หุ่นยนต์จะทำคนตกงาน : ความเชื่อ กับ ความเป็นไปได้
ข่าวที่หุ่นยนต์จะมาแทนแรงงานมนุษย์ที่มีการนำเสนอตามสื่อต่างๆออกมาเป็นระยะๆนั้นสร้างความตื่นตัวต่อผู้ประกอบธุรกิจในทุกวงการรวมทั้งสร้างความตระหนกต่อผู้ใช้แรงงานในหลายสาขาอาชีพ บิล เกตส์ พ่อมดแห่งวงการคอมพิวเตอร์ ถึงกับเสนอว่าให้มีการเก็บภาษีจากหุ่นยนต์เพื่อเป็นการชดเชยที่หุ่นยนต์ทำให้คนต้องตกงาน เป็นข้อเสนอที่สร้างความแปลกใจให้กับคนทั่วโลกอีกครั้งว่า สิ่งที่บิลเกตพูดนั้นจะมีเค้าความจริงหรือไม่ว่าในอนาคตหุ่นยนต์จะต้องเสียภาษีให้รัฐ
จากนั้นอีกไม่นานไม่นาน แจ็คหม่า เจ้าของธุรกิจหนุ่มใหญ่ชาวจีนแห่ง อะลีบาบา ได้ออกมาพูดย้ำถึงบทบาทของหุ่นยนต์ว่าในอีก 30 ปี ข้างหน้า นิตยสาร Time จะนำภาพของหุ่นยนต์ขึ้นปกในฐานะผู้บริหารที่ดีที่สุดแห่งปี เป็นคำทำนายที่ถือว่าท้าทายต่อการพิสูจน์คำพูดของตัวเองเป็นอย่างยิ่ง (นิตยสาร Time เคยยกย่องว่า คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล(Personal Computer :PC) คือ เครื่องจักรแห่งปี เมื่อปี 1982)
ในบ้านเราเองนั้นสื่อต่างๆได้ให้ความสนใจต่อการเข้ามามีบทบาทของหุ่นยนต์อยู่เสมอ มีความเห็นที่หลากหลายจาก เจ้าของกิจการขนาดใหญ่ นักวิชาการ นักการตลาด บริษัทวิจัยและภาครัฐ ต่างออกมาพูดกันว่าระบบอัตโนมัติ(การใช้เครื่องจักรทำงานแทนมนุษย์ : Automation) หุ่นยนต์ รวมทั้งปัญญาประดิษฐ์(Artificial Intelligence :AI) นั้น จะทำให้คนตกงานกันอยู่บ่อยครั้ง แต่ดูเหมือนว่าความเห็นทั้งหลายที่พรั่งพรูออกมานั้นสร้างความหวาดหวั่นให้กับสังคมโดยไม่มีการเสนอทางออกที่เป็นไปได้ให้กับมนุษย์ผู้คุ้นเคยกับการใช้แรงงานทั้งงานประเภทแรงงานจริงๆหรือแรงงานที่ใช้ความรู้ก็ตาม
จากข้อมูลของ McKinsey Global Institute ที่ เผยแพร่ใน Harvard Business Review เมื่อเดือน เมษายน 2017 ถึงแนวโน้มของประเทศต่างๆจำนวน 46 ประเทศ ที่มีแนวโน้มว่าน่าจะการนำเอาระบบอัตโนมัติมาใช้งานในอนาคต โดยศึกษาจะเน้นที่งานเฉพาะตัว(Individual work activities) แยกเป็นทวีปและประเทศในแต่ละทวีปดังนี้
ทวีปอัฟริกา เคนยา 51.9 % มอร็อกโค 50.5% อียิปต์ 48.7% ไนจีเรีย 45.7% อัฟริกาใต้ 41%
ทวีปเอเชีย/ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น 55.7% ไทย 54.6% กาตาร์ 52% เกาหลีใต้ 51.9% อินโดนีเซีย 51.8% อินเดีย 51.8 % มาเลเซีย 51.4% จีน 51.2% รัสเซีย 50.3%
ทวีปยุโรป สาธารณะรัฐเช็ค 52.2% ตุรกี 50.4% อิตาลี 50.3% โปแลนด์ 49.5% สเปน 48.5% เยอรมันนี 47.9% กรีซ 47.8% ออสเตรีย 47.4% สวิสเซอร์แลนด์ 46.7%
ทวีปอเมริกาเหนือ เม็กซิโก 51.8% คอสตาริกา 51.7% บาบาโดส 48.7% แคนาดา 47 % สหรัฐอเมริกา 45.8%
ทวีปอเมริกาใต้ เปรู 53.2% โคลัมเบีย 53% บราซิล 50.1% ชิลี 48.9% อาร์เจนตินา 48.2%
ข้อมูล Harvard Business Review online 12 April 2017 (ในที่นี้แสดงตัวเลขสูงสุดเพียง 5 อันดับและ 9 อันดับของ 33 ประเทศ)
ตารางข้อมูลประเทศที่มีแนวโน้มที่จะนำระบบอัตโนมัติมาใช้งาน
