ฉบับเต็ม! ฟังผู้ว่าฯ 'ททท.'แจงปมปัญหาช็อปประชารัฐสุขใจ:"เราพร้อมรับการตรวจสอบอยู่แล้ว"
"..ขอเรียนว่าเราต้องดูระเบียบข้อบังคับพัสดุของเราก่อน ซึ่งไม่ได้มีข้อห้ามเรื่องนี้ว่าจะต้องไม่ให้ผู้รับจ้างสั่งซื้อสินค้าจากใคร ถ้าไม่มีข้อกำหนดตรงนี้ เราก็กลับไปดูเรื่องสัญญาที่ผูกพันระหว่าง ททท. กับลูกจ้าง ซึ่งก็ไม่ได้มีกำหนดเหมือนกัน ..เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่เป็นธุรกิจ และในสัญญาจ้างนี้แค่กำหนดว่า ในเมื่อเขารับงานมีหน้าที่ต้องทำงานให้ตรงตามรายการที่กำหนด และส่งมอบงานให้เรา เพราะฉะนั้นในส่วนที่ว่า เขาจะไปซื้อสินค้าจะไปทำอะไรกับใคร เป็นเรื่องของเขา เรื่องธุรกิจ ททท. เข้าไปก้าวก่ายไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้ก็ไม่ใช่การจ้างช่วง เพราะจ้างช่วงก็คือให้เขามาทำงานแทนเลย แต่นี่ไม่ใช่..”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นคำชี้แจงโดยละเอียดของ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมเจ้าหน้าที่ ททท. ต่อกรณีร้องเรียนเรียนปัญหาการดำเนินงานโครงการประชารัฐ สุขใจช็อป ต่อทีมข่าวสำนักข่าวอิศรา ที่ททท. เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา
@ ขอทราบที่มาวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการฯ พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
ขอบคุณที่ให้โอกาสพูดคุย ได้ทำความเข้าใจ เพราะบางอย่างผมคิดว่าจำเป็นต้องอธิบายให้ฟังว่ามันมีที่มาที่ไปอะไร อย่างไร เอกสารบางอย่าง ผมคิดว่าอะไรที่ให้ได้คงให้ ให้ดูคงไม่มีปัญหา ท่านจะได้เห็น เพราะบางทีเป็นเอกสารที่เราใช้ภายใน ก็ลองดูเดี๋ยวพิจารณาเป็นกรณีไป และเราพร้อมรับการตรวจสอบอยู่แล้ว
อันแรกเรื่องวัตถุประสงค์ ต้องเรียนก่อนว่าจริง ๆ แล้ว โครงการเกิดขึ้นสืบเนื่องจากแผนวิสาหกิจของ ททท. ซึ่งเราเองมุ่งเน้นคุณภาพนักท่องเที่ยว แล้วก็ยังมองในเรื่องของการกระจายรายได้ด้วย เพราะไม่ใช่นักท่องเที่ยวมากันเยอะ ๆ แล้วรายได้กระจุกอยู่ตรงนั้น เราเปลี่ยนวิธีการตั้งเป้าหมายจากเดิมที่มองในแง่จำนวนคน มามองในแง่ของจำนวนรายได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรที่จะมีการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศ และทำให้รายได้นั้นกระจายลงไปในพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ลงไปแล้วเกิดการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ ททท.อยากให้เกิดขึ้น เพราะว่าชาวบ้านจะได้ประโยชน์ ถ้ามันเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น โครงการประชารัฐ สุขใจช็อป เป็นโครงการภายใต้มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล ซึ่งเราได้งบประมาณมาในช่วงปลายปี 2558 แนวคิดคล้ายกับ Road Side Station หรือมิจิโนะเอกิของญี่ปุ่น ซึ่งเขาบอกว่า ถ้าเกิดเรามีที่หนึ่งอยู่ริมถนน แล้วที่ตรงนั้นเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว เช่น มีจุดแวะพัก สามารถเข้าห้องน้ำได้ มีจุดบริการข้อมูลข่าวสารเรื่องการท่องเที่ยว และมีที่สำหรับขายของ มันก็จะเป็นการอำนวยความสะดวก ก่อให้เกิดการกระตุ้นความถี่ในการเดินทางมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดก็คือ สามารถที่จะเป็นหน้าร้านให้กับชาวบ้าน ให้ผู้ประกอบการ SME ในท้องถิ่นที่นำมาขาย
“ท่านลองคิดดูอย่างโอทอป ปีหนึ่งเขานำมาออกแค่ 2 ครั้ง โอท็อปมิดเยียร์ ,โอท็อปปลายปี แต่ถ้าเกิดมีหน้าร้านสามารถหมุนเวียนได้ เราคิดว่าตรงนี้รายได้ก็น่าจะเกิดกับชาวบ้าน และมันเป็นประโยชน์ นักท่องเที่ยวเองก็สามารถได้แหล่งท่องเที่ยว ได้มีความรู้ ได้เข้าไปในท้องถิ่น มีการใช้จ่ายในท้องถิ่น ก็ทำให้เป็นไปตามแผน เป็นไปตามยุทธศาสตร์ในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวกระตุ้นให้เกิดการสร้างรายได้และมีการกระจายรายได้ในท้องถิ่นมากขึ้น เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์ก็อย่างที่เรียนว่าเป็นเรื่องของการเพิ่มรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ และให้รายได้ดังกล่าวนั้นลงสู่ชุมชน ไปสู่เกษตรกร ไปสู่ผู้ประกอบการ SME ในท้องถิ่นโดยตรง เป็นหน้าร้านเข้ามาขายของ และช่วยให้ได้มีพื้นที่ในการแสดงและจำหน่ายสินค้าโดยตรงกับนักท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางในประเทศ กระตุ้นความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยว ยิ่งรู้ก็ยิ่งอยากไป มีอะไร unssen ตอนนี้ ททท.ทำเรื่องท่องเที่ยวสไตล์ลึกซึ้ง ก็ให้ข้อมูลต่าง ๆ กินที่ไหน ไปที่ไหน และที่สุดท้ายก็คือการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อจะสร้างประโยชน์นี้ให้กับชุมชน นั่นคือที่มาที่ไป วัตถุประสงค์”
