มติ 3 กองทุนสุขภาพ รักษาผู้ป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวกัน เข้าได้ทุก รพ.
“ยิ่งลักษณ์” นั่งหัวโต๊ะประชุมร่วม 3 กองทุนสุขภาพ มีมติรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวกัน รักษาต่อเนื่องได้ทุก รพ.-เบิกได้ 10,500 บาทต่อครั้ง เริ่มภายในปีนี้
วันที่ 2 มี.ค.55 นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมรวมสัวสดิการการรักษาพยาบาล 3 ระบบ ได้แก่ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ (ขรก.) ระบบประกันสังคมและ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่าที่ประชุมมีมติให้ประชาชนได้รับบริการขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกัน เริ่มจากการบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ประชาชนที่เข้ามารับการรักษาจะไม่ต้องถูกถามว่าอยู่กองทุนใดเพราะบางครั้งผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินไม่สามารถรอได้ว่าต้องเบิกค่ารักษาพยาบาลกองทุนใด แต่จะต้องพบแพทย์ให้เร็วที่สุด และไม่ต้องถามว่ามีเงินจ่ายหรือไม่ ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของแต่ละกองทุนที่จะต้องไปวางหลักการตามนโยบาย \
นายวิทยา กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นสำหรับการอนุมัติค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินให้เบิกจ่ายได้เท่ากันที่ 10,500 บาทต่อครั้ง ทั้ง 3 กองทุน โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 เม.ย.55 สามารถเข้ารับบริการได้ในโรงพยาบาล(รพ.)ทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนที่เป็นเครือข่าย โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งวันนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับไปทบทวนเพิ่มเติมและเสนองบประมาณรวมเข้ามาอีกครั้ง
ด้าน นพ.สม เกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนประกันสังคม กล่าวว่าปัจจุบันผู้ประกันตนสามารถรักษากรณีฉุกเฉินใน รพ.นอกบัตรรับรองสิทธิ์ได้ ภายใน 72 ชั่วโมงและต้องแจ้ง รพ.ตามบัตรมารับการรักษาต่อ แต่หากเริ่มระบบนี้ร่วมกันทั้ง 3 ระบบ ผู้ประกันตนจะได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจาก รพ.นั้นๆโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งสำนักงานประกันสังคม(สปส.) จะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายตามระดับความรุนแรงของโรค(ดีอาร์จี) ที่ทั้ง 3 ระบบใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ โดยในวันที่ 13 มี.ค.จะมีการประชุมร่วมอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางที่ชัดเจน
นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่านายกรัฐมนตรียังมีข้อห่วงใยในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลที่รัฐบาลต้องจ่ายในทุกระบบอยู่ที่ 420,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.8 ของรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แต่หากไม่ปรับปรุงรูปแบบการรักษาและควบคุมค่าใช้จ่ายให้ลดลงภาระงบประมาณจะสูงถึง 700,000 ล้านบาทในอีก 8 ปีข้างหน้า .
ที่มาภาพ : http://www.narenthorn.or.th/node/16