จากข้อมูลการศึกษาข้างต้นจะเห็นได้ว่าประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำอย่างประเทศญี่ปุ่นนั้นมีแนวโน้มที่จะนำระบบอัตโนมัติมาใช้งานในอัตราที่สูงที่สุดในโลกตามเปอร์เซ็นต์ชั่วโมงการทำงาน (55.7 % ) และเป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย ในขณะที่ประเทศไทยเองนั้นมีตัวเลขที่สูงเป็นอันดับสองของโลกรองจากญี่ปุ่นและอยู่ในอันดับที่สองของเอเชีย แต่ประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ชั้นนำอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ ฯลฯ กลับมีตัวเลขแนวโน้มการใช้ระบบอัตโนมัติต่ำกว่าญี่ปุ่นและไทยทั้งสิ้น เมื่อมองในภาพรวมของทวีปจะเห็นว่าประเทศในเอเชียทั้ง 9 อันดับมีเปอร์เซ็นต์ของแนวโน้มการใช้ระบบอัตโนมัติมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าทุกทวีป
ตัวเลขดังกล่าวจึงน่าจะสะท้อนให้เห็นว่าในอีกไม่นานระบบอัตโนมัติจะมีชั่วโมงการทำงานที่มากกว่าชั่วโมงการใช้แรงงานของคนไทยซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อการใช้แรงงานของประเทศไทยในทุกระดับอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
เราเคยเชื่อกันว่างานที่ใช้ทักษะขั้นต่ำเช่นการใช้แรงงาน (Manual work)ประเภทต่างๆนั้น ง่ายที่จะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร ซึ่งอาจเป็นความจริงในอดีต ปัจจุบันในยุคของเครื่องจักรที่พัฒนาไปจนถึงขั้นปัญญาประดิษฐ์นั้น ไม่ว่าแรงงานประเภทใช้แรงงานหรือแรงงานประเภทใช้ความรู้(Knowledge work) มีโอกาสที่จะถูกเครื่องจักรแย่งงานไปทำทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ทำประจำหรืองานที่เป็นกิจกรรมที่ทำซ้ำๆกัน(Routine tasks)นั้นมีโอกาสสูงที่จะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรมากกว่างานประเภทที่ไม่ใช่งานประจำ(Non-routine tasks)
เรามักได้รับข่าวสารและคำเตือนเรื่องการเข้ามามีบทบาทของระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในทางลบตลอดมา จึงทำให้เกิดความเชื่อว่าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมจะทำให้มนุษย์ตกงานทั้งหมดเกือบทุกอาชีพ สร้างความหวาดกลัวให้กับกลุ่มคนในสายงานหลายอาชีพ ซึ่งความเชื่อดังกล่าวน่าจะต้องมีการหาคำตอบด้วยข้อมูล ความมีเหตุผล การวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การหาทางออกที่เป็นไปได้แทนที่จะสร้างความตระหนกแต่เพียงอย่างเดียว
นักเศรษฐศาสตร์ชื่อ James Bessen แห่งมหาวิทยาลัย บอสตัน สหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนำเครื่องจักรมาใช้งานในอุตสาหกรรมสิ่งทอในศตวรรษที่ 19 โดยพบว่า แม้ว่าเครื่องจักรทอผ้าจะถูกนำมาใช้แทนแรงงานคนมากถึง 98 เปอร์เซ็นต์แต่การจ้างแรงงานของคนงานทอผ้ากลับเพิ่มขึ้น
James Bessen ยังได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบของ คอมพิวเตอร์ ซอฟแวร์ และระบบอัตโนมัติ ที่มีต่ออาชีพต่างๆ 317 อาชีพระหว่างปี 1980 ถึง 2013 และพบว่า การเติบโตของการจ้างงานในอาชีพเกี่ยวข้องกับการนำคอมพิวเตอร์มาใช้งาน รวดเร็วกว่าอาชีพที่ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ โดยพบว่า