สำหรับขั้นตอนการดำเนินงาน ททท. เสนอโครงการไปเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2558 ผ่านกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ ครม. อนุมัติโครงการมาให้เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2558 ต่อมา 5 ต.ค. 2558 อนุมัติงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และก็ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2558 เป็นค่าสิ่งก่อสร้างจำนวน 148 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 147.12 ล้านบาท ซึ่งรายละเอียดการอนุมัติจะบอกหมดเลยว่าก่อสร้างพื้นที่ตรงไหนบ้าง และมีรูปแบบโครงสร้างช็อปคร่าว ๆ ส่งแนบไปกับคำขอด้วย
“ผมเข้ามารับตำแหน่งวันที่ 1 ก.ย. 2558 เป็นงานต้น ๆ ที่มาอยู่ที่นี่ อันนี้ดูจากหนังที่สำนักงบประมาณให้มา เป็นนโยบายรัฐบาลลงมา อยากให้ ททท. ช่วยเรื่องการกระตุ้นเรื่องการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เราเลยคิดโครงการนี้ขึ้นมา แต่ตอนหลังก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะลงไปในวิธีปฏิบัติแล้วบางที ปตท.อาจจะไม่สะดวก ไม่ใช่ว่าเป็นของเขาทั้งหมด เป็นของดีลเลอร์ด้วย บางทีเขาอาจจะไม่ยอม ก็เลยมีการปรับ ซึ่งทุกครั้งต้องแจ้งไปที่สำนักงบประมาณ ส่วนใหญ่ก็อยู่ในพื้นที่ หรืออาจจะข้ามจังหวัด เราก็จะขออนุมัติก่อน แต่ก่อนหน้านี้ จริง ๆ อาจจะต้องขอเรียนว่าในทางปฏิบัติเราก็คุยกันก่อน หนังสืออาจจะเดินทางไปแบบนี้ เพราะเรื่องนี้ต้องเอาเข้าภายในวันที่ 30 ก.ย. เราก็ต้องดำเนินการไปก่อน หนังสือที่แจ้งไปที่กระทรวงฯ อาจดูกระชั้น แต่ในข้อเท็จจริงเราคุยกันก่อนหน้านั้น พออนุมัติมา 11 พ.ย. 2558 เราก็มาบริหารจัดการจะทำอย่างไร ตั้ง 148 แห่งทั่วประเทศ ขอความร่วมมือไปที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ไหม เพราะว่าเขามีหน่วยงานครอบคลุมมากกว่า ททท. เรามีแค่ 40 แห่ง ไม่ได้มีทุกจังหวัด ก่อนหน้าผมมามีแค่ 35 แห่ง โดยวันเดียวกันนี้เราก็ได้มีหนังสือไปที่ มท. ขอให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง และก็เบิกจ่ายงบประมาณแทน แต่อย่างไรก็ขอให้เบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2558 ตามที่สำนักงบประมาณแจ้งมา ต่อมา 26 พ.ย. 2558 มท.ส่งหนังสือแจ้งกลับมาว่าขอรับเฉพาะเป็นผู้เบิกจ่ายงบประมาณ แต่ไม่รับเป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง สุดท้ายเราก็ต้องกลับมาทำตามกระบวนการของ ททท.”
ต่อมา 2 ธ.ค. 2558 เจ้าหน้าที่กองบริหารการจัดซื้อจัดจ้าง (กบจ.) ก็เลยมาขออนุมัติผม ดำเนินการจัดจ้างเป็นรายภูมิภาค จำนวน 5 ภาค ทั้งนี้ เพราะว่าถ้าหากดำเนินการจัดจ้างแต่ละรายการจำนวน 148 รายการ อย่างไรก็ไม่คงไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามที่สำนักงบประมาณแจ้งมาได้ ก็กำหนดการจัดจ้างมีวงเงินแต่ละภูมิภาคไป ซึ่งไม่ใช่เป็นการแยกจ้าง แต่หมายถึงว่าดูจากมีการกำหนดราคากลาง จะเอาอย่างไรก็ขอจัดจ้างเป็นรายภูมิภาคไป ทำไมถึงมี 5 ภูมิภาค เพราะ ททท. บริหารจัดการเป็น 5 ภูมิภาคก็เลยเอาตามนี้ โดยทางกองบริหารการจัดซื้อจัดจ้างเป็นผู้ดำเนินการจัดจ้าง และขอดำเนินการโดยวิธีพิเศษ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของ ททท. ว่าด้วยการพัสดุ ข้อ 17(3) เนื่องจากว่าเป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน ขณะเดียวกัน ผมก็ถามว่าทำไมไม่ใช้วิธีอื่นอย่างเช่น วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ก็จำเป็นต้องใช้วิธีพิเศษ ไม่เช่นนั้นจะไม่เป็นไปตามที่สำนักงบประมาณแจ้งมา พร้อมกันนั้นก็มีการอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง เนื่องจากเป็นงานก่อสร้างก็จะมีรายละเอียดว่าใครเป็นผู้ขอจัดจ้างบ้าง หัวหน้างานวิศวกรรมเป็นประธานกรรมการ หัวหน้างานสถาปัตยกรรมเป็นกรรมการ และมี นายสุภาพ แสงนคร เป็นกรรมการและเลขานุการ นี่คือขั้นตอนการอนุมัติทั้งหมด หลังจากนั้นก็เป็นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
@รายละเอียดขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อ ‘ประชารัฐ สุขใจช็อป’ จำนวน 148 แห่ง รวมทั้งการคัดเลือกเอกชนเข้ามารับงานโดยวิธีพิเศษเป็นอย่างไร เอกชนที่เข้ามารับงานแต่ละภูมิภาคสามารถสั่งซื้อสินค้าจากเอกชนในพื้นที่อื่นได้หรือไม่
เมื่อผู้ว่าการ ททท. อนุมัติวิธีการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ กรณีจำเป็นเร่งด่วน ข้อ 17(3) รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางเรียบร้อยแล้ว ทางกลุ่มงานบริหารก็ส่งเรื่องไปให้กับกองอาคารสถานที่ เพื่อให้แจ้งกับคณะกรรมการกำหนดราคากลางให้ทำราคากลาง พร้อมทั้งรายละเอียดทีโออาร์ แล้วก็ส่งให้กองบริหารการจัดซื้อจัดจ้างดำเนินการในกระบวนการจัดจ้างต่อไป ส่วนในเรื่องกระบวนการจัดจ้าง หลังจากที่กองบริหารการจัดซื้อจัดจ้างได้รับเรื่องจากกองอาคารสถานที่ ขั้นตอนปกติก็จะต้องตรวจสอบเอกสารก่อนว่ามีทีโออาร์ไหม มีราคากลางไหม มีแบบรูป และรายละเอียดต่าง ๆ ไหม ซึ่งค่าก่อสร้างราคากลางกำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคากลาง เสร็จแล้วขั้นตอนแรกของการจัดซื้อจัดจ้างก็คือ การทำรายงานขอจ้าง ซึ่งถูกกำหนดไว้ในข้อบังคับ ททท. ว่าด้วยการพัสดุ ข้อ 20 ที่ระบุว่า ก่อนการจัดซื้อจัดจ้างทุกวิธีต้องมีการจัดทำรายงานขอความเห็นชอบจากผู้ว่าการฯ เจ้าหน้าที่พัสดุก็ได้ดำเนินการจัดทำรายงานขอจ้างของแต่ละภูมิภาค ซึ่งมีทั้งหมด 5 ภูมิภาคตามวงเงินราคาที่ได้อนุมัติไว้
โดยในรายงานขอจ้างก็จะประกอบไปด้วยรายละเอียด เช่น ในเรื่องของรายละเอียดและความจำเป็น ในเรื่องของราคากลาง ในเรื่องของวิธีการจ้าง ซึ่งเราอ้างอยู่ในข้อบังคับข้อ 17(3) ก็คือการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ เนื่องจากว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ มิเช่นนั้นอาจเสียหายแก่การปฏิบัติงานได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องของระยะเวลาที่จะต้องทำสัญญาให้ทันภายใน 31 ธ.ค. 2558 และก็ในเรื่องของการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ นี่คือรายละเอียดที่อยู่ในรายงานขอความเห็นชอบที่เสนอไปให้ผู้ว่าการฯ เห็นชอบ ซึ่งในการแต่งตั้งทั้ง 5 ภูมิภาคจะประกอบไปด้วย คณะกรรมการจัดจ้างคนละชุด รวมเป็น 5 ชุด
“เสร็จแล้วหลังจากที่ ผู้ว่าการฯ เห็นชอบ ถ้าเกิดว่าในกรณีที่การจัดซื้อจัดจ้างมีวงเงินเกิน 1 แสนบาท ตามที่ ป.ป.ช. กำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะต้องมีการประกาศราคากลางลงในเว็บไซต์ 2 เว็บไซต์ คือ เว็บไซต์ของ ททท. และเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง เราก็ได้มีการดำเนินการโพสต์ราคากลางลงในเว็บไซต์ทั้งสองภายใน 3 วันทำการ นับตั้งแต่รายงานขอจ้างได้รับความเห็นชอบ หลังจากนั้น เราก็ได้มีการส่งเรื่องให้กับทางกรรมการและเลขานุการจัดจ้างของแต่ละคณะ ให้ไปดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างให้เข้ามาเสนอราคา ตามแบบรูปที่เรากำหนดไว้ และก็ใบกรอกปริมาณค่าก่อสร้าง (ใบ BOQ) ซึ่งจะมีรายละเอียดของแต่ละรายการว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด ให้ผู้รับจ้างกรอกตาม BOQ นั้น และส่งกลับมา พร้อมกับเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ในการเสนอราคา”
