บูรพาภิวัตน์ 2.0 ที่รัฐศาสตร์ท่าพระจันทร์
14 มิถุนายน 2560 ผมกลับไปเยี่ยม "บ้าน" อันได้แก่คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เคยอยู่ เคยเป็นคณบดี ฉลองครบรอบ 68 ปี ผมรับเชิญไปพูดเรื่อง "ที่ตั้งของไทยในโลกยุคบูรพาภิวัตน์" ราวหนึ่งชั่วโมง พูดเสร็จ พลอยนึกได้ว่า อันที่จริงผมออกหนังสือ "บูรพาภิวัตน์" มาตั้งแต่ปีน้ำท่วมใหญ่ คือ ปี 2554 จากนั้นมา เหตุการณ์ต่างๆ ในโลกผ่านไปไม่น้อย น่าจะเป็นฤกษ์งามยามดีแล้ว ที่จะได้เปรียบเทียบบูรพาภิวัตน์ เมื่อปี 2544 ซึ่งเรียกว่า เวอร์ชั่น 1.0 กับบูรพาภิวัตน์ ณ ปี 2560 ซึ่งถือเป็นเวอร์ชั่น 2.0
มีหลายสิ่งที่ต่างกันไปแน่นอน ในบูรพาภิวัตน์ 1.0 นั้น จีนและหลายชาติตะวันออกยังเติบโตสูงมาก จีน ขณะนั้นโตปีละ 8-9 เปอร์เซ็นต์ พม่า ปีละ 13.5 เปอร์เซ็นต์ กัมพูชา 8.5 ลาว 7.5 ส่วนเวียดนาม 7 อิเควตอเรียลกีนี ในอัฟริกา ซึ่งโตเร็วที่สุดในโลกเวลานั้น เติบโตปีละ 18.5 ซึ่งนั่นไม่ใช่ตัวเลขปีใดปีหนึ่ง
หากเป็นตัวเลขเติบโตเฉลี่ยของหนึ่งทศวรรษ ปัจจุบันนี้ ในบูรพาภิวัตน์ 2.0 ตะวันออกยังเติบโตค่อนข้างสูงแต่ก็ไม่สูงเท่าอดีต ยุคที่เติบโตสูงลิ่วดูจะผ่านพ้นไปแล้ว จีนในปัจจุบันนี้เติบโตปีละ 6.5-7 เปอร์เซ็นต์ ประเทศต่างๆ ที่เคยพึ่งพิงการลงทุนจากจีน หรือ การขายสินค้าให้จีน จะเป็นอาหาร เป็นสินค้าเกษตร หรือ เป็นวัตถุดิบ หรือ แร่ธาตุ และ น้ำมัน แก๊ส ก็ดี ในเวลานี้ไม่มีที่ใดที่เศรษฐกิจจะขยายตัวถึง 10 เปอร์เซนต์ต่อปี อีกแล้ว
ยุโรปและญี่ปุ่น หลังจากเกิดวิกฤตการเงินโลก "แฮมเบอร์เกอร์" ในปี พ.ศ. 2551 ที่เริ่มจากสหรัฐแล้วลามไปทั่วฝั่งตะวันตกและทั่วโลกนั้น ต่อมาอเมริกาฟื้นขึ้นมาได้ แต่ยุโรปและญี่ปุ่นยังจมดิ่งต่อไปหลายปี แต่ ปีนี้ 2560 ในบูรพาภิวัตน์ 2.0 นี้ กล่าวได้ว่าโลกตะวันตกทั้งมวล ฟื้นตัวกันได้แล้ว การประเมินล่าสุด ไม่เกินเดือนหนึ่งมานี้ คาดเอาไว้ว่า สามบริเวณ อันได้แก่ อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีประชากรรวมกัน 800 กว่าล้าน จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี โลกทั้งใบแห่งยุคบูรพาฯ 2.0 นั้น เข้าสู่สภาพการณ์ใหม่ที่เศรษฐกิจเติบโตที่ระดับปานกลาง จะค่อนข้างสูงในโลกตะวันออก และจะค่อนข้างต่ำในโลกตะวันตก
