นักวิจัย วิพากษ์นิยาม ‘สื่อใหม่’ ไม่ใช่เรื่องช่องทางนำเสนอ ต้องดูเนื้อหา
นักวิจัย วิพากษ์ นิยามสื่อใหม่ ต้องไม่ใช่แค่การเปลี่ยนช่องทางสื่อสาร แต่เนื้อหาต้องใหม่ด้วย ด้านนักสิทธิมองพื้นที่สื่อเปลี่ยน ส่งเสริมวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมมาก รัฐจึงพยายามควบคุม
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ที่สำนักงานมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ มีการเปิดเวทีมีเดียคาเฟ่ สื่อสนทนา หัวข้อ Freedom of Speech กับปรากฏการณ์เปิดตัวสอง 'สื่อใหม่'
ด้านนายอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยด้านสื่อใหม่ RCSD มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า คนโดยทั่วไปมักคิดว่า สื่อใหม่คือช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ แฟลตฟอร์มใหม่ๆ อย่างเช่น หนังสือ วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต (โซเชียลมีเดีย) เราไม่สามารถใช้ตัวช่องทางหรือแฟลตฟอร์มเหล่านี้มาตัดสินได้ว่า อะไรคือสื่อใหม่ เพราะถ้าเกิดเราใช้แฟลตฟอร์ม จะเกิดคำถามมากอีกมากมายเช่น อินเทอร์เน็ตเป็นแฟลตฟอร์มใหม่ เเล้วสื่อที่เพิ่งเกิดเรียกตัวเองว่าสื่อใหม่ แล้วในอนาคตที่มีแฟลตฟอร์มอื่นเข้ามา ก็จะนิยามตัวเองว่าสื่อใหม่อีก แล้วตัวเราที่เคยนิยามว่าเป้นสื่อใหม่ในยุคนั้น จะนิยามตัวเองเป็นอะไร
นายอรรคณัฐ กล่าวว่า เวลาที่เราจะเรียกตัวเองว่า เป็นสื่อใหม่ มีคำจำกัดความอะไรที่เราใช้ ถ้าหากเราใช้เพียงตัวแฟลตฟอร์มอย่างเดียว ถามว่า เว็ปไซต์อย่าง ผู้จัดการออนไลน์ มติชนออนไลน์ เป็นต้น เหล่านี้จะเป็นสื่อใหม่ได้ไหม รูปแบบการนำเสนอเหมือนเดิม เพียงแต่ขยับมาออนไลน์ ถ้าเกิดว่าเรานิยามความเป็นสื่อใหม่เพียงช่องทางนำเสนอ เราก็จะพบว่า แท้จริงก็ไม่ได้ใหม่อะไร
“เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าสื่อต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาในช่วงเวลานี้ จะเรียกตัวเองว่าสื่อใหม่ ต้องกลับไปถามตัวเองว่ามีอะไรที่ใหม่จากสื่อเดิม หรือเป็นเพียงการผลิตซ้ำสิ่งที่มีอยู่เเล้ว เพียงแต่เปลี่ยนช่องทางการนำเสนอ”
ด้านน.ส.พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สื่อใหม่ทำได้ดีกว่าสื่อเก่าคือ มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า เปิดโอกาสในผู้รับสารสามารถโต้ตอบ มีพื้นที่ มีวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม ถ้ามองปรากฏการณ์ทั่วๆ ไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจะพบว่า รัฐบาลในแต่ละประเทศพยายามออกกฎหมายควบคุมสื่อ ฟิลิปปินส์เพิ่งมีเมื่อปี 2012 ไทย ก็พยายามออกกฎหมายมาควบคุม เพราะรู้สึกอำนาจ มีวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม เปิดพื้นที่ให้ใครก็ได้มาพูดในพื้นที่ตรงนี้
น.ส.พิมพ์สิริ กล่าวถึงภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนไป ซึ่งไม่ได้ถูกควบคุมโดยใครคนใดคนนึง ต่อให้คุณจะเป็นทุนใหญ่ เงินหนา หรือว่าเป็นผู้เล่นใหญ่โตมาจากสื่อเก่า ไม่ได้หมายความว่าคุณจะควบคุมสื่อใหม่ได้ ซึ่งเห็นได้จากกรณี The Standard และ Double Standard แต่ถามว่า ข้อดีคือ วัฒนธรรมการมีส่วนร่วม แต่น่าสนใจว่า บางครั้งหากดูในวิธีเล่น จะพบว่า สื่อเหล่านี้สามารถคุมวาระ ( Agenda) ได้เช่นกัน แม้กระทั่งในพื้นที่ที่คิดว่าเปิดกว้างในการแสดงออก ยกตัวอย่างเช่น เพจของประธานาธิบดี ดูเตอร์เต้ ใช้อินเทอร์เน็ตในการสร้างพลังเยอะมาก ผ่านการสร้างเพจปลอมๆ ขึ้นมามากมาย โจมตีฝ่ายตรงข้าม ซึ่งที่ผ่านมา ดูเตอร์เต้ใช้พื้นที่ตรงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเข้าไปยึดกุมการพูดคุยให้ไปในทิศทางที่เขาต้องการในส่วนของไทยเองก็มีเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่ได้เก่งเท่า ฟิลิปปินส์