และหลังจากที่ คณะกรรมการจัดจ้างของแต่ละภูมภาคได้ให้ผู้รับจ้างเข้ามาเสนอราคา พร้อมกับเอกสารหลักฐานต่าง ๆ คณะกรรมการฯ แต่ละชุดก็ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้รับจ้างแต่ละราย โดยในการตรวจสอบเบื้องต้นจะตรวจว่ามีอาชีพในการรับจ้างไหม ซึ่งเราก็ดูในหนังสือรับรองกระทรวงพาณิชย์ หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลว่ามีการจดทะเบียน มีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของงานจ้างการก่อสร้างหรือไม่ ซึ่งทุก ๆ รายมีวัตถุประสงค์ข้อนี้อยู่ เสร็จแล้วก็ตรวจสอบคุณสมบัติข้ออื่น ๆ เช่น ในเรื่องของการเป็นผู้ทิ้งงาน มีการกำหนดไว้ว่า ห้ามผู้ที่เข้ามารับงานถูกระบุว่าเป็นผู้ทิ้งงาน จึงได้มีการตรวจสอบจากเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง ปรากฏว่า ทุกรายไม่มี่ใครถูกระบุให้เป็นผู้ทิ้งงาน และยังได้มีการตรวจสอบการถูกบัญชีดำ (blacklist) จาก ป.ป.ช. ทุกราย ก็ไม่มีใครถูกแบล็คลลิสต์ หลังจากนั้น คณะกรรมการจัดจ้างก็ได้มีการต่อรองราคา เรียกว่าได้ทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ททท. ว่าด้วยการพัสดุ
@สรุปแล้วโครงการดังกล่าว แต่ละภูมิภาคมีเอกชนเข้ายื่นเสนอราคารายเดียว
“ใช่ 1 ราย คือโครงการนี้เป็นโครงการเร่งด่วน เนื่องจากมีเรื่องของระยะเวลาในการดำเนินการแล้วเสร็จ เพราะตอนนั้นเดือน ธ.ค.แล้ว แต่เขากำหนดว่าจะต้องให้ทำสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค. 2558 ด้วยระยะเวลาแค่นี้ มีระยะเวลาจัดหาผู้รับจ้างค่อนข้างน้อย เราจึงได้มีการติดต่อไปยังผู้รับจ้างรายที่เคยทำงานให้กับ ททท. มาก่อน แต่ส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้สนใจ เนื่องจากว่าด้วยระยะเวลาการดำเนินการแล้วเสร็จแค่ 90 วัน บวกกับจุดติดตั้งที่อยู่ภายในภูมิภาคต่าง ๆ ค่อนข้างห่างไกล และด้วยการจ่ายเงินซึ่งกำหนดว่าให้จ่ายเงินเพียงงวดเดียว ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ ผู้รับจ้างรายที่เคยทำงานให้กับเราก็เลยไม่ได้สนใจ แต่เราก็บอกเขาว่าถ้ามีผู้รับจ้างรายอื่น ๆ อย่างไรช่วยบอกข่าวให้ด้วย เพราะว่าเราต้องเร่งหาผู้รับจ้าง"
"ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่สนใจโทรเข้ามาที่กองบริหารการจัดซื้อจัดจ้าง บางรายก็บอกว่าทราบข่าวจาก ปตท. เลยโทรมาสอบถาม เราก็เลยรับเรื่องไว้ บางบริษัทก็แจ้งว่าเขาสนใจพื้นที่ภาคตะวันออก เนื่องจากว่าเขาทำงานที่อยู่ในภาคตะวันออกค่อนข้างเยอะ ตัวบริษัทเองก็อยู่ในภาคตะวันออก เพราะฉะนั้นเขาสนใจในภาคตะวันออก เราก็ตอบเขาไปให้ทำงานในภาคตะวันออก ส่วนบริษัทอื่น ๆ ที่โทรติดต่อเข้ามาเรื่อย ๆ เขาก็จะบอกว่าสนใจภาคนี้ เราก็จะบอกว่าเหลือภูมิภาคนี้ สนใจหรือไม่ เขาก็ตกลง เราก็จะส่งบริษัทเหล่านี้ให้คณะกรรมการจัดจ้างของแต่ละภูมิภาคไปดำเนินการติดต่อเขา ให้เข้ามาเสนอราคา พร้อมกับรายละเอียดต่าง ๆ นี่คือที่มาของทั้ง 5 บริษัท”
@มีเวลากี่วัน
จริง ๆ เราใช้วิธีโทรศัพท์เข้าไป เพราะว่าในการประกาศเราไม่ได้มีการประกาศ เพราะว่าเป็นวิธีพิเศษ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ได้มีการแข่งขันเหมือนวิธีการประกวดราคา คือถ้าเรามีระยะเวลาดำเนินการค่อนข้างพอ เราจะใช้วิธีอีอ็อคชั้น (E-Auction) แต่โดยระยะเวลาที่มันกลางเดือน ธ.ค. เข้าไปแล้วที่กองบริหารการจัดซื้อจัดจ้างได้รับเรื่อง และต้องทำสัญญาให้ทันภายใน 31ธ.ค. 2558 ไม่สามารถอีอ็อคชั่นได้ทันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็เหลือวิธีการเดียวคือ วิธีพิเศษ ซึ่งเป็นวิธีที่ข้อบังคับ ททท. เปิดให้อยู่แล้ว เพราะว่าถ้าดำเนินการด้วยวิธีการปกติไม่ทัน ให้ดำเนินการโดยวิธีพิเศษ เป็นเหมือนเงื่อนไขพิเศษ
“การที่เราเอาใบประมาณราคา หรือ BOQ ให้ผู้รับจ้างกรอก ก็เหมือนว่าเขาจะต้องยืนยันว่าจะทำตามรายการในรายละเอียดตามนั้น เพียงแต่ให้เขากรอกราคาเข้าไป ซึ่งคณะกรรมการจัดจ้างแต่ละชุดก็มาตรวจสอบใบเสนอราคา พร้อมกับ BOQ เหล่านั้น ซึ่งตรวจสอบแล้วไม่ได้เกินราคากลางที่ได้รับอนุมัติมาเลย บวกกับเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ถูกต้องครบถ้วน และก็การเข้ามาของบริษัทก็ใช้วิธีการโทรเข้ามา โดยเขาบอกว่าทราบข่าวจาก ปตท.บ้าง จากรายที่เราติดต่อไปและเขาไม่สนใจ ซึ่งก็อาจจะไปบอกบริษัทเหล่านั้น”
@4 บริษัทตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ บางแห่งมีลักษณะเป็นบ้านที่อยู่อาศัย และประกอบธุรกิจอื่นเป็นหลักซึ่งระบุอยู่ในงบการเงิน ไม่ได้ระบุว่าเป็นก่อสร้าง ตรวจสอบแล้วใช่หรือไม่
"เรามีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานในเรื่องของหนังสือรับรองนิติบุคคลจากกระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบในเรื่องของสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ตรวจสอบว่าแต่ละบริษัทมีกรรมการผู้จัดการคนเดียวกัน หรือรายชื่อผู้ถือหุ้นคนเดียวกันหรือไม่ หรือตรวจสอบความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ระหว่างนิติบุคคล ซึ่งก็ไม่พบความเชื่อมโยงกัน"
“จริง ๆ อย่างที่บอกเรื่องการตรวจสอบ เราตรวจสอบทางเอกสาร อย่างกรณีที่บริษัทจดทะเบียน ถ้าเขามีคุณสมบัติซึ่งปรากฏในวัตถุประสงค์ของบริษัท ก็ต้องถือว่าเขามีคุณสมบัติตามนั้น อย่างเรื่องที่ตั้งบริษัทก็เหมือนกัน ส่วนที่บอก 4 ใน 5 รายอยู่ในกรุงเทพฯ สถานที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทไม่ได้เป็นสาระสำคัญของการกำหนดคุณสมบัติของผู้รับจ้าง ซึ่งปกติผู้รับจ้างเองต้องสามารถทำงานได้ทั่วประเทศอยู่แล้ว"
"ส่วนกรณีเอกชนที่เข้ามารับงานแต่ละภูมิภาคสามารถสั่งซื้อสินค้าจากเอกชนในพื้นที่อื่นได้หรือไม่ ขอเรียนว่าเราต้องดูระเบียบข้อบังคับพัสดุของเราก่อน ซึ่งไม่ได้มีข้อห้ามเรื่องนี้ว่าจะต้องไม่ให้ผู้รับจ้างสั่งซื้อสินค้าจากใคร ถ้าไม่มีข้อกำหนดตรงนี้ เราก็กลับไปดูเรื่องสัญญาที่ผูกพันระหว่าง ททท. กับลูกจ้าง ซึ่งก็ไม่ได้มีกำหนดเหมือนกัน ซึ่งแบบสัญญาของเราประกาศอยู่แนบท้ายข้อบังคับพัสดุของ ททท. ซึ่งก็เอามาจากระเบียบสำนักนายกฯ ที่ราชการใช้ และแบบสัญญาตัวนี้อัยการก็ได้ตรวจก่อนที่เราจะเอามาประกาศแนบท้ายข้อบังคับ เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่เป็นธุรกิจ และในสัญญาจ้างนี้แค่กำหนดว่า ในเมื่อเขารับงานมีหน้าที่ต้องทำงานให้ตรงตามรายการที่กำหนด และส่งมอบงานให้เรา เพราะฉะนั้นในส่วนที่ว่า เขาจะไปซื้อสินค้าจะไปทำอะไรกับใคร เป็นเรื่องของเขา เรื่องธุรกิจ ททท. เข้าไปก้าวก่ายไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้ก็ไม่ใช่การจ้างช่วง เพราะจ้างช่วงก็คือให้เขามาทำงานแทนเลย แต่นี่ไม่ใช่”
@สรุปว่าทั้ง 5 ภาคใช้คอมพิวเตอร์และจอทัชสกรีนของ บริษัท ฮาตาริ ไวร์เลส จำกัด ทั้งหมดใช่หรือไม่
“อันนี้ผมไม่ทราบจริง ๆ ก็เป็นประเด็นที่เดี๋ยวก็ต้องไปดู ขอติดไว้ก่อน เดี๋ยวผมไปเช็คให้ เพราะว่าทางกรรมการตรวจจะเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง”
@ช็อปประชารัฐ สุขใจ แต่ละแห่งราคาค่าจ้างเท่ากันหรือไม่
ราคาค่าจ้างแต่ละภูมิภาค ราคาไม่เท่ากัน รวมทั้ง ต่ำกว่าราคากลางด้วย อย่างภาคเหนือราคากลางตั้งอยู่ 8.25 แสนบาทเศษ แต่ราคาค่าจ้าง 8.24 แสนบาทเศษ ภาคกลาง ราคากลาง 8.25 แสนบาท ราคาค่าจ้าง 8.2 แสนบาทประมาณนี้ ซึ่ง ททท. ก็ได้เรียกบริษัทเข้ามาต่อรองราคา แต่เขาก็ยืนยันในราคานี้ ก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่เราก็ดำเนินการในการรักษาผลประโยชน์ของ ททท. เรียนยืนยันว่าแต่ละภาคราคาไม่เท่ากัน สุดท้ายแล้วถึง
@รายละเอียดขั้นตอนการกำหนดสเปกงานราคากลางจัดซื้อเป็นอย่างไร
ในส่วนของราคากลางมีข้อบังคับของวิธีปฏิบัติจากคณะกรรมการกำหนดราคากลาง กับหลักเกณฑ์การตรวจสอบงานก่อสร้าง ตามมติ ครม. วันที่ 13 มี.ค. 2555 ให้ปฏิบัติดังนี้
1.ราคากลางพัสดุที่ใช้ในปัจจุบันในขณะที่คำนวณราคาก่อสร้างนั้น ก็คือ เมื่อไหร่ที่เราดำเนินการก่อสร้างให้สืบ ณ ตอนนั้นไม่เกิน 30 วัน
2.การก่อสร้างในส่วนกลางให้ผู้มีหน้าที่คำนวณการใช้ราคาวัสดุก่อสร้าง ดังนี้
(2.1) ราคาวัสดุก่อสร้างตามที่สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยแพร่ซึ่งมีอยู่ในเว็บไซต์อยู่แล้ว
(2.2) วัสดุก่อสร้างที่สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ไม่มีข้อมูลราคาเผยแพร่ไว้ ให้ใช้ราคาวัสดุก่อสร้างที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดใกล้เคียงเผยแพร่ไว้
(2.3) กรณีวัสดุก่อสร้างใดที่สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์จังหวัดใกล้เคียงไม่มีข้อมูลราคาเผยแพร่ไว้ ให้ผู้มีหน้าที่คำนวณราคา สืบราคาในท้องที่ของส่วนกลาง หากไม่สามารถสืบราคาในท้องที่ของส่วนกลางได้ ให้สืบราคาจากท้องที่ของจังหวัดใกล้เคียง โดยใช้ราคาต่ำสุด ทั้งนี้ ให้ผู้มีหน้าที่คำนวณราคาจัดทำบันทึกแสดงรายละเอียดของการสืบราคา และการกำหนดราคาต่าง ๆ ประกอบไปด้วย
