อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ :‘สื่อใหม่’VS’สื่อเก่า’ นิยามที่ไม่ได้มองเพียงแฟลตฟอร์มนำเสนอ
ผมไม่อยากนิยามสื่ออย่าง The standard, The Matter, The Momentum, The clound หรือกระทั่ง The 101 world ว่าเป็นสื่อใหม่ เขาอาจเป็นสื่อทางเลือกในแฟลตฟอร์มใหม่ เพราะคนที่จะเป็นสื่อใหม่ต้องมีคุณค่าบางอย่างที่ต้องมีมากกว่าแฟลตฟอร์มเพราะทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงผู้ผลิตสาร (Content provider) เท่านั้นดังนั้นผมจะมีปัญหาเวลาได้ยินคำว่า ‘สื่อใหม่’ ซึ่งเปลี่ยนแค่แฟลตฟอร์มเท่านั้น
ท่ามกลางกระแสการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ๆ มากขึ้น ในยุคที่ใครก็สามารถเป็นสื่อได้นั้น นิยามของคำว่า 'สื่อใหม่' ที่ดูเหมือนจะถูกนำมาโปรโมทอยู่บ่อยๆ นั้น แท้จริงแล้วในมุมมองของคนที่ศึกษาในประเด็นด้านสื่อใหม่ อย่าง อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยด้านสื่อใหม่ ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า สื่อใหม่ไม่ควรเป็นเพียงเรื่องแฟลตฟอร์มหรือช่องทางการนำเสนอเพียงอย่างเดียว แต่มีองค์ประกอบอื่นร่วมไปด้วย
เขาอธิบายว่า จริงๆ แล้วคำว่าสื่อใหม่ไม่ได้เพิ่งใช้ แต่มีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1920-30 สมัยเริ่มมีวิทยุจากเดิมที่เมื่อก่อนการสื่อสารเป็นการสื่อเพียงฝ่ายเดียว การถือกำหนดของวิทยุที่แม้ว่าจะเป็นทางเดียว แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราใช้คู่กับโทรศัพท์ จะเป็นรูปแบบการที่ผู้รับสารสามารถเป็นผู้ผลิตสารได้ด้วย
“ดังนั้นคอนเซ็ปต์ของคำว่า ‘สื่อใหม่’ คือการเปลี่ยนไปของรูปแบบของผู้ผลิตเนื้อหา กับผู้รับสาร การสลายเส้นแบ่งตรงนี้ออกไป เมื่อคนรับสารสามารถเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ได้ ซึ่งใช้มาตั้งแต่เกือบ 100 ปีที่แล้ว”
อรรคณัฐบอกว่าเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ภูมิทัศน์ของสื่อ(Media landscape) ซึ่งแน่นอนว่ามีการต่อสู้กันระหว่างสื่อดั้งเดิม คือการผูกขาดในฐานะผู้สร้างคอนเทนต์ กับการผูกขาดการเป็นผู้รับ เกิดความพยายามสลายเส้นแบ่งระหว่างสองอย่างออกไป ดังนั้นในเมื่อเราไม่สามารถดูที่แฟลตฟอร์มอย่างเดียว การนิยามสื่อใหม่ต้องมาดูที่พฤติกรรม อย่างเช่น "ผมสื่อสารออกไปทางเฟสบุ๊คแล้วคนพยายามปฏิสัมพันธ์ด้วย แต่ผมไม่ได้ไปโต้ตอบ ดีกรีความเป็นสื่อใหม่ก็จะน้อยลง แม้ว่าตัวแฟลตฟอร์มจะเอื้อให้เป็น แต่ว่าเราไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้น ก็ไม่ควรจะถือว่าตัวเองเป็นสื่อใหม่"
(อ่านประกอบ: นักวิจัย วิพากษ์นิยาม ‘สื่อใหม่’ ไม่ใช่เรื่องช่องทางนำเสนอ ต้องดูเนื้อหา )
ทำไมต้องมีสื่อใหม่ สื่อเก่ามีปัญหาอะไร
