- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เขย่าระบบยุติธรรมสหรัฐ! FBI พิสูจน์หลักฐาน'เส้นผม'พลาดร้อยละ90 ทำผู้บริสุทธิ์ติดคุก(1)
เขย่าระบบยุติธรรมสหรัฐ! FBI พิสูจน์หลักฐาน'เส้นผม'พลาดร้อยละ90 ทำผู้บริสุทธิ์ติดคุก(1)
"...ในที่สุด จากผลการตรวจดีเอ็นเอที่ได้จากเส้นขนที่พบในชุดชั้นในของคนร้ายและอสุจิจากชุดชั้นในของเหยื่อ พบว่า นายเบอราเน็กที่โดนจำคุกจนวัยล่วงมาถึง 58 ปีแล้วนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักฐานดังกล่าวแต่อย่างใด..."
เอฟบีไอ(FBI) รับพิสูจน์หลักฐานคดีเส้นผม เส้นขน และเส้นใยพลาดกว่าร้อยละ 90 ทำผู้บริสุทธิ์ติดคุก!
คำพูดประโยคนี่ คือ ประเด็นสำคัญที่สุดของข่าวใหญ่ ที่ถูกนำเสนอโดย 'The Wisconsin Center for Investigative Journalism' ศูนย์ข่าวที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสืบสวน เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ตั้งอยู่ภายในอาคาร School of Journalism and Mass Communication มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน (University of Wisconsin-Madison: UW-Madison) ประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านเว็บไซต์ชื่อว่า http://wisconsinwatch.org
เนื้อข่าวระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศาลประจำเขตเทศมณฑลเดน (Dane county) มลรัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา มีการไต่สวนคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีข่มขืนของนายริชาร์ด เบอราเน็ก (Richard Beranek) ที่ตัดสินไปแล้วเมื่อปี 1990 (2533) ขึ้นมาพิจารณาใหม่
หลังจากที่ในช่วงปี 1987 (2530) นายเบอราเน็ก ตกเป็นผู้ต้องสงสัย กรณีแม่ลูกสองวัย 28 ปี ถูกชายนิรนามข่มขืนในที่พักอาศัย เขตชนบทเมืองสเตาจ์ทัน (Stoughton city) เทศมณฑลเดน หลังถูกสะกดรอยตามทั่วเมืองและคุกคามทางเพศผ่านโทรศัพท์
ทั้งที่ นายเบอราเน็ก มีภูมิลำเนาอยู่ห่างออกไป 130 ไมล์จากเมืองที่เกิดเหตุ และไม่มีความเกี่ยวข้องใดใดกับชุมชนที่เหยื่ออาศัย
@ Richard Beranek กับทนายความของเขา Archie Simonson ใน Dane County Circuit Court ในปี 1989
ก่อนที่ Beranek ได้รับโทษจำคุก 243 ปีสำหรับการข่มขืนในฐานะผู้กระทำผิดซ้ำ
พยานหกคน ทั้งที่เป็นสมาชิกในครอบครัวและคนนอก ต่างยืนยันว่า นายเบอราเน็ก อาศัยอยู่ที่บ้านน้องสาว ในวันเกิดเหตุใกล้อุทยานแห่งชาติเดวิลส์ เลค มลรัฐนอร์ธดาโกตา ไกลจากที่เกิดเหตุออกไปกว่า 600 ไมล์ มีการแสดงใบขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการซื้ออาหารของครอบครัวรายได้ต่ำ ( food stamp application ) ที่ระบุจำนวนผู้อาศัยในครัวเรือน เพื่อยืนยันให้เห็นว่านายเบอราเน็ก ผู้อาศัยในครัวเรือน ณ ช่วงเวลาที่มีการข่มขืนเกิดขึ้น
แต่เนื่องจาก นายเบอราเน็ก เคยถูกดำเนินคดีล่วงละเมิดทางเพศมาก่อนหน้านี้ ประกอบกับมีรูปพรรณสัณฐานคล้ายภาพสเก็ตช์ของผู้ก่อเหตุ
เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำเทศมณฑลชิปเปวา ( Chippewa county) จึงใส่ภาพถ่ายของเขารวมกับ ภาพของผู้ต้องสงสัยรายอื่นส่งให้เหยื่อชี้ตัว
ก่อนที่เหยื่อสาวจะเลือกภาพของนายเบอราเน็ก พร้อมยืนยันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ค่อนข้างแน่ใจว่า เขา คือ ผู้ก่อเหตุ
ส่วนหลักฐานที่ใช้มัดตัวเขาจากความผิดครั้งใหม่นี้ คือ เส้นขนที่พบในชุดชั้นในที่คนร้ายข่มขืนทิ้งไว้บนเตียงของเหยื่อ
โดยนายโอ๊คส์ (Oaks) พนักงานนิติวิทยาศาสตร์จากสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) สรุปว่า เส้นขนที่พบ "มีส่วนตรงกับเส้นผมของนายเบอราเน็กมากจนเป็นไปได้ในระดับสูง" ว่าจะเป็นเจ้าของเส้นขนจะเป็นคนเดียวกัน
ปัญหามีอยู่ว่า ณ ตอนนั้น เอฟบีไอทราบแล้วว่าการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบระหว่างเส้นผมเส้นขนที่ใช้พิสูจน์พยานหลักฐานมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ ถึงจะผ่านการตรวจอย่างละเอียด
แต่เส้นผมที่มีสัณฐานใกล้เคียงกันก็อาจจะไม่ได้มาจากบุคคลเดียวกันก็ได้
แต่นายโอ๊คส์ก็เมินเฉยต่อข้อเท็จจริงนี้ไปและจบอนาคตนายเบอราเน็ก ให้เข้าไปอยู่ในคุกด้วยข้อสรุปนั้น
และแม้จะมีพยานบุคคลแน่นหนา แต่คณะลูกขุนก็ได้ลงมติตัดสินคดีให้จำเลยมีความผิดด้วยคะแนนเสียงถึง 9 เสียง ก่อนที่นายแดเนียล โมเซอร์ (Daniel Moeser) ผู้พิพากษาศาลเทศมณฑลเดน จะตัดสินให้เขาจำคุก 243 ปีฐานก่อความผิดล่วงละเมิดทางเพศซ้ำเป็นครั้งที่สอง
@ การตรวจเปรียบเทียบเส้นผมสามารถยืนยันตัวตนได้?
การตรวจพิสูจน์เส้นผมเส้นขน เป็นการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบระหว่างเส้นผมเส้นขนของกลางกับเส้นผมเส้นขนของผู้ต้องสงสัย เพื่อเปรียบเทียบว่ามีลักษณะรายละเอียดเหมือนกันหรือไม่
โดยเชื่อว่าหากเป็นเส้นผมเส้นขนของคนเดียวกันและจากตำแหน่งเดียวกันในร่างกาย รายละเอียดของเส้นผมเส้นขนจะเหมือนกัน และจะมีรายละเอียดที่ต่างกันหากมาจากคนละคน วิธีนี้ใช้ตรวจพิสูจน์วัตถุพยานที่เป็นเส้นผมเส้นขนอย่างแพร่หลาย ก่อนจะถูกเปิดเผยว่าไม่ได้ให้ผลเที่ยงตรง และถูกแทนที่โดยการตรวจสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ)
ทั้งนี้ ในระหว่างที่นายเบอราเน็กต้องโทษจำคุก เกิดกระแสโจมตีความน่าเชื่อถือของการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบระหว่างเส้นผมเส้นขนที่เอฟบีไอใช้พิสูจน์พยานหลักฐานในหลายร้อยคดีทั่วสหรัฐอเมริกา ในที่นี้ รวมถึงคดีของเบอราเน็กด้วย
นายโอ๊คส์ พนักงานนิติวิทยาศาสตร์ บอกแก่คณะลูกขุนในระหว่างการพิจารณาคดีปี 1987 ว่า “น้อยครั้งมาก ๆ” ที่เขาจะไม่สามารถแยกเส้นผมหรือขนของคนสองคนออกจากกันได้
และกล่าวว่า เส้นขนของผู้ก่อเหตุและของนายเบอราเน็กนั้น “มีสัณฐานในระดับจุลภาคที่เหมือนกัน”