“ซึ่งในส่วนของบางจังหวัด วัสดุตัวที่เราใช้ไม่มีในกระทรวงพาณิชย์ เราก็ไปดูของดัชนีเศรษฐกิจการค้า ซึ่งก็ไม่มี เราจึงต้องใช้วิธีสืบราคาจากผู้ผลิตแต่ละภาค ๆ แล้วเอามาราคาดูกันอีกที”
3.การก่อสร้างในส่วนของกรุงเทพฯ จะแบ่งเป็นกรุงเทพฯ นนทบุรี ปริมณฑลทั้งหลาย ส่วนต่างจังหวัดก็คือ การก่อสร้างในส่วนภูมิภาค ให้ผู้มีหน้าที่คำนวณราคากลางใช้ราคา และแหล่งวัสดุก่อสร้างต่อไปนี้
(3.1) ราคาวัสดุก่อสร้างตามที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดที่สถานที่ก่อสร้างตั้งอยู่เผยแพร่
(3.2) วัสดุก่อสร้างใดที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดที่สถานที่ก่อสร้างตั้งอยู่ไม่มีข้อมูลราคาเผยแพร่ไว้ ให้ใช้ราคาวัสดุก่อสร้างที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดใกล้เคียงเผยแพร่
"ในส่วนของจังหวัดที่ไม่มีวัสดุก่อสร้างตัวใด เราก็ใช้สืบจากราคาใกล้เคียงในจังหวัดข้าง ๆ แล้วเอามาใช้ ซึ่งในดัชนีแต่ละตัวจะมีไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นในส่วนกลางก็ค่อนข้างจะมีไอเท็มเยอะกว่าทุกภูมิภาค คือในส่วนของราคาก่อสร้าง เราแยกส่วนของวัสดุก่อสร้างออกมา ซึ่งในส่วนนี้เราสามารถสืบราคาได้บางส่วนจากในดัชนีการค้า และก็กรมเศรษฐกิจการค้า ซึ่งมีบางส่วนที่ประกาศอยู่ในนั้น นอกจากรายการนั้น เราก็ใช้วิธีสืบราคาหรือส่งแบบให้กับทางผู้รับจ้าง ซึ่งมีหน้าที่ตีราคาออกมา"
ส่วนของครุภัณฑ์ได้สืบราคาจากบริษัทผู้ผลิต โดย ททท. ส่งแบบไปให้ตีราคาออกมา ซึ่งบริษัทที่ 1 ก็ยังไม่เชื่อได้ บริษัทที่ 2 ถ้าดูราคาใกล้เคียงกันก็ต้องสืบไปยังบริษัทที่ 3 อีกที เพื่อเอาราคาให้ใกล้เคียงมากที่สุดก่อน แล้วค่อยเอามาใช้ ซึ่งตรงนี้เราต้องส่งแบบไปให้ และบางครั้งที่ส่งไปเขาก็ไม่ได้ตอบกลับมาทุกครั้ง เป็นเหตุให้เราต้องพยายามสืบราคาให้ได้ตามจำนวนที่ต้องการก่อน ขณะที่ โครงสร้างในส่วนของเหล็กรูปพรรณในส่วนของเหล็ก 100x100 สืบราคาจากดัชนีการค้า ซึ่งไม่ประกาศตรงนี้ เราก็เลยสืบราคาจากแหล่งผลิต แล้วก็เช็คจากราคาตามที่เคยทำมาในโครงการอื่น ๆ นอกจากนี้ก็สืบราคาจากการก่อสร้างซึ่งประกาศราคากลางในเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมทั้งที่มีการตอบในกระทู้กันต่าง ๆ นา ๆ ก็คอยสืบหาจากในนั้นเหมือนกัน เพื่อนำมาเปรียบเทียบ
“เพราะฉะนั้น ในเรื่องของโครงสร้างก็อย่างที่เรียนไปเมื่อสักครู่ว่าเป็นไปตามระเบียบ แล้วก็การก่อสร้างทุกอย่างต้องร้อยสายไฟลงใต้ดิน เพราะมีเรื่องระเบียบเรื่องเซฟตี้ของปั๊ม และที่สำคัญที่สุดก็คือว่า เขาไม่ให้ในส่วนของการที่จะไปประกอบก่อสร้างหน้างาน เพราะอ็อคอะไรไม่ได้เลย มันอันตราย ปตท. บังคับให้ต้องใช้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยซึ่งผ่านเกณฑ์การอบรมในเรื่องนี้มาโดยเฉพาะ แล้วที่เป็นไปได้ก็คือ 148 แห่ง เจ้าหน้าที่วิ่งไม่ทันแน่ เพราะงานขึ้นพร้อม ๆ กัน ส่วนครุภัณฑ์ในส่วนของคอมพิวเตอร์ จอทัชสกรีน เราใช้วิธีสืบราคาจากผู้ผลิต หรือถ้าไม่มีจากผู้ผลิต เราก็สืบจากบริษัทที่เคยทำมา แล้วเราก็เอาไปเปรียบกับเว็บไซต์ต่าง ๆ อีกทีหนึ่ง โดยในเรื่องของจอทัชสกรีน เราใช้เป็นแบบอินดรัสเทรี่ยลเกรดอย่างที่เคยเรียนไว้ คือเปิดใช้ได้อย่างเต็มที่เลย เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเขาจะเปิดใช้ 13-14 ชม. ขึ้นไปหรืออย่างไร คือเปิดได้ทั้งวันทั้งคืน สามารถใช้ได้แบบโดนแดดโดนฝนทุกอย่าง และจริง ๆ แล้วตอนนี้ทุกอย่างอยู่ยังในระยะประกัน สำหรับโครงสร้าง 2 ปี ส่วนสำหรับครุภัณฑ์ 3 ปี”
@ครุภัณฑ์บางชิ้นไม่ได้ใช้ประโยชน์จริง และมีการตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่เอามาใช้ในงานจริงต้องใช้ขนาดนั้นเลยหรือ
อย่างที่บอกว่าตอนคุยกันเราไม่ได้คุยคนเดียว แต่แน่นอนที่สุดการใช้คอมพิวเตอร์ สเปกก็ส่วนหนึ่ง คนมาใช้ก็ส่วนหนึ่ง ซึ่งบางทีพนักงานประจำร้านเขาอาจจะไม่มีความรู้ อันนี้ เราก็ทราบอยู่ และก็คงจะต้องมาปรับปรุงแก้ไข แต่ว่าเราเองก็คิดว่ามันจะเป็นประโยชน์ หมายถึงว่าสามารถที่จะใช้ประโยชน์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่เราตั้งใจไว้ได้ โดยความเห็นชอบของหลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องเรียนให้ทราบว่าทางเราก็พร้อมที่จะได้รับการตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมาอย่างเช่นเรื่องของราคากลาง ทั้ง ปปท. และ สตง. ก็เคยมีหนังสือมาสอบถามถึงขั้นตอนการกำหนดราคากลางกับเราแล้ว ซึ่งตรงนี้ก็ได้การชี้แจงไปแล้ว
