เสกสรรค์ ประเสริฐกุล:การเมืองไทย 2 ทางเลือก บทหางเครื่อง-ผนึกกำลังฝ่ายค้านสร้างสรรค์
"...หลังรัฐประหาร ปี 2557 แทนที่รัฐบาลทหารจะรีบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างมวลชนเสื้อสี กลับเดินหน้ากำหนดนโยบายต่าง ๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของตน การทำสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวไม่ใช่ลักษณะของรัฐบาลที่ขึ้นมารักษาการชั่วคราว หากเป็นลักษณะของผู้ปกครองที่มีชุดความคิดของตนเอง และประสงค์จะดัดแปลงโลกให้เป็นไปตามนั้น..."
วันที่ 19 มิ.ย. 2560 คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัด Direk’s Talk เรื่อง ทิศทางการเมืองโลก การเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ ณ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถา เรื่อง การเมืองไทยกับสังคม 4.0 ถึงหัวข้อการสนทนาเป็นหัวข้อวิชาการที่การวิเคราะห์เป็นแบบวิชาการ ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้
ปรากฎการณ์ชูธงความดี
"ดังนั้นจึงหวังว่าจะไม่มีผู้ใดตีความไปในทางอื่น หรือไม่มีผู้ใดทำให้วัยชราของผมเงียบสงัดไปมากกว่านี้ แต่อีกนั่นแหละ ในฐานะที่ตัวเองเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์และมาพูดในที่ประชุมคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งจะพูดเรื่องอื่นไม่ได้ นอกจากเรื่องการเมือง อย่างไรก็ตาม ความหมาย “การเมือง” ที่จะใช้ในวันนี้ เป็นความหมายระดับกว้างสุด ดังนั้น จึงกินความรวมทั้งนักการเมืองในระบบและนักการเมืองนอกระบบ ทั้งผู้ที่แสวงหาชัยชนะในการเลือกตั้งและผู้แสวงหาอำนาจโดยการแต่งตั้ง เหตุผลที่ต้องกล่าวเช่นนี้ เพราะ 3-4 ปีที่ผ่านมา มักมีการพูดถึงการเมือง โดยโยงนัยยะไว้ที่นักการเมืองและพรรคการเมืองเท่านั้น ทำให้เข้าใจกันผิด ๆ ว่า มีแต่นักการเมืองฝ่ายเดียวที่เล่นการเมือง อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้เล่นการเมือง
คำพูดแบบรวบรัดดังกล่าว และนำมาบวกกับเรื่องคนดี คนไม่ดี จะกลายเป็นข้อสรุปที่ว่านักการเมืองที่เคยคุมอำนาจผ่านระบบเลือกตั้งล้วนเป็นคนไม่ดี ส่วนคนที่อยู่บนเวทีอำนาจด้วยวิธีอื่นล้วนไม่ใช่นักการเมือง ดังนั้นจึงเป็นคนดี แน่นอนวาทกรรมเช่นนี้ไม่เพียงแต่ขัดกับหลักวิชาของพวกเราเท่านั้น แต่ยังขัดกับธรรมชาติของความจริง เพราะที่ไหนมีอำนาจ ที่นั่นก็มีการเมือง และมีคนเล่นการเมือง เป็นเรื่องที่รู้กันมาตั้งแต่สมัยสามก๊ก ทั้งที่สมัยนั้นไม่มีระบบเลือกตั้ง จะว่าไปคนที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันชิงอำนาจหรือการใช้อำนาจ มีดีมีชั่วปน ๆ กันไป
ถามว่าทำไมจึงนำเรื่องนี้มาพูด คำตอบคือเพราะเป็นประเด็นสำคัญที่ช่วยอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองของเราระยะ 3-4 ปี มานี้ นับตั้งแต่การลุกฮือต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของกลุ่มคนเสื้อเหลือง ที่นำมาสู่การรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 มาถึงการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ2560
ใช่หรือไม่ ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพราะมีคนเชื่อว่าตัวเองกำลังทำความดี ด้วยการนำคนไม่มีลงมาจากเวทีอำนาจ จากนั้นเขียนกติกาการเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้คนไม่ดีกลับมามีอำนาจอีก หรือถ้าขึ้นมาได้ก็ต้องถูกฝ่ายคนดีควบคุมอย่างเข้มข้น
แน่นอน พูดเพียงเท่านั้นอาจจะดูง่ายไป ถ้าจะพูดให้ยากขึ้น ต้องบอกว่า ปรากฎการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นโดยการชูธงความดีเท่านั้น หากการชูธงดังกล่าวเป็นความคิดเห็นว่า ใครขัดแย้งกับใคร และเพราะอะไร หากเราถอดนามธรรมออกมาเป็นรูปธรรมแล้ว จะพบว่า พวกที่ถูกกล่าวหาเป็นคนไม่ดีนั้นล้วนผูกติดอยู่กับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
ส่วนผู้ถือตนเป็นคนดี ตอนแรกก็เป็นมวลชนคนชั้นกลางในเมือง กับแกนนำที่มาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน จากนั้นจึงมีการส่งไม้ต่อไปยังชนชั้นนำภาครัฐ ให้ช่วยลงดาบสุดท้ายดังนั้นเราจะเห็นวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ช่วง 2556-57 ไม่ได้เป็นความขัดแย้งของมวลชนที่ใส่เสื้อสีต่างกันเท่านั้น หากยังกินลึกไปถึงความขัดแย้งของชนชั้นนำเก่าที่โตมากับภาครัฐ และชนชั้นนำใหม่ที่โตมากับภาคเอกชน และขึ้นสู่อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้ง"
ความขัดแย้งสะท้อนความไม่ลงตัวในโครงสร้างอำนาจ
ดร.เสกสรรค์ กล่าวถึงฝ่ายแรกคุมกลไกรัฐ ราชการ ฝ่ายหลังมีมวลชนเรือนล้านเป็นฐานเสียงสนับสนุน ถ้าเราวางคอนเซ็ปต์ไว้เช่นนี้ก็จะเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งที่ใหญ่โตเกินเรื่องราวของบุคคลและคณะบุคคล แต่เป็นความขัดแย้งสะท้อนความไม่ลงตัวในโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย ซึ่งนำไปสู่การแย่งยึดพื้นที่ของกันและกันในระดับระบอบต่อระบอบ
แน่นอน ความขัดแย้งที่ลงลึกขนาดนั้นคงไม่ใช่เรื่องแก้ไขได้โดยง่ายด้วยวิธีจับมือปรองดองกันของบรรดาแกนนำ สีเหลือง-สีแดง ในขณะตัวละครเอกจริง ๆ แล้วถูกจับไว้นอก การเป็นคู่กรณีของชนชั้นนำภาครัฐนั้น สังเกตได้จากนับวันอคติของพวกเขายิ่งขยายจากความรังเกียจนักการเมืองไปสู่นักการเมืองและพรรคการเมืองโดยรวม
นี่คือความรังเกียจที่มีต่อผู้ชิงอำนาจ ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2534 และ 2549
นอกจากนี้เรายังสังเกตได้ว่า หลังรัฐประหาร ปี 2557 แทนที่รัฐบาลทหารจะรีบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างมวลชนเสื้อสี กลับเดินหน้ากำหนดนโยบายต่าง ๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของตน การทำสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวไม่ใช่ลักษณะของรัฐบาลที่ขึ้นมารักษาการชั่วคราว หากเป็นลักษณะของผู้ปกครองที่มีชุดความคิดของตนเอง และประสงค์จะดัดแปลงโลกให้เป็นไปตามนั้น
รธน. ปี 60 ชนชั้นนำภาครัฐหวังทวงคืน-รักษาพื้นที่ในเวทีอำนาจ
ดร.เสกสรรค์ ระบุถึงรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 อันเป็นผลงานของรัฐบาลปัจจุบันสะท้อนให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่า ชนชั้นนำภาครัฐต้องการทวงคืนและรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ในเวทีอำนาจไว้อย่างถาวร อีกทั้งจำกัดพื้นที่ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยไม่ให้อยู่ในฐานะผู้กุมอำนาจอีกต่อไป