เขายังอ้างอีกว่าตนได้ตรวจสอบเส้นผมมาแล้ว “หลายพันล้านเส้น” (ในความเป็นจริงแล้ว หากจะตรวจสอบเส้นผลเส้นขนจำนวนเพียงหนึ่งพันล้านเส้น นายโอ๊คส์ก็ต้องตรวจสอบเส้นผมและเส้นขนเป็นจำนวน 322,321 ต่อวัน 365 วันต่อปี เทียบระยะเวลาที่เขาทำงานในหน่วยตรวจเส้นผมเส้นขนและเส้นใยของเอฟบีไอเป็นเวลาแปดปีครึ่ง)
นายโอ๊คส์ ยังได้กล่าวอีกว่า ตนได้ให้นายไมเคิล มาโลน (Michael Malone) พนักงานนิติวิทยาศาสตร์ของเอฟบีไอที่มีความสามารถในการเปรียบเทียบตัวอย่างเส้นผมและเส้นขน และมีประสบการณ์สูงกว่าตน ยืนยันผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบนี้แล้วด้วย
ในปี 2015 เอฟบีไอได้ยอมรับว่าคำเบิกความของนายโอ๊คส์ในครั้งนั้นมี “ข้อความที่ไม่เป็นจริง” ปะปนอยู่ด้วย ในการที่นายโอ๊คส์กล่าวว่าเส้นขนที่พบในที่เกิดเหตุ “สามารถชี้ตัวไปยังบุคคลใดบุคคลนึงโดยไม่สับสนกับผู้อื่นได้เลย” มาถึงตอนนี้เอฟบีไอกล่าวว่า การพิสูจน์หลักฐานที่แม่นยำเช่นนั้น “เกินกว่าที่นิติวิทยาศาสตร์จะสามารถทำได้”
นายโรเบิร์ต ไคเซอร์ (Robert Kaiser) ที่ในตอนนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอัยการเขตเทศมณฑลเดน เลือกเชื่อถือคำให้การของเอฟบีไอ อย่างไรก็ตามเขาก็ได้ตั้งข้อสังเกตแก่คณะลูกขุนก่อนที่การโต้แย้งระหว่างโจทก์และจำเลยในคดีนี้จะจบลงในปี 1900 ว่า เหยื่ออาจเลือกรูปของคนที่มีทรงผมเหมือนผู้ก่อเหตุมากที่สุดขึ้นมาเสียหนึ่งรูปจากจำนวนกว่าหมื่นรูป โดยไม่ได้สนพยานแวดล้อมอื่น ๆ ก็เป็นได้
ด้านนายสกิป พาเลนิค (Skip Palenik) ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครแทร็ค (Microtrace) จำกัด ที่ตั้งในเมืองเอลจิน (City of Elgin) มลรัฐอิลลินอยส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้นหา วิเคราะห์และเปรียบเทียบวัสดุขนาดเล็กมากว่า 40 ปีได้ให้การในการเบิกพยานหลักฐานในการไต่สวนครั้งล่าสุด ว่าคำให้การของนายโอ๊คส์ต่อคดีนายเบอราเน็กนั้นเป็นการละเมิดจรรยาบรรณ แม้จะวัดด้วยเทคโนโลยีในสมัยนั้้นก็ตาม
นายพาเลนิกกล่าวว่า ปราศจากการตรวจดีเอ็นเอแล้ว เส้นผมและเส้นขนก็ไม่มีลักษณะจำเพาะพอที่จะกล่าวได้ว่าเป็นของคนใดคนหนึ่ง เส้นผมสองเส้นมีลักษณะตรงกันอาจจะมาจากคนเดียวกันหรืออาจมาจากบุคคนสองคน “ที่มีผมประเภทเดียวกัน” ก็เป็นได้
ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุขนาดเล็กยังกล่าวอีกด้วยว่า “แม้จะเคยคิดว่าเราจะสามารถชี้ตัวคนได้จากการตรวจเส้นผมเส้นขนด้วยกล้องจุลทรรศน์ แต่ตอนนี้ก็เป็นที่ชัดเจนว่าเราจะชี้ตัวคนด้วยวิธีดังกล่าวไม่ได้”
@ เอฟบีไอรื้อคดีเส้นผมออกมาพิจารณาใหม่
ในปี 2016 โครงการผู้บริสุทธิ์ (The Innocence Project) ที่มีเครือข่ายทั้งในนิวยอร์คและวิสคอนซินพร้อมด้วยทนายได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้นำคดีที่ใช้เส้นผมเส้นขนเป็นหลักฐานกลับมาพิจารณาใหม่
