ฉบับเต็ม! ผลสอบ สตง. ชี้มูลท่าเรือแหลมฉบัง จ้าง บ.พี่สาวเลขาฯปธ.บอร์ดกทท.ขนสินค้า52ล.
"..สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นข้อบกพร่องตามข้อ 1 - ข้อ 4 ดังกล่าวข้างต้น สาเหตุมาจากคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ เจ้าหน้าที่พัสดุและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามระเบียบการท่าเรือแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2543 และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด จึงขอให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการตามระเบียบแบบแผนที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยกำหนดไว้กับคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ เจ้าหน้าที่พัสดุ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง..ถึงแม้จะปรากฎภายหลังว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ยกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้วก็ตาม.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายละเอียดผลการตรวจสอบการจ้างเหมาดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างบริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าหรือลงทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง วงเงิน 52 ล้านบาท ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่แจ้งถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังพบว่าขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน ไม่ถูกต้องตามระเบียบราชการหลายประการ ขณะที่ในขั้นตอนปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง มีการใช้รถหัวลากของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่ขอสละสิทธิ์การยื่นเสนอราคางานโครงการนี้ ในการขนส่งสินค้าตามสัญญาว่าจ้างด้วย
-----------------------------
ตามหนังสือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ลับ ด่วนที่สุด ที่ ตผ 0017/383 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2560 ที่อ้างถึง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยสำนักตรวจสอบการบริหารพัสดุและสืบสวนที่ 1 ได้แจ้งให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พิจารณาทบทวนการดำเนินการจ้างเหมาจัดหาผู้รับจ้างบริหารยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นลงทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยวิธีพิเศษ และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงกรณีท่าเรือแหลมฉบังดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างบริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟเป็นการชั่วคราว โดยวิธีพิเศษ ตามหนังสือการท่าเรือแห่งประเทศไทย ลับ ที่ กทท 6005/1157 ลงวันที่ 18 เมษายน 2560 นั้น
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ตรวจสอบการจ้างเหมาดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างบริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นหรือลงทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยวิธีพิเศษ ตามสัญญาเลขที่ ทลฉ.จ. 13/2560 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2560 ประกอบการพิจารณาหนังสือชี้แจงของการท่าเรือแห่งประเทศไทยตามหนังสือ ลับ ที่ กทท 6005/1157 ลงวันที่ 18 เมษายน 2560
แล้วเห็นว่า
1. ตามที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ชี้แจงกรณีท่าเรือแหลมฉบังดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างฯ โดยวิธีพิเศษว่า เนื่องจากท่าเรือแหลมฉบังได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟจะดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญาปลายเดือนตุลาคม 2560 ซึ่งตามเงื่อนไขการก่อสร้างจะต้องรื้อทางรถไฟบางส่วนออกจากย่านขนถ่ายเดิมบริเวณท่าเทียบเรือฝั่ง B และฝั่ง C เพื่อนำรางเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาใช้ก่อสร้างในโครงการ อันจะทำให้ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือฝั่ง B จะต้องนำเครื่องมือยกขนพร้อมทั้งรถหัวลากพ่วงจากท่าเทียบเรือของผู้ประกอบการท่าเทียบเรือฝั่ง B ออกไปทำงานในโครงการฯ ทำให้ระยะทางในการขนส่งไกลขึ้น ประกอบกับท่าเรือแหลมฉบังโดยกองการท่าได้เข้าร่วมประชุมกับผู้ประกอบการท่าเทียบเรือหลายครั้ง โดยมติที่ประชุมนั้นผู้ประกอบการท่าเทียบเรือไม่ประสงค์ที่จะดำเนินการเอง เนื่องจากระยะทางที่ไกลขึ้นทำให้การหมุนเวียนของเครื่องมือในท่าเทียบเรืออาจไม่เพียงพอ
ท่าเรือแหลมฉบัง จึงมีความจำเป็นต้องจัดหาผู้รับจ้างบริการยกขนขึ้นลงและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้น-ลงรถไฟเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน เป็นการเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ และสามารถแก้ไขปัญหาการขนส่งตู้สินค้าล่าช้าที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงทีจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างฯ โดยเร่งด่วน ท่าเรือแหลมฉบัง จึงพิจารณาดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างบริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นหรือลงทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยวิธีพิเศษ ตามระเบียบการท่าเรือแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2543 ข้อ 16(3) "เป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจเสียหายแก่การท่าเรือ"