"ที่ผมพูดเช่นนี้ ไม่ใช่ข้อกล่าวหา แต่เป็นข้อสังเกตที่ยืนยันได้จากข้อเท็จจริง โดยเฉพาะประเด็นรัฐธรรมนูญ เราสามารถมองเห็นเจตจำนงของผู้ตั้งได้จากบทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร
ประการแรก ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งแบบเดิมให้เป็นระบบใหม่ เรียกว่า จับฝันปันส่วนผสม ซึ่งอิทธิพลของพรรคใหญ่ถูกจำกัดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ขณะเดียวกันส่งเสริมโอกาสของพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก ระบบดังกล่าวจะทำให้ได้เสียงข้างมากของพรรคเดียวเป็นไปได้ยาก และรัฐบาลที่ตั้งขึ้นอาจต้องเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งไม่ค่อยมีเสถียรภาพ
พูดให้ชัดเจนขึ้น คือ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ระบบเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ ได้ถูกดัดแปลงให้ขึ้นต่อการเลือกตั้ง ส.ส.เขต โดยประชาชนใช้บัตรเลือกตั้งแค่ใบเดียว จากนั้นเอาคะแนนรวมของแต่ละพรรคจากเขตเลือกตั้งทั่วประเทศมาคำนวณหาจำนวนรวมของผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคควรมี และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ พรรคไหนชนะเลือกตั้ง ส.ส.เขตเต็ม โควต้าแล้วก็จะไม่มีสิทธิมี ส.ส. บัญชีรายชื่อได้เลย
ผลทางอ้อมของระบบเลือกตั้งเช่นนี้ ย่อมทำให้การเสนอนโยบายในระดับชาติของพรรคการเมืองถูกลดความสำคัญลง เพราะถ้าเราดูจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ในระบบเลือกตั้งเดิม ก็จะพบว่า การเลือก ส.ส.เขตนั้น ผู้ลงคะแนนมักจะเลือกตัวบุคคลมากกว่าพรรค ส่วนการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อมักเป็นการเลือกพรรคที่มีนโยบายโดนใจ
ประการต่อมา ในขณะที่อำนาจของนักการเมืองและพรรคการเมืองถูกจำกัดลงทั้งโดยตรงและโดยอ้อม บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญยังเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ ๆ ให้ชนชั้นนำภาครัฐอย่างเต็มที่ โดยกำหนดให้ข้าราชการชั้นสูงเป็นทั้งกรรมการสรรหาและเป็นผู้รับการสรรหาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและกลไกควบคุมต่าง ๆ
และที่น่าสนใจ คือ ในกระบวนการดังกล่าว บทบาทและอำนาจของฝ่ายตุลาการได้ถูกยกระดับให้สูงขึ้นและแผ่ขยายออกไปมาก
ประเด็นสำคัญที่สุด ดังที่ทุกท่านทราบดีอยู่แล้ว บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และกำหนดให้มีอำนาจร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในการรับรองหรือไม่รับรองผู้ที่มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เรื่องนี้เมื่อบวกรวมกับบทบัญญัติที่ให้นายกรัฐมนตรีสามารถเป็นบุคคลนอกรายชื่อของพรรคการเมืองได้ ก็ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอยู่ตรงไหน
ประการสุดท้าย ถ้าเราดูบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ก็จะพบว่า พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ กับ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งครม.ส่งร่างเข้าสภาแล้ว จะต้องออกมาภายใน 4 เดือน หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ อันนี้หมายถึงว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแทบจะกำหนดนโยบายอะไรเพิ่มไม่ได้เลย และอาจจะต้องกลายเป็นผู้สืบทอดนโยบาย คสช.เสียเอง
ยิ่งไปกว่านี้ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ยังมีบทบัญญัติต่าง ๆ ที่ทำให้แก้ไขได้ยาก จนถึงขั้นเกือบเป็นไปไม่ได้ ซึ่งหมายถึงว่าผู้ร่างมีวัตถุประสงค์จะตรึงโครงสร้างอำนาจดังกล่าวไว้ให้นานแสนนาน ดังนั้นเมื่อบวกรวมกับช่วงที่รัฐบาลทหารปกครองโดยตรงแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า การกุมอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 9-10 ปี
แน่ละ ถ้าพูดถึงตัวบุคคลหรือแม้แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ การสืบทอดอำนาจอาจจะไม่เป็นเส้นตรงขนาดนั้น แต่ถ้าพูดถึงชนชั้นนำภาครัฐแล้ว การต้องการพื้นที่ถาวรและอำนาจนำในปริมณฑลทางการเมือง เป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน"
ปุจฉา? ทำไมชนชั้นนำภาครัฐ-พันธมิตรสังคม กล้าร่าง รธน.เอียงข้าง
ดร.เสกสรรค์ กล่าวถึงประเด็นที่คิดว่าน่าสนใจมาก คือ ทำไมชนชั้นนำภาครัฐและพันธมิตรทางสังคม จึงกล้าร่างรัฐธรรมนูญที่เอียงข้างตนเองออกมาได้ขนาดนี้? เรื่องนี้ถ้าเราพักเรื่องผิดถูกชั่วดีชั่วเอาไว้ก่อน ก็อาจจะวิจารณ์ได้ในหลายทาง
"ในทัศนะส่วนตัวของผม คิดว่าเป็นไปได้ที่พวกเขาอาจจะรู้สึกว่า ฐานะชนชั้นนำของตนที่มีมาแต่เดิม กำลังถูกกัดกร่อนคุกคามทั้งโดยกลุ่มนักการเมืองที่โตมาจากภาคเอกชน และโดยระบอบประชาธิปไตยที่ผนวกมวลชนชั้นล่างเข้ามาสู่ระดับกำหนดนโยบายมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้นระบบทุนนิยมโลกในยุคโลกาภิวัฒน์ก็กำลังแปรรูปรัฐชาติให้เป็นแค่ผู้จัดการตลาด ซึ่งเป็นตลาดที่ในแต่ละวันมีแต่จะย่อยสลายวัฒนธรรมจารีต และทุบทำลายค่านิยมที่ฝ่ายอนุรักษ์ยึดถือ ด้วยเหตุดังนี้ ชนชั้นนำภาครัฐจึงต้องการกลับมามีฐานะนำ ในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับทุนนิยมโลกให้เป็นไปตามแนวทางที่ตนเองยังคงมีบทบาทและมีที่อยู่ที่ยืนครบถ้วน ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ ก็ต้องคงฐานะทางการเมืองของรัฐชาติกึ่งจารีตไว้ให้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่เปลี่ยนไป
ด้วยเหตุดังนี้ วาทกรรมเรื่องความดีจึงผูกติดอยู่กับวาทกรรมเรื่องความเป็นไทย และด้วยเหตุดังนี้ จึงมีการกำหนดทิศทางของประเทศ โดยผ่านยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากความวิตกกังวลดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เราคงต้องยอมรับว่า การยึดอำนาจของชนชั้นนำภาครัฐครั้งนี้มีมวลชนสนับสนุนอยู่ไม่น้อย รัฐประหาร ปี 2557 ได้รับการเรียกร้องและนำร่องด้วยการเคลื่อนไหวของมวลชน ซึ่งขยายตัวเป็นยุทธการที่โจมตีทั้งรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และล้มกระดานประชาธิปไตยไปในคราเดียวกัน
พลิกทฤษฎีรัฐศาสตร์เก่า ๆ