จนถึงตอนนี้ นางวาเนสซา อันโตวน์ (Vanessa Antoun) ทนายประจำสมาคมทนายช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมแห่งสหรัฐอเมริกา (เอ็นเอซีดีแอล) ที่ร่วมติดตามเรื่องนี้ กล่าวว่า มีการตรวจสอบคดีแล้วจำนวน 1600 คดี ทั้งนี้ ร้อยละ 90 พบว่ามีปัญหาทั้งสิ้น
นายเฟรเดอริก ไวท์เฮิสท์ (Frederic Whitehurst) ผู้ร้องเรียนและเปิดเผยข้อผิดพลาดของขั้นตอนทางนิติวิทยาศาสตร์ รวมถึงการวิเคราะห์เส้นผมของห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ของเอฟบีไอในทศวรรษ 1990 กล่าวว่า การที่เอฟบีไอใช้หลักฐานเส้นผมผิด ๆ ในการพิพากษาคนถือเป็นโศกนาฏกรรมระดับชาติ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย
“แม้โลกวิทยาศาสตร์จะพูดคุยกันว่าการตรวจสอบนี้ไม่ให้ผลอย่างเที่ยงตรง แต่เรากลับใช้มันบนชั้นศาล ทำร้ายพลเมืองของชาติ ”นายไวท์เฮิสท์กล่าว
แม้เอฟบีไอจะค่อย ๆ รื้อคดีที่เกี่ยวข้องกับเส้นผมมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 แล้ว แต่ผลก็เพิ่งปรากฎในปี 2012 (2555) โดย ชายสามคนจากกรุงวอชิงตันดีซี โดนัลด์ ยูจีน เกตส์ (Donald Eugene Gates) นายเคิร์ค โอดอม (Kirk Odom) และ ซานเต ทริบเบิล (Santae Tribble) พ้นผิดด้วยการทดสอบดีเอ็นเอเส้นผมที่เคยตัดสินให้เขาต้องโทษด้วยการพิสูจน์โดยผู้เชี่ยวชาญจากเอฟบีไอ รวมถึงเจ้าหน้าที่มาโลนที่นายโอ๊คส์เคยกล่าวอ้างด้วย โครงการผู้บริสุทธิ์และสมาคมทนายช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการรื้อคดีไปอีกก้าว
และในที่สุด จากผลการตรวจดีเอ็นเอที่ได้จากเส้นขนที่พบในชุดชั้นในของคนร้ายและอสุจิจากชุดชั้นในของเหยื่อ พบว่า นายเบอราเน็กที่โดนจำคุกจนวัยล่วงมาถึง 58 ปีแล้วนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักฐานดังกล่าวแต่อย่างใด
@ Richard Beranek นั่งอยู่กับทนายความของเขาจากซ้าย Jarrett Adams Keith Findley และ Bryce Benjet
ใน County Circuit Court วันที่ 14 กุมภาพันธ์ หลังถูกคุมขังมาแล้ว 27 ปี กำลังฟื้นคดีขึ้นมาใหม่
ทั้งนี้ ข้อมูลจากข่าวสำคัญชิ้นนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังเขย่าระบบยุติธรรมในสหรัฐฯ อย่างมาก หากลองหันย้อนกลับมามองที่ประเทศไทยกันบ้าง
คำถามที่น่าสนใจ คือ ในกระบวนการตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานคดีเส้นผม เส้นขน และเส้นใย ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา เคยมีความผิดพลาดเกิดขึ้น และทำให้ผู้บริสุทธิ์ ต้องรับโทษ
ทั้งที่ ไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุ แบบเดียวกันเกิดขึ้นด้วยหรือไม่
ถ้ามีเราจะทำอะไรกับเรื่องนี้กันบ้างไหม?
(หมายเหตุ:เรียบเรียงจาก Wisconsin, U.S. used flawed hair evidence to convict innocent people, “Wisconsin Watch”, เข้าถึงได้จาก http://wisconsinwatch.org/2017/04/wisconsin-u-s-used-flawed-hair-evidence-to-convict-innocent-people/ -เรียบเรียงโดย วศินี พบูประภาพ )
อ่านเรื่องอื่นเพิ่มเติม :