จากสหรัฐฯสู่ไทย! เจาะฐานคดีพิสูจน์ 'เส้นผม' เคย(พลาด)ทำผู้บริสุทธิ์'ติดคุก'หรือไม่?
"...การให้ความสำคัญกับพยานด้านนิติวิทยาศาสตร์ของไทยเพิ่งได้รับความสนใจและมีความพยายามที่จะเผยแพร่ความรู้ด้านพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ซึ่งในอดีตพนักงานสอบสวนมักจะให้ความสำคัญกับพยานบุคคลมากกว่า ขณะที่พยานบุคคลดังกล่าวสามารถกลับคำให้การได้ตลอดเวลาและอาจละเลยพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ไป เนื่องจากมีกระบวนการเก็บรวบรวมที่ยุ่งยากกว่ามาก.."
ในการนำเสนอเงื่อนปมปัญหา กรณีเอฟบีไอ(FBI) ยอมรับว่าพิสูจน์หลักฐานคดีเส้นผม เส้นขน และเส้นใย พลาดกว่าร้อยละ 90 ทำผู้บริสุทธิ์ติดคุก! ผ่านการรายงานข่าวของศูนย์ข่าวสืบสวนวิสคอนซิน (The Wisconsin Center for Investigative Journalism) ประเทศสหรัฐอเมริกา (http://wisconsinwatch.org) 2 ตอนที่ผ่านมา คือ เขย่าระบบยุติธรรมสหรัฐ! FBI พิสูจน์หลักฐาน'เส้นผม'พลาดร้อยละ90 ทำผู้บริสุทธิ์ติดคุก(1) และ เขย่าระบบยุติธรรมสหรัฐ(2) รื้อคดีพิสูจน์'เส้นผม' FBIพลาดเพียบ 'พ่อเข้าคุก-ครอบครัวพัง'
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตั้งประเด็นคำถามท้ายรายงาน เพื่อเชื่อมโยงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา มาสู่ประเทศไทย ว่า ในกระบวนการตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานคดีเส้นผม เส้นขน และเส้นใย ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ว่า เคยมีความผิดพลาดเกิดขึ้น และทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องรับโทษ ทั้งที่ ไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุ แบบเดียวกันเกิดขึ้นด้วยหรือไม่
ถ้ามีเราจะทำอะไรกับเรื่องนี้กันบ้างไหม?
เพื่อหาไขคำตอบที่ชัดเจนจากคำถามนี้ สำนักข่าวอิศรา ได้สืบค้นฐานข้อมูลคำพิพากษา คำสั่งคำร้อง และคำวินิจฉัยศาลฎีกา จากจำนวนทั้งหมด 119,204 รายการ พบว่า มีคดีที่เกี่ยวการตรวจพิสูจน์เส้นผม 8 คดี
ในจำนวนนี้ เป็นคดีที่เกี่ยวกับการตรวจเปรียบเทียบเส้นผม 3 คดี (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 553/2539 , คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1449/2535 และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4437/2531) ส่วนอีก 2 คดี ระบุว่าได้ส่งเส้นผมไปตรวจพิสูจน์ แต่มิได้ระบุวิธีตรวจพิสูจน์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3186/2543 และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1325/2542)
และ อีก 3 คดีไม่ได้ระบุว่ามีการส่งตรวจพิสูจน์ แต่กลับสามารถชี้ว่าหลักฐานดังกล่าวโยงไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เช่น เป็นของโจทก์ หรือเป็นของจำเลยได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3511/2552, คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1794/2542, คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4589/2539)
อย่างไรก็ตาม ในการสืบค้นข้อมูลมีข้อจำกัด คือ สามารถตรวจสอบได้เพียงคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกาเท่านั้น เนื่องจากเอกสารส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้จนกว่าการดำเนินคดีจะถึงที่สุด