แม้ว่าที่ผ่านมาทั้งคณะรัฐประหารและขบวนที่นำร่องรัฐประหารต่างก็ยืนยันว่า ต้องการสร้างประชาธิปไตยฉบับที่ดีกว่า แต่โดยไม่เป็นทางการ ถ้าเราติดตามข่าวสารทั้งในสื่อหลักและโซเซียลมีเดีย ก็จะพบว่าปัจจุบันมีผู้คนที่สนับสนุนระบอบเผด็จการอย่างเปิดเผยมากขึ้น และเท่าที่มีการแสดงออก บรรดากลุ่มทุนใหญ่กับบรรดาชนชั้นกลางในเมืองดูจะรู้สึกมั่นคง สบายใจกับรัฐบาลอำนาจนิยมมากกว่าประชาธิปไตยอย่างชัดเจน
ถึงแม้ว่าคนเหล่านี้จะเป็นผู้ได้เปรียบในยุคโลกาภิวัฒน์ แต่ก็อดรู้สึกถูกคุกคามไม่ได้ เมื่อฐานะได้เปรียบของพวกเขาถูกท้าทาย โดยระบอบประชาธิปไตยที่อาศัยการเคลื่อนไหวมวลชนชั้นล่าง ๆ เป็นฐานเสียง ดังนั้น พวกเขาจึงขานรับเรื่องคนดีและความเป็นไทยด้วยความเต็มอกเต็มใจ ทำให้เสียงยืนยันที่ว่าประเทศไทยมีลักษณะพิเศษ และไม่จำเป็นต้องเหมือนฝรั่ง ดังกระหึ่มขึ้นมาพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ที่มีการศึกษาสูง กระทั่งเรียนหนังสือกับฝรั่งมาคนละหลาย ๆ ปี
ปรากฎการณ์ดังกล่าว นับว่าพลิกทฤษฎีรัฐศาสตร์เก่า ๆ ที่ว่า คนชั้นกลางเป็นฐานทางสังคมของระบอบประชาธิปไตยไปเลย ดังนั้น ไม่ว่าใครจะรู้สึกอึดอัดกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้แค่ไหนก็ตาม ผลการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ก็ยังปรากฎว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ได้รับการยอมรับโดยเสียงข้างมาก โดยมีคนเห็นชอบประมาณ 16 ล้าน 8 แสนเสียง ไม่เห็นชอบราว 10 ล้าน 5 แสนเสียง
แน่ละ โดยหลักการแล้วก็คงต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้โดยผ่านความเห็นชอบของประชาชน แต่ในโลกของความเป็นจริง คน 10 ล้านที่ไม่เห็นด้วย ก็ไม่ใช่คนหยิบมือเดียวที่จะมองข้ามได้ ทั้งนี้ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าในช่วงรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยดูจะมีพื้นที่น้อยมากในการนำเสนอทัศนะของตน
และยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่า ถอยไปต้นปี 2557 ประชาชนที่มาลงคะแนนเลือกตั้งโดยเห็นว่า การเลือกตั้งเป็นทางออกจากวิกฤติที่ดีกว่ารัฐประหาร ก็มีจำนวนมากถึงราว 20 ล้านคน ทั้ง ๆ ที่มีความพยายามที่จะขัดขวางการเลือกตั้งครั้งนั้นในหลาย ๆ แห่ง ดังนั้น ถ้าพิจารณากันตามเนื้อผ้า การที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 สอบผ่านประชามติ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนจำนวนมหาศาลแอบคิดต่างอยู่เงียบ ๆ
ด้วยเหตุดังนี้ การวางแผนผังจัดสรรอำนาจโดยไม่สอดคล้องกับสภาพดุลกำลังทางสังคมที่เป็นอยู่ โดยผลักดันฐานะครอบงำของฝ่ายอนุรักษ์มากเกินจริง จึงเท่ากับซ่อนแรงเสียดทานหรือกระทั่งระเบิดเวลาเอาไว้ตั้งแต่ต้น
เช่นนี้แล้วอะไรเล่าที่ทำให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกล้าทำเกิดดุลกำลังเปรียบเทียบระหว่างผู้สนับสนุนกับผู้คัดค้านอำนาจนำของชนชั้นนำภาครัฐ โดยบัญญัติให้เสียงของประชาชนมีผลน้อยที่สุดต่อการจัดตั้งรัฐบาลและการกำหนดนโยบาย"
ไทยเเลนด์ 4.0- ประชารัฐ เเผนเกมช่วงชิงมวลชน สร้างความชอบธรรม
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวอีกว่า "ในความเห็นส่วนตัวของผม คำตอบน่าจะอยู่ในนโยบาย 2 ประการ หนึ่ง คือ การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้หรือ หรือที่เรียกกันว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และสอง นโยบายขับเคลื่อนจุดหมายทางเศรษฐกิจดังกล่าวด้วยกลไกประชารัฐ แม้ว่าโดยภายนอกแล้วนโยบายทั้งสองอย่างดูเป็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่ผมคิดว่านี้เป็น Master Plan ในการช่วงชิงมวลชนและสร้างความชอบธรรมใหม่ของชนชั้นนำภาครัฐที่แยบยลมาก มันเป็นส่วนสำคัญของยุทธการยึดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อสถาปนาอำนาจนำ ซึ่งเป็นการวางแผนที่เป็นระบบและบูรณาการโจมตีจากทุกมิติเข้าด้วยกัน
แน่ละ กล่าวสำหรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น รัฐบาลชุดนี้ยังคงยึดโยงอยู่กับระบบทุนโลกาภิวัฒน์ ซึ่งดำเนินไปภายใต้แนวทางเสรีนิยมใหม่ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน 10 แห่ง รวมทั้งการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ล้วนเป็นโครงการที่จะใช้ดึงดูการลงทุนจากต่างชาติและทุนในประเทศ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructures ซึ่งคิดเป็นงบประมาณถึง 2.4 ล้านล้านบาท มีการขยายระบบโลจิสติกส์ในระดับอภิมหาโครงการหลายอย่าง ตั้งแต่เพิ่มเส้นทางขนส่งในระบบรางไปจนถึงการสร้างสนามบินและท่าเรือน้ำลึก ทั้งหมดนี้เพื่อความโยงใยอันแน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยกับทุนนิยมโลกทั้งสิ้น
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ได้ถอด 19 ธุรกิจออกจากบัญชี 3 แนบท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่อเปิดโอกาสให้ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจเหล่านี้โดยเสรี ซึ่งในบรรดาธุรกิจทั้ง 19 ประเภท มีธุรกิจการนำอสังหาริมทรัพย์ออกให้เช่า และธุรกิจบริการที่มีส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจเป็นคู่สัญญาด้วย
แต่ก็อีกนั่นแหละ การอาศัยระบบทุนนิยมที่ไร้ชาติมาสนองผลประโยชน์แห่งชาตินั้นนับเป็นเรื่องที่มีปัญหาย้อนแย้งกันอยู่ ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นรัฐบาลนี้ แต่มีมาพักใหญ่แล้ว
จริงอยู่ การลงทุนจากต่างชาติอาจจะช่วยทำหน้าที่เป็นหัวรถจักรฉุดลากเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในอัตราที่สูงขึ้น แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้นำไปสู่การกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ โดยอัตโนมัติ กระทั่งอาจสวนทางกันในหลาย ๆ กรณี
การที่รัฐไทยต้องลดภาษีนิติบุคคล ให้กับบรรดาผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเวลา 5 ปี อนุญาตให้เช่าที่ดินใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นได้ในระยะยาว และลดเงื่อนไขอีกหลาย ๆ อย่างให้กับนักลงทุนพอใจ ย่อมหมายถึงว่าผลประโยชน์สูงสุดจะต้องตกเป็นของฝ่ายทุนอย่างแน่นอน
ใชหรือไม่ว่า สภาพดังกล่าวย่อมขัดแย้งกับนโยบายความเหลื่อมล้ำหรือการปรับโครงสร้ารายได้ให้เป็นธรรมมากขึ้น"
