เวทีชาวบ้าน พร้อมใช้พลังท้องถิ่นรับมือน้ำท่วมปีนี้ ไม่เชื่อน้ำยารัฐบาล
เครือข่ายชุมชนสรุปบทเรียนแก้ภัยพิบัติ ชี้รัฐจัดการล้มเหลว เรียกร้องตั้งกองทุน-ศูนย์เตือนภัย กระจายอำนาจท้องถิ่น พร้อมจับตาแผนแก้น้ำท่วมรัฐบาล
เมื่อไม่นานที่ผ่านมาจากเวทีฟื้นฟูพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทยครั้งที่2 ที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ที่ศูนย์ประชุมไบเทคบางนา กรุงเทพฯ ภายในงานนอกจากมีการจัดนิทรรศการ นวัตกรรมชุมชนด้านต่างๆ เช่น การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม การจัดสวัสดิการสังคมโดยชุมชน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การดูแลสุขภาพชุมชน เกษตรกรรมยั่งยืน ยังมีเวทีแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับบทเรียนและการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการแลกเปลี่ยนในเรื่องภัยพิบัติได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปอย่างคึกคัก ซึ่งในการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาอุทกภัยในปีนี้ ผู้เข้าร่วมต่างมุ่งเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายชุมชน ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะจัดการปัญหาอุทกภัยโดยไม่รับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่าความสูญเสียจะรุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา
นายณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ปัญหาอุทกภัยเมื่อปีที่ผ่านมา มีการแสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่อการแก้ไขปัญหาเมื่อก้าวข้ามวิกฤติมาได้การสร้างพลังสังคมต้องนำพลังต่างๆที่ขาดหายไปกลับคืนมา เพื่อให้มีความมั่นคงในเรื่องดิน น้ำ ป่า และอาหาร ขณะที่ความมั่นคงที่ยั่งยืนคือภูมิคุ้มกันของชุมชน ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาเพื่อให้เกิดการอภิวัฒน์หรือการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการมองย้อนหลัง ตั้งสติ ศึกษาอดีต เรียนรู้พลังภูมิปัญญาที่จะฟื้นฟูชีวิตของเราเอง ชุมชนต้องรู้ว่าตนเองมีความสามารถมีภูมิปัญญา เรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อรับมือภัยพิบัติในอนาคต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเดช นิลพันธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาราชภัฏนครปฐม กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาสิ่งที่เห็นคือศักยภาพของท้องถิ่นและชาวบ้านต่อการแก้ปัญหา ส่งผลให้เกิดความร่วมมือทุกภาคส่วน ความดีต่างๆเกิดขึ้นมากมายเราเห็นน้ำใจของผู้คนที่ช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะเครือข่ายพี่น้องชาวใต้ที่เข้ามาช่วยอย่างเต็มที่ ในอนาคตท้องถิ่นแข็งแกร่งรับมือปัญหาได้
น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ กล่าวว่า บทเรียนและก้าวต่อไปของพลังสังคม ปัญหาสอนให้รู้ว่าการแก้ปัญหาจะได้ผลต้องสร้างเครือข่าย ชุมชนต้องทำงานกันเอง โดยให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาสนับสนุน ไม่ใช่งอมืองอเท้ารอรับความช่วยเหลือจากคนอื่น ที่ผ่านมาปัญหาใหญ่คือคนไทยไม่คิดพึ่งตนเอง แต่รอการช่วยเหลือจากคนอื่น แม้แต่การออกแบบแก้ปัญหาน้ำก็ทำโดยนักวิชาการซึ่งไม่รู้ปัญหาที่แท้จริง ภาคประชาชนต้องติดตามแผนแก้ปัญหาน้ำของรัฐบาลว่าสอดคล้องกับพื้นที่หรือไม่ เมื่อเกิดภัยพิบัติต้องลดความเห็นแก่ตัว ประชาชนต้องพึ่งตนเอง อย่าหวังพึ่งแต่รัฐบาลอย่างเดียว