อรรคณัฐ อธิบายว่า สื่อเก่ามีปัญหามาก เดิมที่โมเดลสื่อดั้งเดิมคือการหารายได้ด้วยการขายตัวเอง สมมติเราเป็นสื่อสิ่งพิมพ์คอนเทนต์คือผลิตภัณฑ์ เราเอารายได้จากการขายมาหล่อเลี้ยงองค์กรแต่รูปแบบการสร้างรายได้ในปัจจุบันเปลี่ยนไป จากเดิมที่รูปแบบจากสร้างรายได้ คือการขายสิ่งพิมพ์ มาเป็นการขายโฆษณา ซึ่งการขายโฆษณาที่ว่าหมายความว่า ต้องนับคนที่เป็นผู้ฟัง คนติดตาม ในฐานะที่เป็นเป้าหมาย เวลาที่หนังสือจะไปขายต้องบอกว่าพิมพ์กี่ฉบับคนอ่านเท่าไหร่ ทุกวันนี้ คนที่คิดว่าเป็นสื่อที่เกิดมาใหม่ก็คิดอย่างนั้นเช่นกัน คือดูยอดผู้ติดตาม คนถูกใจ เป็นหลัก เปลี่ยนคนที่เสพงานของเขากลายเป็นสินทรัพย์ในการขาย เลยมีปัญหาในเรื่องความโปร่งใส ซึ่งมาเชื่อมโยงกับเรื่องของจริยธรรมของคนเป็นสื่อ ถ้าหากรายได้ของคุณมาจากการโฆษณาแล้วมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ที่คนที่มาซื้อโฆษณาของคุณ คุณจะทำไหม
“ผมพยายามช่วงชิงคำว่า ‘สื่อใหม่’ กลับมา ผมไม่อยากนิยามสื่ออย่าง The standard, The Matter, The Momentum, The clound หรือกระทั่ง The 101 world ว่าเป็นสื่อใหม่ เขาอาจเป็นสื่อทางเลือกในแฟลตฟอร์มใหม่ เพราะคนที่จะเป็นสื่อใหม่ต้องมีคุณค่าบางอย่างที่ต้องมีมากกว่าแฟลตฟอร์ม เพราะทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงผู้ผลิตสาร (Content provider) เท่านั้น ดังนั้นผมจะมีปัญหาเวลาได้ยินคำว่า ‘สื่อใหม่’ ซึ่งเปลี่ยนแค่แฟลตฟอร์มเท่านั้น"
อรรคณัฐ ระบุว่าเขาพยายามศึกษาคนที่เป็นสื่อที่อาจจะเรียกตัวเองว่า สื่อใหม่ สื่ออิสระ ซึ่งสื่อในเมืองไทยบนออนไลน์ ที่ไม่ได้เรียกตัวเองว่าสื่อใหม่ หรืออย่างเพจต่างๆ ที่ผลิตคอนเทนต์สื่อสารเช่นพวก จ่าพิชิต เป็นต้น ค้นพบว่าในสื่อเหล่านี้มีอะไรบ้างอย่างที่เป็นลักษณะร่วมในดีกรีที่ต่างกัน เช่น
(1)เขาพยายามลดทอนความเป็นสถาบันสื่อ สถาบันในที่นี่หมายความว่า รูปแบบการบริหาร องค์กร ที่จะต่างการพวกสื่อเดิมๆ มีอิสระในการพูดมากขึ้น
(2) เป็นอิสระจากทุน เพราะเราจะถูกครหามากเวลารับเงินจากโฆษณา ซึ่งเขาก็ใช้โมเดลธุรกิจอื่นมาช่วยองค์กร เช่นไปรับจ้างทำรีพอร์ตให้หน่วยงานอย่าง ยูเอ็น เพื่อเอาค่าจ่างจากตรงนั้นมาหล่อเลี้ยงในกิจกรรมของการเป็นสื่อ หรือแม้กระทั่งการขายเสื้อยืด การรับเงินจากแหล่งทุนมูลนิธิ
(3) ลดทอนความเป็นมืออาชีพ ในลักษณะที่ว่า สื่อมวลชนเป็นวิชาชีพที่ต้องเรียน วารสารศาสตร์ สื่อสารมวลชน แต่จากการศึกษาพบว่า สื่อยุคหลังไม่ได้สนใจเรื่องนี้ มองเรื่องสื่อเป็นเพียงตัวกลางไปยังผู้รับสาร
แบบนี้สื่อใหม่ก็ห่วยหรือเปล่า
อรรคณัฐ กลับมองว่า ห่วยหรือไม่ ผู้รับสารเป็นคนตัดสิน ถ้าดีคนก็ติดตามต่อ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าสื่อต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาในช่วงเวลานี้ จะเรียกตัวเองว่าสื่อใหม่ ต้องกลับไปถามตัวเองว่า มีอะไรที่ใหม่จากสื่อเดิม หรือเป็นเพียงการผลิตซ้ำสิ่งที่มีอยู่เเล้ว เพียงแต่เปลี่ยนช่องทางการนำเสนอ เอาจริงที่เปิดตัวกันมาไม่ได้พิเศษอะไร เพราะอย่างที่เรารู้ว่านี่คือ รูปแบบธุรกิจใหม่อย่างหนึ่งเท่านั้น
"จริงๆ ผมชอบหมดไม่ว่าจะเป็นใครถ้าเขียนคอนเทนต์ดีๆ ก็อ่านหมด โดยที่ไม่ได้สนใจว่าจะเรียกตัวเองว่าเป็นอะไร แต่โดยส่วนตัวผมไม่สามารถรับได้กับการเรียกตัวเองว่าเป็นสื่อใหม่ เพราะผมสงวนคำว่าสื่อใหม่ให้กับคนที่มีอุดมการณ์"
รู้ได้อย่างไรว่าเขาไม่มีอุดมการณ์