ดร.เสกสรรค์ ระบุถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย สั่งสมตัวมาหลายทศวรรษแล้ว ยิ่งในยุคโลกาภิวัฒน์ช่องว่างระหว่างรายได้ยิ่งขยายกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว เดี๋ยวนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า คนรวย 10% แรกของประชากรไทยมีรายได้สูงกว่าคนจนสุด 10% ล่างถึง 35 เท่า และคนรวย 10% นี้เป็นเจ้าของทรัพย์สินของประเทศถึง 79%
ล่าสุด จากการจัดอันดับอภิมหาเศรษฐีของนิตยสารฟอร์บส์ ปรากฎว่า มีเศรษฐีไทยติดอันดับ 500 บุคคลที่รวยที่สุดในโลกถึง 4 คน บางคนถึงขั้นอยู่ในอันดับ 100 คนแรก โดยมีทรัพย์สินมากกว่า 5 แสนล้านบาท ส่วนประเทศไทยนั้นถูกจัดเป็นประเทศเหลื่อมล้ำอันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและอินเดีย
ทรัพย์สินประเภทหนึ่งที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี คือ ที่ดิน ดังเราจะเห็นได้ว่า ขณะที่เกษตรกร 40% ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และขณะที่คนไทยมากกว่า 3 ใน 4 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินใด ๆ เลย นักธุรกิจบางตระกูลกลับถือครองที่ดินไว้ถึง 6 แสน 3 หมื่นไร่ โฉนดที่ดิน 61% ของประเทศไทยอยู่ในมือประชากร 10% ที่รวยสุด
แน่นอน ความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินย่อมนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสทางการศึกษาและโลกาภิวัฒน์ สภาพดังกล่าวทำให้การเปลี่ยนฐานะทางชนชั้นของผู้เสียเปรียบเป็นไปได้ยาก ซึ่งก็ส่งผลทำให้โครงสร้างทางชนชั้นของสังคมไทยมีลักษณะ rigid แข็งตัวและสร้างรอยแยกถาวรให้กับสังคม
ความเหลื่อมล้ำสุดขั้วนั้นนำไปสู่ความรู้สึกไม่มั่นคงของทุกชนชั้น ด้วยเหตุดังนี้ทุกฝ่ายจึงเรียกหาอำนาจการเมืองมาดูแลตนหรือใช้มันเปลี่ยนเกมที่ตนกำลังเสียเปรียบ ซึ่งอาจจะเป็นอำนาจเผด็จการก็ได้ อย่างในกรณีคนชั้นสูงและคนชั้นกลางส่วนบน หรืออาจจะเป็นอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้อย่างในกรณีเกษตรกรรายย่อยในชนบท
จริงอยู่การใช้อำนาจการเมืองมาคุ้มครองผลประโยชน์ทางชนชั้นนั้นไม่ใช่เรือ่งใหม่ของมนุษยชาติ แต่ในยุคโลกาภิวัฒน์ความปั่นป่วนผันผวนในเรื่องนี้ได้ทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ทั้งในสังคมไทย ในยุโรป และสหรัฐอเมริกา อเมริกาใต้ ตลอดจนที่อื่น ๆ
ไทยเเลนด์4.0 มีจุดหมายดี มุ่งพาชาติพ้นกับดักรายได้
กลับมาเรื่องประเทศไทย 4.0
ดร.เสกสรรค์ ชี้ว่า "มันอาจจะเร็วเกินไปที่จะประเมินความสำเร็จหรือล้มเหลวของนโยบายนี้ แต่ถ้าพูดกันอย่างยุติธรรม นโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้นมีจุดหมายที่ดี ในการมุ่งพาประเทศไทยก้าวให้พ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ทั้งนี้ โดยลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก แล้วหันมาโฟกัสที่การค้าและการบริการ อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงเปลี่ยนกระบวนการผลิต การทำงานมาสู่ระบบดิจิทัล และอาศัยนวัตกรรมกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นแกนหลักของการสร้างรายได้ แต่ก็อีกนั่นแหละ คำถามยังคงมีอยู่ว่าคนไทยพร้อมแค่ไหน ในการก้าวกระโดดไปสู่การทำงานในระบบเศรษฐกิจ 4.0"
ในเรื่องนี้ประเด็นความเหลื่อมล้ำยังคงเข้ามาเป็นอุปสรรคอย่างเลี่ยงไม่พ้น ถ้าเราดูตัวเลขจากผู้มีงานทำ 37.4 ล้านคน แรงงานในระบบอายุ 40 ปีขึ้นไปมีถึง 46% และสัดส่วนแรงงานในระบบ 50.5% เรียนหนังสือไม่เกินชั้นประถม ในจำนวนนี้มี 1.2 ล้านคนไม่มีการศึกษา ในเมื่อแรงงานครึ่งหนึ่งอายุมากและมีการศึกษาน้อย การปรับตัว ยกระดับทักษะให้เป็นแรงงาน 4.0 คงทำได้ยากทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความเป็นไปได้ที่อำนาจต่อรองของคนงานจะลดลงมาก เพราะการผลิต การค้า และงานบริการนับวันจะใช้แรงงานคนน้อยลง โดยมีคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนที่ คนงานที่ปรับทักษะให้สอดคล้องกับหุ่นยนต์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ก็คงมีจำนวนน้อย จำนวนคนที่ตกงานน่าจะมีมากขึ้น กลายเป็นสินค้าล้นตลาดที่ราคาตกต่ำลง
ล่าสุด อีคอนไทย หรือสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ได้ประเมินว่าน่าจะมีอย่างน้อย 8 อาชีพที่เสี่ยงตกงาน เพราะเทคโนโลยี 4.0
อาชีพดังกล่าว ได้แก่ พนักงานขายปลีกหน้าร้าน ในห้าง และพนักงานขายตรง, พนักงานโรงแรม, พนักงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน, แรงงานในภาคอุตสาหกรรม, แรงงานในภาคโลจิสติกส์ , บุรุษพยาบาลดูแลคนสูงวัยหรือผู้ป่วย, คนขับรถยนต์และรถบรรทุก และคนทำงานเคาน์เตอร์เซอร์วิสในภาคธุรกิจต่าง ๆ
ในบรรดากลุ่มเสี่ยง กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นนับว่าน่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะอุตสาหกรรมดังกล่าวถือครองสัดส่วน 80% ของมูลค่าการส่งออก แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในยุค 2.0-2.5 ซึ่งในสัดส่วน 80% นี้ มี 25% ที่เปราะบางมากเพราะการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี
ในทางตรงกันข้ามฝ่ายผู้ประกอบการดูเหมือนจะมีความพร้อมมากกว่าในการเข้าสู่ยุค 4.0 ดังจะเห็นจากการที่หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยยืนยันว่าปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่มีความพร้อมเข้าสู่ธุรกิจ 4.0 แล้ว
นโยบายของหอการค้าเองก้พร้อมผลักดันให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกประมาณ 1 แสนรายทั่วประเทศเข้าสู่ธุรกิจการค้าและบริการในระดับ 4.0 โดยตั้งเป้าไว้ในแผงงานปี 2560-61 ว่าจะยกระดับผู้ประกอบการในหอการค้าจำนวน 5 หมื่นรายให้มีศักยภาพสูงขึ้นและสร้างรายได้รวมเพิ่มขึ้น 30% หรือราว ๆ 2-3 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันจีดีพีจากภาคการค้าและบริการคิดเป็นสัดส่วน 52% ของจีดีพีประเทศ
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า การใช้ทุนข้ามชาติมาช่วยฉุดลากเศรษฐกิจไทยก็ดี ความสับสนอลหม่านเรื่องแรงงานในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ก็ดี ล้วนแล้วแต่จะนำกลับมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหมายถึงว่าการลดช่องว่างระหว่างรายได้ยังคงเป็นแค่ความฝันระยะไกล
เข็นระบบสวัสดิการ-สังคมสงเคราะห์ อุดช่องโหว่ความเหลื่อมล้ำ