สตง. พิจารณาแล้วเห็นว่า ท่าเรือแหลมฉบัง มีผู้ประกอบการเกี่ยวกับท่าเทียบเรือและผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางรถไฟที่ให้บริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้้าขึ้นหรือลงทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบังจำนวนมากราย และผู้ประกอบการฯ ดังกล่าวได้ให้บริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นหรือลงทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบังอยู่แล้ว ซึ่งหากเจ้าหน้าที่พัสดุในฐานะเป็นผู้ตรวจสอบหรือเสนอความคิดเห็นเพื่อขอจ้างและกำหนดวิธีการจัดจ้าง พิจารณาดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างโดยใช้วิธีประกวดราคา หรือวิธีประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้มีผู้เข้ามาแข่งขันเสนอราคามากราย เป็นผลให้การดำเนินการจัดหามีความเปิดเผยโปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ในระหว่างดำเนินการจัดหา ท่าเรือแหลมฉบัง อาจขอให้ผู้ประกอบการฯ ให้บริการฯ ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้ผู้รับจ้าง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบการท่าเรือแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2543 ข้อ 9 วรรคแรกที่กำหนดไว้ว่า "ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอนการจัดหาต้องดำเนินการโดยเปิดเผย โปร่งใสและเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงคุณสมบัติและความสามารถของผู้เสนอราคา ... "
2.กรณีท่าเรือแหลมฉบัง มีหลักเกณฑ์ในการเชิญและคัดเลือกผู้เสนอราคา โดยคณะกรรมการจัดจ้าง ฯ พิจารณาตามขอบเขตของงาน (TOR) ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างบริการยกขนขึ้นลงและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าหรือลงรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง ข้อ 3.1 ที่กำหนดไว้ว่า "ผู้ประสงค์จะเสนอราคา ต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยซึ่งได้จดทะเบียนตามกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการขนถ่ายสินค้าหรือการบรรจุหีบห่อสินค้าหรือการจัดระวางให้แก่ผู้ส่งสินค้า หรือการรับฝากสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออก หรือการบริการต่าง ๆ เพื่อนำสินค้าเข้าหรือออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ให้การรับรอง" และได้เชิญผู้ที่จะเสนอราคาอย่างน้อย 3 ราย ที่จะต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ และผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางรถไฟที่ ICD ลาดกระบัง รวมทั้งผู้ประกอบการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่อื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้การดำเนินการดังกล่าวไม่เป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งคณะกรรมการจัดจ้างฯ ได้ตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นพบว่า มีบริษัทที่ดำเนินการขนถ่ายสินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับโดยทั่วไปและเข้ามาใช้บริการที่ท่าเรือแหลมฉบัง มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขอย่างน้อย 3 บริษัท
สตง. พิจารณาแล้วเห็นว่า คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษได้มีหนังสือเชิญผู้รับจ้างมาเสนอราคาเพียง 3 รายได้แก่ กิจการร่วมค้า บูรพา เทอร์มินอล บริษัท ทีไลน์ ทรานสปอร์ต จำกัด และบริษัท เอส ซี จี โลจิสติกส์ จำกัด แต่บริษัททีไลน์ื ทรานสปอร์ต จำกัด ได้ยื่นหนังสือขอสละสิทธิ์เสนอราคาโดยวิธีพิเศษ
ซึ่งจากข้อเท็จจริงปรากฎว่ามีผู้ประกอบการเกี่ยวกับท่าเรือจำนวนมากราย แต่คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษเชิญผู้รับจ้างมาเสนอราคาเพียง 3 ราย โดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณายกเว้นไม่เชิญผู้ประกอบการท่าเทียบเรือและผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางรถไฟที่ ICD ลาดกระบัง รวมทั้งผู้ประกอบการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่อื่น ๆ กรณีนี้จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกีดกัน หรือไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบการท่าเรือแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2543 ข้อ 9 วรรคแรก ที่กำหนดไว้ว่า "ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละขั้นตอนการจัดหา ต้องดำเนินการโดยเปิดเผย โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงคุณสมบัติและความสามารถของผู้เสนอราคา..."
นอกจากนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง อาจนำแนวทางตามหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร. (กวพ) 1305/ว 1170 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 เรื่อง การจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ที่กำหนดว่า "คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ขอเรียนซ้อมความเข้าใจแนวทางวิธีปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ผู้ดำเนินการจัดหาและเจ้าหน้าที่พัสดุจะต้องระบุเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องซื้อ และเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยวิธีพิเศษ เสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการ เพื่อให้ความเห็นชอบให้จัดซื้อโดยวิธีพิเศษตามระเบียบ ฯ ข้อ 27 ให้ชัดเจน และในขั้นตอนการดำเนินการตามระเบียบ ฯ ข้อ 57 (6) หากมีผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายพัสดุุดังกล่าวจำนวนหลายรายให้คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ เชิญผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายเข้าร่วมการแข่งขันราคาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้" มาปรับใช้โดยอนุโลม
อนึ่ง จากการตรวจสอบพบว่า รถหัวลากมีการติดสติ๊กเกอร์ตราอักษรชื่อบริษัท ทีไลน์ ทรานสปอร์ต จำกัดและบริษัท ธารสุวรรณ จำกัด ส่วนรถหางลากมีการพ่นสีตราอักษรชื่อของบริษัท ทีไลน์ ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งบริษัท ทีไลน์ ทรานสปอร์ต จำกัด ได้ยื่นหนังสือขอสละสิทธิ์เสนอราคาโดยวิธีพิเศษ
3. กรณีท่าเรือแหลมฉบังได้ลงนามว่าจ้าง กิจการร่วมค้า บูรพา เทอร์มินอล ประกอบด้วย 3 บริษัท คือ บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด และบริษัท โกลบอล อินเตอร์ จำกัด ซึ่งบริษัท สหไทยฯ ได้มีหนังสือยืนยันต่อคณะกรรมการการจัดจ้างฯ ว่าเป็นผู้ดำเนินการหลักของกิจการร่วมค้า บูรพา เทอร์มินอล เนื่องจากทราบดีว่าบริษัท สหไทย ฯ เป็นผู้มีประสบการณ์ ด้านการบรรทุกและขนถ่ายตู้สินค้าเป็นอย่างดี ส่วนบริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด เป็นผู้ให้การสนับสนุนในด้านการจัดทำระบบซอฟแวร์ที่ใช้ในการปฏิบัติงานในด้านนี้
จากการตรวจสอบการยื่นเอกสารเสนอราคามีผู้สนใจเข้ายื่นเสนอราคาจำนวน 2 ราย คือ กิจการร่วมค้า บูรพา เทอร์มินอล และบริษัท เอส ซี จี โลจิสติกส์ จำกัด พบว่า เป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติของผู้เสนอราคาตามที่กำหนดไว้ในขอบเขตของงาน (TERME OF REFERENCE : TOR) ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างบริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นหรือลง ทางรถไฟ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ดังนี้
3.1 คุณสมบัติของผู้เสนอราคา ข้อ 3.8 กำหนดไว้ว่า "ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องมีผลงานการบริหารจัดการตู้สินค้า โดยมีปริมาณตู้สินค้าไม่น้อยกว่า 300,000 TEUs/ปี (สามแสนทียูอีต่อปี) ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นับถึงวันยื่นซอเสนอราคา โดยเป็นมูลค่าต่อสัญญาและต้องเป็นคู่สัญญาโดยตรง ซึ่งเป็นผลงานที่แล้วเสร็จ พร้อมหนังสือรับรองผลงานจากหน่วยงานที่การท่าเรือ ฯ เชื่อถือได้"