การนำเครื่อง ATM มาใช้งานแทนพนักงานหน้าเคาน์เตอร์ซึ่งแพร่หลายมากในช่วงปี 1990 จนถึงปี 2000 นั้น ทำให้มีการจ้างงานของพนักงานเต็มเวลาของธนาคารเพิ่มขึ้น ราว 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งมากกว่าแรงงานสาขาอื่นๆ
อัตราการจ้างแคชเชียร์เพิ่มขึ้นหลังจากมีการนำเครื่อง บาร์โคด สแกนเนอร์ (Barcode scanner) มาใช้ช่วงปี 1980
E-commerce เติบโตขึ้นมากในช่วงปี 1990 เป็นต้นมา แต่อาชีพเซลแมนก็ยังคงอยู่และเติบโตเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2000
แม้ว่าปัจจุบันจำนวนพนักงานที่รับโทรศัพท์มีจำนวนลดลง เพราะบริษัทต่างๆนำเครื่องตอบรับอัตโนมัติมาใช้งานมากขึ้น แต่พนักงานรับโทรศัพท์ยังคงมีอยู่เพื่อการช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาต่างๆให้กับลูกค้ามากกว่าทำหน้าที่รับโทรศัพท์เพื่อต่อสายไปยังเลขหมายปลายทางแต่เพียงอย่างเดียว
(อย่างไรก็ตามมีผลการศึกษาที่นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบียและมหาวิทยาลัยดุ๊ก สรุปว่างานประเภท แคชเชียร์ เสมียน และพนักงานหน้าเคาเตอร์ธนาคาร รวมทั้งพนักงานบำรุงรักษาเครื่องจักร ช่างก่ออิฐและช่างตัดเสื้อผ้า ซึ่งเป็นพนักงานประจำ(Routine tasks) นั้นมีความต้องการลดลงอย่างต่อเนื่อง งานเหล่านี้ลดลงราว 5.6 เปอร์เซ็นต์ระหว่างปี 1981 ถึง 1991 ลดลง 6.6 เปอร์เซ็นต์ระหว่างปี 1991 ถึง 2001 และลดลง 11 เปอร์เซ็นต์ระหว่าง ปี 2001 ถึงปี 2011 ในขณะที่งานประเภทไม่ประจำ(Non-routine tasks) เพิ่มขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา)
ผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีนั้นไม่มีรูปแบบที่ตายตัว เครื่องจักรอาจถูกนำมาใช้แทนแรงงานเฉพาะอย่าง ซึ่งคนที่ทำงานในหน้าที่นั้นจะต้องตกงานอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เทคโนโลยีมักมีทางออกให้กับมนุษย์เสมอ
James Bessen มีความเชื่อว่า เทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้แทนแรงงานคนนั้นจะช่วยให้เกิดการเพิ่มขึ้นของผลผลิตทำให้ราคาสินค้าถูกลงและจะทำให้เกิดการสร้างงานในอีกหลายๆอาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับผลสรุปของการศึกษาจากหลายสถาบัน จึงเท่ากับว่าเทคโนโลยีช่วยทำให้มนุษย์ได้ยกระดับทักษะของตัวเองจากงานหนัก งานสกปรก งานอันตราย และงานที่น่าเบื่อซ้ำซากจำเจไปสู่งานอีกระดับหนึ่ง เป็นต้นว่าการที่มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ทำให้เกิดอาชีพ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล(Data scientist) รวมทั้งอาชีพอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกหลายแขนง ซึ่งแสดงว่างานสำหรับมนุษย์ยังคงมีอยู่แต่ทักษะในการทำงานต้องมีการยกระดับ รวมทั้งกระบวนการทำงานที่อยู่ในรูปแบบเดิมนั้นจะต้องมีการออกแบบเพื่อรองรับการที่มนุษย์ต้องทำงานร่วมกับเครื่องจักรเพื่อสร้างคุณค่างานให้มากขึ้น รวมทั้งต้องสร้างงานประเภทที่ต้องการทักษะของมนุษย์เพื่อปลดปล่อยมนุษย์จากแรงงาน มากกว่าแค่การนำเอาระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อความรวดเร็วและลดต้นทุน
นอกจากทักษะทางเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการทำงานกับเครื่องจักรแล้ว ทักษะด้านอื่นๆที่ไม่ใช่ทักษะทางเทคโนโลยีซึ่งคนมักมองข้ามและคิดไม่ถึงจะกลับกลายเป็นปัจจัยที่จำเป็นสำหรับธุรกิจในอนาคตเมื่อระบบอัตโนมัติถูกนำมาใช้งานมากยิ่งขึ้น
จากการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับ March-April 2017 พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ทักษะที่มีแนวโน้มมีความต้องการในยุคเครื่องจักรอัตโนมัตินอกเหนือจากทักษะด้านเทคโนโลยีก็คือ ทักษะของมนุษย์ (People skills) 3 ประเภทซึ่งประกอบด้วย ทักษะการสร้างโครงข่ายทางสังคม(Social networking) ทักษะการพัฒนาบุคลากรและการค้นหาศักยภาพในตัวมนุษย์ (People development and coaching) และทักษะการสร้างความร่วมมือ (Collaboration) ซึ่งทักษะทั้ง 3 ประเภทล้วนเป็นทักษะที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์เองและยากที่เครื่องจักรใดๆจะมาเลียนแบบได้ ซึ่งหมายความว่าทักษะที่เรียกกันว่า Soft skill จะเป็นสิ่งที่มีความต้องการในอนาคตมากขึ้นเมื่อระบบอัตโนมัติถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่ามนุษย์เองก็ไม่ถึงกับสิ้นหวังเสียเลยทีเดียวว่างานที่ตัวเองเคยทำมาอย่างยาวนานนั้นจะถูกแย่งไปด้วยหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ เพียงแต่ว่ามนุษย์ควรต้องได้รับการฝึกฝนในเรื่องของทักษะทั้งด้านที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและทักษะด้านSoft skill รวมทั้งรัฐบาลหรือองค์กรต้องมีนโยบายการสร้างงานที่เครื่องจักรไม่สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ เพื่อทดแทนงานที่จะสูญเสียไปจากการเข้ามาของเครื่องจักร
ถึงแม้ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์จะมีความสามารถมากกว่ามนุษย์เพียงใดก็ตาม แต่เครื่องจักรก็ยังมีจุดอ่อนอีกมากที่ยังไม่สามารถเลียนแบบพฤติกรรมและความสามารถของมนุษย์ได้ในหลายๆอย่าง เช่น
มนุษย์มีพรสวรรค์ที่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถจะทำได้นั่นคือความคิดสร้างสรรค์(Creativity) และความมีจิตวิญญาณ
มนุษย์มีความเชี่ยวชาญด้านการคิด (Expert thinking) จึงทำให้มนุษย์สามารถใช้จินตนาการในการคิดแก้ไขปัญหาใหม่ๆได้เสมอ โดยไม่ต้องคิดแบบเป็นลำดับขั้นตอนเหมือนกับอัลกอริทึมของคอมพิวเตอร์
มนุษย์มีความสามารถในการสื่อสารที่ซับซ้อนจึงสามารถแปลความหมายจากสิ่งที่สัมผัสได้ในสถานการณ์ต่างๆได้นอกจากคำพูด เป็นต้นว่า สามารถเข้าใจท่าทาง น้ำเสียง การสบตา หรือการปะติดปะต่อคำพูดที่ไม่ครบถ้วนได้