ขณะที่ ดร.สุธิดา สุวรรณรังษี ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศราว่า การให้ความสำคัญกับพยานด้านนิติวิทยาศาสตร์ของไทยเพิ่งได้รับความสนใจและมีความพยายามที่จะเผยแพร่ความรู้ด้านพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ซึ่งในอดีตพนักงานสอบสวนมักจะให้ความสำคัญกับพยานบุคคลมากกว่า ขณะที่พยานบุคคลดังกล่าวสามารถกลับคำให้การได้ตลอดเวลาและอาจละเลยพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ไป เนื่องจากมีกระบวนการเก็บรวบรวมที่ยุ่งยากกว่ามาก
“สมมุติว่าพี่ถูกจับ และมีประจักษ์พยานมาชี้ว่าพี่เป็นคนทำ พนักงานสอบสวนอาจจะฟังที่พยานบุคคลมากกว่าแทนที่จะไปหาพยานหลักฐานที่จะมัดตัวในการกระทำความผิดของพี่ หรือแม้แต่การที่พี่ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำอาจเป็นคำพูดที่ฟังแล้วตกไป ดังนั้นที่ผ่านมาเลยมีคำพูดที่เรามักได้ยินบ่อยๆ เช่นกรณีแพะ หรือกรณีที่คนจนต้องนอนคุกเนื่องจากไม่มีเงินมาประกันตัวหรือต่อสู้คดีในชั้นสอบสวน แต่พอพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เริ่มบูมขึ้นมาเลยมีการรื้อคดี มีการพูดเรื่องคดีแพะมากขึ้น เรื่องของกระบวนกการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน หรือการนำพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาในสำนวนคดีแทนพยานบุคคล ก็ช่วยมาพิสูจน์ใหม่”
ปัญหา คือ พยานบุคคลสามารถเปลี่ยนคำให้การได้ตลอดเวลา จึงมีความพยายามนำพยานหลักฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในกระบวนการยุติธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ต้องเริ่มตั้งแต่ให้ทั้งพนักงานสอบสวน อัยการ และศาลมีความรู้และให้ความสำคัญกับพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์
ที่ผ่านมา อำนาจในการร้องให้มีการเก็บพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อยู่ที่พนักงานสอบสวน โดยอาจจะเรียกให้กองพิสูจน์หลักฐาน หรือ เรียกให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ตั้งเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเพื่อสนับสนุนการทำงานของตำรวจ เป็นผู้เก็บและพิสูจน์หลักฐานก็ได้
ทั้งนี้ การตัดสินใจว่าจะเรียกให้ผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสองหน่วยงานไปเก็บพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน
ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์ ยังระบุด้วยว่า “เราจะเชื่อมั่นได้ไงว่าใช้ดุลยพินิจได้ถูกต้อง”
ทั้งนี้ เพราะมุมมองของนักกฎหมายหรือพนักงานสอบสวนอาจแตกต่างกัน ในขณะที่กองพิสูจน์หลักฐานและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นนักวิทยาศาสตร์ มุมมอง ความถนัดหรือความเข้าใจเรื่องพยานหลักฐานเรื่องนิติวิทยาศาสตร์อาจไม่ตรงกันได้ จึงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหา
ส่วนคำถามที่ว่าเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการตรวจพิสูจน์หลักฐานเป็นไปอย่างเป็นธรรมนั้น ดร.สุธิดา ระบุว่า การพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หมายความว่าสามารถทำซ้ำได้ หากให้ผลไม่เหมือนกันก็สามารถตรวจสอบ หรือทวนกลับถึงกระบวนการได้และกระบวนการตรวจพิสูจน์ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเชื่อถือได้ ไม่ใช่สิ่งที่กระทำสืบต่อมา
ทั้งนี้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็ตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มการถ่วงดุลการทำงานของกองพิสูจน์หลักฐานซึ่งสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนมีตัวเลือก หากคิดว่าการพิสูจน์หลักฐานที่ได้รับไม่เป็นธรรมก็สามารถมีทางเลือกในการขอใช้บริการได้ แต่อำนาจหน้าที่ของสถาบัน ฯ ก็ยังจำกัดให้ตรวจได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ใน มาตรา 258 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2559) ก็ได้ระบุไว้ว่า “..กำหนดให้การสอบสวนต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์ และจัดให้มีบริการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่มีอิสระจากกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก”
นอกจากนี้แล้ว กระทรวงยุติธรรมยังเปิดช่องทางต่าง ๆ กรณีมีข้อร้องเรียน คดีแพะ คดีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยมีสำนักงานยุติธรรมจังหวัดและสำนักงานยุติธรรมชุมชนรับเรื่องร้องเรียน
ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะมีแพะไทยจะมาจากการตรวจพิสูจน์หลักฐานผิดพลาดหรือไม่ หรือมีใครต้องรับบาปจากกระบวนการสอบสวนที่ไม่รัดกุมพอ ความหวังในการรื้อฟื้นคดีก็ดูจะเป็นไปได้ยาก
แม้ว่าไทยจะมีพรบ.การรื้อฟื้นคดีอาญามามากกว่า 30 ปี แต่ก็พบว่าแนวโน้มในการรื้อฟื้นคดีมีน้อยมาก ปัญหาหลักเกิดมาจากเงื่อนไขของการปรากฏพยานหลักฐานใหม่ในคดี
ทั้งนี้ ในขณะที่ข้อมูลในประเทศไทย ยังไม่มีความชัดเจนว่า สุดท้ายแล้ว ในกระบวนการตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานคดีเส้นผม เส้นขน และเส้นใย ในช่วงที่ผ่านมา เคยมีความผิดพลาดเกิดขึ้น และทำให้ผู้บริสุทธิ์ ต้องรับโทษ ทั้งที่ ไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุ แบบเดียวกันเกิดขึ้นด้วยหรือไม่
แต่ในส่วนของ สหรัฐอเมริกา เมื่อมีการตรวจสอบพบข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า การตรวจพิสูจน์เส้นผม เส้นขน ที่นำมาใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีมีความผิดพลาดเกิดขึ้น กระบวนการรื้อฟื้นคดี เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับผู้บริสุทธิ์ ที่ตกเป็นเหยื่อ จากความผิดพลาด ก็เริ่มเดินหน้าเป็นทางการทันที
ซึ่งจากการสำรวจคดีที่เกี่ยวข้องกับการตรวจพิสูจน์เส้นผมเส้นขนผิดของเอฟบีไอทั่วสหรัฐอเมริกา โดยคดีที่ตรวจสอบแล้ว 1,600 คดี พบข้อผิดพลาดในคดีกว่าร้อยละ 90 ทั้งนี้ คาดว่ามีคดีที่ต้องตรวจสอบทั้งสิ้นประมาณ 3000 คดี และยังมีคดีอื่น ๆ ที่ยังตรวจสอบไม่ได้เนื่องจากข้อกฎหมายได้กำหนดไว้
หนึ่งในคดีที่กำลังมีการดำเนินการรื้อฟื้นได้แก่คดีของนายริชาร์ด เบอราเน็ก ที่ต้องจำคุก 243 ปี จากคำพิพากษาคดีข่มขืนแม่ลูกสองในปี 1990 (2533) ปัจจุบัน นายเบอราเน็กถูกจำคุกไปแล้ว เป็นเวลา 27 ปี
ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2560 ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาเทศมณฑลเดน ได้พิพากษาแล้วว่า ให้นำคดีเข้าสู่กระบวนการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ เนื่องจากพบหลักฐานใหม่จากการตรวจสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ที่ชี้ว่าเส้นขนที่พบในชุดชั้นในของคนร้ายและอสุจิจากชุดชั้นในของเหยื่อ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนายเบอราเน็ก แย้งกับผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานของเอฟบีไอในอดีต
ก่อนเทคโนโลยีการตรวจดีเอ็นเอจะแพร่หลาย กว่าสามพันคดีในความรับผิดชอบของเอฟบีไอใช้การตรวจพิสูจน์วัตถุพยานที่เป็นเส้นผมเส้นขนด้วยการตรวจเปรียบเทียบโครงสร้าง ก่อนจะเกิดกระแสการโจมตีการตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีดังกล่าวในช่วงทศวรรษ 1990
เอฟบีไอได้ยอมรับภายหลังว่า ลำพังเพียงการตรวจเส้นผมเส้นขนภายนอก บอกได้เพียง เผ่าพันธุ์ของเจ้าของเส้นผมเส้นขนนั้น และแหล่งที่มาของเส้นผมเส้นขนจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แต่ไม่สามารถชี้ตัวบุคคลได้ตามที่เจ้าหน้าที่เวย์น โอ๊คส์ (Wayne Oaks) เจ้าพนักงานตรวจพิสูจน์หลักฐานของเอฟบีไอเคยเบิกความไว้ในระหว่างพิจารณาคดีปี 1990
ในปี 2015 เอฟบีไอเผยว่า เส้นผมเส้นขน “สามารถทำให้ตัดรายชื่อผู้ต้องสงสัยคนอื่น ๆ ออกได้ก็จริง” แต่คำเบิกความของเจ้าหน้าที่โอ๊คส์ที่ว่าวิธีดังกล่าวสามารถระบุตัวคนร้ายได้อย่างแน่นอนนั้น “เกินกว่าที่การตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์จะสามารถทำได้”
ในระหว่างการดำเนินการไต่สวนพยานหลักฐานใหม่ ฝ่ายโจทก์ ได้แก่นายโรเบิร์ต ไคเซอร์ ผู้ช่วยอัยการสูงสุด ผู้สั่งฟ้องนายเบอราเน็กเมื่อ 27 ปีก่อนหน้านี้ พร้อมด้วยนายอีริก แฮนสัน ผู้ช่วยอัยการเทศมณฑลเดน
ส่วนนายเบอราเน็กได้นายฟินด์ลีย์ และนางคริสตีนา บอร์เด จากโครงการผู้บริสุทธิ์ มณรัฐวิสคอนซิน และนายบรีซ เบนเจท จากโครงการผู้บริสุทธิ์ มลรัฐนิวยอร์ก เป็นผู้ว่าความให้
โดย ฝ่ายอัยการได้ตั้งคำถามต่อการส่งมอบเส้นผมของกลางเพื่อตรวจดีเอ็นเอ โดยมุ่งโจมตีการนำเส้นผมติดบนกระดาษโน้ตก่อนส่งพัสดุ
นายไคเซอร์และนายแฮนสันยังได้ค้านอีกว่า ฝ่ายจำเลยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเส้นผมเส้นขนที่นำไปตรวจดีเอ็นเอจะเป็นชุดเดียวกับกระจุกเส้นผมเส้นขนที่นายโอ๊คส์ใช้ชี้ตัวนายเบอราเน็ก ทั้งนี้ อ้างว่าห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์รายงานว่าการตรวจดีเอ็นเอใช้เส้นขนเพียง 5-6 เส้นเท่านั้น
นายเบนเจ็ทและนายฟินด์ลีย์ ฝ่ายจำเลย ได้อ้างถึงคำเบิกความจากการไต่สวนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่บรรยายลักษณะเส้นผมเส้นขนของกลาง ผู้พิพากษาโมเซอร์เห็นด้วยกับฝ่ายจำเลย โดยกล่าวว่าคำเบิกความดังกล่าวได้พิสูจน์แล้วว่าเส้นผมที่นำไปตรวจดีเอ็นเอเป็นเส้นผมเดียวกับที่นายโอ๊คส์ใช้ชี้ตัวจำเลยในปี 1990