จากการตรวจสอบพบว่า ผู้เสนอราคา ทั้ง 2 ราย คือ (1) กิจการร่วมค้า บูรพา เทอร์มินอล มีหนังสือรับรองผลงานของบริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด ผู้นำกิจการร่วมค้า ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการท่าเรือ โดยบริษัทสหไทย เทอร์มินอล จำกัด ได้มีหนังสือรับรองผลงานว่าเป็นบริษัทที่มีผลงานด้านการบริหารจัดการตู้สินค้า โดยในปี 2558 สามารถบริหารจัดการตู้สินค้าได้ในปริมาณ 303,296 TEUs และในปี 2559 สามารถบริหารจัดการตู้สินค้าได้ในปริมาณ 325,794 TEUs และ (2) บริษัท เอส ซี จี โลจิสติกส์ จำกัด มีหนังสือรับรองผลงาน ว่าบริษัท เอส ซี จี โลจิสติกส์ จำกัด เป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้ามีผลงานด้านการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ โดยในปี 2559 สามารถบริหารจัดการตู้สินค้าได้ในปริมาณไม่น้อยกว่า 300,000 TEUs/ปี ซึ่งหนังสือของทั้ง 2 บริษัท เป็นเพียงหนังสือรับรองผลงานของบริษัทที่ออกโดยบริษัทเอง
3.2. TOR ข้อ 6.3 กำหนดไว้ว่า "ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องมีอุปกรณ์ยกขนตู้สินค้าประเภท Reach Stacker และรถหัวลากพ่วงพร้อมรถพ่วงเพื่อทำการขนส่งตู้สินค้าอยู่ในความครอบครองและแสดงเอกสารคุณลักษณะของอุปกรณ์ยกขนตู้สินค้าประเภทReach Stacker และรถหัวลากพ่วงพร้อมรถพ่วงที่นำมาให้บริการในงานจ้างครั้งนี้"
จากการตรวจสอบพบว่า ผู้เสนอราคาทั้ง 2 ราย คือ กิจการร่วมค้า บูรพา เทอร์มินอล และบริษัท เอส ซี จี โลจิสติกส์ จำกัด ไม่ได้แสดงเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการครอบครองอุปกรณ์ยกขนตู้สินค้าประเภท Reach Stacker และรถหัวลากพ่วงพร้อมรถพ่วงตามที่กำหนดไว้ในขอบเขตของงานแต่อย่างใด
4. ประเด็นการทบทวนการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น หลังจากที่กิจการร่วมค้า ฯ ดำเนินการยกขนตู้สินค้าได้ 5 วัน กิจการร่วมค้า ฯ ได้มีหนังสือให้ท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจสอบพื้นที่ดำเนินกิจกรรม เนื่องจากมีสภาพชำรุดเสียหายไม่ปลอดภัยต่อการยกตู้สินค้า ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังได้ตรวจสอบตามที่กินการร่วมค้า ฯ แจ้ง พบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความจำเป็นต้องซ่อมทำก่อน จึงสามารถส่งมอบพื้นที่ให้กิจการร่วมค้า ฯ ดำเนินการต่อไป ซึ่งอยู่ระหว่างท่าเรือแหลมฉบังจะพิจารณาให้ชะลอการดำเนินการตามสัญญาหรือยกเลิกสัญญา ท่าเรือแหลมฉบังจะรีบดำเนินการพิจารณาและแจ้งให้ทราบต่อไป
จากการเข้าตรวจสังเกตการณ์ดูสภาพจริง เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พบว่า ท่าเรือแหลมฉบังได้ส่งมอบพื้นที่ให้กิจการร่วมค้า บูรพา เทอร์มินอล ผู้รับจ้างเข้าปฏิบัติงาน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 และในวันที่ 11 เมษายน 2560 ผู้รับจ้างปฏิบัติงานตามปกติและไม่ปรากฎข้อเท็จจริงหรือเอกสารหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีการซ่อมทำพื้นที่ดำเนินกิจกรรมแต่อย่างใด
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นข้อบกพร่องตามข้อ 1 - ข้อ 4 ดังกล่าวข้างต้น สาเหตุมาจากคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ เจ้าหน้าที่พัสดุและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามระเบียบการท่าเรือแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2543 และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด จึงขอให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการตามระเบียบแบบแผนที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยกำหนดไว้กับคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ เจ้าหน้าที่พัสดุ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
และหากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า การกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทย ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ เจ้าหน้าที่พัสดุ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป ถึงแม้จะปรากฎภายหลังว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ยกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้วก็ตาม
อนึ่งก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอข้อมูลไปแล้วว่า เกี่ยวกับโครงการนี้ ซึ่งใช้วิธีพิเศษในการคัดเลือกเอกชนเข้ามารับงาน ท่าเรือแหลมฉบัง มีการตั้งคณะกรรมการจัดจ้างขึ้นมาดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบการท่าเรือแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2543 โดยมีการเชิญเอกชน 3 ราย เข้าเป็นผู้ร่วมเสนอราคา ได้แก่ บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด บริษัท เอส ซี จี โลจิสติกส์ จำกัด และบริษัท ทีไลน์ ทรานสปอร์ต จำกัด
ขณะที่ บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด แจ้งว่า ได้ทำการจดทะเบียนกิจการร่วมค้าใหม่ และขอเข้าร่วมดำเนินการในนามกิจการร่วมค้า บูรพา เทอร์มินอล ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด และบริษัท โกลบอล อินเตอร์ จำกัด โดย บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด เป็นผู้ดำเนินการหลัก ส่วนบริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด เป็นผู้ให้การสนับสนุนในด้านการจัดทำระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการปฏิบัติงาน
ต่อมาในวันยื่นซองเสนอราคา (27 มี.ค.2560) มีผู้มายื่นซอง 2 ราย คือ บริษัท เอส ซี จี โลจิสติกส์ จำกัด และกิจการร่วมค้า บูรพา เทอร์มินอล ซึ่งคณะกรรมการจัดจ้างฯ ได้พิจารณาราคาของ กิจการร่วมค้า บูรพา เทอร์มินอล พบว่าเสนอราคาต่ำสุด และได้ลงนามว่าจ้าง กิจการร่วมค้า บูรพา เทอร์มินอล
ขณะที่ สตง. ตรวจสอบพบว่า ในขั้นตอนการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง รถหัวลากที่ใช้ในการปฏิบัติงาน มีการสติกเกอร์ตราอักษรชื่อ บริษัท ทีไลน์ ทรานสปอร์ต จำกัด ติดอยู่ ส่วนรถหางลากมีการพ่นสี ตราอักษรชื่อของ บริษัท ทีไลน์ ทรานสปอร์ต จำกัด เช่นกัน
ทั้งที่ บริษัท ทีไลน์ ทรานสปอร์ต จำกัด แจ้งขอสละสิทธิ์ในขั้นตอนการเสนอราคาโครงการนี้ไปแล้ว
โดยการตรวจสอบข้อมูลโครงการนี้ เริ่มต้นจากการที่ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในช่วงเดือน มี.ค.2560 สตง. ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เหตุใดท่าเรือแหลมฉบัง จึงต้องดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างโดยวิธีพิเศษ เข้ามารับจ้างงานบริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟเป็นการชั่วคราว ระยะเวลา 7 เดือน วงเงินกว่า 52 ล้านบาท
โดยปรากฏชื่อ บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งทำธุรกิจซื้อขายซอฟท์แวร์ และมีรายได้ในปี 2558 เพียงแค่ 3 แสนบาท เป็นผู้รับจ้าง
ทั้งที่ ในปัจจุบัน บริษัทเอกชนที่มีประสบการณ์ในการให้บริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟในประเทศไทย มีจำนวนกว่า 6 ราย
