ประชาพิจารณ์ร่างกม.บัตรทอง วันสุดท้าย ภาคปชช.รวมตัวค้านยันไม่ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เพิ่มสิทธิ
ประชาพิจารณ์ร่างกม.บัตรทอง วันสุดท้ายเริ่มวุ่น ภาคปชช.รวมตัวค้าน ยันการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เพิ่มสิทธิประชาชน มีแนวโน้มการร่วมจ่าย ทั้งมองบุคคลแค่เลข 13 หลัก และเขี่ยการมีส่วนร่วมของประชาชนทิ้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 18 มิถุนายน เป็นวันสุดท้าย สำหรับการประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กทม.
สำหรับบรรยากาศหน้าห้องประชุมช่วงเช้า มีกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก และ กทม. เดินทางรวมตัวถือป้ายคัดค้าน แสดงสัญลักษณ์นอนตายหน้าห้องประชุม และมีการเปิดปราศรัยถึงการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ โดยไม่ฟังเสียงประชาชนและการดึงอำนาจกลับไปที่กระทรวงสาธารณสุข ถือเป็นการลดประสิทธิภาพในการใช้สิทธิและการได้รับบริการในโครงการ 30 บาท
พร้อมกันนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ระบุถึงกระบวนการรับฟังว่า ให้แสดงความคิดเห็นคนละ 3 นาทีถือว่า ไม่เป็นธรรม เป็นพิธีกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรม ตั้งแต่การแต่งตั้งคณะกรรมการรับฟังที่ขาดสมดุลสัดส่วนจากภาคประชาชน ขาดการมีส่วนร่วม เป็นต้น
ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเจรจากับน.ส.กรรณิการ์ กิตติเวชกุล นางบุญยืน ศิริธรรม และนายนิมิตร เทียนอุดม แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ให้ยกเลิกการชุมนุมหน้าห้องประชาพิจารณ์และให้เข้าไปใช้สิทธิในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อไป
ทั้งนี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้ออกแถลงการณ์กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก และ กทม. ถึงเหตุผลที่คัดค้าน วอล์คเอาท์ ไม่สนับสนุนเวทีการรับฟังความคิดเห็น พร้อมขอให้หยุดกระบวนการทั้งหมด และเริ่มต้นใหม่ให้สมดุล
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก และ กทม. ประกาศยืนยันการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เพิ่มสิทธิประชาชน มีแนวโน้มการร่วมจ่าย ทั้งมองบุคคลแค่เลข 13 หลัก และเขี่ยการมีส่วนร่วมของประชาชนทิ้ง
นอกจากนี้ กระบวนการแก้กฎหมายยังไม่สมดุล ประชาชนไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ที่สำคัญไม่มีคำตอบว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของกฎหมายได้ดีขึ้นอย่างไร จึงเรียกร้องให้หยุดกระบวนการทั้งหมด และเริ่มกระบวนการแก้กฎหมายใหม่ที่สมดุล และมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่เพียงเท่านั้น จากการศึกษาร่างกฎหมายที่แก้ไข ไม่มีการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ ดังนี้
1. การแก้ไขกฎหมายต้องยึดหลักการ “ประชาชนได้ประโยชน์” เป็นที่ตั้ง เช่น ต้องแก้ไขมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 เพื่อให้มีบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ รวมถึงเป็นสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับทุกคน
2. “ยกเลิกการร่วมจ่าย” เพราะการแก้ไขกฎหมายไม่ได้ยกเลิกการร่วมจ่าย ส่งผลให้ประชาชนมีโอกาสร่วมจ่ายเมื่อไปใช้บริการ ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันฯ คัดค้านการร่วมจ่ายที่หน่วยบริการ แต่สนับสนุนให้จัดเก็บภาษีเพิ่มเติม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น จากกำไรในการซื้อขายหลักทรัพย์ (Capital Gain) เพราะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นของทุกคน ไม่ว่าคนชนชั้นใดก็มีสิทธิล้มละลายได้ ถ้าต้องจ่ายค่ารักษาบริการสุขภาพราคาแพงด้วยตนเอง