ดร.เสกสรรค์ บอกว่า ทางผู้บริหารชุดปัจจุบันคงรู้ปัญหาดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นรัฐราชการจึงต้องหันมาใช้ระบบสวัสดิการอ่อน ๆ และระบบสังคมสงเคราะห์เพื่อลดทอนแรงกดดันจากชนชั้นล่างสุด ในการช่วยเหลือดูแลคนจนที่มาลงทะเบียนไว้ 14 ล้านคน
นอกจากนี้ฝ่ายรัฐก็ไม่ได้อาศัยการลงทุนจากต่างชาติเป็นแรงขับเศรษฐกิจ 4.0 อย่างเดียว หากยังคิดยุทธศาสตร์ที่เรียกว่ากลไกประชารัฐขึ้นมาเป็นเครื่องจักรใหญ่อีกตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
จุดที่น่าสนใจที่สุดของนโยบายหรือกลไกประชารัฐก็คือ มันไม่ได้ถูกออกเบบบมาเพื่อการเติบโตของจีดีพีเท่านั้น หากยังมีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ไปพร้อม ๆ กัน ตามนโยบายประชารัฐ รัฐราชการเสนอตัวเป็นแกนนำประสานความร่วมมือระหว่างทุนใหญ่กับธุรกิจรายย่อย หรือแม้แต่เกษตรกรในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งนี้โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคมเป็นภาคีขับเคลื่อนด้วย
ด้วยเหตุดังนี้ นโยบายประชารัฐจึงมีนัยทางการเมืองสูงมาก เพราะเป็นการจับมือกันระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเอกชน เคลื่อนไหวลงสู่มวลชนระดับฐานราก ซึ่งทับซ้อนกับฐานเสียงของนักการเมือง ถ้าเรื่องนี้ทำสำเร็จก็อาจจะส่งผลให้การเมืองภาคตัวแทนกลายเป็นโมฆะได้
พูดกันอีกแบบหนึ่งมันก็คือความพยายามที่จะแปรความขัดแย้งทางชนชั้นที่หลายท่านเกลียดและกลัวมาเป็นความร่วมมือทางชนชั้นภายใต้การนำของรัฐราชการ ดังนั้นกลไกประชารัฐจึงมีกลิ่นอายของความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ อยู่พอสมควร แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกถึงลักทธิ Corporatism กับนิยามเรื่องรัฐของ Hegel
มุ่งลอยเเพนักการเมือง ผลักออกนอกระบบ
สิ่งที่เราไม่รู้คือนโยบายนี้มุ่งลอยแพตัดตอนนักการเมืองมาตั้งแต่แรกด้วยการทำให้พวกเขาเป็นคนนอกกระบวนการพัฒนาประเทศหรือเป็นแค่ผลพลอยได้ของสูตรเก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ที่แน่ ๆ คือ นทางนโยบายแล้วมักถูกออกเบบบมาหักล้างตอบโต้นโยบายประชานิยมโดยตรง
ดังจะเห็นได้จากคำพูดของผู้นำเครือข่ายประชาสังคมท่านหนึ่ง ซึ่งกล่าวว่า “ประชานิยมคือการเอาเงินของรัฐไปแจกชาวบ้าน นักการเมืองเอาบุญคุณ ชาวบ้านอ่อนแอเรื่อยไป ไม่หายจน ประชารัฐ คือการส่งเสริมความเข้มแข็งของประชาชนคนรากหญ้า ให้พ้นความยากจน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ สามารถควบคุมนักการเมือง ทำให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”
แน่นอน เมื่อตัดเรื่องเจตนาออกไปแล้ว คำถามก็ยังคงมีอยู่ว่าการหวังให้กลุ่มทุนใหญ่เป็นผู้ขับเคลื่อนการยกระดับฐานะของธุรกิจเอสเอ็มอีและชนชั้นล่าง ๆ จะไม่สวนทางกับธรรมชาติของระบบทุนนิยมหรอกหรือ มันเป็นไปได้หรือไม่ที่ปลาใหญ่จะไม่กินปลาเล็ก
มันอาจจะเร็วเกินไปที่จะมีข้อสรุปแบบฟันธงในเรื่องนี้ออกมา แต่ที่น่าสนใจมากก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่ได้กำหนดให้ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบใด แต่เน้นว่าต้องเป็นระบบที่ประชาชนได้ประโยชน์อย่างทั่วถึงแบะยั่งยืน อันนี้ต่างจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ยืนยันว่า ประเทศไทยต้องต้องยึดถือในระบบเศรษฐกิจเสรีและอาศัยกลไกตลาดเท่านั้น
เป็นไปได้หรือไม่ว่า การไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวอาจะทำให้รัฐสามารถเข้าไปไกลเกลี่ยผลประโยชน์ระหว่างทุนใหญ่กับผู้ผลิตรายย่อยได้ง่ายขึ้น และบางทีอาจจะมีผลประโยชน์นอกกลไกตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ทุกท่านคงเห็นแล้วว่าเที่ยวนี้ชนชั้นนำภาครัฐไม่ได้เข้ามากุมอำนาจอย่างเฉื่อยเนือย หรือแค่รักษาผลประโยชน์เดิม ๆ ไปวัน ๆ ตรงกันข้าม พวกเขาเข้ามาเปิดฉากรุกทางการเมืองอย่างเข้มข้นเป็นระบบ ถึงขั้นมี Master Plan ในการสถาปนาอำนาจนำของตนให้มั่นคง ยั่งยืน และอยู่ได้ในยุคโลกาภิวัฒน์
พูดอีกแบบหนึ่ง คือ 3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ในเมืองไทยไม่ได้สะท้อนแค่ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเก่ากับเครือข่ายการเมืองของนายทุนบางกลุ่มเท่านั้น หากยังสะท้อนความพยายามของชนชั้นนำภาครัฐที่จะสร้างสังคมตามแนวคิดอนุรักษ์นิยมคู่ขนานไปกับการเกี่ยวร้อยกับทุนนิยมโลก มันเป็นความพยายามที่จะดำรงฐานะของรัฐราชการในการบริหารระบบทุนไร้พรมแดน
แต่ประเด็นมีอยู่ว่าอุดมการณ์และวาทกรรมของรัฐชาติที่เป็นแบบรัฐราชการนั้น โดยเนื้อแท้แล้วก็ไปกันไม่ได้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ขับเคลื่อนทุนไร้ชาติไร้พรมแดน หรือแม้แต่ Content ของเศรษฐกิจ 4.0
ด้วยเหตุดังนี้ สภาพขัดกันเองระหว่างนโยบายเศรษฐกิจที่แลไปข้างหน้ากับนโยบายทางการเมืองและสังคมที่แลไปข้างหลังของรัฐไทยจึงปรากฎให้เห็นอยู่ตลอดเวลา เช่น ความขัดแย้งระหว่างการศึกษาแบบท่องจำศิโรราบกับเศรษฐกิจที่เน้นนวัตกรรม เป็นต้น
ดังที่ศาสตราจารย์โนม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) ผู้โด่งดังได้ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อไม่นานมานี้ ลัทธิเสรีนิยมใหม่นั้นถือปัจเจกชนเป็นตัวตั้ง และใช้กลไกตลาดกร่อนสลายสังคม ชุมชน ชาติ หรือองค์รวมใด ๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าในใจมากว่า ในขณะที่รัฐราชการของไทยสมาทานลัทธิ Neoliberal ซึ่งมีทั้งแนวคิดและการกระทำที่เป็นปรปักษ์กับ Concept ผลประโยชน์แห่งชาติ รัฐนี้จะยังคงใช้วาทกรรมรัฐชาติกึ่งจารีต ขับเคลื่อนสังคมให้หมุนตามศูนย์อำนาจได้แค่ไหน
กระนั้นก็ตาม เมื่อพิจารณาจากภาพรวมแล้ว สิ่งที่คสช.เสนอนับเป็นการ challenge ครั้งใหญ่ต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองตลอดจนนักทฤษฎีฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งถ้าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับผังอำนาจและแนวทางบริหารประเทศแบบ top down ก็คงต้องมีข้อเสนอแตกต่างในระดับที่ grand พอ ๆ กันไม่ใช่พูดแค่หลักการลอย ๆ
เรียนตรง ๆ ถ้าพรรคการเมืองใดคิดอะไรไมได้มากไปกว่าชนชั้นนำภาครัฐ หรือไม่กล้าแตะต้องลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือไม่กล้าคิดต่างในเรื่องใหญ่ ๆ ก็ป่วยการจะมีพรรคเหล่านั้น เพราะพวกเขาจะกลายเป็นแค่กลุ่มแสวงหาอำนาจและเป็นแค่ส่วนตกแต่งของพลังอำนาจที่ขับเคลื่อนรัฐราชการและควบคุมสังคมไทยอยู่แล้ว
