กฤษฎีกา ชี้ สปส.โอน 2.3 หมื่นล้านบาท พร้อมสิทธิผู้ประกันตนให้ สปสช.ได้
กฤษฎีกาตีความ สปสช.เรียกเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ประกันตนจาก สปส. 2.3 หมื่นล้านบาท พร้อมกับการโอนสิทธิรักษาพยาบาลไปใช้บัตรทอง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญและหลักความเสมอภาค
เร็วๆนี้ นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามในเอกสารตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่อง “การโอนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม (สปส.) จำนวน 9.4 ล้านคน ไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ตามมาตรา 10 แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” โดยเอกสารดังกล่าวระบุว่าการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาล 2.3 หมื่นล้านบาทจาก สปส. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 เรื่องความเสมอภาค
คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนยังคงต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณสุข เข้ากองทุนสปสช.ผ่านการเสียภาษี ขณะที่ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนที่ครอบคลุมมากกว่าการรักษาพยาบาล ดังนั้นการขยายบริการสาธารณสุขของ สปสช.ไปยัง สปส. โดยส่งเงินจาก สปส.มายัง สปสช.จึงเป็นไปโดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญประเด็นความเสมอภาค นอกจากนี้ยังให้ความเห็นอีกว่า ข้อตกลงเรื่องอัตราการเรียกเก็บเงินจำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท คงที่ 3 ปี เป็นอำนาจของคณะกรรมการ (บอร์ด) 2 กองทุนจะหารือหรือตกลงกัน ตามบทบัญญัติมาตรา 10
สำหรับกรณีที่ สปส.ระบุว่ากองทุนประกอบขึ้นจากเงิน 3 ส่วน คือนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล หากต้องส่งเงินให้สปสช.จริงจะส่งได้เฉพาะเงินที่รัฐบาลอุดหนุนเท่านั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า สปส.จ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนโดยไม่ได้แยกว่าใช้เงินของผู้ประกันตน ดังนั้นเจตนารมณ์ของกองทุนสปส.คือไม่มีการแยกส่วนของเงิน จึงไม่อาจแยกส่วนเพื่อส่งเงินให้กับสปสช.ได้
ทั้งนี้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเพียงความเห็นทางกฎหมายเท่านั้น ส่วนการชี้ขาดเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย .
ที่มาภาพ : http://www.koratdailynews.com/2010/09/02/ผู้ประกันตนได้เฮ-ประกัน/