มนุษย์มีความรู้ประเภทที่เรียกว่า ความรู้ในตัวเองจากการฝึกฝนและ ประสบการณ์ เป็นความรู้ที่ยากจะถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดได้ทั้งหมด (Tacit knowledge) ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังยากที่คอมพิวเตอร์และอัลกอริทึมจะเข้าถึง นอกจากนี้การตัดสินใจจากความเห็นหรือสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ยังเหนือกว่าระบบอัตโนมัติและมนุษย์ต้องเข้ามาเป็นตัวกลางเสมอเมื่อเกิดข้อสงสัยจากการตัดสินใจของคอมพิวเตอร์
ดังนั้นมนุษย์จึงน่าจะใช้ความได้เปรียบหรือจุดแข็งของตัวเองเพื่อเสริมส่วนที่ขาดหายไปของระบบอัตโนมัติ เป็นต้นว่า
การที่มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จากการเรียนรู้และมนุษย์เองเป็นผู้สร้างระบบอัตโนมัติ เช่น คอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ ฯลฯมนุษย์จึงสามารถที่จะใช้ความสามารถของตัวเองเพื่อการออกแบบ การเขียนโปรแกรมสำหรับคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการออกแบบอัลกอริทึมต่างๆเพื่อป้อนให้กับระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นอาชีพที่มีแนวโน้มว่าจะมีความต้องการอย่างมากในอนาคตอันใกล้
คอมพิวเตอร์และระบบอัตโนมัติถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำงานเฉพาะอย่าง แต่มนุษย์มีความสามารถในการมองภาพใหญ่ได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์ จึงทำให้มนุษย์สามารถเสาะแสวงหาข้อมูลใหม่ๆได้ตลอดเวลาเพื่อหาทางออกได้หลายทางออกในการแก้ไขปัญหา เพราะความคิดของมนุษย์ไม่ได้ถูกจำกัดด้วย “โครงสร้าง” เหมือนกับคอมพิวเตอร์ จึงทำให้มนุษย์สามารถรู้ได้จากประสบการณ์ของตัวเองว่าสิ่งไหน “ ใช่” และสิ่งไหน “ไม่ใช่” ในสภาพแวดล้อมที่ตัวเองเผชิญอยู่
แม้ว่าระบบอัตโนมัติจะมีการทำงานที่รวดเร็ว แม่นยำรวมทั้งมีระบบควบคุมสั่งการด้วยความมีประสิทธิภาพมากเพียงใดก็ตาม แต่การตรวจสอบและเฝ้าดูการทำงานของระบบอัตโนมัติในภาพรวมนั้นยังไม่เทียบเท่าความสามารถของมนุษย์ ที่จะบอกได้ว่าคอมพิวเตอร์นั้นๆ ทำงานได้ดีขนาดไหน เช่น คอมพิวเตอร์ในระบบงานไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่นั้นเป็นระบบเก่าเมื่อเทียบกับระบบอื่นๆ แต่มนุษย์สามารถบอกได้ว่าระบบอัตโนมัติระบบไหนกำลังจะล้าสมัยและจะต้องถูกทดแทนด้วยระบบใหม่กว่า เป็นต้น
นอกจากมนุษย์สามารถจะรู้จุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเองแล้ว มนุษย์ยังสามารถบอกจุดแข็งและจุดอ่อนของคอมพิวเตอร์ได้ เช่น เราสามารถรู้จุดอ่อนของการตัดสินใจของคอมพิวเตอร์ได้เพราะข้อมูลที่ป้อนเข้าไปนั้นเป็นข้อมูลที่มีคุณภาพต่ำ เราจึงรู้ได้ว่า คอมพิวเตอร์อาจทำงานได้ดีกับสถานการณ์หนึ่งๆ แต่อาจให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างหรือไม่ถูกต้องในอีกสถานการณ์หนึ่ง เป็นต้น
คอมพิวเตอร์คือเครื่องมือที่ช่วยมนุษย์ทำงาน ส่วนผลลัพธ์ที่ได้จากคอมพิวเตอร์นั้นมนุษย์จะเป็นผู้แปลความหมาย อธิบายรายละเอียดและนำไปใช้งาน ซึ่งแน่นอนว่า คอมพิวเตอร์ช่วยเราทำให้งานในขั้นต้นบรรลุผลแต่ในที่สุดแล้วมนุษย์เองมักจะต้องเป็นผู้เข้ามาแทรกแซงการตัดสินใจของคอมพิวเตอร์เสมอ