แต่ก็อีกนั่นแหละ เรื่องนี้มีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อย เพราะพรรคการเมืองและนักการเมืองรุ่นเก่าจำนวนหนึ่งล้วนเติบโตมาจากช่วงระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 ดังนั้นจึงคุ้นเคยกับการร่วมมือกับชนชั้นนำภาครัฐในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีคนนอก
ดังนั้นฉากหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้น คือ พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งผนึกกำลังกันหนุนผู้นำจากกองทัพ ทั้งเพื่อกีดกันพรรคที่เคยชนะพวกเขามาในการเลือกตั้งหลายครั้งหลัง และชิงส่วนแบ่งทางอำนาจมาไว้กับตน แม้จะต้องเล่นบทพระรองก็ตาม
การดูถูกหมิ่นหยามนักการเมืองและพรรคการเมืองนั้น เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำภาครัฐแสดงออกอย่างเปิดเผยมาตลอดช่วงหลังรัฐประหาร ทั้งนี้เนื่องจากมันเป็นวาทกรรมหรือฐานคิดที่ใช้ลดฐานะนำของสถาบันประชาธิปไตยอย่างสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ชนชั้นนำเก่ามียุทธศาสต์ต่อสู้ดีกว่านักการเมือง
สามปีที่ผ่านมาคณะรัฐประหารและมวลชนที่สนับสนุนมักจะใช้วาทกรรมต่อต้านคอร์รัปชันพุ่งเป้าใส่นักการเมือง ซึ่งตอนแรกก็อาจจะหมายถึงพรรครัฐบาลที่ถูกโค่น แต่ต่อมากลับออกไปในทางเหมารวมนักการเมืองทั้งหมด ทั้งทๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วข้าราชการ กับพ่อค้า นักธุรกิจ ต่างหากที่เป็นต้นแบบของระบบทุจริตในประเทศไทย และการคอร์รัปชันก็ไมได้หายไปไหนในช่วงการปกครองแบบอำนาจนิยม
จากการประกาศค่าดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เมื่อต้นปี 2560 ประเทศไทยถูกระบุว่าได้คะแนนเพียง 35 จาก 100 ซึ่งทำให้อยู่ในอันดับ 101 จาก 176 ประเทศ คะแนนดังกล่าวนับว่าต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ 43 คะแนน
ก่อนหน้านี้ในปี 2557 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 76 แต่คะแนนยังคงอยู่ที่ 38 เหมือนเดิม สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คะแนนลดลงในการประเมินครั้งล่าสุด ก็เพราะมีการนำข้อมูลความเป็นประชาธิปไตยเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย
อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องคอร์รัปชันนี้ยังคงเป็นประเด็นการเมืองที่มีนัยสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทย ดังเราจะเห็นได้จากคำถาม 4 ข้อเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งฝ่ายรัฐตั้งขึ้นและรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันตอบ
ใช่หรือไม่ว่า คำถามเหล่านั้นแท้จริงแล้วคือการเปิดฉากรุกทางการเมืองต่อบรรดานักการเมืองอีกระลอกหนึ่ง โดยผู้กุมอำนาจในปัจจุบันช่วงชิงเป็นฝ่ายกระทำก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น
แต่อย่าเข้าใจผิด ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นแค่ความเคลื่อนไหวในระดับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่หลายท่านอาจมองว่าต้องการสืบทอดอำนาจ หากเป็นการต่อสู้ในระดับชิงระบอบของ State Elites ที่ต้องการสถาปนาความชอบธรรมของตนและลดทอนความชอบธรรมของคู่แข่ง
ซึ่งถ้าเรามองในระดับนี้ก็จะพบว่า ฝ่ายชนชั้นนำเก่ามีสำนึกและมียุทธศาสตร์ในการต่อสู้มากกว่านักการเมืองหรือพรรคการเมือง ซึ่งมักมุ่งหวังชัยชนะในระดับที่แคบกว่ากันมาก แค่ชัยชนะของบุคคลหรือพรรคของตนเท่านั้น
อันที่จริงประเด็นธรรมาภิบาลตามความหมายสากลไม่ได้เป็นแค่เรื่องศีลธรรมจริยธรรมหรือเรื่องคนดีคนเลวแบบฉาบฉวย หากเป็นกระบวนการบริหารจัดการที่นะไปสู่ประสิทธิภาพที่สะอาดและปราศจากข้อกังขา กระบวนการดังกล่าวประกอบด้วยหลักนิติธรรม หลักความโปร่งใส หลักกระจายอำนาจ หลักการมีส่วนร่วม และหลักฉันทามติเป็นสำคัญ
ดังนั้นถ้ากล่าวในเชิง concept ล้วน ๆ ระบอบประชาธิปไตยย่อมสร้างรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลได้ง่ายกว่าระบอบอำนาจนิยมอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี ไม่ทราบเป็นเพราะมีแผลกันอยู่บ้างหรือมีเหตุผลใด บรรดานักการเมืองจึงไม่ได้ออกมาโต้แย้งในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะมีท้วงติงบ้างก็แค่เป็นรายบุคคล
โอกาสเดียวพรรคการเมืองต่อรองกับราชการ ต้องร่วมมือเหนียวเเน่น
ในสายตาของผม โอกาสเดียวที่พรรคการเมืองจะต่อรองกับราชการได้ คือต้องร่วมมือกันเองอย่างเหนียวแน่น และตอบคำถามของชนชั้นนำภาครัฐในทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องตอบคำถามใหญ่ด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาและการปฏิรูปตามครรลองประชาธิปไตย ที่พิสูจน์ได้ว่าเหนือกว่า ดีกว่า เป็นจริง และเป็นธรรมมากกว่า
ดังนั้นการเมืองในยุคไทยแลนด์ 4.0 จึงมีแนวโน้มที่จะไปได้ทั้งสองทาง คือทางแรกนักการเมืองเล่นบทหางเครื่อง คอยผัดหน้าทาแป้ง ให้กับชนชั้นนำภาครัฐที่จะกุมอำนาจต่อในฐานะรัฐบาลประชาธิปไตยกลายเป็นการเมืองแบบที่ท่านอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่าระบอบ “เกี้ยเซี่ย” หรือ “เกี้ยซิยาธิปไตย”
ทางที่สอง พรรคการเมืองส่วนใหญ่ผนึกกำลังกันทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ โดยมีข้อเสนอแนะหรือข้อโต้แย้งเชิงนโยบายที่แตกต่างจากแนวคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยม อันนี้ถ้าเกิดขึ้นจริงก็เป็นปรากฎการณ์ที่เร้าใจยิ่ง และเป็นการสมทบส่วนที่สำคัญให้กับพัฒนาการทางการเมืองในประเทศของเรา
กล่าวสำหรับภาคประชาชนโดนทั่วไป ฐานะของพวกเขาเป็นเช่นใดภายใต้เงื่อนไขไทยแลนด์ 4.0 และกลไกประชารัฐ ตลอดจนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
อันดับแรก ถ้าพูดเฉพาะเรื่องเลือกตั้ง เสียงของพวกเขาคงจะมีน้ำหนักลดลง ทั้งนี้เพราะระบบเลือกตั้งใหม่และอำนาจของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งจะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองไหนตั้งรัฐบาลได้โดยพรรคเดียว และเมื่อเป็นเช่นนั้นทางเลือกในระดับนโยบายของผู้ลงคะแนนเลือกตั้งก็ดูจะหายไปด้วย