@ผลการดำเนินงานโครงการประชารัฐ สุขใจช็อป ณ ปัจจุบันเป็นอย่างไร
ถ้าจะพูดถึงผลประกอบการของช็อปประชารัฐฯ ขอย้อนไปถึงตอน MOU ที่เราใส่กันครั้งแรกว่าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานมีอะไรบ้าง ซึ่งมี ททท. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมพัฒนาชุมชน (พช.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) หรือ SME Bank และ ปตท. โดยทั้ง 5 หน่วยงานลงนาม MOU กันเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2559 และเซ็นต์ลายชื่อกำกับไว้ทั้ง 5 หน่วยงานเรียบร้อย สาระหลัก ๆ คือหน้าที่ของแต่ละหน่วยว่าทำอะไรกันบ้าง โดย ททท. จะเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนเพื่อการจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลในแต่ละพื้นที่ โดยจะดำเนินการร่วมกับ ปตท. ในการกำหนดรูปแบบ ขนาดของศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร และร่วมกับ ปตท. ในการคัดเลือกสถานบริการน้ำมันที่จะจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลฯ ซึ่งจะโยงกับหน้าที่ของ ปตท. ที่จะให้การสนับสนุนพื้นที่ภายในสถานีบริการน้ำมัน รวมทั้งสิ้น 148 สถานี ส่วน สสว. จะให้การสนับสนุนในการดำเนินงานของศูนย์บริการข้อมูลฯ ในการบริหารแต่ละแห่งเป็นระยะเวลา 3 ปี และจะร่วมมือกับ มท. คือ พช. ในการควบคุมดูแลผู้เข้าร่วมโครงการศูนย์บริการข้อมูล และควบคุมดูแลการบริหารจัดการ ก็คือทั้ง พช. และ สสว. จะดูเรื่องการบริหารจัดการการดำเนินการศูนย์บริหารข้อมูลฯ แต่ละแห่งตามที่จำเป็น ตลอดจนร่วมกันคัดเลือกสินค้า เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์การทำงาน ขณะที่ SME Bank ก็เป็นเรื่องของการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ แหล่งเงินทุนให้สินเชื่อ พัฒนาผู้ประกอบการ และหาช่องทางการตลาด
"ทีนี้มาดูผลประกอบการ เราเริ่มเปิดศูนย์แรกเมื่อ 2 เม.ย. 2559 เปิดได้ 2 แห่งที่ จ.สระบุรี เป็นเวลา 3 เดือน ผลประกอบการมีรายได้ 464,207 บาท มีผู้เข้าชม 3,125 คน เป็นรายงานที่ พช. ส่งมา และจากวันนั้นเป็นต้นมา พอสิ้นสุดเดือน มิ.ย. จาก 2 ปั๊มก็เริ่มเปิดมากขึ้นเรื่อย ๆ เดือน ก.ค. เปิดไป 115 แห่ง เดือน ส.ค. 116 แห่ง จนกระทั้งเดือน ธ.ค. 2559 ก็เปิดทั้งหมด 143 ปั๊ม คือไม่รวม 5 ปั๊มในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ถ้านับตั้งแต่เดือน เม.ย.-ธ.ค.2559 มีรายได้หมุนเวียนใน 143 แห่ง 18.727 ล้านบาท และก็มีผู้เข้าชม 2.35 แสนคน"
"ต้องเรียนอย่างนี้ พอก่อสร้างเสร็จ หลังจากตรวจรับของเราเสร็จแล้ว เราจะนัดหมาย พช.ให้ไปรับมอบ มีหนังสือออกชัดเจนเลยว่าขอให้มารับมอบ ซึ่ง พช. ก็จะมาดูว่าช็อปอยู่ในสภาพที่โอเคหรือไม่ เพื่อจะรับไปดำเนินการบริหารจัดการภายใน หาคนมาประจำอีกทีหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ พช. ก็จะหาของมาวางขาย ส่วน สสว. ก็จะหาคนมาบริหารจัดการ จ่ายค่าน้ำค่าไฟให้ จะเป็นลักษณะอย่างนั้น”
ขณะที่ รายได้ปี 2560 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. ล่าสุดมียอดขายประมาณ 8.7 ล้านบาท มีผู้เข้าชมประมาณ 9.4 หมื่นคน นี่คือ 4 เดือนแรกของปีนี้ และคือสิ่งที่ พช. คอยรายงานเข้ามาตลอดเวลา และมีหนังสือแจ้งทุกหน่วยงานตลอดว่า ผลงานตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ฉบับวันที่ 19 ธ.ค. 2559 ก่อนจะสิ้นปีที่แล้ว เขาก็เริ่มรายงานแล้วว่าผลประกอบการตั้งแต่เดือน เม.ย.-ต.ค.2559 เป็นอย่างไรบ้าง ย้อนให้ดูว่าตอนนี้เปิดไปแล้ว 6 เดือนมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ร้านไหนขายดีที่สุด ยอดจำหน่ายสูงสุด 1.79 แสนบาท เป็นที่ไหนอย่างไร ก็ระบุไว้ พอ 8 ก.พ. 2560 พช. ก็รายงานทั้ง 4 หน่วยงานเหมือนเดิมว่า ยอดจำหน่ายตั้งแต่เดือน เม.ย.-ธ.