ตัวเลขการเติบโตอาจพลิกผันได้บ้าง แต่ที่ไม่พลิกผันแน่ คือ ช่องว่าง หรือ ความห่างไกล ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก จะลดลงเรื่อยๆ เป็นกระแสใหญ่ของโลกที่ไม่มีใครต้านทานได้ บัดนี้ จีน อินเดีย บราซิล แห่ง บูรพาภิวัตน์ 2.0 นี้ กลายเป็นสามในสิบประเทศแรกของโลกในด้านขนาดเศรษฐกิจไปแล้ว ในยุคบูรพาภิวัตน์ 1.0 นั้น จีนอยู่อันดับสองของโลก สูสีกับญี่ปุ่น มีอินเดียกับบราซิลอยู่เฉียดๆ อันดับสิบ ในบูรพาภิวัตน์ 2.0 นี้ จีนใหญ่โตกว่าญี่ปุ่นไปเท่าหนึ่งแล้ว และ เรายังเห็น อินเดียกับบราซิล เข้ามาอยู่ในสิบประเทศแรกของโลกแน่นอนแล้ว ทั้งยังมีเกาหลีใต้ และ รัสเซียจ่อติด อยู่ถัดจากอันดับสิบไป
ผลลัพธ์โดยรวมคือในยุคบูรพาภิวัตน์ 2.0 นี้ อเมริกาถูกจีนกวดขึ้นมาเรื่อย ๆ ที่จริง ถ้านับจากกำลังซื้อที่เป็นจริง บัดนี้ ขนาดเศรษฐกิจของจีนนั้นถือว่า โตกว่าอเมริกาไปเรียบร้อยแล้ว ญี่ปุ่นนั้นไม่มีวันจะกลับมาอันดับสองแน่ๆ จะถูกจีนทิ้งห่างไกลออกไปเรื่อยๆ ประเทศยุโรปนั้นก็จะลดความสำคัญลงไปอีก ที่โตอยู่หนึ่งในสิบของโลกได้ จะเหลือแต่เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ เพียงเท่านั้น
แม้จะถูกตะวันตกสงสัยเอาทุกวันว่าเมื่อไรจะล้ม แต่เศรษฐกิจจีนก็ยังวิ่งไปเรื่อยๆ ตลาดหุ้นที่น่าเป็นห่วงว่าจะล้มเพียงแต่เมื่อไร ก็ยังรุกไปข้างหน้าต่อไป แม้จะเดินวิ่งช้าลงไปมาก ในส่วนภาคชนบทจีนที่เคยล้าหลังและกว้างใหญ่มาก ณ บัดนี้ ทันสมัยและเล็กลงไปมาก เล็กกว่าภาคมหานคร นครและเมืองชัดเจนแล้ว เวลานี้มีมหานครขนาดยักษ์เกิดจากการรวมมหานครและนครใกล้ๆ เข้าด้วยกัน ผุดขึ้นมาบังเกิดขึ้นมามากมาย ภาคเมืองนั้นเติบใหญ่ไม่หยุดยั้ง คงไม่มีประเทศใดในโลกอีกแล้วที่จะเหนือกว่าจีนในขบวนการกลายเป็นเมือง จะเห็นชัดเลยว่ามหานคร เซี่ยงไฮ้และปักกิ่งของจีนนั้นใหญ่โต ผังเมืองดี สะอาด สะดวก ทันสมัย ปลอดภัยยิ่งกว่ามหานครอื่นใดในโลกตะวันตก ขนาดและสถานะนั้นทัดเทียมกับโตเกียวทีเดียว ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือ หนี้สินภาครัฐโดยเฉพาะระดับท้องถิ่นสูงลิ่วนั้น ก็น่าเป็นห่วงจริง แต่จนถึงบัดนี้รัฐก็ยังบริหารหรือจัดการมันได้
สรุปสั้นๆ ก่อนนะครับ ขอยืนยันในที่นี้เลยว่าเศรษฐกิจจีนนั้นเป็น "ของจริง" อย่างแน่นอน จีนไม่ได้มีแต่เพียงการเจริญเติบโต ยังมีนวัตกรรมมากด้วย มีความสร้างสรรค์ด้วย และวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีของจีนนั้นก็เป็น "ของจริง" เช่นกัน การทุ่มงบประมาณรัฐให้กับการวิจัยและพัฒนานั้น มาบัดนี้ จีนทุ่มไม่แพ้สหรัฐแล้ว จะเห็นได้ว่า "ซูเปอร์คอมพิวเตอร์" ของจีนนั้นนำหน้าสหรัฐ แล้ว และกระทั่ง "ควอนตัมคอมพิวติ้ง" เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งปลอดการรบกวนร้อยเปอร์เซนต์ ทั้งคำนวณได้รวดเร็วจนซูเปอร์คอมพิวเตอร์ไม่มีทางเทียบได้นั้น จีนก็เป็นผู้นำอยู่ และ ในบูรพาภิวัตน์ 2.0 นี้ จีนยังเป็นผู้นำของโลกชัดเจนในด้านอีคอมเมิร์ซและอีมาร์เกตติงอีกด้วย
สรรพอาวุธยุทธโปกรณ์ของจีนก็ย่อมรุดหน้าตามวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไป กองทัพอากาศและกองทัพเรือจีนมีแสนยานุภาพน่าเกรงขาม ผลิตเครื่องบินล่องหนได้แล้ว เรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สองก็สร้างเสร็จและปล่อยลงน้ำแล้ว สร้างเองทุกอย่าง มีสมรรถนะตลอดจนมีอาวุธที่ทันสมัย ไม่แพ้ของสหรัฐ โปรดทราบว่าในบูรพาภิวัตน์ 1.0 นั้น จีนมีแต่กองทัพบก ซึ่งแม้อาจจะทรงพลัง แต่ก็อยู่ติดที่ ที่ขาดหายไป คือกองทัพเรือกองทัพอากาศที่ทำการได้ไกล ทว่า ในบูรพาภิวัตน์ 2.0 นั้น จีนจะรบได้ในระยะไกลมากขึ้น ไปได้ทั่วทั้งทวีปเอเชีย คงกล่าวได้ แต่ยังไม่ถึงทั่วทั้งโลก เช่นกองทัพสหรัฐ
ในบูรพาภิวัตน์ 2.0 นั้น ชัดเจนเลยครับว่าจีนก้าวหน้าเป็นทีเดียว ไม่ได้หยุดอยู่กับที่เน้นแต่การเจริญเติบโต หยุดอยู่แต่ที่วิทยาการและเทคโนโลยี ตรงกันข้าม ยังสนใจมากในเรื่องสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตด้วย พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น มลพิษลดลง มีการใช้พลังงานทดแทนในระดับสูงและจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จีนเป็นผู้นำของโลกในด้านการผลิตพลังงานน้ำ พลังงานแดด และพลังงานลม เสียด้วย
ในยุคบูรพาภิวัตน์ 1.0 นั้น จีนยังไม่มีมหายุทธศาสตร์ระดับโลก แต่ ในบูรพาภิวัตน์ 2.0 นั้น ปรากฏชัดว่าจีนมี One Belt One Road คือ สร้างเส้นทางสายไหมทางบกและทางน้ำ ยึดโยงสามทวีป เอเชีย ยุโรป และอัฟริกา ขึ้นมาใหม่ แล้ว มหายุทธศาสตร์ นี้ ดูจะยิ่งใหญ่ แม้อาจจะเอาไปเทียบกับแผนการมาร์แชล และพันธมิตรนาโต้ ที่สหรัฐได้นำเสนอต่อยุโรปเมื่อพ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ได้ก็ตาม
ในบูรพาภิวัตน์ 1.0 นั้น ดูประหนึ่งจีนจะพยายามรวมประเทศตะวันออกเข้าด้วยกันพอได้ นำไปเผชิญหน้า หรือ นำไปประชันขันแข่งกับโลกตะวันตก แต่ในบูรพาภิวัตน์ 2.0 นั้น เป็นที่ประจักษ์ขึ้นเรื่อยๆว่า จีนขัดแย้งกับประเทศตะวันออกด้วยกันเองไม่น้อยไม่ว่าจะเป็นอินเดีย หรือ เวียดนาม บรูไน ฟิลิปปินส์ หรือ มาเลเซีย และยังขัดแย้งหนักกับญี่ปุ่น ซึ่งแม้จะเป็นส่วนหนึ่งของโลกตะวันตก แต่ก็มีศาสนา ภาษา