จะว่าไปแม้แต่ในเรื่องนี้ ชนชั้นนำภาครัฐและมวลชนห้อมล้อมก็ได้ขับเคลื่อนวาทกรรมดักหน้าไว้แล้วว่าการเลือกตั้งไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย วาทกรรมดังกล่าวใช้ประโยชน์ได้ถึงสองทาง คือด้านหนึ่งลดทอนเครดิตของการเมืองแบบเลือกตั้ง ขณะเดียวก็คล้ายว่าจะหันเหความสนใจของประชาชนจากประเด็นที่เสียงของพวกเขามีน้ำหนักน้อยลง
กระนั้นก็ตาม ที่ผ่านมาเสียงของประชาชนเคยมีน้ำหนักมาก ในการจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนโยบายที่พวกเขาพอใจ คนเหล่านี้ถูกทำให้เงียบสนิทมาตลอดระยะเวลาสามปี ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ชัดว่าพวกเขาคิดอย่างไร และจะแสดงออกทางการเมืองแบบไหน เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ทุกท่านคงนึกออกว่าในอดีต ชาวนาไทยเคยเจอสภาพที่ถูกทอดทิ้งให้จมปลักอยู่กับความเสียเปรียบ และไม่ถูกนับในทางการเมืองอยู่เป็นเวลานาน ด้วยเหตุนี้ เมื่อพรรคการเมืองหนึ่ง เข้ามาเสนอแนวทางประชานิยมหนุนช่วยพวกเขาในเรื่องหนี้สินและราคาผลผลิต บรรดาเกษตรกรจึงหันมาสนับสนุนพรรคนี้อย่างท่วมท้น และกลายเป็นพวกที่ตื่นตัวทางการเมืองแบบฉับพลัน
ก็น่าสนใจว่าเมื่อแนวทางประชานิยมถูกปิดกั้น ชะตากรรมของพวกเขาจะเป็นเช่นใด
ก่อนหน้ารัฐประหาร 2557 แวดวงวิชาการเคยพูดถึงประเด็นการเกิดขึ้นของคนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดซึ่งส่วนใหญ่แล้วคือเกษตรกรรายย่อย ปัจจุบันคนชั้นนี้คือเป้าหมายหลักที่นโยบายประชารัฐต้องการช่วงชิงมาเป็นภาคี ดังนั้นจึงน่าสนใจมากกว่าจากนี้ไป กลไกของฝ่ายอนุรักษ์จะสลายความเจ็บช้ำน้ำใจของชาวนาเสื้อแดงได้หรือไม่และในการเลือกตั้งครั้งหน้าฐานมวลชนกลุ่มนี้จะย้ายค่ายหรือไม่
อับดับต่อมา พ้นจากการเมืองภาคตัวแทนและการเลือกตั้งแล้วการเมืองภาคประชาชนเล่าจะมีสภาพเป็นเช่นใดภายใต้กฎกติกาการเมืองชุดล่าสุด พื้นที่สำหรับการเมืองภาคประชาชนยังมีเหลือหรือมีเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน
เรื่องนี้ถ้าพูดกันตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้วเราอาจจะมองโลกในแง่ดีได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ยังคงยืนยันเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่าง ๆ ไว้โดยละเอียด ในหมวด 3 ตั้งแต่มาตรา 25 ถึงมาตรา 49 อีกทั้งยังมีมาตรา 77 ซึ่งกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องในการตรากฎหมายแต่ละฉบับ และมาตรา 133 ที่เปิดโอกาศให้ประชาชนเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าหมื่นคนเพื่อเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันสิทธิเสรีเสรีภาพได้
อย่างไรก็ตาม คำมั่นสัญญาในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เรื่องความเสมอภาค ความเป็นธรรม หรือสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น ดูจะมีเงื่อนไขมากเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงื่อนไขในด้านความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งเอื้อต่อการตีความแบบครอบจักรวาม ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบที่กฎหมายเล็กกฎหมายน้อยกำหนดไว้ กฎหมายในเมืองไทยมีถึงกว่า 1 แสนฉบับ ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีกี่ฉบับที่ลดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
นอกจากนี้แล้วสิทธิเสรีภาพของชาวบ้านย่อมขัดแย้งกันในระดับประสานงานกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจสังคมในประเทศไทย ซึ่งสรุปได้ด้วยคำสองคำคือ เหลื่อมล้ำ และอยุติธรรม
ดังนั้นลำพังมีกฎหมายคุ้มครองก็ไม่ได้หมายความว่าช่องว่างตรงนี้จะหดแคบลงโดยพลัน เรามีตัวอย่างมากมายที่สิทธิชุมชนถูกละเมิดโดยทุนใหญ่หรือไม่ก็โครงการของรัฐเอง อีกทั้งตัวบุคคลที่เป็นผู้นำชาวบ้านจำนวนไม่น้อย ก็สูญเสียหายไปอย่างไร้ร่องรอย
พูดอย่างถึงสุดแล้ว ถ้าเราเข้าใจว่าการเมืองภาคประชาชนนั้นมักจะเป็นเรื่องปากท้องและฐานทรัพยากรของชุมชน เราก็คงมองเห็นว่านโยบายสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ดี นโยบายไทยแลนด์4.0 สามารถนำไปสู่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรังได้ อย่างเช่นในกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ เป็นต้น
แม้ว่านโยบายประชารัฐ โดยกองทุนหมู่บ้าน จะมีโครงการเปิดร้านค้าชุมชนถึง 2 หมื่นแห่ง และตลาดประชารัฐอีกราว1,300แห่ง แต่ถ้าท้องถิ่นยังคงเต็มไปด้วยปัญหาที่ดินทำกินและปัญหาถูกรุกล้ำฐานทรัพยากร การพัฒนาเศรษฐกิตรากหญ้าในแนวนี้ก็คงไม่สงบราบรื่นเท่าใด
แน่นอน ในยุคไทยแลนด์4.0 ภาคประชาชนเองก็อาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเหมือนกัน ในระยะหลัง ๆ พวกเขาได้ใช้เครือข่ายโซเชียลมีเดีย และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ มาสนับสนุนการต่อสู้ของตน ตั้งแต่การปกป้องลำน้ำใหญ่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ไปจนถึงการคัดค้านโครงการใหญ่ของฝ่ายรัฐและฝ่ายทุน ความก้าวหน้าดังกล่าวทำให้ “การเมืองข้างถนน” กลายเป็นการเมืองคีย์บอร์ดมากขึ้นเรื่อย ๆ
บางทีอาจจะเพราะเหตุนี้บวกกับสภาพการชุมนุนล้นเกินก่อนเดือนพฤษภา2557 ตลอดจนความรู้สึก insecure อ่อนไหวในเรื่องอุดมการณ์ของรรัฐ ชนชั้นนำที่กุมอำนาจจึงต้องการจำกัดขอบเขตของประชาธิปไตยทางตรงไปพร้อมๆกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน
กล่าวคือนอกจากกลไกควบคุมนักการเมืองตามรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ยังมีกลไกอีกหลายอย่างที่รัฐราชการใช้ควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชน เช่น พ.ร.บ.การชุมนุนสาธารณะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ กับ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ฝ่ายรัฐกำลังผลักดันอยู่
อันนี้ไม่ทราบจะตรงกับที่นักวิชาการบางท่านเรียกว่าเป็นสภาวะ Deep State หรือ “รัฐพันลึก” ได้หรือไม่ กล่าวคือ จะมีเลือกตั้งหรือมีรูปแบบภายนอกที่เป็นประชาธิปไตยก็มีไป แต่เบื้องลึกแล้วรัฐยังคงควบคุมสังคมโดยผ่านสารพัดกลไก
ต่อไป กลุ่มสุดท้ายที่ผมอยากจะเอ่ยถึงด้วยความเกรงใจ คือ ปัญญาชนและนักวิชาการ ชนกลุ่มนี้มีศักยภาพทางการเมืองสูงมากตั้งแต่สัมยโบราณ เพียงแต่วิวัฒน์จากนักปราชญ์ราชบัณฑิต ปุโรหิต สมณะ มาเป็นผศ. รศ. คอลัมนิสต์ หรือนักวิชาการอิสระเท่านั้นเอง
ปัญญาชนถือตน ปชต. ไม่เชื่อมโยงกับภาค ปชช.