ค.2559 เป็นอย่างไร มีผู้เข้าชมอย่างไร เท่าไหร่ โดยมียอดขาย 18 ล้านกว่าบาทในปี 2559 ซึ่งมาเกิดจุดที่คิดว่าเป็นความตั้งใจในการบริหารของทุกหน่วยงาน พอครบปีในเดือน เม.ย.2560 มีจดหมายจาก พช. เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2560 ไม่นานนี่เอง บอกว่าเราคงไม่ดูมิติของรายได้ หรือยอดจำหน่ายแล้ว เขาอยากจะดูมิติทั้ง 6 มิติ แล้วคืออะไรบ้าง ในข้อแรกคือ เน้นมิติด้านยอดจำหน่าย ให้ 5 คะแนน ด้านสถานที่ 3 คะแนนเต็ม ในส่วนของด้านผลิตภัณฑ์ 12 คะแนน ส่วนมิติด้านการบริหารจัดการ ให้ 11 คะแนน ด้านแหล่งเงินทุนให้ 3 คะแนน และด้านการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขาย 6 คะแนน
"จะเห็นว่าเราต้องการพัฒนาส่วนไหนของชุมชน ต้องการจะเป็นหน้าร้านอย่างไร และเริ่มมองเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่เอามาวางกระจายแค่ไหน หมุนเวียนอย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าดูอันดับต้น 3 แห่งที่ทุกหน่วยงานมองว่าน่าจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนและท้องถิ่นก็คือ มิติด้านผลิตภัณฑ์ มิติด้านบริหารจัดการ และมิติด้านการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขาย ซึ่งผลออกมาว่า ปี 2559 คะแนนดีมาก 24 แห่ง อยู่ในเกณฑ์ดี 108 แห่ง ส่วนที่เรียกว่าพอใช้เพียง 11 แห่งจาก 143 แห่ง จากตรงนี้ พช. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจก็มีหนังสือแจ้งมาว่า ขอให้ร่วมหาแนวทางส่งเสริมประชาสัมพันธ์ที่มีศักยภาพดีมากต่อไป ขณะเดียวกันให้หาแนวร่วมกันหาแนวปรับปรุงการพัฒนาศักยภาพประชารัฐในระดับพอใช้ต่อไป ซึ่งวันเดียวกันนี้ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา พช. ได้มีหนังสือส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รายงานผลแบบนี้เลย และก็บอกว่าขอความอนุเคราะผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดดูรายงานตัวนี้ และก็ให้ 1.กำกับดูแล ติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะร้านที่มียอดจำหน่ายต่ำ 2.ศึกษาแนวทางส่งเสริมเพิ่มยอดจำหน่ายร้านค้า มอบหมายผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน และ 3.จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานประชารัฐ สุขใจช็อป มอบหมายผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน จากทั้งหมดทั้งมวลนี้ ผลประกอบการออกมาลักษณะเช่นนี้ และทุกหน่วยงานก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ สรุปรายปีแล้วก็พยายามดูว่าจะปรับปรุงไปในทิศทางไหน อย่างไรต่อไป"
@ททท. มีแนวทางการแก้ไขปัญหา ประชารัฐ สุขใจช็อปที่ไมได้ใช้งาน และปัจจุบันวัสดุอุปกรณ์บางส่วนชำรุดเสียหายอย่างไร
ถ้าเรื่องของการชำรุดเสียหาย ซึ่งอันนี้ก็กรุณาไปตรวจสอบไปช่วยดูเราอีกทาง ทำให้เราก็สนใจเรื่องนี้จริง ๆ โดยสัญญาจ้างที่ลงนามเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2558 ในข้อที่ 6 ระบุไว้ชัดเจนว่า ความรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องของงานจ้าง เมื่องานแล้วเสร็จบริบูรณ์ และผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานจากผู้รับจ้าง หากมีเหตุชำรุดบกพร่องหรือเสียหายเกิดขึ้นจากงานจ้างนี้ ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีถัดจากวันที่ผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานดังกล่าว ผู้รับจ้างจะต้องรีบทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อย โดยไม่ชักช้า โดยผู้ว่าจ้างไม่ต้องออกเงินใด ๆ ในการนี้ทั้งสิ้น
@ ทำไมต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ในประเด็นเรื่องเอกสารททท. หลุดมาถึงมือ อิศรา
"มันเป็นเรื่องการทำตามหน้าที่ เพราะททท. เรามีระเบียบกำหนดการทำงานอยู่ ถ้าผมไม่สั่งให้ทำก็อาจจะถูกเล่นงานโดยมาตรา 157 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ได้"
"ส่วนช็อปประชารัฐ 5 จุด ในพื้นที่ กทม.ที่ตรวจพบว่าไม่มีการเปิดให้บริการ เป็นเพราะมีปัญหาเรื่องการประสานงานกับทางกทม. ปัจจุบันได้มีการหารือกับปตท.ในการแก้ไขปัญหาโดยการย้ายที่ตั้งจุดใหม่ในต่างจังหวัดแล้ว" ผู้ว่าฯ ททท. ระบุ