อรรคณัฐ อธิบายต่อถึงคำว่า อุดมการณ์คือต้องไม่เป็นการค้ามาก ไม่ Commercial ไม่สะสมทุน ยกตัวอย่างทุกวันนี้หากเราไปตามดูในสื่อพวกนี้ จะพบว่าเขามักพูดถึงช่องทางธุรกิจแบบใหม่ Platform Economy อย่าง Air BnB ที่พบว่า มีการพูดถึงค่อนข้างเยอะในสื่อของเขา จนเราแยกไม่ออกว่า อันนี้คือโฆษณาหรือเปล่า หรือชื่นชอบโดยส่วนตัวแล้วผลิตคอนเทนต์ขึ้นมา พอเป็นสื่อที่ต้องขายโฆษณา ก็ต้องชัดเจนว่า อันนี้คือพื้นที่โฆษณา
“เวลาที่เราพูดถึงอิสระในการแสดงออก คนที่นิยามตัวเองว่าเป็นสื่อต้องมีระดับความอิสระที่คู่กับความรับผิดชอบที่มากกว่าคนปกติ เพราะฉะนั้นถ้าทำให้ชัดเจน ก็จะโอเค”
แบบนี้ความเป็นอิสระกับการเท่าทันสื่อเกี่ยวข้องกันไหม
อรรคณัฐ อธิบายว่า ความอิสระในการแสดงออกเรื่องหนึ่ง ส่วนความเท่าทันสื่อก็อีกเรื่องหนึ่ง เราจะบอกว่าประชาชนคนนี้โง่ไม่รู้ว่าอันนี้ไม่ใช่ความจริง แบบนี้ก็จะดูถูกกันนิดหนึ่ง การจะบอกว่าสื่ออื่นไม่ได้เรื่อง มีแต่ของเรานี่แหละที่ถูก แบบนี้ก็ไม่ได้ เพราะเราต้องปล่อยให้คนอ่านตัดสินเองว่า ถูกหรือดี ส่วนที่จริงไม่จริง คนผลิตสื่อต้องรับผิดชอบ ใครอยากจะสื่อสารก็แสดงออก สื่อสารมา
สร้างพื้นที่ใหม่เพื่อมาช่วงชิงพื้นที่เก่า
อรรคณัฐ มองว่าจะเรียกว่าช่วงชิงพื้นที่ไม่ได้ เพราะไม่ได้หมายความว่า "ถ้าผมอ่านไทยรัฐเเล้ว ผมจะไม่อ่านมติชน สมมติต้องจ่ายตังค์อ่านผมอาจต้องเลือกที่จะอ่าน แต่ตอนนี้มันฟรี ฉะนั้นผมก็สามารถเลือกจะที่อ่านทุกหัวได้ เพื่อดูว่าประเด็นเดียวกันนั้น มีความคิดเห็นต่างกันอย่างไร นำเสนอต่างกันอย่างไร นั่นเลยหมายความว่า สื่ออย่างที่ผมเรียกว่า เป็นสื่อใหม่จะมีลักษณะที่เรียกว่าเป็นชุมชน ชุมชนในที่นี้ อาจเป็นรูปกายภาพก็ได้ หรือ อาจเป็นในแง่ความสนใจเป็นเรื่องๆ ก็ได้ ประเด็นเดียวกัน ไทยรัฐอาจเสนอมุมหนึ่ง ขณะที่อีกฉบับอาจหยิบบางมุมมาขยายต่อสร้างความเข้าใจเพิ่มก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน ดังนั้นคนที่อ่าน The Momentum ไม่ได้หมายความว่าจะไม่อ่าน The Standard"
ส่วนประเด็นที่ว่า จะเป็นสื่อใหม่มาช่วงชิงพื้นที่ จริงๆ แล้วมันคือพื้นที่ทางธุรกิจมากกว่า สร้างรายได้ จากยอดไลก์ ซึ่งตัวยอดไลก์เองก็ไม่ได้หมายความว่า คนคนหนึ่งจะกดไลก์แค่เพจดียว เราก็กดไลก์ได้เรื่อยๆ ในเพจอื่นๆ เพราะฉะนั้นยอดไลก์ต่างๆ ก็เป็นอะไรที่เท่าเดิม คือมีประชากรที่รับสื่อทางเฟสบุ๊คเท่านี้ สมมติ30ล้าน ยอดก็เท่านี้เเละคนนึงก็ไม่ได้กดให้แค่เพจเดียว
“ส่วนปัญหาของผมคือ เขาไม่ควรเรียกตัวเองว่าสื่อใหม่ เพราะผมดันไปนิยามคำว่า สื่อใหม่ ไม่ใช่เเบบเดียวกับที่เขานิยาม และที่พูดมา ไม่ได้หมายความว่าเขาผิด ผมไม่บอกว่าสื่อจะไม่ทำธุรกิจ แต่ถ้าทำธุรกิจและสะสมทุน ขายโฆษณาก็ได้ แต่ไม่ต้องเรียกตัวเองว่า สื่อใหม่ เพราะคุณไม่ได้มีอะไรใหม่ในเชิงเนื้อหา แต่อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าการเกิดขึ้น ของแฟลตฟอร์มใหม่ๆ มีประโยชน์มากที่เราจะสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น ส่วนเราจะชอบใครไม่ชอบใคร จะวิพากษ์ วิจารณ์ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เราทำได้อยู่เเล้ว.”