ใช้ ม.44 คุมสถาบันอุดมศึกษา ไม่แก้ขัดแย้ง-สรรหาอธิการบดี ต้นเหตุสำคัญ
ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา เปิดเวทีถกรัฐใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาในมหาวิทยาลัย ‘อานนท์ เที่ยงตรง’ ยอมรับคลี่คลายขัดแย้งลำบาก ส่วนใหญ่เกี่ยวกับสรรหาอธิการบดี ขณะที่ ‘สุชัชวีร์’ แนะผู้บริหารเข้มแข็ง กำหนดเป้าหมายอนาคต พัฒนาองค์กร ยก สจล. ต้นแบบ
เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมสภามหาวิทยาลัย (ประเทศไทย) จัดเสวนา การแก้ปัญหาอุดมศึกษาไทย:ทางเลือกทางรอด โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาเข้าร่วมคับคั่ง อาทิ ศ.(พิเศษ) ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม, รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.), รศ.ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ อดีตว่าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ณ โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ
รศ.อานนท์ เที่ยงตรง ประธานกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาในมหาวิทยาลัยจำนวนมาก โดยบางแห่งสภามหาวิทยาลัยมีความขัดแย้งกับผู้บริหาร และบางแห่งสภามหาวิทยาลัยมีความกลมเกลียวกันดี แต่กลับไม่สนใจการทำหน้าที่ของผู้บริหาร ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ส่วนใหญ่ล้วนมีที่มาจากการสรรหาอธิการบดี จึงจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 คำสั่ง คสช. ที่ 39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา39/2559 เรื่อง การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา กับบางมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ การจะบังคับใช้กฎหมายเข้าควบคุมมหาวิทยาลัยนั้น จะพิจารณาข้อเท็จจริงว่าต้องเข้าข่ายตามข้อ 4 ของคำสั่ง คสช.ที่ 39/2559 ที่ระบุว่า ให้คณะกรรมการการอุดมศึกษารายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปรากฎว่าสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาแห่งใดมีกรณีจัดการศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษาหรือมาตรฐานหลักสูตร, มีการจงใจ หลีกเลี่ยง หรือประวิงการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ของสถาบันอุดมศึกษา หรือคำสั่ง รมว.ศธ.
นายกสภาสถาบันอุดมศึกษา กรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา หรือผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต หรือก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในสถาบันอุดมศึกษา จนสภาสถาบันอุดมศึกษา หรือสถาบันอุดมศึกษาไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยนั้น ๆ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แต่ละมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันจะดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วย ซึ่งยอมรับว่า ประการหลังเป็นไปได้ช้า
ด้าน รศ.ดร.สุมนต์ สกลไชย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเอกชน มี พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ซึ่งมีบัญญัติที่ดีอยู่แล้ว ในการดำเนินการกับ ม.เอกชน ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในอดีตมีการเพิกถอนใบอนุญาตหลายมหาวิทยาลัย เช่น วิทยาลัยบัณฑิตสกลนคร และมหาวิทยาลัยอีสาน
ส่วนมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้น พบว่า หลายมหาวิทยาลัยมีคดีความเกิดขึ้น โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดี นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ส่งผลให้เดินหน้าต่อไม่ได้ หรือถอยหลังกลับไม่ได้ ดังนั้น การใช้มาตรา 44 คำสั่ง คสช. ที่ 39/2559 จึงเป็นทางออก
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังกล่าวถึงการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยที่เกิดปัญหาเป็นไปด้วยความยากลำบาก จะช่วยได้เฉพาะไม่ให้งานบริหารหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษาได้รับอนุมัติสำเร็จการศึกษา การแต่งตั้งบุคลากร อนุมัติงบประมาณ ส่วนเรื่องความขัดแย้งภายใน ความเคยชินของผลประโยชน์หัวหน้าส่วนงาน และความอ่อนด้อยการบริหารงานบุคคล ยอมรับว่าแก้ไมได้
ขณะที่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่มีการบริหารจัดการยากที่สุด แตกต่างจากมหาวิทยาลัยเอกชน ที่จะสั่งให้เดินหน้า กระโดด หรือตีลังกา ก็ได้ ฉะนั้นเมื่อเข้ามาทำหน้าที่ผู้บริหารสถาบันแล้ว จะต้องกำหนดเป้าหมายในอนาคตว่า อยากให้สถาบันพัฒนาไปในทิศทางใด แต่ผู้บริหารจะต้องเข้มแข็ง และสนุกกับการแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้ไวรัสเกิดขึ้นมา ซึ่งในอดีต สจล.เคยมีปัญหารุนแรงมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาอธิการบดี หรือทุจริตคอร์รัปชัน แต่ปัจจุบันกลับมีการพัฒนารุกหน้าไปมาก ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกระบวนการคิด .