บิ๊กสหรัตนนครปูดเบื้องหลัง กนอ.ยึดนิคม โยงปมค่าสินไหมฯ 100 ล.-ผู้ว่าฯ นัดแจง
บิ๊กบ.สหรัตนนครฯ ร้อง 'อิศรา'พบข้อมูลใหม่ ถูก กนอ. ส่งหนังสือ บ.ประกันฯ ขอรับค่าสินไหมฯ แทนกว่า 100 ล. นำไปสร้างเขื่อนคันดินกันน้ำท่วม ปี 55 อ้างบริษัทไม่มีความพร้อม ไม่ยอมให้นำไปใช้บรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกอบการ ด้าน ‘จักรรัฐ เลิศโอภาส’ รองผู้ว่าฯ นัดแจง 22 มิ.ย.นี้
กรณีศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บริษัท สหรัตนนคร จำกัด ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมใน จ.อยุธยา เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2559 และมีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 17 พ.ค. 2559 (คดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 52/2551) โดยนางธีรนาฏ โชควัฒนา ผู้อำนวยการบริษัทฯ ในฐานะผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร พร้อมคณะ เดินทางชี้แจงขอเท็จจริงก่อนหน้านี้ว่า เหมือนถูกหลอกให้ลงทุน บริษัทฯ ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ กรณีสร้างเขื่อนกันน้ำไม่ทันเวลาที่กำหนดในสัญญา โดยงบฯ ก่อสร้างเดิมอยู่ที่ 660 ล้านบาท บริษัทฯ ลดเหลือ 558 ล้าน ภาครัฐสนับสนุนเงินจำนวน 226 ล้าน แต่ให้จริงแค่ 100 ล้าน ขณะที่ ทวงถามอยู่ 8 เดือน อ้างบริษัทฯ สร้างเขื่อนดิน (อ่านประกอบ : บิ๊ก บ.สหรัตนนคร เล่า 'เบื้องหลัง' ถูก กนอ.บีบยึดนิคมอุตฯ ปมสร้างเขื่อนไม่ทันเวลา)
ขณะที่ นางธีรนาฎกล่าวว่า ต่อมาบริษัทฯ ได้รับการติดต่อจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ให้กลับไปทำงานก่อสร้างเขื่อนให้เสร็จ แล้วจะคืนสิทธิให้กับบริษัทฯ ทั้งที่เลยช่วงเวลาดังกล่าวไปแล้ว เพราะบริษัทฯ ถูกศาลฯ สั่งพิทักษ์ทรัพย์ ทั้งยังระบุด้วยว่า กนอ. มีเจตนาให้บริษัทฯ ล้มละลาย เพื่อต้องการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา และเข้าครอบครองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ระบบสาธารณูปโภคของบริษัทฯ ทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่านับพันล้านบาท (อ่านประกอบ : บิ๊ก บ.สหรัตนฯปูด กนอ.กลับลำเรียกสร้างเขื่อนให้เสร็จ คืนสิทธิให้ ยันเลยจุดเจรจา)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2560 นางธีรนาฏ โชควัฒนา ผู้อำนวยการ บริษัท สหรัตนนคร จำกัด ในฐานะผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมพนักงานจำนวนหนึ่ง เดินทางชี้แจงสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ได้กลับมาทบทวนเรื่องราวทั้งหมด พบข้อมูลว่าการใช้เงินสร้างเขื่อนของ กนอ. ไม่ให้เอกชนเข้าไปตรวจสอบ ไม่ให้บริษัทฯ เข้าไปดูแล แต่นำเงินบริษัทฯ ไปก่อสร้างเขื่อน และล่าสุดพบว่า กนอ.พยายามจะยึดสินไหมทดแทนความเสียหายของบริษัทฯ ไปก่อสร้างเขื่อนชั่วคราว เมื่อปี 2555 ส่วนการก่อสร้างเขื่อนถาวร นั้น กนอ. สั่งชะลอในทุกขั้นตอน ทำให้บริษัทฯไม่ว่า จะพยายามดำเนินการอย่างไรก็จะไม่มีทางก่อสร้างได้สำเร็จ รวมถึง กนอ.ต้องการเข้าครอบครองสาธารณูปโภคทั้งหมดของบริษัทฯ โดยใช้ความเดือดร้อน ความวิตกกังวลของผู้ประกอบการ ดำเนินการในวิถีทางต่าง ๆ จนบริษัทฯ เข้าสู่สถานะผิดสัญญา และล้มละลาย
“บริษัทฯ เข้าไปบริหารกิจการ และดูแลนิคมฯ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2555 วันต่อมา (5 ก.ค.) วันเดียวเท่านั้น บริษัทฯ ได้รับหนังสือ กนอ. โดยนายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการฯ ตำหนิ นิคมฯ ว่าไม่ดูแลผู้ประกอบการ ทั้ง ๆ ที่ กนอ.ทราบดีว่าก่อนหน้านั้น นิคมฯ อยู่ในการบริหารของ บจก.เอสซีเอ็มบี และ กนอ.ยังได้เร่งรัดให้สร้างเขื่อนชั่วคราวเพื่อป้องกันน้ำท่วมในปี 2555 โดยบังคับให้จ่ายเงินให้ กนอ. ก่อสร้าง และยังทำหนังสือถึงบริษัทประกันภัย เพื่อขอยึดสินไหมทดแทนความเสียหายน้ำท่วมของนิคมฯ ไปเป็นค่าก่อสร้างเขื่อนชั่วคราว ไม่ยอมให้บริษัทฯ นำไปใช้ซ่อมแซม บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการก่อน” นางธีรนาฏ กล่าวและว่า
ทางบริษัทฯ พบข้อมูลเบื้องหลังว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2555 นางศรีวณิก หัสดิน รองผู้ว่าฯ กนอ. ได้ทำหนังสือแจ้งการขอเป็นผู้รับค่าสินไหมทดแทน แทนบริษัท สหรัตนนคร จำกัด ถึง ผอ.ฝ่ายสินไหมทดแทน บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด(มหาชน) ระบุว่า
กนอ. ได้รับการประสานงานจากบริษัท สหรัตนนครฯ ในฐานะเป็นคู่สัญญาในการจัดตั้งนิคมฯ สหรัตนนคร ซึ่งตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมดำเนินงานโครงการนิคมฯ ระบุว่า บริษัทฯ จะต้องจัดให้มีระบบป้องกันน้ำท่วม ฯลฯ ด้วย และหากเขื่อนคันดินได้รับความเสียหาย บริษัทฯ จะต้องทำการซ่อมแซมด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ แต่ฝ่ายเดียว หากบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการซ่อมสร้างเขื่อนเดิมได้ กนอ.จำเป็นต้องเข้าไปเป็นผู้ดำเนินการแทนไปก่อน และเมื่อ กนอ. ดำเนินการแล้ว บริษัทฯ จะต้องชำระเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมดแก่ กนอ. เนื่องจาก เขื่อนคันดินเดิมของนิคมฯ ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 จำเป็นต้องทำการซ่อมสร้างเขื่อนให้สามารถป้องกันน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นอีกได้ และจากการประสานงานทราบว่า บริษัทฯ ยังไม่มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ในขณะนี้
แต่หาก กนอ. ได้ดำเนินการไปก่อน บริษัทฯ ตกลงยินยอมให้ กนอ. เป็นผู้รับเงินค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ทั้ง 3 ฉบับโดยตรงจาก บมจ.กรุงเทพประกันภัย ซึ่งในเบื้องต้นพิจารณาแล้วไม่ขัดข้องที่จะเป็นผู้ดำเนินการแทน และระบุอีกว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการยืนยันว่า หากบริษัทฯ กับ บมจ.กรุงเทพประกันภัยฯ ได้พิจารณาจำนวนค่าสินไหมฯ ของแต่ละกรมธรรม์เป็นที่ยุติแล้วจะจ่ายเงินค่าสินไหมฯ ให้แก่ กนอ. โดยตรงได้ ขอให้ บมจ.กรุงเทพประกันภัยฯ พิจารณาเรื่องดังกล่าวว่า หากบริษัท สหรัตนนครฯ มีหนังสือแจ้งโอนสิทธิการรับเงินค่าสินไหมฯ ให้แก่ กนอ. เป็นผู้รับเงินเพื่อนำไปซ่อมสร้างเขื่อนโดยตรงได้หรือไม่ อย่างไร
"จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้มีความผิดปกติ มีความพยามเข้าครอบครองนิคมฯมาตั้งแต่แรก"นางธีรนาฎกล่าว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ไปที่ กนอ. เพื่อติตดต่อ นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการฯ ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงข้างต้นแล้ว โดยเจ้าหน้าที่เลขาฯ หน้าห้องกล่าวว่า นายจักรรัฐติดประชุมอยู่ ยังไม่สะดวกให้สัมภาษณ์ อย่างไรจะแจ้งเรื่องดังกล่าวให้ พร้อมระบุให้ผู้สื่อข่าวฝากเบอร์โทรไว้ ก่อนจะติดต่อกลับมาว่า นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการ กนอ. นัดชี้แจงข้อเท็จจริงข้างต้นในวันที่ 22 มิ.ย. 2560 เวลา 11.00 น. ที่ กนอ. สำนักงานใหญ่
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้พยายามขอเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวของรองผู้ว่าการ กนอ. จากเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวแล้ว แต่ถูกปฏิเสธ อ้างไม่มี ไม่สะดวก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมธรรม์ทั้ง 3 ฉบับ มีวงเงินเอาประกันแบ่งเป็นจำนวน 65 ล้านบาท ,37.1 ล้านบาท และ 2.45 ล้านบาท รวมวงเงินเอาประกันเป็น 104.55 ล้านบาท (ดูเอกสารประกอบ)