คนเหนือป่วยพุ่ง 4 เท่าจากหมอกควัน นักวิชาการชี้รัฐมัวห่วงท่องเที่ยวไม่ประกาศเตือน
หมอกควันทำคน 8 จว.เหนือป่วยเพิ่ม 4 เท่า นักวิชาการชี้แผนรับมือรัฐยังไม่ได้ผล แนะรีบแจ้งเตือนประชาชนมากกว่าห่วงภาพลักษณ์ท่องเที่ยว ด้าน สธ.ชี้ยังไม่วิกฤติ เตรียมชงงบ ครม. 917 อปท. 165 ล้านบาท
นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมหน่วยงานราชการเกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองควันไฟใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ว่าได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟ เพื่อเร่งลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ซึ่งพบว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองควันไฟในปีนี้รุนแรงกว่าที่ผ่านมา โดยหมอกควันสูงกว่าค่ามาตรฐาน ซึ่งทุกหน่วยงานได้ระดมกำลังแก้ไขอย่างเต็มที่ ทั้งการป้องกันไฟป่า มาตรการจูงใจไม่ให้เผาป่า การลดปริมาณฝุ่นละออง ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาพอสมควร โดยกระทรวงได้จัดส่งหน้ากากอนามัยไปให้พื้นที่อย่างเพียงพอแล้ว
รมช.สธ.กล่าวต่อว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี 6 มี.ค.เป็นวาระจร 2 เรื่อง 1. ของบประมาณ ซึ่งที่ผ่านมาท้องถิ่นทั้งเทศบาล อบต. และ อบจ.ใน 8 จังหวัด ได้จัดอาสาสมัครต่างๆเข้าไปช่วยทำงาน เพื่อควบคุมแก้ไขปัญหามาเป็นระยะเวลาพอสมควร โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 917 แห่ง ได้เสนอของบประมาณรวม 165 ล้านบาท ประกอบด้วยงบอุดหนุนขั้นต่ำแห่งละ 20,000 บาท รวมประมาณ 18 ล้านบาท และงบขอจัดซื้อเครื่องย่อยสลายใบไม้ กิ่งไม้ วัชพืช ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นผู้ผลิต และใช้ได้ผลดี โดยสามารถบดสลายใบไม้กิ่งไม้ออกมาเป็นผงและนำไปผลิตเป็นปุ๋ยได้อีก ราคาเครื่องละ 130,000 บาท เมื่อรวมอุปกรณ์เสริมด้วยตกราคาเครื่องละ 160,000 บาท มีจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว รวมประมาณ 146 ล้านบาท
เชื่อว่าจะอนุมัติงบดังกล่าวได้ทันเพราะส่วนใหญ่เป็นงบอุดหนุน โดยจะจัดสรรลงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเทศบาลโดยตรง และ 2.ประสานให้กระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการเผาป่า เผาขยะ
นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า ปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นนี้ได้ส่งผลกระทบสุขภาพประชาชน โดยมีคนป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น โดยป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ โรคผิวหนัง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4 เท่าตัว ซึ่งสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งรับมือได้ เพราะได้เตรียมความพร้อมรองรับอย่างดี จากการประเมินสถานการณ์นั้นผลกระทบยังไม่ถึงขั้นต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ เนื่องจากปริมาณฝุ่นละอองจะแปรผันตามสภาพของอากาศ เช่น หากสภาพอากาศนิ่งจะมีปริมาณฝุ่นมาก หากอากาศมีความชื้นมากปริมาณฝุ่นจะเบาบางลง เพียงแต่ให้คำแนะนำประชาชนในเรื่องการดูแลสุขภาพ เช่น ไม่ออกกำลังกาย ปิดประตูป้องกันฝุ่นละอองเข้าบ้าน งดสูบบุหรี่ ก็จะช่วยป้องกันปัญหาได้
ด้าน รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช ผู้อำนวยการศูนย์ วิจัยและจัดการคุณภาพอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือน่าเป็นห่วงและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องทบทวนและปรับปรุงแผนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาซึ่งยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทั้งนี้เสนอกว่าระยะสั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรระดมความเห็นเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเท่าทัน สถานการณ์ขณะนี้เพื่อไม่ให้ปัญหาทวีความรุนแรงกว่านี้ ส่วนระยะยาวต้องหารือถึงการเตรียมการป้องกันปัญหาในปีต่อๆไป
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการคุณภาพอากาศ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 สูงเกินค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จังหวัดหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบควรประกาศแจ้งเตือนประชาชนให้ระวังป้องกันดูแลสุขภาพ และต้องมีมาตรการชัดเจนจริงจังในการแก้ปัญหาออกมา
“ต้องประกาศแจ้งเตือนประชาชนให้ระวังผลกระทบจากปัญหาหมอกควันและคุณภาพอากาศที่จะมีต่อสุขภาพได้แล้ว มากกว่าจะมัวห่วงผลกระทบการท่องเที่ยว” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
ทั้งนี้ค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 ที่ทางองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้อยู่ที่ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ขณะที่ค่ามาตรฐานของไทยอยู่ที่ 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แต่ในความเป็นจริงแล้วฝุ่นละอองไม่มีระดับที่ปลอดภัย หากค่าปนเปื้อนในอากาศยิ่งสูงก็ยิ่งอันตราย การที่ค่าฝุ่นละอองต่ำกว่า 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรตามมาตรฐานของประเทศไทย จึงไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นอันตราย
“ฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนในอากาศไม่ว่าจะมีค่าเท่าใดต่างมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งนั้น มากน้อยตามปริมาณที่ปนเปื้อน ซึ่งการกำหนดค่ามาตรฐานก็เพื่อเป็นเกณฑ์ในการแจ้งเตือนเท่านั้น” นพ.พงศ์เทพ กล่าว .
ที่มาภาพ : http://medinfo2.psu.ac.th/cancer/db/news_showpic.php?newsID=466&tyep_ID=2