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ขยายผลการตรวจสอบพบว่า นางอัญชลีพร อภิศิตสวัสดิ์ กรรมการผู้มีอำนาจและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด เคยใช้นามสกุลเดิมว่า 'หรูสกุล' ซึ่งเป็นนามสกุลเดียวกับ 'นาวาเอก เบญจพล หรูสกุล เลขานุการของ พลเรือเอก อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ประธานกรรมการ กทท. โดยจากการสืบค้นข้อมูลในทะเบียนราษฎร พบว่า บุคคลทั้ง 2 มีความสัมพันธ์เป็น 'พี่น้องกัน' นางอัญชลีพร มีสถานะเป็นพี่สาว ส่วน นาวาเอก เบญจพล เป็นน้องชาย
ส่วน นายพลวศุตม์ มหาเอี่ยมศิริ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด เคยถูกกระทรวงการคลัง ทำหนังสือแจ้งเวียนหน่วยงานราชการ ว่า เป็นผู้ทิ้งงานหน่วยงานรัฐ จากการประกวดราคาซื้อโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบอีเมล์ กระทรวงยุติธรรม ระยะที่1 ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ วงเงิน10 ล้านบาท ของสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ในช่วงปลายเดือนต.ค.2557ที่ผ่านมา พร้อมกับ นายวิสูตร ทัศน์เอี่ยม และบริษัท โอจีเอ ซีนคอม จำกัด ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โอ จี เอ เมกะเทค จำกัด ขณะที่นางอัญชลีพร ปรากฎชื่อเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทนี้มาโดยตลอดเช่นกัน
ก่อนที่ กทท. จะสั่งยกเลิกการว่าจ้างเอกชนเข้ามารับงานบริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟ เป็นการชั่วคราว ระยะเวลา 7 เดือน วงเงินกว่า 52 ล้านบาท เป็นทางการในช่วงปลายเดือนเม.ย.2560 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ สำนักข่าวอิศรา ยังขยายผลการตรวจสอบพบข้อมูลว่า บริษัท แอดวานซ์ บิสซิเนส โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด ของนาง อัญชลีพร อภิศิตสวัสดิ์ อีกแห่งหนึ่ง ปรากฎชื่อปรากฎชื่อเข้าไปรับงานซื้อขายและติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) พร้อมอุปกรณ์ ณ สนามฟุตบอล กทท. วงเงิน 3,680,800 บาท โดยวิธีพิเศษเช่นกัน
จากการตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท แอดวานซ์ บิสซิเนส โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า การเข้าไปรับงานซื้อขายและติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) พร้อมอุปกรณ์ ณ สนามฟุตบอล กทท. วงเงิน 3,680,800 บาท ของ บริษัท แอดวานซ์ บิสซิเนส โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด เกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ค. 2558 ขณะที่การแจ้งเพิ่มวัตถุประสงค์การทำธุรกิจโทรทัศน์วงจรปิด ของบริษัทฯ เกิดขึ้นหลังจากได้รับงานไปแล้ว ในช่วงกลางเดือนก.ย.2559 คำนวณช่วงระยะเวลาห่างกันนานเกือบปีเศษ
และยังตรวจสอบพบว่า บริษัท แอดวานซ์ บิสซิเนส โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด เคยทำหนังสือถึงท่าเรือแหลมฉบัง ในช่วงเดือนก.ย.2558 เพื่อเสนอราคางานจ้างเหมาสร้างปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าชนิดบนราง ขนาดยกน้ำหนักไม่น้อยกว่า 40 เมตริกตัน ราคาคันละ 284 ล้านบาท และงานจ้างเหมาสร้างรถคานเคลื่อนที่ยกตู้สินค้า แบบ 6+1 สามารถยกตู้สินค้าน้ำหนักไม่น้อยกว่า 40 เมตริกตันใต้สเปรดเดอร์ จัดเรียงซ้อนตู้สินค้าได้สูง 6 ชั้น ราคาคันละ 97 ล้านบาท พร้อมกับ บริษัท บีซีดี5 จำกัด
ขณะที่จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานรัฐ พบว่า บริษัท บีซีดี5 จำกัด ปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญารับงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้ากับ บริษัท Dinson Industries Corporation จากจีน จำนวนหลายสัญญา ได้แก่
1. สัญญาจ้างเหมาสร้างรถคานเคลื่อนที่ล้อยาง (Rubber Tyred Gantry Crane:RTG) จำนวน 2 คัน วงเงิน 199.2 ล้านบาท (เฉลี่ยคันละ99,600,000 บาท) ตามสัญญาเลขที่ ทลฉ.จ. 70/2559 ทำสัญญาเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 59
2. จ้างเหมาสร้างปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Shoreside Gantry Crane) วงเงิน 251,664,000 บาท ตามสัญญาเลขที่ จ. 42/2559 ทำสัญญาเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 59
3. จ้างเหมาติดตั้งระบบ Main Hoist Emergency Brake สำหรับปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าชนิดเดินบนราง(Rail Mounted Shoreside Gantry Crane) 82,999,900.00 บาท วงเงิน 82,999,900 บาท ตามสัญญาเลขที่ จ. 37/2559 ทำสัญญาเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 59
รวมวงเงินทั้งสิ้น 533,863,900 บาท
และจากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกของสำนักข่าวอิศรา พบว่า
1. บริษัท บีซีดี5 จำกัด เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 30 มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการยื่นหนังสือเสนอราคางานต่อท่าเรือแหลมฉบัง ประมาณ 2 เดือนเศษ
2. แบบฟอร์มในการจัดพิมพ์หนังสือเสนอราคาของ บริษัท บีซีดี5 จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ บิสซิเนส โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด คล้ายกันอย่างมาก
3. เอกสารจดทะเบียนจัดตั้งของบริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่ง ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีการใช้บุคคลกลุ่มเดียวกัน ในการติดต่องานกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และทำบัญชีงบดุล
4. นาง สายพิณ พยอมสวย กรรมการผู้มีอำนาจ และผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท บีซีดี5 จำกัด มีนามสกุลและที่อยู่เดียวกับ น.ส.เปรมมิกา พยอมสวย อดีตกรรมการบริษัท แอดวานซ์ บิสซิเนส โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด ขณะที่เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ที่ นาง สายพิณ พยอมสวย แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คือ หมายเลข 02-578-80-00 เป็นเบอร์โทรศัพท์ของ THE OGA GROUP ซึ่งเป็นชื่อกลุ่มบริษัท ของ นาง อัญชลีพร อภิศิตสวัสดิ์
5. คนในบ้านเลขที่ 6 ซอยอรรณพนฤมิตร ถนนดินแดง แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งถูกใช้เป็นที่ตั้งบริษัท บีซีดี5 จำกัด ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศราว่า สาเหตุที่ที่อยู่ของบ้านหลังนี้ ถูกใช้เป็นที่ตั้งบริษัท บีซีดี5 จำกัด เป็นเพราะว่ามีคนที่รู้จักและมีบุญคุณกับ น.ส.อัครมุนี มาขอยืมที่อยู่ไปใช้ในการจดทะเบียนตั้งบริษัทฯ และไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับการทำธุรกิจของ บริษัท บีซีดี 5 จำกัด และเมื่อเวลามีจดหมายหรือเอกสารเกี่ยวกับบริษัทส่งมาที่บ้านหลังนี้ ก็จะมีคนของบริษัทมารับไป
(อ่านประกอบ : เปิดหลักฐานชุด2มัด บ.พี่สาวเลขาฯปธ.กทท-คู่เทียบราคาสร้างปั้นจั่นร้อยล.กลุ่มเดียวกัน, ผู้มีพระคุณขอยืมที่อยู่ตั้งบริษัท! คนบ้านซ.อรรณพฯ ปัดเอี่ยวบ.คว้างานปั้นจั่นกทท.ร้อยล.)