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของระบบอัตโนมัติก็คือการถูกโปรแกรมให้ทำงานเฉพาะทางจึงให้ผลลัพธ์เฉพาะงานนั้นๆซึ่งทำให้ระบบอัตโนมัติขาดความยืดหยุ่นและต้องการการเข้ามาตัดสินใจโดยมนุษย์ เช่น มีคนจำนวนมากถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อหรือปฏิเสธการเอาประกันภัย ทั้งๆที่มีคุณสมบัติหลายประการที่ไม่น่ามีปัญหาใดๆ เป็นต้น
ตัวอย่างที่เป็นข่าวโด่งดังมาแล้วเมื่อปี 2014 ได้แก่ กรณีของนาย เบน เบอนันเก้ (Ben Benanke) อดีต ประธานธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (U.S. Federal Reserve) ที่ถูกปฏิเสธการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการไถ่ถอนจำนองหลังจากเพิ่งลงจากเก้าอี้ประธานธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นปี 2014 ทั้งๆที่ เบน เบอนันเก้ ยังคงมีรายได้มหาศาลจากการพูด การสอน และงานอื่นๆอีกมากมายและมีเครดิตพอที่จะผ่านการกู้เงินได้อย่างสบาย สิ่งที่เกิดขึ้นมีความเป็นไปได้ว่าธนาคารได้ใช้คอมพิวเตอร์ในการประเมินค่าความน่าเชื่อถือ(Credit score) ประเมินรายรับจากตำแหน่งประธานธนาคารกลางที่หายไปทำให้คะแนนต่ำลงโดยไม่ได้ดูปัจจัยอื่นๆประกอบ ซึ่งกรณีนี้การตัดสินใจด้วยมนุษย์จึงยังคงมีความจำเป็น
การที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับการมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการนำระบบอัตโนมัติมาใช้งานเป็นอันดับสองของโลก จึงทำให้คนไทยต้องเตรียมความพร้อมในหลายๆด้าน เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก เช่น การศึกษา การยกระดับทักษะของแรงงาน เพื่อผลิตบุคลากรเพื่อรองรับสังคมอัตโนมัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการศึกษานั้น การศึกษาด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ (Science Technology Engineering Mathematics :STEM) ซึ่งเป็นทักษะหลักในการรองรับระบบอัตโนมัติอาจบรรลุเป้าหมายเพียงครึ่งเดียว เพราะการทำงานในสังคมของระบบอัตโนมัตินั้นจำเป็นต้องมีการเสริมทักษะเกี่ยวกับมนุษย์(People skill) ควบคู่กันไปด้วย
นอกจากนี้กฎหมายและการกำกับดูแลเกี่ยวกับระบบอัตโนมัตินั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมในยุคหน้า แม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไปไกลเพียงใดก็ตามหากกฎหมายไม่เอื้ออำนวย เทคโนโลยีเหล่านั้นก็ไม่สามารถจะถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่และในทางกลับกันหากรัฐหรือองค์กรมีนโยบายที่เร่งรัดการนำระบบอัตโนมัติมาใช้งานเร็วเกินไปโดยขาดการควบคุมที่เข้มแข็ง คนไทยเองอาจปรับตัวไม่ทันซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อสังคมอย่างยิ่ง
ดังนั้นนโยบายการสร้างงานของภาครัฐเพื่อรองรับการเข้ามาของระบบอัตโนมัตินั้นเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในสังคมยุคหน้าตามที่ผู้เชี่ยวชาญหลายต่อหลายคนได้ให้ความเห็นเอาไว้ โดยเฉพาะงานที่ต้องการการสัมผัสจากมนุษย์ งานที่ต้องการการแสดงความเห็นอกเห็นใจ งานช่วยเหลือทางสังคม งานศิลปะ กวี ฯลฯ ซึ่งเป็นงานด้านจรรโลงสังคม จะมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการจ้างงานในสังคมของระบบอัตโนมัติ