ผู้พิพากษาโมเซอร์ (Daniel Moeser) เขียนในคำพิพากษาว่า “หลักฐานเส้นผมก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในคดี ไม่มีทางที่จะมั่นใจได้เลยว่าคณะลูกขุนได้ให้น้ำหนักต่อวัตถุหลักฐานเส้นผมนี้มากเพียงใด แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมหลักฐานทั้งหมดแล้ว เราก็ไม่อาจกล่าวได้เลยว่าหลักฐานเส้นผมไม่สำคัญต่อรูปคดี”
นาย จอห์นนี คอร์เมอนอส (Johnny Koremenos) โฆษกกระทรวงยุติธรรมประจำมลรัฐวิสคอนซิน กล่าวว่าสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) กำลังพิจารณาคำพิพากษาดังกล่าวเพื่อตัดสินใจว่าจะมีการฟ้องนายเบอราเน็กใหม่หรือไม่
วันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายคีธ ฟินด์ลีย์ (Keith Findley) จากโครงการผู้บริสุทธิ์วิสคอนซิน กล่าวว่าทีมทนายจะส่งเอกสารคำร้องให้นายเบอราเน็กได้รับประกันตัวออกจากคุก
ฟินด์ลียด์กล่าวว่า “เราซาบซึ้งที่ระบบตอบโต้กับสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าเป็นความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม”
และในวันเดียวกันนายอดัมปัจจุบันเป็นทนาย ณ โครงการผู้บริสุทธิ์ นิวยอร์ค ซึ่งเคยตกเป็นแพะต้องโทษจำคุก 7 ปีในคดีล่วงละเมิดทางเพศในวิสคอนซินโดย ก่อนได้รับการปล่อยตัวในปี 2007 (2550)
นายอดัมกล่าวว่า “เขาคงสะเทือนใจมากเพราะอยู่ในคุกตั้งแต่ปี 1989 คงพบเจออะไรหลายอย่าง ๆ สำหรับผมที่เคยผ่านมาก่อนแล้วนั้น รู้สึกเหมือนช่วงเวลาในนั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง กระทั่งผมเห็นตัวเองเดินออกจากคุก เห็นประตู กรง อิฐที่กำแพง ปูนคอนกรีตที่เล็กลงเล็กลงทุกครั้งที่หันกลับไป”
นายอดัมยังกล่าวด้วยว่าตนหวังว่าคำพิพากษานี้จะกระตุ้นให้อัยการทั้งในวิสคอนซินและมลรัฐอื่น ๆ ช่วยเหลือจำเลยต่อสู้กับคำพิพากษาเดิมที่ตั้งอยู่บนการพิสูจน์หลักฐานเส้นผมผิดพลาด
“ยังมีคนอื่นที่ต่อสู้เพื่อพลิกคำพิพากษาเช่นเดียวกับริชาร์ด ยังมีคนอื่นที่ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าจะเริ่มต่อสู้อย่างไร ผมเลยหวังว่ารัฐจะรับผิดชอบเรื่องนี้และกลับไปติดตามองค์กรของตน ...”
นางเดสิรี เบิร์ก กล่าวว่าตนหวังว่าจะได้ใช้เวลาทำความรู้จักกับบิดาตนในเร็ว ๆ นี้เสียที เนื่องจากเขาต้องเข้าคุกไปตั้งแต่ตนยังเด็กมาก โดยกล่าวว่า “ฉันยังไม่ทันได้รู้จักเขาดีพอ สามีฉันจะได้พบพ่อ ลูก ๆ จะได้พบคุณตาเสียที”
ข้อมูลทั้งหมดนี่ นับเป็นกรณีศึกษาชั้นดี สำหรับประเทศไทย หากในท้ายที่สุดแล้ว เราพบว่า กระบวนการตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานคดีเส้นผม เส้นขน และเส้นใย ของประเทศไทย ก็มีปัญหาเหมือนกัน
เราจะหาทางออกร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เพื่อคืนความเป็นธรรมทำให้ผู้บริสุทธิ์ ที่ต้องรับโทษ ทั้งที่ ตนเองไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุ
เหมือนกรณีของสหรัฐอเมริกา ที่กำลังถูกจับตามองจากทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรื่องผู้ติดคุก บางส่วนมาจากMThai News
อ่านเรื่องอื่นเพิ่มเติม :
ครบรอบ 12 ปี ใครคือ ‘ดีพโธรท’ ปล่อยข้อมูล คดีวอเตอร์เกต
เขย่าระบบยุติธรรมสหรัฐ! FBI พิสูจน์หลักฐาน'เส้นผม'พลาดร้อยละ90 ทำผู้บริสุทธิ์ติดคุก(1)
เขย่าระบบยุติธรรมสหรัฐ(2) รื้อคดีพิสูจน์'เส้นผม' FBIพลาดเพียบ 'พ่อเข้าคุก-ครอบครัวพัง'