ราคาไม่สูงขึ้น-เสี่ยงทุจริต! สตง.แนะ บิ๊กตู่ เลิกใช้งบแทรกแซงยาง-ซ้ำรอยรบ.อดีต
เผยหนังสือ สตง. แจ้ง บิ๊กตู่ หยุดใช้เงินแผ่นดินแทรกแซงยางตามรอยรบ.ในอดีต ชี้ผลสอบระบุชัด ทำแล้วราคาไม่สูงขึ้น แถมเสี่ยงขาดทุน-เปิดช่องเกิดปัญหาทุจริตเพียบ แนะวิธีการควบคุมพื้นที่ปลูก ปรับโครงสร้างการตลาด เพิ่มการใช้ยางประเทศแทน ช่วยลดความผันผวนอนาคต
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อแจ้งผลการตรวจสอบโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาและการบริหารจัดการสต็อกยางของรัฐบาล
โดยพบว่าการแปรรูปและเก็บรักษายางไว้ในโกดังของสถาบันเกษตรกรหรือของราชการ หรือโกดังของเอกชนเพื่อลดอุปทานยาง ให้มีราคารับซื้อที่เหมาะสมและยั่งยืนอยู่ที่ระดับประมาณ 120 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการดำเนินโครงการที่ตั้งสมมุติฐานและวิธีการดำเนินงานในรูปแบบเดียวกับโครงการอื่นของรัฐบาลในอดีตที่มุ่งแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำด้วยวิธีการแทรกแซงราคา ใช้เงินงบประมาณรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมาเก็บไว้ ก่อนจะมีการระบายสต็อกผลผลิตที่รับซื้อไว้เมื่อราคาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบของสตง. สรุปได้ว่าวิธีการดังกล่าวไม่สามารถทำให้ราคายางสินค้าสูงขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาการบริหารจัดการสต็อกสินค้าทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก หรือประสบปัญหาการขาดทุนเกินกว่าที่ควร รวมถึงยังมีแนวโน้มเกิดการทุจริตที่ตรวจสอบได้ยาก ไม่ต่างจากปัญหาในอดีต
สตง. จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อให้รัฐบาลพิจารณาเป็นข้อมูลประกอบการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้พิจารณาหลีกเลี่ยงการแก้ไขปัญหาโดยใช้วิธีการแทรกแซงราคายางแบบเดิม แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นต้องใช้วิธีการนี้ ควรเพิ่มความระมัดระวัง และต้องกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริง ตลอดจนต้องมีวิธีการดำเนินงานมาตรการควบคุมตรวจสอบที่มีความรอบคอบและรัดกุมในทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น และให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า และถึงมือเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง
สตง. ยังระบุด้วยว่า รัฐบาลควรพิจารณาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาที่ก่อให้เกิดผลต่อภาคครัวเรือนของเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย และไม่สร้างภาระผูกผันทางงบประมาณแก่รัฐบาลในระยะยาว เนื่องจากยางเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายกันทั่วโลก การขึ้นลงของราคาจึงผันแปรตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดโลก ขณะที่ยางพาราไทยเป็นสินค้าที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก และเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ไม่สามารถเป็นผู้กำหนดราคาได้ ทำให้ราคายางต้องอ้างอิงราคาจากตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ จึงมีความเสียงสูงต่อความผันผวนด้านราคา
ดังนั้น การควบคุมพื้นที่ปลูกยาง การปรับโครงสร้างด้านการตลาด การหาตลาดส่งออกใหม่ และเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศ จะเป็นการป้องกัน หรือลดความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาในอนาคต ตลอดจนเป็นการพัฒนายางพาราของประเทศให้มีความยั่งยืนต่อไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก tnews.teenee.com