สิ่งหนึ่งที่จำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ การเน้นการทำงานร่วมกันและพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์กับระบบอัตโนมัติโดยใช้จุดแข็งของมนุษย์เสริมจุดอ่อนของเครื่องจักรรวมทั้งการสร้างคุณค่างานที่มนุษย์เคยทำอยู่ให้มากยิ่งขึ้นแทนที่จะให้เครื่องจักรแย่งงานเหล่านั้นไปเสียหมด ซึ่งภาครัฐเองจะต้องรับภาระการสร้างงานและสร้างคุณค่าให้กับงานเหล่านี้อย่างจริงจังแทนที่จะมุ่งเน้นงานด้านเทคโนโลยีเชิงลึกแต่เพียงอย่างเดียว
สอดคล้องกับคำพูดของ แจ็คหม่า ที่แม้ว่าจะให้น้ำหนักของความสามารถของหุ่นยนต์ จนกระทั่งมองไปอีก 30 ปีข้างหน้าว่าหุ่นยนต์จะกลายเป็นผู้บริหารของบริษัทก็ตาม แจ็คหม่า ยังไม่ลืมทิ้งท้ายถึงบทบาทของมนุษย์ว่า “ในระยะยาวยังมีความหวังที่จะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์และเครื่องจักรจะเป็นผู้ร่วมงานของมนุษย์มากกว่าจะเป็นศัตรู”
ในขณะที่ความเห็นของ บิล เกตส์ ที่เสนอให้มีการเก็บภาษีจากหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นความเห็นที่ดูเหมือนจะสุดโต่งนั้น แต่อีกด้านหนึ่งก็มีมุมมองที่น่าสนใจ เพราะนอกจากการเสนอเก็บภาษีหุ่นยนต์แล้ว บิล เกตส์ ยังมองไกลไปถึงการปลดปล่อยมนุษย์จากแรงงานหนักให้เป็นภาระของเครื่องจักร เพื่อให้มนุษย์ได้ไปทำงานด้านอื่นๆที่ดีกว่าและจำเป็นต่อสังคมโดยเอารายได้จากภาษีเหล่านั้นมาชดเชย เป็นมุมมองที่ บิล เกตส์เห็นว่ามนุษย์ได้สร้างเครื่องจักรขึ้นมาแทนแรงงานมนุษย์แล้ว มนุษย์จึงควรใช้เวลาที่เคยสาละวนอยู่กับการใช้แรงงานมานานนับร้อยๆปีไปสร้างสรรค์งานที่เอื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมโลกที่กำลังต้องการความช่วยเหลืออีกจำนวนมาก นับเป็นการสร้างสังคมโลกยุคใหม่เลยก็ว่าได้
แม้ความเชื่อที่ว่าหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติจะทำให้มนุษย์ตกงานดังที่เป็นข่าวอยู่เสมอๆนั้นมีแนวโน้มจะเป็นความจริงก็ตามแต่น่าจะเป็นความจริงเป็นบางส่วนเท่านั้น เพราะมนุษย์และเทคโนโลยีมักมีทางออกให้กันและกันเสมอ ถึงแม้เครื่องจักรจะมีความสามารถทำงานได้ดีกว่ามนุษย์ในหลายอย่าง แต่งานบางประเภทที่ต้องการ ความคล่องตัว สามัญสำนึก และการตัดสินใจจากประสบการณ์และสิ่งแวดล้อม ยังคงมีช่องว่างพอที่ให้มนุษย์ได้ใช้พรสวรรค์ของตัวเองได้เป็นอย่างดี มนุษย์จึงจะยังคงมีบทบาทอยู่ต่อไปไม่ว่าในยุคไหนก็ตามและสามารถใช้จุดแข็งของตัวเองทำงานร่วมกับเครื่องจักรเพื่อสร้างคุณค่าให้กับ สินค้า บริการ และสังคม แทนการถูกเครื่องจักรแย่งงานไปทำแต่เพียงฝ่ายเดียว
เอกสารอ้างอิง
1. Only Humans Need Apply, Thomas H. Davenport &Julia Kirby
2. Thank you for being late, Thomas L. Friedman
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://financesonline.com