ดร.พสุ ฟันธงธุรกิจไทยครึ่งหลังปี 60 เหนื่อย- 5 อุตฯ ถูก “disrupt”
รศ.ดร.พสุ ฟันธง 5 อุตสาหกรรมที่กำลังถูก “disrupt” การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก DATA การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากดิจิตอล 1.อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี หรือ ICT 2.มีเดีย สื่อมวลชน 3.ค้าปลีก 4.การเงินการธนาคาร และ5.การศึกษา”
วันที่ 19 มิ.ย.คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา “ฟันธงธุรกิจไทยครึ่งหลังปี 2560” เพื่อชี้ชัดเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน นำทีมโดย รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี และคณาจารย์จากทุกภาควิชา ณ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.พสุ กล่าวถึงธุรกิจครึ่งปีหลัง 2560 โดยรวมค่อนข้างเหนื่อยสำหรับภาคธุรกิจ แม้เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว แต่ก็พบว่า ยังไม่ได้อย่างที่ภาคธุรกิจหวังไว้ นอกจากนี้ภาคธุรกิจไทยต้องปรับตัวช่วงครึ่งปีหลัง ก็คือกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะทับถมทวีมากขึ้น ทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงแง่มีคู่แข่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาสร้างธุรกิจใหม่ หรือแม้แต่ผู้เล่นจากต่างประเทศที่จะบุกเข้ามาในไทย ทำให้ทุกธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทาย
“ครึ่งปีที่เหลือ จึงน่าจะเป็นอะไรที่เหนื่อยสำหรับภาคธุรกิจ”
รศ.ดร.พสุ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ภาคธุรกิจจะเห็นและชัดเจนมากสิ้นปีนี้คือ มีหลายบริษัท หลายธุรกิจที่กำลังถูก “disrupt” การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก DATA การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากดิจิตอล ซึ่งทำให้หลายๆอุตสาหกรรมที่เคยดำรงอยู่ต้องเปลี่ยนแปลง
“5 อุตสาหกรรมที่จะถูก “disrupt” มากที่สุด ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี หรือ ICT 2.มีเดีย สื่อมวลชน 3.ค้าปลีก 4.การเงินการธนาคาร และ5.การศึกษา” คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าว และว่าแม้แต่การบริหารจัดการภายในองค์กร ก็อาจจะถูก disrupt ด้วย วันนี้แนวโน้มหนึ่ง เราอาจจำเป็นต้องมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลด้านคน (people science) เพื่อวิเคราะห์พนักงานคนหนึ่งเข้ามา HR สามารถเก็บข้อมูลได้หรือไม่ คนจบมาแบบนี้ พื้นฐานแบบนี้ มีโอกาสเติบโตอย่างไร
รศ.ดร.พสุ กล่าวต่อว่า องค์กรธุรกิจไทยต้องปรับตัว ซึ่งในประเทศมีทางเติบโตได้ไม่มาก ฉะนั้นภาคธุรกิจต้องออกไปเติบโตในต่างประเทศ วันนี้มีหลายบริษัทเน้นการลงทุนต่างประเทศ แถบนี้ อาทิ เวียดนาม และอินโดนีเซีย หรือหากภาคธุรกิจจะเติบโตในประเทศไทยต้องจับส่วนแบ่งทางการตลาดให้ชัดเจนขึ้น เกษตร ท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐหาทางพ่วงไปให้ได้ หรือลงไประดับฐานรากใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง และเทคโนโลยีและนวัตกรรมเน้นสินค้าที่มีมูลค่า (high value)
รศ.ดร.พสุ กล่าวด้วยว่า สิ้นปีนี้ ถึงปี 2561 ธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จะเจอคู่แข่งแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน ฉะนั้นโอกาสเติบโตในประเทศจึงไม่ง่าย ขณะเดียวกันองค์กรธุรกิจ ผู้บริหาร พนักงานทุกคนต้องปรับตัวหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องใช้ประโยชน์จาก DATA และดิจิตอลเพื่อประโยชน์ทางการแข่งขัน
“เพื่อให้ภาคธุรกิจมีการเติบโตที่สอดคล้องกับนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลกำลังให้การส่งเสริม การบริหารจัดการต้องเน้นใน 3 เรื่องคือ องค์กร 4.0 ผู้นำ 4.0 และกลยุทธ์ 4.0 องค์กรจะมีความหลากหลายมากขึ้นจากบุคลากรหลายเจเนอเรชั่นมาทำงานร่วมกัน การพัฒนาบุคลากร สำหรับองค์กรยุคใหม่ต้องเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการส่งเสริมให้พนักงานมีทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้มีความรู้ความสามารถก้าวตามทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ขณะที่ผู้นำ 4.0 ต้องมีความถ่อมตนทางปัญญา เพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ส่วนกลยุทธ์ 4.0 คือการใช้มุมมองใหม่ๆ มาสร้างกลยุทธ์ต่างๆ ในการบริหารจัดการธุรกิจ พร้อมๆ กับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร”
ด้าน ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวว่า “นักการตลาดต้องไม่ดูแค่เทรนด์แต่ต้องมีวิสัยทัศน์คาดการณ์ได้มากกว่าพฤติกรรมที่ผู้บริโภคจะแสดงออก สำหรับการตลาด 4.0 ที่เป็นเรื่องของการตลาดดิจิทัลในยุคนี้ต้องไม่ใช่แค่เครื่องมือด้านสื่อสารการตลาด แต่สามารถสร้างให้เป็น Core Business ได้
"ผู้บริโภคในโลกยุคใหม่ไม่ได้เป็นแค่ Digital Consumers เท่านั้นแต่เป็น Digital Advocates และเป็น Digital Evangelists ที่จะมีการสร้างพลังของเน็ตเวิร์คในการแชร์ การสร้างแบรนด์ผ่านดิจิทัลต้องศึกษาการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อมกันจนถึงยุคที่เป็น Lifeline เครื่องมือในการเข้าใจลูกค้าต้องมากกว่า Internet of Things (IoT) แต่เป็น Internet of Lives (IoL) กลยุทธ์ของแบรนด์ในปัจจุบันต้องมีความรอบจัดและรอบด้านเพื่อสรรสร้างการตลาดที่ตอบโจทย์ไม่เพียงแต่เป็น Consumer Centric แต่เป็น Human Centric”
ขณะที่ รศ.ดร.อัษฎาพร ทรัพย์สมบูรณ์ หัวหน้าภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวถึงโลกธุรกิจที่กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทำให้ตำแหน่ง Data Scientist กำลังเป็นที่ต้องการของแทบทุกองค์กร โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีข้อมูลมาก ต้องอาศัยคนมาช่วยในการดึงข้อมูล การวิเคราะห์ และสรุปผลออกมา เพื่อนำเสนอผู้บริหารในการประกอบพิจารณาการตัดสินใจลงทุน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การตลาด หรือแม้กระทั่งการพัฒนาสินค้าตัวใหม่ขึ้นมา