เท่าที่ผมสังเกตเห็น ซึ่งอาจจะเป็นการมองผิดไปก็ได้ ผมรู้สึกว่าปัญญาชนที่ถือตนว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยนั้นไม่ค่อย connect กับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเท่าใด ส่วนใหญ่พอใจอยู่กับการออกความเห็นใน Facebook กระทั่งบางส่วนออกจะรังเกียจการเมืองภาคประชาชน โดยเห็นว่าแกนนำบางคนเคยต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
สำหรับเรื่องนี้ผมเองค่อนข้างรู้สึกประหลาดใจ ทั้งนี้ เพราะสมัยทศวรรษ 1960 บรรดานักศึกษา ปัญญาชน และนักวิชาการพากันเข้าหาประชาชนจนไม่เป็นอันอยู่ในห้องเรียน ครั้นเติบโตมีประสบการณ์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ในการพ่ายแพ้ก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่าดุลกำลังเปรียบเทียบทางการเมืองนั้นเลื่อนไหลแปรเปลี่ยนไปมาอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่ว่าสังคมกำลังมีปัญหาอะไร ใครก็ตามที่ไม่รู้จักเกี่ยวร้อยกับพลังที่เป็นคุณในแต่ละช่วงสถานการณ์ผู้นั้นย่อมโดดเดี่ยวอย่างแน่นอน
การเมืองเป็นเรื่องของฉันทามติ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจึงต้องหาทางเอา 10 สู้ 1 เสมอ เพื่อให้คนส่วนใหญ่อยู่ข้างเดียวกับตน ไม่ใช่เอาหนึ่งสู้ 10 แล้ว นั่งภูมิใจอยู่ท่ามกลางความพ่ายแพ้
แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมสงสัยว่าปัญญาชนรุ่นลูกรุ่นหลานคงไม่ได้คิดอะไรในแนวนี้อีกแล้ว และสำหรับหลายคน เสรีภาพในการแสดงความเห็น ซึ่งอาจจะเป็นความคิดก็ได้ หรือโดยไร้ความคิดก็ได้ นับเป็นจุดหมายสูงสุดในตัวของมันเอง
มันเป็นไปได้หรือไม่ว่า ลัทธิ neoliberalism นั้นซึมลึกเข้ามาอยู่ในสังคมไทยมากกว่าที่เราคิด แม้แต่ในหมู่ปัญญาชนที่ถือตนว่าหัวก้าวหน้าหรือปัญญาชนประชาธิปไตย แนวคิดเรื่องปัจเจกชนนิยมสุดขั้วยังเข้ามาครอบงำอย่างหนาแน่น
ระบบ Facebook ก่อให้เกิดสภาพหนึ่งคนหนึ่งสำนัก และเมื่อเกิดหลายสำนักสิ่งที่หายไปคือสำนึก โดยเฉพาะสำนึกเรื่ององค์รวม หลายท่านให้ความสำคัญกับเสรีภาพส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นมากกว่าการผนึกกำลังกันเป็นกลุ่มก้อนขบวนการ บางท่านใช้เวลาไปในการวิพากษ์ โต้แย้ง หรือเสียดสี ตรวจสอบคุณสมบัติของปัญญาชนด้วยกัน มากกว่าจะสร้างขยวนการปัญญาที่มีพลัง
และถ้าจะให้พูดตรง ๆ ยกเว้นนักวิชาการอาวุโสที่เป็นผู้นำทางความคิดกับนักศึกษากลุ่มเล็ก ๆ ในท้องถิ่นแล้ว ผมเห็นว่าปัญญาชนจำนวนมากเกินไป แทบจะไม่พยายามเข้าไปเกี่ยวร้อยกับทุกข์ร้อนรูปธรรมของประชาชนหมู่เหล่าต่าง ๆ เลย
ด้วยเหตุดังนี้ พวกเขาจึงยังไม่สามารถทำให้ความเห็นของตน matter ในสังคมไทย ศักยภาพทางการเมืองของพวกเขายังคงเป็นแค่ศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในโลกเสมือนจริง แต่ยังไม่ใช่พลังในโลกแห่งความจริง
ผมหวังว่าสิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้คงจะไม่ใช่การมองโลกเชิงลบมากเกินไป ผมเพียงเเต่ชวนท่านมามองความเป็นจริงโดยไม่หลบตา เพราะมีเเต่มอบตัวให้กับความจริงเท่านั้น เราจึงจะสามารถเเก้ไขปัยหาต่าง ๆ ได้ตรงตามเงื่อนไขเหตุปัจจัยที่ทำให้มันเกิดขึ้น
เนื่องจากได้รับเชิญมาพูด ในงานของศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม ผมก็ได้เเต่หวังว่าเเง่คิดที่นำมาเสนอ จะมีส่วนจุดประเด็นให้ท่านไปทำวิจัยต่อได้บ้าง ไม่มากก็น้อย สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ยังขาดองค์ความรู้มาประกอกบการพิจารณาเป็นอย่างมาก ส่วนตัวผมเองก็ทำได้เเค่ตั้งข้อสังเกตผ่านสายตาชายชรา
นับจากพ.ศ.2475 มาถึงวันนี้ เราคงต้องยอมรับว่าเส้นทางวิวัฒนาการทางการเมืองของไทยไม่ใช่เส้นตรง หากยักเยื้อเเบบ dialectical หรือเป็นลักษณะวิภาษ หลายปีที่ผ่านมาการเมืองการปกครองไทยเเปรเปลี่ยนไปตามความขัดเเย้งระหว่างพลังอำนาจนิยมกับพลังประชาธิปไตย ซึ่งด้านหลักเป็นความขัดเเย้งระหว่างชนชั้นนำเก่าจากภาครัฐกับชนชั้นนำใหม่จากนอกระบบราชการ ทั้งนี้ โดยมีประชาชนหลายชั้นชนเป็นตัวเเปรสำคัญ
เเต่ในกระบวนการคลี่คลายของความขัดเเย้งทุกรอบ ก็ยังมีความขัดเเย้งอื่น ๆ เข้ามาเเทรก เช่น ความขัดเเย้งระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน ความขัดเเย้งระหว่างคนชั้นกลางเก่ากับคนชั้นกลางใหม่ หรือความขัดเเย้งระหว่างนายทุนกับคนงาน ความขัดเเย้งระหว่างคนชนบทกับคนเมืองหลวง กระทั่งความขัดเเย้งในหมู่ชนชั้นปกครองเเละในหมู่ประชาชนด้วยกัน
ความขัดแย้งที่ทับซ้อนกันเหล่านี้ เป็นแหล่งที่มาของการจัดกำลังเผชิญหน้ากันในยามที่สถานการณ์กำเนินมาถึงช่วงวิกฤต ซึ่งฝ่ายไหนมีดุลกำลังเปรียบเทียบที่เหนือกว่าและมีแนวทางการต่อสู้ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงเฉพาะหน้ามากกว่า ฝ่ายนั้นก็ชนะไป
ปัญหาใหญ่ของบ้านเราคือมักตกค้างอยู่ในภาวะ antithesis นานเกินไป จนหา synthesis ไม่เจอ
ในวันนี้ ชนชั้นนำภาครัฐได้กลับมาสถาปนาอำนาจนำของตนและฟื้นบทบาทของรัฐราชการในยุคโลกาภิวัฒน์ได้สำเร็จ แต่สภาพดังกล่าวจะยั่งยืนแค่ไหนคงไม่มีใครตอบได้อย่างมั่นใจ
การที่รัฐธรรมนูญ 2560 จัดผังอำนาจโดยขยายบทบาทของข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนไว้มาก อันนี้เท่ากับนำระบบราชการเข้ามาซ้อนทับและครอบงำปริมณฑลทางการเมือง ซึ่งในด้านหนึ่งนับเป็นการลดทอนบทบาทของประชาชนในกระบวนการคัดสรรและผู้กุมอำนาจ แต่ในอีกด้านหนึ่งย่อมจะทำให้ภาคราชการมีการเมืองมากขึ้น ข้าราชการระดับสูงกลายเป็นนักการเมืองไปโดยปริยาย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าระบบวุฒิสภาแต่งตั้งจะยิ่งทำให้นักการเมืองนอกระบบผุดขึ้นเต็มไปหมด
แน่นอน ที่ไหนมีการเมืองที่นั่นก็มีการแข่งขันชิงอำนาจ ที่นั่นก็มีความขัดแย้ง และความขัดแย้งในหมู่ผู้ปกครองก็เคยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้ง .