และ จริยธรรมร่วมกับจีนมาไม่น้อย ความขัดแย้งหลักในยุคบูรพาภิวัตน์ 2.0 จะไม่ใช่ตะวันออกรวมตัวกันสู้หรือรวมกันเผชิญหน้ากับตะวันตก คงว่ากันเป็นเรื่อง ๆ ไป แต่ความขัดแย้งระหว่างประเทศตะวันตกด้วยกันเอง หรือตะวันออกด้วยกันเอง จะดูเบา ไม่สนใจ หรือมัวประมาทว่าจะไม่เกิด เห็นจะไม่ได้ ขณะเดียวกัน อาจจะมีตะวันออกบวกกับตะวันตกพวกหนึ่ง ไปขัดแย้งและต่อสู้กับตะวันออกบวกกับตะวันตกอีกพวกหนึ่ง ก็เป็นไปได้ แต่ แนวโน้มใหญ่ที่สืบต่อจากบูรพาภิวัตน์ 1.0 คือจะบังเกิดมีประเทศตะวันออกที่เติบใหญ่เข้มแข็งจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และจะมีตะวันตกที่อ่อนกำลังลงเพิ่มจำนวนประเทศขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นแนวโน้มที่จะไม่มีวันหวลทิศกลับทางได้
ในเชิงดุลย์อำนาจในยุคบูรพาภิวัตน์ 2.0 นี้ คงไม่ใช่ตะวันออกจะชนะได้ไป ทั้ง 100 ส่วนตะวันตกแพ้ได้ 0 เป็นไปได้มากกว่าที่ ตะวันตก และตะวันออกจะแบ่งโลกกัน แบ่งอำนาจกัน จะสูสีก้ำกึ่งกันขึ้นเรื่อยๆ ในทางดุลย์กำลัง สภาพที่ตะวันตก-ตะวันออกไม่แพ้ไม่ชนะกัน น่าจะเป็นความจริงมากกว่า นอกจากนั้น น่าสังเกตว่าชาวตะวันออกส่วนใหญ่นั้น ไม่มีทีท่าจะปฏิเสธตะวันตกในวิถีชีวิต ในปรัชญาและวัฒนธรรมมากนัก ทั้งแทบจะไม่มีใครปฎิเสธตะวันตกในทางวิชาความรู้เอาเสียเลย เมื่อเป็นเช่นนี้การประชันขันแข่งหรือการขัดแย้งและต่อสู้กันในทางอารยธรรมหรือในทางความคิดและจิตสำนึกแบบที่ตะวันออกจะ "สู้" หรือ "ชน" กับตะวันตก คงเกิดขึ้นน้อยมาก ทั้งกลุ่มประเทศตะวันตกและกลุ่มประเทศตะวันออก เท่าที่ผมเห็นอยู่ในตอนนี้ ในยุค 2.0 ที่ว่ามานี่ น่าจะกลืนกลายเข้าหากัน กลมกลืนกัน และโน้มเอนเข้าหากันได้
แต่ลำพังโลกเปลี่ยนได้เพียงแค่นี้ก็น่าสนใจและเป็นโอกาสสำหรับไทยเรามากได้ เพราะกำลังผลักและแรงดึงดูดจากกระแสลมบูรพาภิวัตน์ของจีนและของอินเดียนั้น ช่างอยู่ใกล้ แต่ก็โชคดีทั้งสองยักษ์ไม่ได้อยู่ชิดติดกับไทยทั้งทางบกหรือทะเล ขณะที่โลกตะวันตกอันมีสหรัฐและยุโรปเป็นสำคัญนั้น ก็อยู่ห่างไกลออกไปมาก ซึ่งในทั้งสองกรณีที่กล่าวมาล้วนยากที่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งกับเราได้ อนึ่ง ญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ไม่ไกลเรานั้น ยังใกล้ชิดเราอยู่มากในทางเศรษฐกิจ-วัฒนธรรมมาก แต่ ไม่ว่าดาราแห่งตะวันออก อันได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ อิหร่าน ตุรกี บราซิล อาร์เจนติน่า อัฟริกาใต้ และกลุ่มประเทศรอบอ่าวเปอร์เซีย จะไปแทนที่อันดับของสหรัฐ ญี่ปุ่น และมหาอำนาจตะวันตกได้หรือไม่นั้น ย่อมไม่ใช่กงการอะไรของเรา เราใกล้ชิดและเกี่ยวพันกับจีนได้และกับตะวันออกใดๆ ก็ได้ เราภูมิใจในความเป็นตะวันออกของเราเองก็ได้ ร่วมกับคนอื่นก็ได้ โดยไม่จำต้องไปเป็นปฏิปักษ์ หรือทอดทิ้ง เหนื่อยหน่าย และขัดแย้งกับชาติอำนาจตะวันตก สิ่งใดที่ดีของตะวันออก ขอให้จงทนุถนอมของเดิมหรือเก็บรับเอามาใหม่ก็ได้ สิ่งใดที่ดีของตะวันตก ก็เลือกรับมาใหม่ได้ หรือสืบทอดของเก่าที่เคยรับมาต่อได้เช่นกัน เราจงมาเป็นได้ทั้งตะวันออกที่ดีและตะวันตกที่ดี นี่คือข้อสรุปของผมในยุคบูรพาภิวัตน์ 2.0
การผงาดขึ้นมาของระบอบทรัมป์ในสหรัฐสะท้อนได้ดีว่าอเมริกานั้นแพ้จีนและตะวันออกอย่างต่อเนื่อง เห็นแนวโน้มแพ้ และถดถอยนี้ ได้ ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูกแล้ว จึงในสมัยประธานาธิบดีโอบามา ท่านพูดแต่ให้อเมริกา "เปลี่ยน" แต่บรรดาอเมริกันจำนวนมากและทรัมป์เองกลับเห็นว่าเปลี่ยนแค่นั้นไม่พอ น่าจะกล้าเปลี่ยนไปถึงระบอบโลกเลย น่าจะหันหลังให้โลกาภิวัตน์ แล้วหันมาสร้างอเมริกาเป็นหลัก แยกตัวออกจากโลกเท่าที่จะทำได้ กลับทิศกลับทาง กลับมาสร้างอเมริกา แก้ปัญหาให้ชาวอเมริกันเองให้มากขึ้น ความจริงในปลายสมัยของโอบามานั้น สหรัฐสามารถ "ปฏิวัติเชลแก๊ซ" ใช้น้ำความดันสูงพุ่งชนบีบคั้นเอาน้ำมันออกมาจากหินและทรายชุ่มน้ำมันได้ จนสหรัฐเริ่มจะพลิกตัวในทางดี กลับส่งออกนำ้มันได้เป็นครั้งแรกใน รอบหลายสิบปี แต่น่าเสียดายที่ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ไม่ได้ต่อยอดจากความก้าวหน้าในทางเทคโนโลยีอันนี้ หรือ กระทั่งอันไหนมากนัก เวลาหกเดือนของทรัมป์หมดไปกับความเพียรพยายามจะทำอะไรตามที่สัญญาเอาไว้ตอนหาเสียง แต่ก็ล้วนทำได้แสนจะยากลำบากในแทบทุกเรื่อ
สรุปได้ว่า เวลานี้ รัฐบาลทรัมป์ไม่อาจพลิกอเมริกาไปทางซ้ายหรือย้ายมันไปทางขวา ดันไปข้างหน้าหรือดึงให้ถอยมาข้างหลังได้ การมีแต่วาจา มีแต่เพียงคำขวัญ มีแต่เพียงนโยบาย แต่ ผลักดันอะไรจริงแทบไม่ได้เลยนั้น ทำให้ในบูรพาภิวัตน์ 2.0 นี้ เห็นชัดกันแล้วว่าสหรัฐจะพลันแย่ลงไปอีก ทรุดฮวบไปอีก ทรุดลงไปเองด้วย ต้องขอย้ำตรงนี้ ยิ่งทรัมป์อยู่นาน แค่ไหน ความเสียหาย เสื่อมทรุด จะยิ่งสะสม จีนจะยิ่งรุกเข้าใกล้สหรัฐ เป็นไปได้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกเร็วขึ้น
หมายเหตุ : เรื่องจาก Facebook Page เอนก เหล่าธรรมทัศน์ AnekLaothamatasage