ปัจจุบันการจัดซื้อจัดจ้างทั้ง 2 กรณีนี้ อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ สตง. และกทท. เช่นกัน
อ่านประกอบ :
ลุยสอบท่าเรือแหลมฉบัง ใช้วิธีพิเศษจ้าง บ.ขายซอฟท์แวร์ รับงานขนสินค้า7เดือน52 ล.
เทียบชัดๆ6เอกชนvs.บ.ขายซอฟท์แวร์ ก่อนท่าเรือแหลมฉบังใช้วิธีพิเศษจ้างขนสินค้า 52 ล.
ใช้นามสกุลเดียวเลขาฯปธ.กทท.!เปิดตัวเจ้าของบ.ซอฟท์แวร์ ได้งานวิธีพิเศษขนสินค้า52ล.
ค้นทะเบียนราษฎรไขสัมพันธ์ลึก'นามสกุล'เลขาฯปธ.กทท.-เจ้าของบ.ซอฟท์แวร์ ที่แท้พี่น้องกัน!
ข้อมูลใหม่ บ.ซอฟท์แวร์ รับจ้างขนสินค้า 52 ล. ผู้ถือหุ้นโดนแจ้งชื่อทิ้งงาน ก.ยุติธรรม10ล.
พิรุธเพียบ! สตง.ยันลุยสอบท่าเรือแหลมฉบังจ้างบ.ขนสินค้า52ล.-ขยายผลจัดซื้อวัสดุฯรพ.มหาราชฯ
เบื้องหลัง!ผู้ถือหุ้นบ.ซอฟท์แวร์โดนแจ้งชื่อทิ้งงานก.ยุติธรรม10ล.-เสนอเอกสารเท็จ
ยกเลิกแล้ว!กทท.สั่งสอบท่าเรือแหลมฉบังจ้างบ.พี่สาวเลขาฯปธ.บอร์ด ขนสินค้า52ล.
ใช้วิธีพิเศษอีกแล้ว!บ.'พี่สาว'เลขาฯปธ.กทท.คว้างานติดตั้ง CCTV เพิ่ม1สัญญา 3.6 ล.
แกะรอย บ.พี่สาวเลขาฯปธ.กทท. แห่ง2 แจ้งทำธุรกิจทีวีวงจรปิดหลังได้งานเกือบปีเศษ!
ข้อมูลจัดซื้อกทท.ลามสร้างปั้นจั่น-รถคาน533ล.!ผู้ชนะตั้ง บ.ก่อนเสนอราคาแค่2เดือน
คนบ.พี่สาวเลขาฯปธ.กทท.โผล่หน้าบ้าน! เปิดตัวบริษัทคู่แข่งได้งานสร้างปั้นจั่นร้อยล.
ได้ยินชื่ออิศราวางสายทันที! เลขาฯปธ.กทท.ไม่ว่างแจงปมบ.พี่สาวคว้างานวิธีพิเศษ
เปิดหลักฐานชุด2มัด บ.พี่สาวเลขาฯปธ.กทท-คู่เทียบราคาสร้างปั้นจั่นร้อยล.กลุ่มเดียวกัน
755 ล้าน!โชว์รายได้ล่าสุด5บริษัทพี่สาวเลขาฯปธ.กทท.-ก่อนถูกสอบคว้างานวิธีพิเศษ
ผู้มีพระคุณขอยืมที่อยู่ตั้งบริษัท! คนบ้านซ.อรรณพฯ ปัดเอี่ยวบ.คว้างานปั้นจั่นกทท.ร้อยล.
ขมวดปม! หลักฐานอิศราvs.คำชี้แจง กทท. -ไฉนไร้ปมบ.พี่สาวเลขาฯปธ.บอร์ดคว้างานร้อยล.