ถกบทบาทสื่อ หยุด! ละเมิด (ซ้ำ) สิทธิเด็ก
คนทำสื่อระดมความคิด ถกประเด็นบทบาทสื่อกับการส่งเสริม-คุ้มครองสิทธิเด็ก แนะพ่อแม่หยุด! แชร์ โพสต์ คลิป-รูปภาพ ‘ลูก’ เสี่ยงละเมิด หนุนเปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กบนหน้าสื่อ พร้อมขับเคลื่อนศูนย์ให้คำแนะนำแก่ผู้ถูกละเมิด หวังเป็นกลไกให้เกิดสภาพบังคับการทำหน้าที่ของสื่อ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันสื่อมวลชนกลายเป็นผู้ละเมิดซ้ำ ‘สิทธิเด็ก’ โดยไม่ได้ตั้งใจ โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวเชิงลบที่มีการเปิดเผยตัวตนของเด็ก ทำให้ส่งผลกระทบกลายเป็นตราบาปติดตัวไปจนวัยโต เพราะขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย นั่นจึงเป็นข้อท้าทายทำให้สื่อมวลชนต้องหันกลับมาทบทวนบทบาทของตนเอง
ทำให้มีการเชิญบรรณาธิการข่าวมาร่วมพูดคุย สร้างความเข้าใจตรงกัน ในเวทีเสวนา “บทบาทสื่อมวลชนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็ก” จัดโดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ภายใต้การสนับสนุนขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
โพสต์ เเชร์ คลิป-รูป 'ลูก' เสี่ยงละเมิดสิทธิเด็ก
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันการรายงานข่าวส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็ก ผู้สื่อข่าวมักเข้าใจว่า การไม่นำเสนอภาพหรือเปิดเผยชื่อของเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายและละเมิดข้อบังคับจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพ เป็นการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเด็กแล้ว แต่ในความเป็นจริงยังมีอีกมิติหนึ่ง คือการนำเสนอข่าวเพื่อส่งเสริมสิทธิเด็ก ซึ่งยังพบน้อยมากในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่างการนำเสนอข่าวส่งเสริมสิทธิเด็ก เช่น การนำเสนอสภาพปัญหา หรือสะท้อนปัญหาของหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก ว่ามีระบบการดูแลเด็กที่กระทำความผิดอย่างไร เพื่อนำข้อบกพร่องไปสู่การปรับปรุงที่ดีขึ้น เป็นต้น
สอดคล้องกับ โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ (ประเทศไทย) มองว่า การนำเสนอข่าวส่งเสริมสิทธิเด็กให้มากขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นกับเด็กได้ เหมือนกับการผลักดัน “โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็ก” และ “โครงการรณรงค์ให้ทารกดื่มนมแม่” ที่ประสบความสำเร็จ ด้วยอำนาจของสื่อมวลชน
ส่วนการไม่เห็นด้วยกรณีพ่อแม่โพสต์รูปลูกในโลกออนไลน์ เพราะอาจทำให้คนร้ายเข้าถึงเด็กได้ง่าย หรือส่งผลกระทบในอนาคต ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในไทย ทำให้เขาคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส ประเทศบ้านเกิด โธมัส กล่าวว่า สื่อมวลชนฝรั่งเศสกำลังออกมาเรียกร้องไม่ให้พ่อแม่โพสต์รูปหรือคลิปลูกบนโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม พ่อแม่บางคนยังต่อต้าน โดยตั้งคำถามว่า ในฐานะเป็นเจ้าของเด็ก จะทำอะไรไม่ได้เลยหรือ? ทำให้ขณะนี้ยังคงเป็นเรื่องถกเถียงกันอยู่
เปรียบ ‘สื่อ’ เป็น ‘ทนาย’ -ตั้งศูนย์ให้คำแนะนำผู้ถูกละเมิด
ด้านสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เปรียบสื่อมวลชนเหมือนทนายความ มีหน้าที่ตั้งเรื่อง แต่ความแตกต่างอยู่ที่ “สภาพบังคับ” หากทนายความละเมิดอำนาจศาล จะถูกจับติดคุกเร็วมาก แต่สื่อมวลชน กลับยังไม่มีสภาพบังคับ จึงอยากหาหนูทดลองยาสักครั้ง