3. “ให้ใช้ข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์” ในการแก้กฎหมาย (Evidence Based) เช่น ควรแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ราคาแพง เพราะหากไม่แก้กฎหมายให้ สปสช.จัดซื้อยาและอุปกรณ์เองได้ รัฐบาลต้องเพิ่มงบอีกปีละ 5,000 ล้านบาท แล้วรัฐจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัดของประเทศ? หรือนี่คือหลุมพรางในการให้ประชาชนต้องร่วมจ่าย ทั้งที่ในปัจจุบัน สปสช. ใช้งบประมาณจัดซื้อยารวมสำหรับโครงการพิเศษเพียงร้อยละ 4.9 ของการจัดซื้อยา ทำให้ประหยัดงบประมาณในรอบ 10 ปี ได้เกือบ 50,000 ล้านบาท
4. “เกิดปัญหาการกระจายบุคลากรที่เป็นธรรม” ต่อหน่วยบริการหรือโรงพยาบาล จากการแก้กฎหมายให้แยกเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข ที่ดูเหมือนจะดีและทำให้บุคลากรสาธารณสุขไม่ต้องกังวล
5. การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการระบบหลักประกันควร “เพิ่มสัดส่วนผู้รับบริการให้มากขึ้น” และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขควรมีสัดส่วนของกลุ่มผู้ป่วย ตัวแทนหน่วยรับเรื่องเรียนตามมาตรา 50(5) ทั้งในหน่วยบริการและนอกหน่วยบริการที่ดำเนินการโดยประชาชน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ทั้งสองคณะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มอำนาจของประชาชนในการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาพิจารณ์ (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....เปิดเผยว่า การจัดเวทีรับฟังความเห็นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ตื่นรู้ที่สนใจ (ร่าง) พ.ร.บ. ได้มาแสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ โดยคณะอนุกรรมการฯ จะทำหน้าที่รวบรวมความเห็นทั้งหมด เสนอต่อคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. ที่มี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงร่างกฎหมายต่อไป
“การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทำให้เห็นว่าประชาชนมีความตื่นรู้และสนใจในเรื่องของ (ร่าง) พ.ร.บ.จำนวนมาก มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางทั้งที่ผ่านแบบฟอร์มรับการแสดงการคิดเห็น และผ่านทางระบบออนไลน์ที่ทางคณะผู้จัดงานได้จัดเตรียมอำนวยความสะดวกระบบคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตไว้ให้” นพ.พลเดช กล่าว และว่า สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มและเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพที่รวมกลุ่มกัน ชูป้ายคัดค้าน และแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) พ.ร.บ.นั้น เป็นสิทธิที่พึงกระทำได้เพราะเป็นการเคารพทั้งความเห็นเหมือนและเห็นต่าง ซึ่งทางคณะอนุกรรมการยืนยันว่าจะนำทุกความคิดเห็นที่ทางกลุ่มและเครือข่ายฯ ที่ได้นำเสนอ รวบรวมส่งยังคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. ต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม การแสดงคัดค้านก็ต้องมีขอบเขต ไม่ขัดขวางหรือกระทำการจนไม่สามารถดำเนินการจัดประชุมตามขั้นตอนได้ ควรคำนึงถึงการเปิดใจรับฟังและสิทธิการแสดงความคิดเห็นของคนอื่นๆ เช่นกัน
นอนตาย แสดงสัญลักษณ์ข้ามหัวประชาชน เข้าไปแก้กฎหมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เครือข่ายฯ ภาคเหนือ วอล์คเอ้าท์ประชาพิจารณ์แก้กม.บัตรทอง-ยันปชช.ต้องมีส่วนร่วม
หลักประกันสุขภาพ...คนดีมาจับมือกันเถิดครับ
ภาคปชช.วอล์คเอาท์ประเดิมเวทีประชาพิจารณ์แก้ กม.บัตรทอง
ขอบคุณภาพจาก:
https://www.facebook.com/supatra.nacapew?pnref=story
https://www.facebook.com/PeopleHealthSystemsMovement/?pnref=story