นายเมธา บุณยประวิตร สภาองค์กรชุมชนตำบลชะแล อ.สิงหนคร จ.สงขลา กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาเราใช้ความรู้สึกแก้ปัญหา ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนมาใช้สื่อเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วย ด้วยการจัดทำแผนข้อมูลชุมชน มีการฝึกอบรม มีการฝึกซ้อมการรับอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลตรงไปตรงมาเพื่อให้ชาวบ้านมีข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร
เกรียงไกร กอวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า การทำให้ชุมชนเข้มแข็งเป็นเรื่องจำเป็น รัฐต้องไม่แก้ปัญหาด้วยการคิดเอง เพราะรัฐไม่มีทางรู้สภาพพื้นที่ดีกว่าคนในชุมชน รัฐทำหน้าที่สนับสนุนงบประมาณ ผ่องถ่ายอำนาจให้ชุมชนให้มีเครื่องมือทำงาน สัญญาณเตือนภัย อาจไม่เพียงพอ ภัยพิบัติจะมากหรือน้อยอยู่ที่ความเข้มแข็งของชุมชน ถ้ามีเครื่องมือพร้อม มีงบประมาณ ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอาจไม่รุนแรงอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
ด้าน นายอิทธิพล ฟ้าแลบ อาสาสมัครนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในฐานะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสูงในการอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัย กล่าวถึงการทำงานและสรุปบทเรียนพร้อมข้อเสนอแนะว่า การทำงานของเยาวชนควบคู่กับการเรียนรู้ความเป็นไปของสังคม การเชื่อมต่อเครือข่ายกับเพื่อนต่างถิ่นทำให้มีช่องทางเกิดขึ้นมากมาย เยาวชนต้องเรียนรู้ปัญหา กระตุ้นให้เกิดเครือข่าย เป็นตัวเชื่อมเข้ากับพื้นที่ หนุนเสริมงานประชาสัมพันธ์ เชื่อมต่อกับองค์กรท้องถิ่น จากประสบการณ์เมื่อปีที่ผ่าน การทำงานเป็นเครือข่ายจะช่วยให้การรับมือวิกฤติมีประสิทธิภาพ อย่าทำงานแบบแยกส่วน ความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวของคนในชุมชนจะทำให้เราฝ่าวิกฤติไปได้
ขณะที่ จ.ท.โกเมศร์ ทองบุญชู เครือข่ายจัดการภัยพิบัติภาคใต้ กล่าวถึงบทเรียนและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า ชัยชนะการจัดการภัยพิบัติไม่ได้อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี แต่ชัยชนะอยู่ที่ชุมชนท้องถิ่น ถึงเวลาที่ชุมชนต้องรวมกันเพื่อจัดการภัยพิบัติด้วยตนเอง โดยการประสานกัน 3 ฝ่ายคือกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารฯสมาชิกอบต.และชาวบ้าน ไม่มีใครรู้เรื่องชุมชนมากไปกว่าคนในพื้นที่ รัฐต้องฟังความคิดเห็นของประชาชน
“มีบทเรียนเกิดขึ้นมากมายถึงความสูญเสีย เราได้เห็นความร่วมมือภาคประชาชนและความล้มเหลวของรัฐ ชุมชนต้องจัดการตนเองไม่ใช่ฝากความหวังไว้กับรัฐบาล ต้องจัดการให้มีศูนย์เตือนภัย มีฐานข้อมูลรอบด้าน พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครอยู่เสมอ จัดตั้งกองทุนในระดับพื้นที่ เชื่อมโยงเครือข่ายทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน และภาคีเครือข่ายอื่นเข้าด้วยกัน รัฐต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดแผนจัดการภัยพิบัติทุกระดับ และต้องสนับสนุนงบประมาณให้ชุมชนนำไปขับเคลื่อนแผนภัยพิบัติของตนเองได้” จ.ท.โกเมศร์ ทองบุญชู กล่าว