปูดเบื้องหลัง กนอ.ยึดนิคม โยงปมค่าสินไหมฯ 100 ล.-ผู้ว่าฯ นัดแจง)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2560 นางปนัดดา รุ่งเรืองศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org กรณีมีการนำเสนอข่าวในหัวข้อ "บิ๊กสหรัตนนครปูดเบื้องหลัง กนอ.ยึดนิคม โยงปมค่าสินไหมฯ 100 ล.-ผู้ว่าฯ นัดแจง" ระบุสาระสำคัญว่า
กนอ. ขอชี้แจงว่า ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารจัดการในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนคันดินป้องกันน้ำท่วมรอบนิคมฯ กนอ. ได้ดำเนินการภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และข้อเท็จจริงดังกล่าว กนอ. มีการนำเสนอข้อเท็จจริงให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท สหรัตนนคร และศาลล้มละลายกลางแล้ว และศาลได้มีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องการยกเลิกสัญญา และการเข้าบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคในนิคมฯ สหรัตนนคร เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขณะนี้บริษัทฯ ยื่นอุทธรณ์ และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล หากคำพิพากษาออกมาเป็นอย่างไร กนอ. จะถือปฏิบัติตามคำสั่งศาลต่อไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว และขอให้เผยแพร่ข้อเท็จจริงไปสู่สาธารณชนโดยลำดับต่อไปด้วย
โดยช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ เลขานุการ นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการ กนอ. ได้ติดต่อมาที่ผู้สื่อข่าวเพื่อขอยกเลิกการนัดสัมภาษณ์ในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ กล่าวว่า รองผู้ว่าฯ ติดประชุม ยังไม่สะดวก และเลื่อนนัดออกไปไม่มีกำหนด ทั้งนี้ ระบุจะติดต่อกลับมานัดวันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทว่า ยังไม่มีใครติดต่อกลับมา แต่อย่างใด (ดูเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ตาม นางธีรนาฏ โชควัฒนา ผู้อำนวยการ บริษัท สหรัตนนคร จำกัด กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ได้เดินทางยื่นหนังสือเรื่อง ปัญหาจาการดำเนินงานของ กนอ. กรณีนิคมฯ สหรัตนนคร ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว ระบุสาระสำคัญว่า
กรณีที่ กนอ. บอกเลิกสัญญาร่วมดำเนินงานกับบริษัทฯ และขอเข้าครอบครองและดำเนินการ ระบบสาธารณูปโภคของนิคมฯ ขณะนี้ ศาลฯ มีคำสั่งให้โอนสาธารณูปโภค ทรัพย์สินส่วนกลาง รวมทั้งทรัพย์สินส่งเสริมการขายทั้งหลายให้กับ กนอ. โดยให้บริษัทฯ จ่ายค่าธรรมเนียมการโอนทรัพย์สินเหล่านั้นด้วย ซึ่งบริษัทฯ อยู่ในระหว่างรอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา และเสนอคำขอประนอมหนี้ต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 28 มิ.ย. 2560 แต่ในส่วนทีได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม แม้บริษัทฯ จะดำเนินการตามขั้นตอนทุกประการ รวมทั้งรายงานไปยังหน่วยงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา แต่อย่างใด จึงจำเป็นต้องขอความเมตตาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กนอ. ในเรื่อง
1.การก่อสร้างเขื่อนชั่วคราวของนิคมฯ สหรัตนนคร เมื่อ พ.ศ.2555
2.การพิจารณาอนุมัติแบบก่อสร้าง งบประมาณ และเบิกจ่ายเงินอุดหนุนสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของนิคมฯ สหรัตนนคร ตามนโยบายรัฐบาล
3.พฤติกรรมการเข้ายึดครองสาธารณูปโภค ทรัพย์สินส่วนกลาง และทรัพย์สินส่งเสริมการขายของอื่น ๆ ซึ่งเป็นทรัพย์สินจากการลงทุนเพียงฝ่ายเดียวของเอกชนผู้พัฒนานิคมฯ สหรัตนนคร
4.ขอบเขตอำนาจของผู้บริหาร กนอ. ที่สามารถดำเนินการใด ๆ กับผู้พัฒนานิคมฯ ซึ่งเป็นคู่สัญญา โดยไม่ต้องเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจาณาของคณะกรรมการ กนอ.
นอกจากนี้ หนังสือดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในส่วนที่สามารถดำเนินการโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ในเรื่องขอให้ กนอ. คืนสาธารณูปโภคให้แก่บริษัทฯ และขอให้บริษัทฯ ได้บริหารจัดการสาธารณูปโภคในนิคมฯ ต่อไป และหาก กนอ. จะยึดเขื่อนที่ก่อสร้างแกนเขื่อนเสร็จแล้วไปก็ขอให้คืนเงินส่วนที่ลงทุนไปด้วย เนื่องจากผู้รับเหมาที่ลงทุนก่อสร้างเขื่อนได้รับความเดือดร้อน ต้องไปขอเฉลี่ยหนี้ระยะยาวร่วมกับเจ้าหนี้รายอื่น ๆ (ดูเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอิศรารายงานแล้วว่า ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บริษัท สหรัตนนคร จำกัด ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมใน จ.อยุธยา เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2559 และมีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 17 พ.ค. 2559 (คดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 52/2551)
อ่านประกอบ :
บิ๊ก บ.สหรัตนนคร เล่า 'เบื้องหลัง' ถูก กนอ.บีบยึดนิคมอุตฯ ปมสร้างเขื่อนไม่ทันเวลา
บิ๊ก บ.สหรัตนฯปูด กนอ.กลับลำเรียกสร้างเขื่อนให้เสร็จ คืนสิทธิให้ ยันเลยจุดเจรจา