โดยในอนาคตอันใกล้ จะมีการผลักดันศูนย์ให้คำแนะนำและปกป้องสิทธิของผู้เสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ และหากศูนย์ฯ ได้รับการพัฒนา ผู้บริโภคได้รับการพัฒนา แต่สื่อมวลชนยังไม่พัฒนา ประธานศูนย์ศึกษากฎหมายฯ ชวนคิดว่า อะไรจะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ เชื่อว่า ศูนย์ฯ จะกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดสภาพบังคับกับสื่อมวลชน ดังนั้น หากต้องการเห็นสื่อมวลชนปกป้องและส่งเสริมสิทธิเด็กดีขึ้น ต้องเน้นย้ำให้เกิดสภาพบังคับ
“ตราบใดที่ต้องการให้สิทธิเด็กได้รับการคุ้มครอง จะต้องมีคนจับตาดู ซึ่งคนที่ทำหน้าที่ต้องมีความรู้ด้านกฎหมาย ด้านสื่อมวลชน และด้านสิทธิเด็ก” สุวรรณา กล่าว
“เด็กขึ้นหน้าหนึ่ง เยียวยายากกว่าเด็กไม่ขึ้นหน้าหนึ่ง”
ทิชา ณ นคร ผอ.สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก สะท้อนบทเรียนให้เห็นความยากลำบากในการเยียวยาเด็กที่กระทำความผิด และเข้ามารับการฝึกอบรมดูแลในสถานพินิจฯ โดยยืนยันว่า เด็กคลุมโม่งขึ้นหน้าหนึ่ง กับเด็กไม่ได้ขึ้นหน้าหนึ่ง มีกระบวนการเยียวยายากง่ายไม่เท่ากัน และมีทางลงไม่เหมือนกันอีกด้วย
โดยเฉพาะทางลงของเด็กขึ้นหน้าหนึ่งแทบไม่ค่อยมี เพราะทันทีที่เด็กกลับไปที่ชุมชนเดิม คนที่รอรับไม่ใช่พ่อแม่ หรือเพื่อนบ้านที่เป็นมิตร แต่กลับเป็นเจ้าของธุรกิจสีเทา เจ้าของบ่อน เจ้าของส้อง ที่ทราบข่าวจากการขึ้นหน้าหนึ่ง
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ทิชา จึงเปรียบให้เข้าใจว่า การขึ้นหน้าหนึ่งเปรียบได้กับวุฒิบัตรของเด็กเรียบร้อยแล้ว ซึ่งบางครั้งวุฒิบัตรนี้อาจมีค่ามากกว่าการจบปริญญาตรีด้วยซ้ำ นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญหลายประเทศในโลกไม่อนุญาตให้นำเด็กขึ้นหน้าหนึ่ง มิใช่เพื่อพิทักษ์เด็กเท่านั้น แต่เพื่อพิทักษ์สังคมด้วย
สื่อทำงานเชิงรุก ส่งเสริมสิทธิเด็ก-เปิดพื้นที่สร้างสรรค์
สุดท้าย คงเดช กี่สุขพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสารนิเทศ (ดิจิทัล) องค์การยูนิเซฟ มองถึงความท้าทายของสื่อมวลชนขึ้นอยู่กับการกำกับดูแล สิ่งที่น่าห่วง คือ มีการนำเสนอเนื้อหาไม่เหมาะสมกับเพศและวัยของเด็ก จึงต้องสร้างวิธีการป้องกัน หรือกลั่นกรอง ไม่ให้เด็กเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันต้องรักษาความสมดุลระหว่างส่วนคัดกรองไม่ให้เห็น กับส่วนที่เป็นสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นความท้าทาย คือ ความรู้สึก ที่มองเรื่องผิดปกติเป็นเรื่องปกติ ยกตัวอย่าง การละเมิดสิทธิเด็กเกิดขึ้นบ่อยจนคนมองเป็นเรื่องปกติ เช่น คุณครูโพสต์รูปภาพเด็กบนโซเซียล และสื่อมวลชนนำมานำเสนอในเชิงวิเคราะห์ สิ่งเหล่านี้ควรจะทำให้เกิดการฉุกคิดขึ้น
“พ่อเม่อาจรู้สึกว่า ทำไมจะโพสต์รูปลูกไม่ได้ ออกจะน่ารัก หรือคุณครูโพสต์รูปลูกศิษย์ ซึ่งเคยมีคุณครูโพสต์รูปลูกศิษย์ขณะนอนหลับในห้องประชุม และกลายเป็นเรื่องขบขัน ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นการกลั่นแกล้งเด็กในโลกออนไลน์ให้กลายเป็นตัวตลก” ผู้เชี่ยวชาญฯ องค์การยูนิเซฟ กล่าว และว่า แต่เมื่อไปถามเด็กที่นอนหลับกลับรู้สึกขำ ๆ นั่นแสดงว่า แม้แต่เด็กยังรู้สึกเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวมาก เพราะไม่เฉพาะผู้กระทำ แต่ผู้ถูกกระทำยังมองเป็นเรื่องปกติ
ส่วนในแง่การส่งเสริมสิทธิเด็ก คงเดช เห็นว่า สื่อจะต้องนำเสนอข่าวเชิงรุกมากขึ้น แม้จะไม่มีกระแสข่าว โดยต้องไม่ได้ข่าวเงียบ ตราบเท่าที่ทราบว่าเรื่องนั้นเกิดขึ้นอยู่ในสังคม และควรเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้แก่เด็ก ซึ่งปัจจุบันเห็นในสื่อมวลชนหลายสำนักเชิญผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์เขียนคอลัมน์ หรือทำรายการ แต่การให้โอกาสเด็กมีพื้นที่บนหน้าสื่อจะต้องไม่ใช่คอลัมน์เล็ก ๆ ควรเป็นพื้นที่ผู้เสพสื่อเห็นได้ชัดเจน .
อ่านประกอบ:ปธ.ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แนะสื่อเปิดพื้นที่ข่าวดีเพิ่มบทบาทส่งเสริมสิทธิเด็ก